Skip to main content
sharethis
 

คุยกับ ‘จุฑา’ ผู้กำกับเอ็มวี ‘ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ ถึงโปรเจคชื่อเดียวกันที่เธอริเริ่มตั้งแต่ปี 60 ตั้งคำถามถึงกระบวนการทั้งหมดของการผลิตงานศิลปะ บนการทำความเข้าใจรูปแบบความสัมพันธ์ทั้งหมด ที่เป็นไปได้ สู่การตั้งคำถามถึงคุณค่าและความหมายของศิลปะในเชิงการเมือง

 

สาระสำคัญ

  • ‘ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (To Whom It May Concern)’ คือโปรเจ็คระยะยาวตั้งแต่ปี 2560 และกำลังจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมปีนี้ 'จุฑา’ คือผู้ริเริ่มโปรเจ็ค ด้วยการตั้งคำถามต่อไอเดีย 'ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ จนถึงกระบวนการทั้งหมดของการผลิตงานศิลปะ ทดลองหาความเป็นไปได้ในหลายรูปแบบ และพยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในการสร้างงานศิลปะและการรับรู้งานศิลปะของผู้คน จนถึงพลวัตที่เกิดจากการเกาะเกี่ยวต่อกันในด้านต่างๆ เหล่านี้ โดยจุฑาเห็นว่าศิลปะควรเป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าทางการเมือง ซึ่งหมายถึงการเมืองที่เปิดกว้างทางการรับรู้
  • การทำงานร่วมกับ Liberate P ก็เกิดมาจากการตั้งคำถามว่า ทำไมในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราต้องกลับไปใช้ภาษาที่มีอยู่เดิมก่อนที่เราจะเกิด หรือทำไมต้องร้องเพลงที่เกิดมาก่อนเรา ทำไมถึงไม่มีน้ำเสียงและจังหวะที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อย ๆ ตามปัญหาและข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย จุฑาสนใจเพลงแร็ปในแง่มุมทางภาษาและการเป็นพลังในการสื่อสารของเด็กรุ่นใหม่
  • แร็ปเป็นศิลปะหรือไม่ จุฑาเห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่สิ่งต่างๆ จะเป็นศิลปะ แต่ความเป็นไปได้นั้นมันไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างมักง่าย และไม่ใช่ใครคนหนึ่งที่จะมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นหรือไม่เป็น นิยามศิลปะวางอยู่บนเส้นที่ไม่ชัดเจนตลอดเวลา และนั่นเป็นความน่าสนใจของมันที่แต่ละคนสามารถจะล้อไปกับเส้นนั้น และผลักมันไปได้เรื่อยๆ 
  • หนึ่งในพลังทางการเมืองของศิลปะคือการตั้งคำถามแบบ ‘what if’ (ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะ) เพื่อมองหาจินตนาการทางสังคม
  • เอ็มวีนี้สิ่งที่จุฑาต้องการคืออยากให้ร่างกายของนักแสดงประจันหน้ากับคนดู รวมถึงการแสดงสภาวะเปราะบางของร่างกาย เมื่อมนุษย์ไม่ได้เป็นสัตว์ที่แข็งแรงมาก แต่ความสามารถในการปกป้องตัวเองได้ก็มีมากขึ้นตามแต่ต้นทุนทางสังคม
  • สำหรับ ‘แบงค์’ (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หมอลำและอดีตนักโทษทางการเมือง) ผู้ร้องหมอลำ จุฑามองว่าคนคาดหวังให้แบงค์เป็น ‘หนังหน้าไฟทางการเมือง’ ให้พูดหรือด่าอะไรแรง ๆ แต่ขณะที่ส่วนใหญ่ในสมุดจดของเขาคือภาษาต่าง ๆ ที่เขาหลงใหล เธอตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงคิดว่าความหลงใหลในภาษาของเขาถึงมีความเป็นการเมืองน้อยกว่าการด่าผู้มีอำนาจ
  • นอกจากนี้จุฑายังสนใจว่าจะคนเราคว้าจับสาระที่ยังไม่มีภาษาหรืออยู่นอกเหนือภาษาได้ด้วยวิธีไหน โดยเธอเห็นว่าเราสามารถทำความเข้าใจในสาระเหล่านั้นได้ ด้วยการมองมันอย่างมีพลวัต แทนที่จะมองผ่านเกณฑ์และกฎที่ออกแบบโดยอำนาจนำ ซึ่งในที่นี้ก็คือระบอบชายเป็นใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ความบอบช้ำทางจิตใจ มีภาษารึเปล่า หากคน ๆ หนึ่งเจอการล่วงละเมิดทางร่างกาย หรือเป็นนักโทษ พอจบสิ่งนั้นแล้วได้รับอิสรภาพก็ไม่ใช่ว่าความรุนแรงจะหายไป มันกลายเป็นความบอบช้ำทางจิตใจ ที่อาจเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ทัศนคติของคน ๆ นั้น 
  • จุฑามองว่าศิลปะเชื่อมโยงกับการเมืองยังไงเป็นพลวัตรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง แต่เราจำเป็นต้องเห็นการเมืองตั้งแต่ระดับที่เล็กที่สุด ในมหา’ลัย ในระบบราชการ ในแวดวงต่างๆ ไปจนถึงการเมืองทางอุดมการณ์
  • การเมืองยังหมายถึงกระบวนการที่ทำให้สุนทรียศาสตร์ชุดหนึ่งดูมีรสนิยมมากกว่าส่วนอื่นที่เหลือ ละเลยกระบวนการข้างในของการสร้างงานศิลปะ ชูแต่ชุดความคิดทางการเมือง ซึ่งนี่คือการเมืองที่คอยควบคุมแบบปฏิบัติหรือคุณค่าต่างๆ
  • จึงโยงมาถึงกระแส พ.ร.บ.คู่ชีวิตในโลกออนไลน์ ที่จอห์น วิญญู บอกว่า “ถ้าสิทธิของคนทั่วๆไปยังไม่มาเนี่ย สิทธิของ LGBTQ+เนี่ยไม่น่าจะมาก่อน” จุฑามองว่า การพูดว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้เลย พูดเรื่องการมีประชาธิปไตยก่อน หรือบอกว่าการเคลื่อนไหวต้องมีความหนักแน่น ไม่ควรมีความรู้สึกอ่อนไหว เป็นวิธีคิดแบบ political machismo (การเมืองแบบชายชาตรี) มากๆ ซึ่งพลังงานแบบนั้นมันนำไปสู่ความรุนแรงตั้งมากมายเหมือนกัน การพูดเรื่องนี้ต้องมองบนจุดตัดที่ข้ามพาดประเด็นทางชนชั้น การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นั่นทำให้เราต้องพูดเรื่องการเมืองในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน และควรถามตัวเองว่าจะออกแบบระบอบทางการเมืองที่สามารถนับรวมคนทุกคนได้ด้วยยังไง ไม่งั้นการเมืองก็เป็นแค่คำขวัญใหม่ในกลไกอำนาจแบบเดิม ที่ดูเหมือนจะดีกว่าอันเดิมอยู่หน่อยแต่ก็ยังถูกใช้ด้วยโลกทัศน์ที่มีปัญหาอยู่ดี
     
 

เอ็มวี 'ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง' โดย Liberate P และ The Boy Village ตอนที่ 1 หนึ่งลมหายใจ ถูกปล่อยในวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่มีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ไม่แปลกนักเมื่อแรงอัดอั้นที่มีอยู่ในใจประชาชนจำนวนมากหลังพ้นการระบาดระลอกแรกของโควิด-19 จะถูกปลดปล่อยด้วยการชุมนุม หรือด้วยการสร้างงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ แต่เหตุผลไม่ใช่แค่เพราะมาตรการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึง การมีเคอร์ฟิวหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กระทบต่อการทำมาค้าขายของประชาชน แต่รวมถึงก่อนหน้านั้นการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาก็คุกรุ่นมาตลอด และก่อนโควิด-19 เราก็เห็นชุมนุมประท้วงรัฐบาลของเหล่านักศึกษาผุดขึ้นทุกหัวระแหงทั่วประเทศ

เสียงหมอลำอีสานครวญ

โอ้ย....คนเอ้ยคน เกิดเป็นคนใต้ลุ่มฟ้า
มีราคาบ่เทียมท่อ
สองตีนมือก็คือกันเที่ยงแท้ จั่งได๋ฟ้า
ส่างห่างกัน จั่งได๋ฟ้า
ส่างห่างกัน…คนเฮาน้อ

ตามด้วยเสียงกึกก้องในอกของแร็ปเปอร์

ฉันต้องหาบของมาเร่ขายคน
ฉันก็ยังจนทนขายเพื่อเป้าหมาย ไม่ขายลูกขายเมียกิน
ฉันไม่ชินกับการกดขี่จากพันธบัตร
ฉันต้องกัดฟันเพื่อประหยัด
ในขณะที่ชั้นปกครองยังกดขี่…

และเอ็มวีที่วาดลวดลายจากการเคลื่อนไหวร่างกายของนักแสดงด้วยอารมณ์ความรู้สึกอ่อนไหว เปราะบาง มุมกล้องโคลสอัพเผยให้เห็นสีหน้า แววตา ท่าทางอย่างชัดเจน ร้อยเรียงสลับกับภาพการชุมนุมของผู้เชื่อมั่นในประชาธิปไตย ก็ดึงดูดให้เราดูจนจบได้อย่างไม่ยาก

จากเอ็มวี นำไปสู่การค้นหาและพบว่าเอ็มวีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คระยะยาวในชื่อเดียวกันของ 'จุฑา’ ที่ทำงานร่วมกับศิลปินหลายคน เราจึงชวนเธอคุย เพื่อทำความเข้าใจถึงการก่อร่างของไอเดีย สิ่งที่เธอคิด ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งทางการเมืองและศิลปะ รวมถึงกระบวนการทำเอ็มวีชิ้นนี้

 

 

*หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ผู้สัมภาษณ์ขอคงน้ำเสียงบางประการจากผู้ถูกสัมภาษณ์ไว้ เช่น คำว่า ‘มั๊ง’ ‘ซะ’ ‘ใช่มั๊ยล่ะ’ ‘เหรอ’ และ ‘ได้มั๊ย’ เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดน้ำเสียงอารมณ์จากผู้สัมภาษณ์ให้มากขึ้น 

 


ภาพ 'จุฑา' โดย 'จุฑา'

 

จุดเริ่มต้นของโปรเจ็ค ‘ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (To Whom It May Concern)’ เป็นมายังไง?

