Skip to main content
sharethis

สภาผู้แทนราษฎรลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นนักศึกษา (กรณีประท้วงไล่รัฐบาล) รังสิมันต์ โรม ลุกอภิปรายชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกโกรธแค้นของคนรุ่นใหม่ ย้ำหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ยังมีมือเหี่ยวแห้งคอยบีบคออนาคตของชาติอยู่ตลอดเวลา เชื่อตั้ง กมธ. เพื่อถ่วงเวลาเท่านั้น

23 ก.ค. 2563 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในวาระพิจารณาญัติของให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นนักศึกษา โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความเห็นนักศึกษา พร้อมชี้ว่าการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษาตลอดยุคสมัย แท้จริงแล้วประกอบด้วยความหวังดีต่อประเทศ

“ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2457 เป็นต้นมา เราต้องยอมรับว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองของพวกเรา เรามีมือเหี่ยวๆ มือแห้งๆ บีบคออนาคตของชาติอยู่ตลอดเวลา พวกเขาบีบคอไม่ให้เราหายใจ พวกเขาบีบคอไม่ให้พวกเรามีอนาคตที่ดี มันจึงแปลว่าตลอดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน ตราบใดที่ยังบีบคอเสียงเเห่งอนาคต การปลดโซ่ตรวน การทำลายมือที่เหี่ยวแห้งนี้ ก็คือความจำเป็น” รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการยอมรับการต่อสู้ของนักศึกษา หลายครั้งมีการมองพวกเขาด้วยความหวาดกลัวว่า จะเสียอำนาจ มีการสร้างปฏิบัติการ IO เพื่อเบียงเบนความสนใจ มีการใส่ร้ายป้ายสี เพื่อทำลายความชอบธรรมในการชุมนุม เพื่อให้คนไม่เข้าร่วมกับพวกเขา หลายครั้งนักศึกษาถูกทำให้กลายเป็นปีศาจ แต่เวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาคือสิ่งที่ถูกต้อง

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า อยากให้มองการเคลือนไหวของนักศึกษาในมุมมองแห่งมนุษยธรรม ในด้วยความรู้สึกที่เห็นว่าพวกเขาคือเสียงแห่งอนาคต และเสียงแห่งความหวัง และถึงเวลาที่มือเหี่ยวแห้งในปัจจุบันจะถูกทำลาย

เขาย้ำว่า ข้อเรียนร้องของนักศึกษา มีทั้งหมด 3 ข้อ หนึ่งในนั้นมีเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะรัฐธรรมนูญนี้ถูกสร้างมาจากไม้ใกล้ฝั่งที่อีกไม่นานก็จะลาจากโลกนี้ไปแล้ว โดยที่คนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดชะตากรรมของตัวเอง

“นี่คือเหตุผลที่เราจะต้องกลับมาทบทวน กลับมาคิดอย่างจริงจังว่า การร่างรัฐธรรมนูญถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำลายซากเดนของเผด็จการ ปลดปล่อยโซ่ตรวน และให้ประชาชนอยู่ในประเทศนี้อย่างมีความหวังเสียที ได้สูดอากาศหายใจในแบบที่พวกเขาต้องการ” รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่รู้สึกคือ พวกเขาไม่ได้มีส่วนรวมในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง ผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างมาจากผู้กระหายอำนาจ เมื่อมีการลงประชามติ ก็มีการจับกุมคนที่ออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่ ก็มีการจับกุมคนที่ออกมาแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล และยังยุบพรรคการเมืองที่เป็นความหวังของพวกเขา มากไปกว่านั้นยังบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างผิดปล่อย โดยปล่อยให้ทหารอียิปต์ที่ติดเชื้อโควิดเข้ามาในประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีการระบาดอีก

เขาย้ำว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ แท้จริงแล้วเป็นการถ่วงเวลา และไม่ถูกต้องตามสถานการณ์ เพราะจะเป็นการเอาความรู้สึกของคนที่กำลังโกรธแค้นในประเทศไปขังเอาไว้เท่านั้น และจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสกัดกั้นการชุมนุมของนักศึกษา

“นายกรัฐมนตรีไม่ควรโยนบาปให้กับสภา ท่านควรไปอธิบายกับนักศึกษาเอง แล้วถ้านายกรัฐมนตรียังปฏิบัติกับประชาชนเช่นเดิม ไม่อ่อนถ่อมตน คุกเข่าอ้อนวอนต่อประชาชน ยังพูดจาไม่ดี ประพฤติชั่วเหมือนแต่ก่อน ผมขอเรียนต่อท่านนายกรัฐมนตรีว่า winter is coming” รังสิมันต์ กล่าว

ทั้งนี้ผลการลงมติในในญัตตินี้ ได้รับเสียงเห็นด้วยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด 260 เสียง ไม่เห็นด้วย 178 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 จากจำนวนผู้ลงมติทั้งหมด 441 คน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net