Skip to main content
sharethis

Naver บริษัทไอทียักษ์ใหญ่เกาหลีใต้ ย้ายเซิฟเวอร์เก็บข้อมูลสำรองจากฮ่องกงไปยังสิงคโปร์ หลังจีนออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ขยายอำนาจต่อฮ่องกงมากขึ้น ตำรวจไม่ต้องใช้หมายศาลในการขอข้อมูลหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง


ภาพจาก Wikimedia Commons
 

22 ก.ค. 2563 วานนี้ (21 ก.ค.) บริษัทไอทีเกาหลีใต้ Naver ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการการค้นหาข้อมูลเปรียบเสมือนเป็นกูเกิลสัญชาติเกาหลีใต้ แถลงว่า พวกเขาจะมีการย้ายข้อมูลสำรองทั้งหมดจากเซอร์เวอร์ในฮ่องกงไปยังสิงคโปร์ รวมถึงยังระบุอีกว่าพวกเขาทำการลบข้อมูลในฮ่องกงทั้งหมดในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาและมีการล้างเซอร์เวอร์ใหม่ โดยที่ในถ้อยแถลงนี้พวกเขาไม่ได้พูดถึงเรื่องกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเซาธ์ไชนามอร์นิงโพสต์ว่า การย้ายข้อมูลเหล่านี้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จีนประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ต่อฮ่องกงซึ่งระบุถึงการกระทำผิดครอบคลุมไม่ว่าผู้กระทำผิดจะอยู่ที่ใดก็ตาม แต่ Naver ก็บอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สาเหตุเดียวเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาย้ายข้อมูล อีกประการหนึ่งคือสาเหตุด้านเทคนิคโดยไม่ได้บอกเพิ่มเติมว่าเรื่องอะไร

กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ของจีนที่ออกมามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมานั้นถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการปราบปรามชาวฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาล ส่งผลให้มีฝ่ายต่อต้านบางส่วนประกาศยุบกลุ่มเนื่องจากเกรงว่าจะถูกเล่นงานด้วยการอ้างใช้กฎหมายนี้

ในมาตราที่ 38 ของกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีนระบุว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในฮ่องกงในข้อหากระทำการ "แบ่งแยกดินแดน" "บ่อนทำลาย" "ก่อการร้าย" และ "สมคบคิด" ในเรื่องเกี่ยวกับฮ่องกงแม้จะเป็นการกระทำจากประเทศอื่นก็ตาม

นักการเมืองจากพรรครัฐบาลเกาหลีใต้ คิมยังเบกล่าวว่า Naver ได้ช่วยผู้ใช้งานชาวเกาหลีใต้ในเรื่องข้อมูลอ่อนไหวของพวกเขาในเซิฟเวอร์ที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าข้อมูลเหล่านี้อาจจะรั่วไหลไปต่างประเทศ ซึ่งในถ้อยแถลงของ Naver ยังระบุอีกว่าพวกเขาไม่พบว่ามีการรั่วไหลของข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลในฮ่องกง

Naver เป็นผู้ให้บริการทั้งโปรแกรมค้นหาข้อมูลและแอพพลิเคชันส่งข้อความคล้ายกับโปรแกรม Line มีผู้ใช้งานโปรแกรมของพวกเขามากกว่า 200 ล้านคนจากทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีโซเชียลมีเดียของตัวเองที่มีผู้ใช้งานหลายล้านคน

ในเดือน ก.ค. นี้ นอกจาก Naver แล้วยังมีบริษัทไอทีหลายแห่งที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่างเพื่อคุ้มครองข้อมูลของผู้ใช้งานหลังจากมีการประกาศกฎหมายความมั่นคงใหม่ โดยบริษัทเฟสบุ๊ค, กูเกิล และทวิตเตอร์ ประกาศว่าจะไม่ส่งข้อมูลให้กับทางการฮ่องกงถ้าหากทางรัฐบาลฮ่องกงมีการขอข้อมูลผู้ใช้งาน ส่วน TikTok ก็ประกาศถอนแอพฯ ของตัวเองออกจากหน้าร้านของฮ่องกง

ในกฎหมายฉบับใหม่ระบุเงื่อนไขว่าตำรวจไม่จำเป็นต้องใช้หมายศาลในการขอข้อมูลบริษัทไอที รวมถึงการสั่งให้ลบข้อมูลหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่พวกเขาอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงได้

ลีแจซู หัวหน้าทีมวิจัยของสมาพันธ์อุตสาหกรรมเกาหลีซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจสายล็อบบี้ทางการเมืองในเกาหลีใต้กล่าวว่า บริษัททั้ง 140 บริษัทจากเกาหลีใต้เป็นห่วงเรื่องอนาคตของตัวเองในฮ่องกง ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทของเกาหลีใต้ในฮ่องกงเป็นบริษัททางการค้าและทางการเงิน อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของลีแจซูพบว่าบริษัทต่างๆ ยังมีท่าทีรอดูสถานการณ์อยู่เพราะการย้ายฐานปฏิบัติการทางธุรกิจของพวกเขายากกว่าการย้ายเซอร์เวอร์ของ Naver

จากสถิติในปี 2561 ระบุว่าเกาหลีใต้และฮ่องกงเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 และ 5 ตามลำดับ มีมูลค่าการค้าร่วมกันสองฝ่ายอยู่ที่ 336,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 1.37 ล้านล้านบาท)

ลีซองฮยอง นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเซจงซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงโซลกล่าวว่า เกาหลีใต้ถูกกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะต้องเลือกคู่ค้ารายใหญ่สุดสองรายระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตร พวกเขาตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งไม่เพียงแค่เรื่องฮ่องกงเท่านั้นแต่ยังมีเรื่องที่ไต้หวันต้องการมีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก และเรื่องสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ด้วย ซึ่งในอีกทางหนึ่งเกาหลีใต้ก็รู้สึกถูกกดดันจากชาติตะวันตกเช่นกัน

ธุรกิจของตะวันตกเองก็กำลังชั่งน้ำหนักว่าจะอยู่ในฮ่องกงต่อไปหรือไม่หลังจากที่มีการออกกฎหมายใหม่จากจีน ในการสำรวจล่าสุดจากหอการค้าสหรัฐฯ ในฮ่องกงระบุว่านักธุรกิจชาวอเมริกันราวครึ่งหนึ่งมีแผนการจะออกจากฮ่องกง


เรียบเรียงจาก

National security law: Naver moves data centre from Hong Kong to Singapore, SCMP, 21-07-2020

South Korea's Naver shifts data centre from Hong Kong to Singapore, Today Online, 21-07-2020
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net