โปรเจ็คนี้เป็นโปรเจ็คระยะยาว เริ่มตั้งแต่ พ.ศ 2560 และกำลังจะสรุปตัวเองในปีนี้ เราเป็นคนริเริ่มแล้วมันก็แตกกิ่งก้านเป็นงานแต่ละชิ้น กิ่งบางกิ่งก็งอกไปนิดนึงแล้วหยุด บางกิ่งก็โตไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผล ทั้งหมดนี้เป็นการพยายามทำความเข้าใจหรือตอบบางสิ่งที่เราถามอยู่

‘To Whom It May Concern’ จึงมีคำถามในหลายเลเยอร์ สำหรับเลเยอร์ที่ส่วนตัวที่สุด เราถามตัวเองว่าการทำงานอยู่ในวงการศิลปะและการเขียนหนังสือเราเขียนถึงใครกันแน่ ใครเป็นคนอ่านหรือคนรับสาร แล้วการเขียนที่ว่ามันอยู่ในรูปแบบไหนบ้างนอกจากออกมาเป็นตัวหนังสือ นั่นคือคำถามต่อความสัมพันธ์ของกระบวนการผลิตงานและหนทางที่งานมันไป (หรืออาจไม่ไปที่ไหนเลยก็ได้)และแน่นอนคำนี้ในการตีความของคนอื่นที่ร่วมงานด้วยก็แตกต่างกันออกไป เช่น สำหรับนัท Liberate P ที่ตอนหลังเขาใช้วลีนี้เป็นชื่องานเพลงของตัวเอง เขาก็อาจหมายถึงผู้มีอำนาจ พร้อม ๆ กันมันก็หมายถึงประชาชนได้ด้วย  

‘ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ จึงเป็นความพยายามทำความเข้าใจความสัมพันธ์ในการสร้างงานศิลปะและการรับรู้งานศิลปะของผู้คน จนถึงพลวัตที่เกิดจากการเกาะเกี่ยวต่อกันในด้านต่างๆ เหล่านี้ โปรเจ็คนี้มันจึงใช้เวลาและเรียกร้องการเฝ้าดู การแปรรูปและการแปลงกายของผลงานมันไปเรื่อยๆ แต่งานบางชิ้นก็ไร้การเกาะเกี่ยว หรือกระทั่งหยุดชะงักนะ ซึ่งนั่นมันก็บอกอะไรเราอยู่เหมือนกัน 

การทำงานเริ่มจากวลีที่ว่านี้ แล้วเราก็มีบทสนทนากับศิลปินแต่ละคน รวมถึงส่วนที่เขาตีความและพัฒนามันขึ้นมาจนกลายเป็นงานในฟอร์มต่าง ๆ ลักษณะงานเลยออกมาแตกต่างกันไป และเราไม่ได้ไปกะเกณฑ์รูปแบบพวกนั้น 

ส่วนอีกแง่หนึ่ง การทำงานในความสัมพันธ์แบบนี้มันเป็นจินตนาการทางสังคมที่เราสนใจและเชื่อว่าจำเป็นต้องมี แม้มันอาจยังไม่แตะมือกับความจริงทันที แต่ภายหลังมันอาจแทรกตัวเข้าไปในความจริงแบบอื่นที่ดำเนินขนานกันไปได้ ทั้งนี้มันก็ใช้เวลา การรอคอย และเรียกร้องความใจกว้างด้วย โอกาสในการทดลองมันจึงเป็น luxury (ความหรูหรา) อย่างหนึ่งที่มีในโลกศิลปะ ขณะที่ในโลกอื่น ๆ มีกฎเกณฑ์ สิ่งต้องทำและต้องเป็นไว้ชัดเจนเพื่อให้ได้ผลที่คาดหมายไว้แล้ว การทดลองแบบที่บอกไปก็อาจเกิดขึ้นได้ยากกว่าเป็นธรรมดา รวมถึงชุดประเมินคุณค่าที่มีไว้อย่างค่อนข้างตายตัวมันก็สร้างเงื่อนไขอีกแบบในการทำงาน 

แต่กระบวนการทดลองที่ว่านี้มักถูกเข้าใจผิด ๆ ว่าคือการทำอะไรก็ได้ แต่ที่จริงมันตรงกันข้ามเลย เพราะมันเรียกร้องพันธะทั้งในทางพื้นที่และเวลา เรียกร้องความใส่ใจและความจริงจัง ทั้งยังมีความเสี่ยงให้เสียวสันหลังอยู่ตลอดเวลา และสำหรับเรา นี่คือหนึ่งในพลังทางการเมืองของศิลปะที่จะสามารถตั้งคำถามแบบ ‘what if’ (ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะ)

ศิลปะจึง ‘ควร’ เป็นพื้นที่ที่มีความก้าวหน้าทางการเมือง แต่มันก็ไม่ค่อยได้เป็นอย่างนั้นในไทยหรอก แถมความหลากหลายของวิธีคิดมันก็มีไม่มาก ส่วนสิ่งใหม่ที่กำลังก่อตัวก็มักจะไม่ได้ถูกมองเห็นและสนับสนุนมากพอ ส่วนหนึ่งการเมืองภายในวงการจึงเป็นตัวฉุดรั้งอะไรพวกนี้อยู่เหมือนกัน

ทั้งนี้ ‘ศิลปะ’ ที่เราหมายถึงมันนับรวมทุกสาขาทุกแขนงเลยนะ เราไม่เคยมองว่าศิลปะมันหมายถึงแค่ทัศนศิลป์ และความก้าวหน้าทางการเมืองของเราไม่ได้เป็นแค่การเมืองในรัฐสภา การเลือกฝั่งทางการเมืองที่ถูกต้อง หรือการเลือกตั้ง แต่มันหมายถึงความเปิดกว้างและเข้าใจความยอกย้อนของผัสสะที่เราใช้รับรู้โลกเพื่อตัดสินใจให้ตัวเองเท่า ๆ กับที่ใช้ตัดสินคนอื่นด้วย มันคือผัสสะการรับรู้พวกนี้ที่เป็นตัวสร้างเงื่อนไขทางการเมืองขนานไปพร้อมกับการเมืองในเชิงโครงสร้าง ดังนั้นอำนาจที่เรากำลังวิจารณ์ก็ทำงานเกาะเกี่ยวผ่านเราทุกคนในหลากหลายมิติตั้งแต่แรก ใครจะปฏิเสธว่าอำนาจและการควบคุมไม่ได้อยู่ในการทำงานระดับยิบย่อยเหล่านี้?​

 

มาร่วมงานกับ Liberate P ได้ยังไง ทำไมถึงสนใจนำดนตรีแร็ปมารวมในโปรเจ็คนี้

เราไปเจอ นัท (Liberate P) ในงานเปิดตัวงานศิลปะหนึ่งที่ BACC เรารู้สึกว่างานนั้นบรรยากาศน่าสนใจดี ไม่มี 'ผู้ใหญ่’ ไม่มี ‘ผู้รู้’ เหมือนมันเป็นโปรแกรมท้าย ๆ ของงานล่ะมั๊ง คนส่วนใหญ่เลยกลับไปแล้ว เหลือแต่เพื่อน ๆ ของศิลปินและคนที่มาดูดนตรี มันจึงคลาย 'ความเป็นโออ่า’ ของงานเปิดศิลปะที่มักฉายออกมาในอยู่บ่อยๆ เราสนใจการแร็ปของนัท หลังจากนั้นจึงชวนเขาทำงานด้วยกัน

ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำโปรเจ็คนี้เพลงแร็ปเริ่มดังในหมู่วัยรุ่น โดยส่วนตัวเราไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมแบบนั้น ไม่ได้อินกับแร็ปเป็นพิเศษ แต่เราสนใจพลังงานที่ดนตรีโดยทั่วไปทำให้เกิดขึ้นได้ เราสนใจจังหวะดนตรีกับร่างกาย และเราชอบเต้นมาก ๆ มันคล้ายกับว่าร่างกายเราสื่อสารโดยตรงกับจังหวะดนตรีโดยที่เราไม่ต้องคิดอะไรมัน

อีกอย่างคือเราอยากเข้าใจภาษาในทุกแง่มุม และในเพลงแร็ปมันก็มีตรงนั้นที่สะกิดเรา มันมีความเป็นบทกลอน แต่มันก็ไม่พับเพียบเรียบร้อย มันไม่ต้องอยู่ในฉันทลักษณ์อะไร เราเคยถูกฝึกให้เขียนบทกวีตั้งแต่ประถม เขียนให้คล้องจองและนับจำนวนคำลงตามฉันทลักษณ์ ก่อนที่ตัวเองจะเขียนบทความเรียงได้เสียอีก อะไรตรงนั้นมันอาจอยู่ในตัวเรามานานก็ได้ แบบทั้งรักทั้งชัง แล้วพอเรามาเจอการด้นสดที่ตัดกันระหว่างการเขียนและการพูดหรือกระทั่งการสบถ มันก็ทำงานกับเรา และจริง ๆ แร็ปก็ดูคล้ายกับการร้องรำทำเพลงในอีกหลายแบบที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมไทยแต่ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมหลัก

อย่างที่บอกว่าเราสนใจการเกิดขึ้นมาของเพลงแร็ปในแง่มุมของภาษามากกว่าการที่มันเป็น subculture (วัฒนธรรมย่อย) ขณะเดียวกัน เราก็ตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมเวลาพูดถึงการเมืองหรืออยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เราต้องกลับไปใช้ภาษาที่มีอยู่เดิมก่อนที่เราจะเกิดมาซะอีก หรือทำไมต้องร้องเพลงที่เกิดมาก่อนเรา การเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ใช่การ ‘รับเชื่อ’ ที่จะต้องร้องเพลงเดียวกัน พูดแบบเดียวกันเด๊ะ ๆ ใช่มั๊ยล่ะ เราจึงสนใจว่าทำไมมันถึงไม่มีน้ำเสียงและจังหวะที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เรื่อย ๆ ตามปัญหาและข้อเรียกร้องทางการเมืองที่เปลี่ยนไปด้วย เราเลยชอบที่หลังจากการชุมนุมครั้งล่าสุด Fungjai ปล่อย playlist ออกมา แล้วตั้งชื่อว่า ‘ตัวอยู่ข้างประชาธิปไตย แต่หัวใจอยู่ข้างเธอ’ ที่จริงน่าจะมีอะไรพวกนี้ออกมาตั้งนานแล้วนะ

จำได้ว่าการชุมนุมล่าสุดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีศิลปินจากกลุ่ม RAD ขึ้นไปแร็ป และมีอีกคนนึงที่ขึ้นไปบนเวทีเพื่ออ่านบทกวี เราจำคนนี้ได้เพราะเขาทำให้เราหยุดฟัง ท่อนที่ชอบคือ 

ชาตินี้คือทุกคน..ใช่ใครอื่นเพียงหนึ่งเดียว
ชาตินี้ไม่ต้องเที่ยว..ไปปิดเสียงผู้เห็นต่าง
ชาตินี้ชาวประชาต้องเป็นผู้ชี้ทางชัด
เพราะชาตินี้ต้องวิวัฒน์  ไม่ใช่มัวคัดหาแต่คนดี
ใครกันหรือ..ที่ชังชาติ..?
ไออุบาทว์! ประชาราษฎร์เขาชังมึง!
ใครกันที่ล้าหลังและฉุดดึง!
ไม่คำนึงถึงชาติอนาคต!

สำหรับเราทั้งสองวิธีของการก็ทำงานไม่ต่างกัน และเราเห็นการถ่ายโอนไปมาได้ระหว่างสองสไตล์นี้ได้ด้วย มันคือบทกวีที่เขียนขึ้นโดยคนยุคนี้ แม้ราชบัณฑิตอาจไม่เห็นด้วยกับเรา แต่ยังมีใครสนใจพวกเขาอยู่อีกเหรอ 

ตอนที่ชวนนัทมาทำงานมันก็เป็นการทดลองในคำถามของเราว่าถ้าเกิดการเมืองมันคือการลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับปัญหาของยุคสมัย ทำไมสื่อศิลปะประเภทต่าง ๆ ที่ไปด้วยกันกับการเมืองถึงไม่สร้างภาษาขึ้นใหม่ตามไปด้วย เราไม่ได้หมายถึงการตามการเมืองด้วยประเด็นอย่างเดียว แต่เราหมายถึงการสร้างมุมมองทางสุนทรียศาสตร์ที่มีคำถามทางการเมืองอยู่ในนั้น

สมมติฐานของเราคือเพลงแร็ปมันไม่ได้มาจากการรับปรับจากวัฒนธรรมอื่นเท่านั้น แต่มันยังมีเงื่อนไขของภาษาไทยเองที่มันอยู่กับเสียงค่อนข้างเยอะ บางคำมันไม่มีความหมายแต่มันมีเพื่อเสียงกับทำนองดนตรีในภาษา รวมถึงการเล่นคำคล้องจอง อาจเป็นอะไรแบบนี้ที่ทำให้ดนตรีแร็ปเกิดและขยายตัวได้ง่ายขึ้น แล้วมันไปช่วยให้พลังเด็กรุ่นใหม่ที่เขาอยากหาวิธีในการจะพูดอะไรที่เขารู้สึก ‘เข้าปาก’ มากกว่าเพลงเพื่อชีวิต นั่นคือจุดเริ่มต้นแรกๆ ที่ทำงานร่วมกับนัท

 

ในแวดวงศิลปะเขามองเพลงแร็ปยังไง และแร็ปเป็นศิลปะรึเปล่า

เราคงตอบแทนคนอื่นไม่ได้ ในทุกแวดวงจะมีคนที่ทำตัวเป็น 'ตำรวจ’ เพื่อจะบอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็น หรืออะไรคู่ควรที่จะเป็นหรือไม่เป็น (ศิลปะ) ในขณะที่เรามองว่าศิลปะเป็นพื้นที่เปิดให้กับการทดลองบางอย่างที่มันยังไม่ได้ก่อตัวดีพอ แล้วมันก็เป็นพื้นที่ในการค้นหาความเป็นไปได้เหล่านั้นของยุคสมัย

เราไม่ได้สนใจว่าคนในแวดวงมองแร็ปเป็นศิลปะรึเปล่า หรือว่าเขามองมันยังไง แต่ถ้าจะให้ลองตอบ เราก็จะตอบว่า มันมีความเป็นไปได้ที่สิ่งต่างๆ จะเป็นศิลปะ แต่ความเป็นไปได้นั้นมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างมักง่าย และก็ไม่ใช่ใครคนหนึ่งที่จะมาบอกว่าสิ่งนี้เป็นหรือไม่เป็น เพราะอะไรแบบนั้นก็คือการใช้อำนาจ เราเลยมองว่านิยามศิลปะมันวางอยู่บนเส้นที่ไม่ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา และนั่นเป็นความน่าสนใจของมันที่แต่ละคนสามารถจะล้อไปกับเส้นนั้น และผลักมันไปได้เรื่อยๆ 

สำหรับเราศิลปะมันไม่เคยอยู่กับที่เลย มันเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย เปลี่ยนไปตามภาษา เปลี่ยนไปตามความต้องการ เหมือนกับสิ่งอื่นๆ แหล่ะ แต่มันก็มีความพยายามที่จะ instituitionalize (ทำให้เป็นสถาบัน) ความเป็นศิลปะในอีกทางด้วย แต่อีกนั่นแหละ เราไม่สนใจสิ่งที่อยู่ในสถาบัน พิพิธภัณฑ์ ใส่ตู้กระจกหรือแท่นเคารพเพื่อจะอยู่กันไปชั่วฟ้าดินสลายอะไรเท่าไหร่นัก 

หรือพอมาดูศิลปะที่พูดเรื่องการเมือง บางทีก็ค่อนข้างเป็นศิลปะที่มองการเมืองแบบ ‘รับเชื่อ’ พอสมควร คือบอกว่านี่คือสิ่งที่เราจะพูด แล้วก็พูดแบบนั้นแบบเดียว ไม่ต้องถามต่อหลาย ๆ ด้านอีกต่อไป สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและมักถูกมองข้ามคือ การมองไม่เห็นการเมืองภายในกระบวนการสร้างศิลปะ หรือเห็นแต่ดูเบาว่าไม่ใช่ประเด็นที่เชื่อมโยงอะไรกับการเมืองระดับอื่น

เช่น ในงานศิลปะงานหนึ่งเรามองรับรู้ภาพอย่างไร การเมืองของการตัดต่อ และความสวยของภาพจะกลายเป็นพิษได้มั๊ย? เรารับรู้ความเร็ว เสียง พื้นที่ และร่างกายตัวเรายังไงในความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ? เราดูศิลปะเพื่อคอนเฟิร์มสิ่งที่อยู่ในหัวหรือสิ่งที่อยากจะพูดแค่นั้นรึเปล่า? แล้วทั้งหมดนี้มันแปลว่าอะไร มันเชื่อมโยงกับการเมืองภาพใหญ่กว่ายังไงได้บ้าง? 

เวลาอยู่ในที่ชุมนุม เรามักรู้สึกว่าการจัดงานชุมนุมใดๆ มันมีส่วนที่พ้องกับการจัดแสดงงานศิลปะ มันมี artistic articulation ก็คือมันมีการใคร่ครวญและการแสดงออกที่เรียกร้องมุมมองทางศิลปะหลายแบบ เช่น คุณจะวางเวทีตรงไหน แสงเข้าทางไหน คนจะนั่งหรือยืนอยู่ตรงไหนได้บ้าง ลำโพงควรจะอยู่ตรงไหนเพื่อให้คนที่อยู่ไกลออกยังรู้สึกว่าอยู่ในกลุ่ม คนปราศรัยจะต้องพูดยังไง ขยับร่างกายแบบไหน การพูดเต็มไปด้วยบทกลอนคำคล้องจองเพราะอะไร ทำไมถึงต้องพูดด้วยประโยคที่ไม่ยาวเกินไป ทำไมต้องมีจังหวะหยุดเพื่อให้มวลชนได้เสริมต่อ เราคิดว่ามันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่มันเป็น ‘ภาษาศิลปะ’ ในพื้นที่ทางการเมือง

อันนี้คือสิ่งที่เราสนใจ ขณะที่ ‘ศิลปะการเมือง’ ไม่น้อยคือการเอาการเมืองเป็น ‘หัวข้อ’ ในการทำงานแล้วละเลยหรือไม่สามารถมองเห็น ‘การเมืองในภาษาศิลปะ’ ผลที่ออกมาเลยกลายเป็นว่าตัวงานส่งสารทางการเมืองอีกอย่างออกมาแต่ไม่มีใครได้ยิน ความสัมพันธ์แบบสองทางมันจึงมีพลวัตและยอกย้อนมากกว่านั้นถ้าเราจะลองมองและเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้นอีกหน่อย

 

แล้วกลายมาเป็นเอ็มวีได้ยังไง

เราเริ่มจากความสนใจบางอย่างที่ Liberate P ทำได้และอยากจะทำ รวมถึงความทะเยอทะยานในการเป็นนักดนตรีของเขา ส่วนเราเองก็สนใจการทำงานของภาษาและการแสดงสดมาอยู่ตลอด 

เราคุยกับ Liberate P มาก่อนเริ่มนิทรรศการ จนกลายมาเป็นการแสดงดนตรีสดที่บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560 หลังจากนิทรรศการปิดลง นัทก็ไปตั้ง Rap Against Dictatorship (RAD) และเราก็ยังมีบทสนทนากันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งนัทมาคุยกับเราและบอกว่าอยากทำเอ็มวีเพลงที่มีชื่อเดิมว่า ‘Capitalism’ เสนอให้เราลองเอาไปขยายต่อดูว่ามันจะเป็นอะไรได้บ้าง เขาอยากให้เพลงนี้มันทำงานกับคนที่นอกเหนือจากคนในแวดวงเดิมที่รู้จักเขาอยู่แล้ว ก็เลยเป็นเหมือนการดำเนินต่อมาของโปรเจ็คในฝั่งที่ทำร่วมกับเขา

หลังจากนั้นเขาก็เลือกชื่อโปรเจ็ค ‘ถึง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ มาตั้งเป็นชื่อเพลงแทนชื่อ ‘Capitalism’ ที่ถูกปรับปรุงเนื้อร้องขึ้นใหม่ โดยเวอร์ชั่นแรกเป็นการทำงานกับแร็ปเปอร์อีกสองคนคือ Nazesus และ GSUS2 ที่ร่วมแต่งเนื้อต่อจากต้นฉบับเดิมของ Liberate P เอ็มวีตัวนั้นกำกับโดยกษิติ สังข์กุล และปล่อยผลงานผ่าน Rap Against Dictatorship 

ในส่วนของเราคือการทำงานกับเพลงเวอร์ชั่นที่นัทและแบงค์ผลิตร่วมกัน และเราทำงานผ่านพื้นที่ของ Liberate the People ไม่ใช่RAD ผลที่ออกมาก็คือเราผลิตเป็นเอ็มวี 2 ตอน ตอนแรก ชื่อ ‘หนึ่งลมหายใจ’ (one breath) เราเป็นคนกำกับและได้ปล่อยไปแล้ว อีกตอนชื่อ ‘เคยได้หายใจ’ (once breathed) มีปฐมพล เทศประทีป เป็นผู้กำกับ และมีเผ่าภูมิ ชิวารักษว์ เป็นนักเต้น นอกจากนี้ยังมีบทความ 4 ชิ้นที่เรากำลังเตรียมจะปล่อยให้อ่านออนไลน์เร็วๆ นี้ จากนั้นก็จะเป็นการปล่อยเอ็มวีตัวที่สอง และเราหวังให้โปรเจ็คนี้จบจริงๆ ตอนเดือนตุลา ซึ่งเราจะทำเป็นการแสดงสดขึ้นมา

อะไรพวกนี้มันก็คือการทำงานที่ต่อยอดออกไปเรื่อยๆ น่าสนใจที่มันกลายมาเป็นเอ็มวี และมันปรากฏอยู่ในพื้นที่นอกเหนือจากพื้นที่ของการแสดงศิลปะ หรือกระทั่งอยู่ในฟอร์มที่เราเองก็ไม่ได้คิดไว้ก่อนล่วงหน้า วันที่เรากำหนดจะเปิดตัวเอ็มวีนี้มันมาบังเอิญเป็นวันเดียวกันกับที่มีนัดชุมนุมประท้วง (จัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 ก.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) เราเจอหลายคนที่บอกว่าฟังเพลงไปก็กำหมัดไป ถ้าเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เราคิดว่างานนี้ก็ได้ทำงานของมันอยู่บ้าง

 

ใช้คำว่าคุณเป็นคิวเรเตอร์ของโปรเจ็คนี้ได้ไหม

มันมีความเป็นไปได้หลายอย่างในการมองความสัมพันธ์ของการทำงานร่วมกัน และคำถามต่อความเป็นไปได้นั้นมันกลายเป็นเนื้อหาของโปรเจ็คนี้ด้วย แต่เราไม่เชื่อว่ามันมี protocol (แนวปฏิบัติ) มีบทบาทและวิธีคิดหนึ่งเดียวที่จะทึกทักความเป็นไปได้ของทั้งหมด 

อย่างแรก เราเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนริเริ่ม’ เพราะยังมีคนอื่นอีกมากมายที่ช่วยจัดการและจัดสรรหรือกระทั่ง ‘คิวเรต’ โปรเจ็คนี้ แม้แต่ในนิทรรศการที่จัดขึ้นในปีแรกก็เป็นแบบนั้น และจริงๆ จุดเริ่มต้นของโปรเจ็คนี้ก็เพื่อจะตั้งคำถามกับไอเดียเรื่อง curatorial ด้วย ถามว่าเมื่อมีนิทรรศการเกิดขึ้น มันเสมอไปรึเปล่าที่ความสัมพันธ์ในการทำงานมันเป็นได้แค่ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘คิวเรเตอร์’ กับ ‘ศิลปิน’? เราเคยลองถามไหมว่าความสัมพันธ์นี้มันถูกกำหนดมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ระบบแบบไหน เช่น สถาบันศิลปะ หรือการซื้อขายงานรึเปล่า? อีกอย่างคือ curatorial คืออะไรกันแน่? ในทางปฏิบัติมันคืออะไร นอกจากว่ามันทำกันมาและต้องทำกันต่อไป แล้วความสัมพันธ์แบบนั้นมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่และจบตรงไหน? 

ส่วนตัวเราจึงมองว่ามันมีความสัมพันธ์อีกตั้งมากมายที่สามารถนำมาใช้ในการสร้างนิทรรศการ นี่ยังไม่ต้องพูดว่านิทรรศการก็เป็นเพียงฟอร์มหนึ่งในอีกหลายอย่างที่เกิดตามมาจากโปรเจ็คนี้ เราค่อนข้างหน่ายกับผู้คุมป้ายหรือคุมประตูว่าใครจะต้องเรียกตัวเองว่าอะไร ทั้งที่ความจริงมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าเราทำงานมันออกมายังไง หรือมีความรับผิดชอบต่าง ๆ ยังไง คิดว่าในโลกศิลปะเองควรต้องถามกลับไปถามตัวเองเยอะ ๆ ถามถึงศักยภาพในการคิดและสร้างจินตนาการใหม่ ๆ มากกว่าการยืนยันบนความเคยชินของการมองแบบตัวเองอยู่อย่างเดียว เพื่อว่าเราจะได้เห็นบ้างว่าพื้นที่ต่างๆ มันสัมพันธ์กันหลายทาง และหน้าที่ของเราคือทำให้ความเชื่อมโยงนั้นมีชีวิตใหม่ขึ้นได้เรื่อยๆ ไม่ใช่เหรอ?

ทีนี้คิวเรเตอร์คืออะไรมันฟังดูง่ายจนไม่น่าถามใช่มั๊ย? แต่คำตอบมันไม่ง่ายเลย จนถึงว่านิทรรศการคืออะไรได้บ้างเหรอ? คำถามพวกนี้มันยิ่ง valid (สมเหตุสมผล) มาก ๆ หลังจากเกิดโควิดขึ้น คนทำงานศิลปะในหลายประเทศได้เริ่มตั้งคำถามต่อท่าทีและที่ทางเดิมของศิลปะ คนเริ่มตั้งคำถามกับฟองสบู่และเกาะอันโดดเดี่ยวของโลกศิลปะเอง คำถามพวกนี้มันเกิดขึ้นปกติในยุคสมัยที่เงื่อนไขเปลี่อน โดยเฉพาะตอนนี้ที่เราคิดว่ามันมีการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะยังยืนยันอำนาจแบบเดิม ๆ หรือลองค่อย ๆ มองมันใหม่บ้าง เราอาจไม่ค่อยได้ยินคำถามลักษณะนี้เท่าไหร่ที่นี่ 

ความสัมพันธ์แบบที่สองที่เราใช้กับการทำงานนิทรรศการคือ ‘นักเขียน’ สำหรับเรามันไม่ใช่คำอธิบายอย่างที่นิยมพูดกันว่านิทรรศการคือการเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย มันทื่อแถมสำคัญตัวเองเกินไปหน่อย มันมีอะไรที่กว้างขวางกว่านั้นที่เราสนใจในประสบการณ์ทางศิลปะ  เราสงสัยว่าคนเราจะทำความเข้าใจช่วงเวลา ณ ปัจจุบันที่มันไม่เคยนิ่งและเราจะคว้าจับสาระที่ยังไม่มีภาษาหรืออยู่นอกเหนือภาษาได้ด้วยวิธีไหน การเขียนสำหรับเรามันจึงควรคิดควบคู่ไปกับอีกขั้ว นั่นคือภาวะที่เขียนไม่ได้ ไร้ภาษา และไร้เหตุผล เราสนใจกิจกรรมของการเขียนที่แกว่งอยู่ในโมเมนตั้มแบบนี้ 

ตัวอย่างเช่น มันมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการเขียนประวัติศาสตร์และการจดบันทึกว่ามันผูกเข้ากับ ‘กฎหมาย’ ที่ดูราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติ มันเป็นพันธสัญญาบนวัฒนธรรมสายเดี่ยวที่ผูกขาดการรับรู้ จนคนถามต่อว่า ‘จะเป็นอย่างไรถ้าสิ่งที่เรียกร้องให้เราจดจำนั้นได้ต้านทานการเขียนและการจดบันทึกไปด้วยพร้อมๆ กันด้วย?’

การต้านทานนี้หมายถึงการแข็งขืนต่อสิ่งที่ถูกทำให้พูดได้เขียนได้ง่าย ๆ การไม่อยู่ใน ‘สารบบ’ ของเจ้าของภาษาหรือผู้ออกกฎหมายซึ่งในที่นี้ก็คือระบบของ ‘paternal law’ (กฎหมายตามแบบพ่อ) ซึ่งทำให้เกิดคำวิจารณ์ต่อและการเสนอไอเดียตามเรื่อง ‘undutiful daughter’ หรือที่เราขอเรียกเล่น ๆ ว่า ‘ลูกสาวไม่เอาถ่าน’ คือการทำความเข้าใจความรู้ในดินแดนที่ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ ที่ภาษาของเราไม่สามารถเข้าใจได้ ด้วยการมองมันอย่างมีพลวัต แทนที่จะมองผ่านเกณฑ์และกฎที่ออกแบบโดยอำนาจนำ ซึ่งในที่นี้ก็คือ patriarchy (ปิตาธิปไตย-ระบอบชายเป็นใหญ่) (อ่านเพิ่มเติมใน Doreen Mende’s “The Undutiful Daughter’s Concept of Archival Metabolism”) โดยวางความคิดเรื่องการเก็บและการเขียนประวัติศาสตร์เสียใหม่ตรงพื้นที่ที่การเขียนและการใช้ภาษาเดินมาเจอจุดตัดของประวัติศาสตร์ที่เขียนออกมาไม่ได้ ไม่มีภาษา ทำให้การไม่ปรากฏเป็นมากกว่าขั้วตรงข้ามของการปรากฏและการมองเห็นแบบที่ชอบใช้กัน ข้อเสนอนี้วางการเขียนเสียใหม่ไว้ตรงหลายสำเนียงของความรู้ ความไม่รู้ และความปรารถนาหลากหลาย ตรงจุดของการกลายพันธ์ุและไม่เอาแม้แต่กฎเกณฑ์ของพ่อกลับมาเป็นมาตรวัดด้วย

 

แล้วงานศิลปะเชื่อมโยงกับการเมืองยังไงบ้าง

เหมือนกันเลย มันเป็นคำถามที่สื่อมักถาม และมันก็เป็นคำถามที่มักเรียกคำตอบในแบบที่คนอยากจะฟัง คำตอบที่ลดทอนความซับซ้อนต่างๆ แต่มักตะโกนออกมาเสียงดังกว่า เราเห็นว่าการพูดถึงการเชื่อมโยงทางการเมืองในแบบปฏิบัติของศิลปะชะงักอยู่แค่ตรงที่ทางใดทางหนึ่งของสองทางนี้จนเหมือนขยับยากและไม่สร้างบทสนทนาอะไรไกลกว่านั้น 

ฝั่งแรกก็คือการห่มงานด้วยชุดความคิดทางการเมือง แต่ละเลยกระบวนการข้างในของการสร้างงานศิลปะให้ทัดเทียมกัน สิ่งที่เล็ดลอดภาษาและอุดมการณ์ สิ่งที่อยู่ในความลักลั่นและขัดแย้งของการชูธง สิ่งที่เปราะบางอ่อนไหวแต่ทำงานอยู่ในนั้นกลับถูกมองผ่าน ในมุมมองแบบนี้เหมือนเป็นการทึกทักเอาว่ามนุษย์มันสามารถถูกเข้าใจได้ด้วยหลักการเดียว ถ้าชูธงถูก ด่าถูกคน ก็ไม่ต้องมีคำถามอะไรอีก เราคิดว่ามันอันตราย เพราะศิลปะของการโฆษณาชวนเชื่อก็ใช้หลักคิดแบบเดียวกันนี้ไม่ใช่เหรอ

ส่วนอีกด้านคือ มุมมองที่ยืนยันมาตรฐานและความเฉพาะทางอันสูงส่งและหนึ่งเดียวของศิลปะ มุมมองที่ขึงพืดความเป็นไปได้ไว้ในวิชาชีพและองค์ความรู้เฉพาะสาขา รวมถึงการรักษา ‘มาตรฐาน’ หรือ ‘การประเมิน’ ค่า ที่ความจริงควรถูกตรวจสอบไปพร้อม ๆ กับการประเมินสิ่งอื่นๆ รอบตัว

ศิลปะจะเชื่อมโยงกับการเมืองยังไงจึงควรจะเป็นพลวัตที่ไม่เคยหยุดและไม่เคยให้คำตอบหนึ่งเดียว ที่สำคัญ เราคิดว่าจริงๆ แล้ว การเมืองมันเป็นความหมายในภาพใหญ่ที่สุด ไม่ใช่แค่การเมืองของการตรวจสอบรัฐบาลให้ทำงานที่ควรจะทำแต่ก็ไม่ทำแถมมาลำเลิกเอากับประชาชน ไม่ใช่แค่การพูดถึงประชาธิปไตย ระบบทหาร หรือการเลือกตั้ง

เรายังจำเป็นต้องเห็นถึงการเมืองของระบบพวกพ้องในระดับเล็กที่สุดที่ฉุดรั้งการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เรายังต้องเห็นความรุนแรงของการควบคุมและความรักในอำนาจที่แทรกอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ของสังคมแม้กระทั่งในหมู่คนรักประชาธิปไตย

การเมืองยังหมายถึงกระบวนการที่ทำให้สุนทรียศาสตร์ชุดหนึ่งกลายเป็นการแสดงออกอันน่าปรารถนา ดูฉลาด ดูมีรสนิยมมากกว่าส่วนอื่นที่เหลือ มันคือการเมืองที่คอยควบคุมแบบปฏิบัติหรือคุณค่าต่างๆ ที่ไหลเวียนในอากาศและพวกเราก็หายใจเข้าออกกันอยู่ มันไม่ใช่แค่คอนเซ็ปต์หรือทฤษฎี แต่หมายถึงการมองเห็น การฟัง การเคลื่อนไหวร่างกาย อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่ความหน่อมแน้ม ไม่ใช่ความมุ้งมิ้งอะไรที่บางคนดูแคลน แต่มันคือโลกที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกันอยู่อย่างวุ่นวาย 

เหมือน ๆ กับที่กลุ่ม LGBTQ ออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมในการสมรส ก็ไม่ควรมีใครไปบอกเขาว่าควรเรียกร้องประชาธิปไตยก่อนแล้วอย่างอื่นค่อยทำ และก็ไม่มีใครควรมองข้ามความจำเป็นของการสมรสในชีวิตสำหรับคนจำนวนหนึ่ง แล้วโยนคำเก๋ ๆ อย่าง ‘polyamory’ ใส่ผู้คน จนเหมือนไม่ได้คิดว่าแม้สิทธิใน ‘การเลือกชีวิตแบบชั้น’ มันก็ไม่ได้มีให้เท่ากันตั้งแต่แรก

ในแง่หนึ่งการสมรสมันอาจเป็นความจำเป็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราไม่ควรมองข้าม ประเด็นของเราคือ ‘ความเป็นธรรม’ และ ‘ความก้าวหน้า’ ทางการเมืองและสังคมมันเรียกร้องความเข้าใจมากกว่าความคิดบนหลักการชุดเดียว สำหรับเราศิลปะต้องใคร่ครวญสิ่งต่าง ๆ เหมือนๆ กับที่ศาสตร์สาขาอื่น ๆ ในสายมนุษยศาสตร์ที่ทำงานบนการไต่ถามภาวะของมนุษย์โดยตรงก็ต้องทบทวนความรู้และความเชื่อตัวเองอยู่เสมอ เพื่อจะหาความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างทฤษฎีและเงื่อนไขของโลกที่เปลี่ยนไป ในสังคมและคนที่ไม่มีจินตนาการถึงความเป็นไปได้หรือมองความเป็นไปได้อย่างแน่นิ่งตายตัวคือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเรา กระทั่งมันอาจเป็นความรุนแรงประเภทหนึ่งได้ด้วย

ตัวอย่างเช่นในมุมมองของ performance studies จะมีคำถามว่า trauma (ความบอบช้ำทางใจ) มีภาษารึเปล่า คนสามารถ ‘พูด’ ออกมาได้จริงหรือ? ยกตัวอย่างเช่น คนๆ หนึ่งเจอความรุนแรงจากครอบครัว จากการล่วงละเมิดทางร่างกาย จากการเป็นนักโทษในคุก ผ่านการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ พอสิ่งนั้นจบลงหรือได้อิสรภาพมาแล้ว เรื่องมันก็ไม่ได้ง่ายแค่ว่าคุณเป็นอิสระหรือปลอดภัยแล้ว และความรุนแรงจะหมดไป มันมีความรุนแรงตั้งหลายรูปแบบ มีความรุนแรงที่เป็นพลังงานเฉื่อยและมีความรุนแรงกลับกลายเป็น trauma ที่ทั้งแฝงในตัวและฝังอยู่ในใจจนกำหนดพฤติกรรมคนเรา ความทรงจำนั้นอาจกลายเป็นความคับแค้น หรือกระทั่งเป็นทัศนคติที่คนหนึ่งมีต่อโลก เราสนใจว่าเรื่องพวกนี้มันทำงานยังไง และศิลปะเองก็ยังมีพื้นที่ให้ไถ่ถามและทดลองมันตลอดเวลา

หรืออย่างระบบทหารที่ทำให้คนต้องเชื่อฟังคำสั่ง การที่คนเชื่อในคำสั่งนานๆ เข้ามันก็ละเลยแรงปรารถนาของตัวเอง เมื่อละเลยความรู้สึกหรืออะไรต่างๆ ในตัวเอง มันก็คือการละทิ้งสิทธิและความเป็นไปได้ที่จะมีความคิดเห็นทางการเมืองเป็นของตัวเอง แล้วการที่ไม่มี political agency เขาก็จะไม่เชื่อว่าเขาต่อสู้หรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้

แต่ระบบทหารที่ว่ามันอาจไม่ได้อยู่แค่ในรูปของเครื่องแบบทหารก็ได้ใช่มั๊ย มันกลายร่างออกเป็นสิ่งอื่นได้มากมาย อยู่ในมหาวิทยาลัย อยู่ในระบบราชการ อยู่ในความเป็นแวดวง แล้วมันก็ไหลไปตามกลไกทางสังคม เรามองว่าระบบทั้งหมดที่กำกับคนมันทำงานซับซ้อนแบบนั้น แล้วเราก็สนใจที่จะถอดมันออกมาดู ไม่ใช่แค่การพูดถึงการเมืองในระดับอุดมการณ์หรือประวัติศาสตร์เฉยๆ แล้วก็จบ อันนี้คือความสัมพันธ์ของศิลปะกับการเมืองสำหรับเรา

 

พูดถึงนักแสดงในเอ็มวีบ้าง มีการคัดเลือกมายังไง

การทำงานและรีเสิร์ชช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาของเรามันเป็นการอยู่ระหว่าง visual art (ทัศนศิลป์) กับ performance (การแสดงสด) แล้วเราสนใจสื่อที่ไม่เป็นวัตถุมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสื่อที่มันแสดงเสร็จแล้วหายไป เก็บให้เหมือนเดิมไม่ได้ เช่นพวก performance คนอาจจะบอกว่าถ่ายวิดีโอการแสดงสดไว้ได้ แต่มันก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรับรู้การแสดงนั้นในฐานะประสบการณ์ทางศิลปะประเภทนี้ ซึ่งไม่เหมือนกับผลงานที่กลายเป็นวัตถุหรืองานจัดวางได้ มันถูกสร้างแล้วก็ถูกย้ายเอาไปวางที่อื่นได้ ถูกซื้อกลับไปเก็บไว้ที่บ้านได้ ขณะที่องค์ประกอบต่าง ๆ ภายในมันยังเหมือนเดิม แต่พอพูดแบบนี้มันก็จะไม่จริงเท่าไหร่ในแง่ที่การย้ายวัตถุศิลปะมันก็ไม่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นเหมือนกัน เพราะวัตถุในพื้นที่ใหม่มันก็นับรวมสิ่งแวดล้อมเข้ามาในตัวเป็นความหมายใหม่ด้วย

งานที่ทำก็จะสัมพันธ์กันระหว่างรูปแบบเหล่านี้ ตอนที่ทำเอ็มวีก็คุยกับพี่เงะ (คาเงะ-ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง B-Floor) ว่าเราอยากให้เอ็มวีมีองค์ประกอบของการเคลื่อนไหวของร่างกายกับจังหวะของดนตรี เพราะเราคิดว่าสองอย่างนี้มันใกล้ตัวเสียเหลือเกิน มันแหวกอากาศ มันบรรเลงไปด้วยกันบ้าง ขัดกันบ้าง แต่มันกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงเวลาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ในการชุมนุมเคลื่อนไหว มันมีร่างกายและมีเสียงเยอะแยะมากมาย มันคือประชาชนที่เข้ามาร่วม เราเลยสนใจว่าถ้าสองอย่างนี้มาทำงานในเอ็มวีมันจะเป็นยังไงบ้าง

เราก็เอาเนื้อเพลงและคลิปเสียงให้พี่เงะ แล้วเขาก็ทำงานชิ้นแรกออกมา ซึ่งกลายเป็นงานของเขาเองและพี่เงะตัดต่อวิดิโอนั้นเองด้วย ในนั้นยังมีพี่งิ่ง  (รัชชัย รุจิวิพัฒนา กลุ่มละครใบ้เบบี้ไมม์) กับกอล์ฟ (นลธวัช มะชัย ลานยิ้มการละคร) ร่วมแสดงด้วย เป็นโปรเจ็คที่ได้รับทุนจาก สศร. (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย) ที่ให้ศิลปินศิลปาธรทำงานออกมาในช่วงโควิด ทีแรกเราว่าจะพัฒนางานจากฟุตเทจอันนั้น แต่ไปๆ มาๆ ก็พบว่าเอ็มวีที่จะทำมันเรียกร้องการมองอีกแบบหนึ่ง เราก็เลยทำงานกับนักแสดงกลุ่มเดิม แต่ถ่ายฟุตเทจใหม่ทั้งหมด 

 

อะไรคือสิ่งที่อยากสื่อในเอ็มวีนี้ มีกระบวนการทำงานยังไงบ้าง

ในเอ็มวีนี้สิ่งที่เราอยากทำคือการให้ร่างกายประจันหน้ากับคนดู เพราะฉะนั้นจะมีภาพโคลสอัพค่อนข้างเยอะ ตรงนี้ต้องขอบคุณเพื่อนอีกคนก็คือกฤต  (กรกฤต อรุณานนท์ชัย) ที่ช่วยแชร์ความคิดและทำหน้าที่ตัดต่อเอ็มวีให้ด้วย และไอเดียคือเรากำลังคิดเรื่องvulnerability (ความเปราะบาง) ของร่างกายอยู่ เราสนใจภาวะของร่างกายที่มันมีจุดเปราะบาง ซึ่งมนุษย์ทุกคนเป็นแบบนั้นอยู่แล้วนะ เราเป็นสัตว์ที่ไม่ได้แข็งแรงมาก แต่ความสามารถในการปกป้องตัวเองได้มันก็มีมากขึ้นตามแต่ต้นทุนทางสังคม ไม่ใช่หนังที่หนากว่าหรือกรงเล็บที่ยาวอะไร แล้วอะไรพวกนี้มันยิ่งชัดในสังคมที่ช่องว่างเยอะ รัฐไม่มีสวัสดิการรองรับคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้น้อยกว่า การไม่มีกลไกแบบนี้ก็เท่ากับจับคนโยนลงไปในสนามที่คนมีอาวุธและทักษะไม่เท่ากันตั้งแต่แรก ส่วนหนึ่งที่เราสนใจ performanceเพราะด้วยการใช้ร่างกายมันสัมผัสและตั้งคำถามอยู่กับประเด็นเหล่านี้โดยตรง

แล้วช่วงโควิดสำหรับเรามันทำให้เห็นเลยว่าสังคมนี้ยิ่งทำให้คนที่ไม่ได้มีต้นทุนทางสังคมต้องตกอยู่ในภาวะที่เปราะบางขนาดไหน นอกจากสังคมไม่ได้ตระเตรียมอะไรไว้ให้เลย รัฐบาลยังดูแคลนและทำราวกับว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง ผลักให้สิ่งต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องส่วนตัว กลายเป็นความเมตตาของคนกลุ่มหนึ่งต่อคนอีกกลุ่ม

ในข่าวรายวันก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งไปร้องตะโกนบ้างร้องไห้บ้างอยู่หน้ากระทรวงการคลัง จำได้ว่ามีป้าคนหนึ่งพูดว่าเขาไม่ได้อยากทำแบบนี้หรอก ชีวิตเขาไม่เคยมาร้องขอรัฐบาลเลย ก้มหน้าทำงานตลอด แน่จริงก็ปล่อยให้เขาได้ทำงานสิ ได้ขายของได้หารายได้ ในเอ็มวี เราเลยคิดว่าถ้าร่างกายมันสร้าง dramatic movement (การเคลื่อนไหวแบบเน้นอารมณ์) ออกมาบ้าง มันก็อาจจะสมเหตุสมผลต่อความคับแค้นที่ผู้คนมีอยู่ในตอนนี้

ตอนทำเอ็มวีเป็นการพบกันครึ่งทาง เราบอกเขาว่าเรามองภาพไว้ยังไง แล้วก็ให้อิสระเขาลองพัฒนาการเคลื่อนไหว อาจจะไม่ได้ในสิ่งที่คิดเป๊ะๆ แต่เราว่าการทำงานร่วมกันมันก็คืออะไรแบบนี้ เราไม่คิดว่าการกำกับคือการล้วงและควบคุมทุกอย่าง เพื่อให้มันเป็นแบบที่ตัวเองต้องการอย่างเดียว มันคือการแชร์กันเพื่อมาเจอกันตรงจุดหนึ่งมากกว่า มันเป็นการตีความของนักแสดงส่วนหนึ่ง ของเราเองส่วนหนึ่ง บางจุดอาจจะ dramatic ไปนิดนึงสำหรับเรา แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่โอเค เราไม่ได้มีประสบการณ์ในการกำกับภาพเคลื่อนไหวมากก่อน งานนี้เป็นชิ้นแรก และนี่ก็เป็นการทำตามสัญชาตญาณและความเข้าใจที่มีอยู่

ในฟุตเทจ ภาพถ่ายมีช็อตที่สโลว์มากๆ โดยเราให้นักแสดงเคลื่อนไหวไปหลายทิศทาง เคลื่อนไปเรื่อยๆ แล้วเราเปิดเพลง บางจุดที่คิดว่าน่าสนใจเราก็อาจจะให้เขาทำซ้ำ ส่วนพี่เงะเขาออกแบบการเคลื่อนไหวร่างกายของตัวเองโดยใช้หนึ่งลมหายใจ มันจึงเป็นที่มาของชื่อตอน ‘หนึ่งลมหายใจ’ พี่เงะจะหายใจเข้าแล้วเคลื่อนไหวไปจนกระทั่งหมดลมหายใจก็จะหยุด หายใจออก แล้วเปลี่ยนท่า เขาจะทำแบบนี้ตั้งแต่ BACC มาถึงสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งอันนี้ก็เหมือนเป็นตัวนับเวลาของเอ็มวีนี้ เอ็มวีตอนที่สองก็มีตัวนับเวลาอีกแบบ แต่จะเป็นอะไรต้องรอดู 

 

เล่าถึงแบงค์ คนร้องหมอลำในเพลงให้ฟังหน่อย

เราได้รับการแนะนำมาจากเพื่อนคนหนึ่งว่าแบงค์ (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หมอลำและอดีตนักโทษทางการเมือง)​ สนใจการเล่นร้องหมอลำ ส่วนเราสนใจแบงค์เพราะอยากรู้ว่าเขาคิดอะไร เราคิดว่าทุกคนควรฟังเขามากกว่ารวบรัดตัวตนเขาผ่านเรื่องเล่าแบบเดียว

เคยคุยกับพีระ (พีระ ส่องคืนอธรรม)​ เรื่องแบงค์ ซึ่งเขาก็ได้เขียนไว้ในบทความที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็คนี้ว่าคนคาดหวังให้แบงค์เป็น ‘หนังหน้าไฟทางการเมือง’ ให้พูดหรือด่าอะไรแรง ๆ แต่ขณะที่ส่วนใหญ่ในสมุดจดของเขาคือภาษาต่าง ๆ ที่เขาหลงใหล ทำไมคนถึงคิดว่าความหลงใหลในภาษาของเขาถึงมีความเป็นการเมืองน้อยกว่าการด่าผู้มีอำนาจล่ะ

ถ้ามองอย่างนั้นแสดงว่าเราไม่เห็นความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้จริงๆ เช่น เรามองไม่เห็นหรือว่าไม่ว่าจะอำนาจแบบไหนก็ต่างพยายามสถาปนาภาษาบางอย่างขึ้นมาให้อยู่เหนือกว่าภาษาอื่นที่เหลือ มันเป็นทั้งหมดตั้งแต่ประวัติศาสตร์แบบรัฐ​ วรรณกรรมแบบเจ้า หรือกระทั่งศิลปะที่ถูกคุมคำอธิบายเพียงคนกลุ่มเดียว ผ่านอุดมการณ์ อคติ และกระทั่งความใฝ่ฝันมันก็ไหลวนอยู่ในการใช้ภาษานั้น ทีนี้เราจะละเลยมันไปได้ยังไง

นัทกับแบงค์ได้เจอกันครั้งแรกช่วงเดือนพฤษภา พ.ศ 2560  นัทเล่นเพลง ‘ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง’ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังใช้ชื่อเพลง ‘Capitalism’ ให้แบงค์ฟัง พอฟังแล้วแบงค์ก็เขียนเนื้อเพลงท่อนเปิดออกมาเลยตอนนั้น นั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันรอบแรก

 

ถ้างั้นศิลปะเองควรมีมุมมองต่อการเมืองในรูปแบบไหน

เราคิดว่าบางคนมองการเมืองผ่านด้านที่แข็งกร้าวเท่านั้น จนละเลยหรือกระทั่งดูแคลนอะไรที่ละเอียดอ่อน อ่อนไหว หรืออะไรที่ไม่เสียงดัง ไม่แข็งกร้าวมากพอในแบบที่เขารู้จักว่ามันไม่มีพลังทางการเมือง หรือกระทั่งว่ามันไม่ใช่การเมือง

ซึ่งมีศิลปะจำนวนมากที่อยากจะบอกว่าตัวเองแคร์เรื่องการเมือง และพูดถึงการเมืองในแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาไม่สนใจมองก็คือ บางทีศิลปะเองก็ผลิตซ้ำภาพความรุนแรง เราสร้างภาพตื่นตา ความรุนแรงทางการเมือง จนลืมว่าตกลงประเด็นที่เราควรพูดกันอย่างจริงจังคือเรื่องอะไรกันแน่ เราไม่ได้หมายความว่า ‘ความรุนแรง’ กับ ‘การต่อต้าน’ มันแยกออกจากกันได้เด็ดขาดนะ มันฟัดเหวี่ยงกันอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ต้องถูกถามมากกว่าที่เป็นอยู่

ในเอ็มวีทั้งสองตอนนี้ไม่ได้มีใบหน้าของแบงค์อยู่เลย ที่จริงก็คุยกับนัท Liberate P ด้วยว่าแบงค์ปรากฏอยู่ในภาษาและส่งเสียงที่สำคัญของเพลงนี้ และมันมีเหตุผลสำคัญอย่างอื่นที่คุยกันว่าเราไม่ควรให้เขาปรากฏ ในอีกแง่การไม่ปรากฏก็ทำงานเชิงอุปลักษณ์ได้อีกด้วย เราคิดว่าการไม่ปรากฏมันเป็นไปได้ทั้งในรูปอำนาจบนฟ้าที่บินไปบินมาอยู่เหนือหัวและในรูปของบุคคลที่มีชีวิตอยู่แต่กลับไม่ถูกมองเห็น มันมีตัวละครในวรรณกรรมของภู กระดาษ เรื่อง เนรเทศ เป็นเมียที่ตายไปแล้ว แต่ยังไม่ไปไหน ตามผัวไปเรื่อย ไม่พูด ไม่มีเสียง หลอกใครไม่ได้ ภู กระดาษ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ‘เป็นผีในประเทศนี้ยังไม่มีฤทธิ์เดชแม้แต่จะหลอกหลอนคนเลย’ เราว่าถ้าจะมองในมุมแบบนี้ก็ได้ด้วย

 

โยงมาถึงเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เป็นกระแสในออนไลน์ มีนักเคลื่อนไหวฝ่ายก้าวหน้า เช่น จอห์น วิญญู ออกมาบอกว่า “ถ้าสิทธิของคนทั่วๆไปยังไม่มาเนี่ย สิทธิของ LGBTQ+ เนี่ยไม่น่าจะมาก่อน” เราจะตอบคนที่มีแนวคิดแบบนี้ยังไง

มันเป็นปัญหาและมันน่าอึดอัดตลอดเวลาที่ขบวนการเคลื่อนไหวในไทยยังมองการเมืองในแบบที่แคบมากๆ หมายถึง เราเรียกร้องเสรีภาพ เราต้องการเอาประชาธิปไตยคืนมา ซึ่งแน่นอนว่าถูก แต่มันก็เหมือนที่มีคนที่บอกว่า การเมืองต้องพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ก่อนเรื่องอื่น เราสงสัยว่ามันไม่ควรพูดไปพร้อมๆ กันหลาย ๆ เรื่องเหรอ ในเมื่อปัญหาหลายเรื่องมันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ตลอด 

อีกประเด็นคือคุณต้องพูดถึงรายละเอียดด้วยว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่คุณสนับสนุนมันคืออะไร เพราะพูดให้ถึงที่สุด คนที่เป็นเผด็จการจะพูดว่าตัวเองรักประชาธิปไตยก็ยังได้เลย แล้วเรารู้สึกว่าการเมืองมันถูกทำให้เป็นอะไรที่แข็งทื่อและเย็นชา คุณคิดว่าโลกมันเป็นแบบนี้ แล้วมันก็มีชุดตรรกะเหตุผลแบบนี้ แล้วคุณก็บอกมันว่าต้องเป็นแบบนี้แหละ อะไรที่กำกวมหรือลื่นไหลกว่านั้น มันกลับไม่ถูกนับรวมว่าเป็นอะไรที่จริงจังหรือหนักแน่นพอ หรือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว 

แน่นอนว่าสิ่งที่จอห์นพูดมันไม่ถูกต้อง แต่เราก็ได้แลกเปลี่ยนกับปลา (ดาราณี ทองศิริ ผู้ก่อตั้ง Feminista) อยู่เหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ในฐานะที่เราก็เป็นคนชนชั้นกลาง เราก็เห็นในมุมหนึ่งว่ามีคนที่เรียกร้องสิทธิเหล่านี้ที่ไม่เชื่อมโยงสิทธิของตนไปกับสิ่งอื่นๆ แล้วกลุ่ม LGBTQ+ เองก็มีหลายเฉด เฉดที่เสียงดัง ที่ควบคุมเรื่องเล่า และมีสิทธิในการสร้างหรือแสดงตัวตน ก็เป็นเฉดที่อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคมอยู่ดี

นั่นก็หมายถึงชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีความสามารถในการใช้ภาษา มีร่างกายที่สามารถแสดงออกได้ เหล่านั้นมันคือต้นทุนทางสังคม ซึ่งอะไรแบบนี้ก็มีอยู่ในโลกศิลปะเหมือนกัน ดังนั้นมันจริงส่วนหนึ่งในแง่ที่ว่า มีกลุ่มคนที่เรียกร้องเรื่องเหล่านี้แต่กลับไม่ได้คิดที่จะยึดโยงเข้ากับการเมืองภาพใหญ่ เป็นไปได้ว่าจอห์นอาจจะเห็นตัวอย่างจาก LGBTQ+  ในระนาบที่แบนและเป็นมิติเดียวตรงนั้น ต้องยอมรับว่าปัญหาแบบนั้นมันก็มีอยู่จริง 

เราจำได้ว่าตอนช่วงเสื้อแดง LGBTQ+ ในกรุงเทพจำนวนไม่น้อยที่ต่อต้านการชุมนุม แถมมีการดูถูกดูแคลนผู้ชุมนุม แต่สิ่งที่เราไม่ควรลืมคือ ยังมีกลุ่มคนชายขอบอีกมากมายที่อยู่ในเพศสภาพที่ลื่นไหลนี้ และพวกเขาอาจไม่มีภาษาหรือมีศัพท์แสงที่จะพูดถึงภาวะดังกล่าวได้อย่างฉะฉาน ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ทรัพยากรล้นเหลือจนสามารถ ‘เป็นอะไรก็ได้’ หรือ ‘แสดงออกยังไงก็ได้’ เราจะพูดแบบลดทอนเบอร์นั้นได้ยังไง เพราะปัญหาพวกนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวล้วนๆ และมันก็ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องสิทธิบนร่างกายที่มีต้นทุน มีราคาที่ต้องจ่าย สิทธิและต้นทุนพวกนี้มันไม่ได้เท่าเทียมกัน ดังนั้นเราคิดว่าการพูดเรื่องนี้มันต้องมองบนจุดตัดที่ข้ามพาดประเด็นทางชนชั้น การศึกษา และการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ นั่นทำให้เราคิดว่ามันต้องพูดเรื่องการเมืองในทุกมิติไปพร้อมๆ กัน มันต้องไม่ดูแคลนเรื่องใดเรื่องหนึ่งว่าเป็นเรื่องหน่อมแน้มหรือมุ้งมิ้ง

การพูดว่าอย่าเพิ่งพูดเรื่องนี้เลย พูดเรื่องการมีประชาธิปไตยก่อน หรือบอกว่าการเคลื่อนไหวต้องมีความหนักแน่น ไม่ควรมีความรู้สึกอ่อนไหว มันเป็นวิธีคิดแบบ political machismo (การเมืองแบบชายชาตรี) มากๆ ซึ่งเราก็เห็นอยู่ว่าพลังงานแบบนั้นมันนำไปสู่ความรุนแรงตั้งมากมายเหมือนกัน

อะไรพวกนี้เราคิดว่าต้องพูดกันให้เยอะมากขึ้น และเราดีใจที่ประเด็นต่าง ๆ ในเนื้อตัวถูกนำมาเป็นประเด็นในทางการเมือง ดีใจที่เห็นคนที่แอคทีฟมากๆ และพยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ มัน intersect (ตัดผ่าน) กันอย่างไร มากกว่าที่จะทำให้การพูดเรื่องเหล่านี้เป็นแค่ประเด็นทางอัตลักษณ์ที่เสี่ยงติดกับดักการสร้างตัวตนที่ละเลยความไม่เท่าเทียมของโอกาสในการสร้างตัวตนและส่งเสียงตั้งแต่แรกเริ่ม

การเมืองมันเลยไม่ใช่เรื่องการประกาศชุดคำขวัญ เสรีภาพ ประชาธิปไตย อิสรภาพอะไรพวกนั้น แต่มันมีอีกหลายมิติของชีวิตที่เราเผชิญอยู่ทุกวันที่ต้องพูดไปพร้อมๆ กัน มุมมองเรื่องเพศและสิทธิบทเนื้อตัวที่ล้าหลังมาก ๆ ในหมู่นักกิจกรรมชายก็จำเป็นต้องพูดเหมือนกัน และถ้ามองภาพใหญ่ที่สุด การมีประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่าการแบ่งแยกทางชนชั้นและการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว จะหมดไป 

เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางเลยที่คุณจะบอกว่า พูดเรื่องประชาธิปไตยก่อน แล้วค่อยพูดเรื่อง racism (การเหยียดผิว) พูดเรื่อง gender(เพศสภาพ) ทีหลัง คุณควรจะถามตัวเองว่าจะออกแบบระบอบทางการเมืองที่สามารถนับรวมคนทุกคนได้ด้วยยังไง ไม่งั้นการเมืองของคุณก็เป็นแค่คำขวัญใหม่ในกลไกอำนาจแบบเดิม ที่ดูเหมือนจะดีกว่าอันเดิมอยู่หน่อยแต่ก็ยังถูกใช้ด้วยโลกทัศน์ที่มีปัญหาอยู่ดี 

อีกกรณีที่น่าสนใจก็คือกรณี ‘Black Lives Matter’ เราจำได้ว่าช่วงที่มีการแซะคนไทยจำนวนหนี่งที่ชูคำขวัญนี้ ฝ่ายประชาธิปไตยก็ถามกลับว่าแล้วชีวิตคนอื่น ๆ ที่ตายไปหรือถูกทำให้สูญหายในไทยไม่ ‘matter’ เหมือนกันหรือ? คำถามนี้มันก็เป็นการถามหาความเชื่อมโยงว่าทำไมคนที่แคร์ชีวิตของคนกลุ่มหนึ่ง สามารถละเลยชีวิตของคนอีกกลุ่มทั้งที่มันแชร์ปัญหาร่วมกันอยู่

แต่ในอีกด้านการแซะกระแนะกระแหนบางทีก็เลยเถิดจนเราพบว่าคนแซะก็ลืมถามคำถามเดียวกันกับตัวเองด้วย มันก็ไม่ใช่ว่าปัญหาในบ้านสำคัญกว่าปัญหาในส่วนอื่นที่เหลือ ปัญหาต่าง ๆ มันอาจไม่ได้อยู่ใน hierarchy (ลำดับชั้น) แบบนั้น และเราไม่ได้มาแข่งความระทมขมขื่นกันใช่มั๊ย เรามองว่าปัญหาต่าง ๆ มันไม่เคยแยกอย่างเด็ดขาดและมันจะมีพลังมากกว่าถ้าคนสามารถเข้าใจมันจากหลาย ๆ มิติ เพื่อสร้างระยะการมองปัญหาตรงหน้าผ่านการเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่อื่นๆ ไปพร้อมกัน อีกอย่างก็คือการเมืองในประเทศและการเมืองโลกมันก็สัมพันธ์กันมาตลอดไม่ใช่เหรอ

ให้พูดอีกหน่อยก็คือว่า ในไทยเองก็สนใจเรื่องประเด็นเรื่องเชื้อชาติน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เราสนใจแต่ประเทศที่มีอำนาจ ส่วนคำว่าต่างประเทศหรือ ‘inter’ ที่ชอบพูดกันมันกลายเป็นแค่เรื่องของคนผิวขาว ความอินเตอร์คือความอยากที่จะโยงใยกับอำนาจนำแบบนั้น องค์ความรู้ส่วนใหญ่ที่อ่านและโคว้ทกันอยู่ในมหา'ลัยมันก็เดินไปในทางนั้นซะส่วนมาก

ตรงนี้มันเป็นการเมืองเหมือนกันไม่ใช่เหรอ มันเป็นการเมืองของโลกทัศน์ การเมืองของการผลิตความรู้ และการสร้างความชอบธรรมผ่านระบบการวัดคุณค่าที่คนมีอำนาจกว่าเป็นคนสร้าง แต่แล้วมันจะดีได้ยังไงถ้ามันมีอยู่สำเนียงและทิศทางเดียว สำหรับเรานักคิดและนักเขียนในกลุ่ม The Black radical tradition ให้แรงบันดาลใจกับเรามาก เหมือน ๆ กับงานวรรณกรรมจากนักเขียนหลายคนจากหลายมุมของโลกที่ทำให้เห็นว่าเรื่องเล่าและคุณค่ามันมีหลายชุด จนบางทีก็พ้องจนใจพอง แต่บางทีก็ต่างเสียจนแทบจะคุยกันไม่รู้เรื่องเหมือนกัน เราว่าอะไรพวกนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่ก้าวหน้าไม่น้อยกว่าหลักการทางการเมือง คำถามคือเราจะไปพร้อม ๆ กันได้ยังไง?

 

สุดท้าย เล่าเรียกน้ำย่อยสำหรับโปรเจ็คจบเดือนตุลาให้ฟังหน่อย

เป็นงานจบอย่างเป็นทางการ หมายถึงเราคงไม่ได้ใช้ชื่อโปรเจ็คนี้ในการทำงานอีก แต่มันก็ยังมีส่วนที่ดำเนินต่อไปในตัวเราเอง และอาจจะในตัวคนที่เราทำงานด้วยเช่นกัน

มันยังไม่ได้ประกอบร่างดีนะ คือเราสนใจเรื่องเสียงและสปีซ เราเคยคิดเล่น ๆ ว่าอยากเขียนสปีซให้กับคนที่ขึ้นพูดในต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก พวกผู้นำหรือแกนนำ การชุมนุมประท้วงหรือการรวมตัวทางการเมืองต่าง ๆ รวมถึงกรณีอื่น ๆ ด้วย 

เราสนใจว่าภาษามันจะต้องเป็นยังไงนะ มันเป็นการเขียนบนการเห็นภาพของคนจำนวนมาก แล้วจะต้องใช้คำแบบไหน มันจะทำยังไงให้คำมันร้อยเรียงในแบบที่คนฟังสอดตัวเองเข้าไปได้ เรายังสนใจภาพและร่างของ ‘ผู้นำ’ ที่มันไม่ได้ตายตัว ไม่ได้มีคนเดียว และไม่ได้มีใครอยู่ตลอดไป แต่เราพบว่าภาษามันยังทำงานอยู่อย่างแข็งขัน มันสามารถมันจับใจเท่าๆ กับผลักไสคน มันปลุกเร้า มันโน้มน้าว และมันกำกับควบคุมอะไรบางอย่าง บางทีมันอาจกำกับจินตนาการเราเองได้ด้วย เราจึงสนใจว่ามันทำงานยังไงและเราจะสามารถงัดข้อกับมันยังไงได้บ้าง คือเราเห็นภาษาไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์เชื่อง ๆ เราก็เลยเอาสิ่งนี้มาลองออกแบบเป็นการแสดงสด ที่จบแล้วก็หายไปเลย จริงๆ ก็เหมือนกับนัดเจอหรือการชุมนุมนั่นแหละ ตอนนี้ยังเป็นความคิดคร่าว ๆ ทำนองนี้ที่เรากำลังพัฒนาต่ออีกเยอะเหมือนกัน ยังไม่รู้ว่ามันจะคลี่คลายออกมาเป็นยังไง



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net