Skip to main content
sharethis

กรณีการบังคับควบคุมตัวทิวากร วิถีตน เข้าไปไว้ในโรงพยาบาลจิตเวช เป็นการใช้ ‘ความบ้า’ เข้าจัดการความผิดแผกแตกต่างที่มีมาแต่ยุคโบราณ คำถามคือประเทศไทยอยู่ในยุคไหน? และเสรีภาพคือความบ้าหรือว่าประเทศนี้กำลังวิกลจริต?

  • ความบ้ามีประวัติศาสตร์ความเป็นมาแบ่งเป็น 4 ยุค ซึ่งมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
  • ความบ้าถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการกีดกันและจัดการความเป็นอื่น ขณะเดียวกันก็ใช้ซุกปัญหาเชิงโครงสร้างให้กลายเป็นความผิดปกติส่วนบุคคล
  • สังคมไทยพยายามสร้างความไม่แตกต่างให้เป็นครรลอง เพื่อให้รัฐสามารถควบคุมคนได้อย่างสมบูรณ์

การแสดงออกของทิวากร วิถีตน ไม่มีกฎหมายอาญาข้อใดระบุว่าเป็นความผิด รัฐจึงไม่สามารถใช้กฎหมายเข้าจัดการได้ แต่ใช้อำนาจดิบๆ จับเขาเข้าโรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ขอนแก่น โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ แม้เขาจะได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

‘ความบ้า’ กลายเป็นสิ่งเดียวที่รัฐใช้จัดการทิวากรได้ คำถามไม่ได้อยู่ที่ว่าเขา ‘บ้า’ จริงหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าประเทศนี้ ‘บ้า’ หรือเปล่า?

เมื่อการใช้เสรีภาพ ความแตกต่าง การไม่แสดงออกตามบรรทัดฐานที่สังคมและรัฐต้องการ มันจึงถูกแปรสภาพเป็นความบ้าที่ต้องเข้ามาจัดการ ทำความรู้จัก ‘ความบ้า’ และความ crazy ของสังคมไทย ผ่านการสนทนากับเกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

เกษม เพ็ญภินันท์ (แฟ้มภาพ)

หมกมุ่นกับการทำให้เหมือน

“สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ความรู้ทางการแพทย์ แต่อยู่ที่บรรทัดฐานของสังคมที่นิยามความปกติ รวมทั้งการควบคุมจิตใจ (mind control) ทำให้คนอยู่ในระเบียบชุดเดียวกัน ทำให้คนไม่แตกต่างจากกัน”

ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะหมกมุ่นกับการทำให้เหมือนกัน มากกว่าจะมองว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ เกษมกล่าวว่า สังคมไทยทำให้อาการป่วยทางจิตเป็นเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม แล้วนำไปสู่เงื่อนไขทางการเมือง ภายใต้การควบคุมจิตใจ มันทำให้เราอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยและนำไปสู่การสร้างอัตลักษณ์ทางสังคมที่เข้ามากำกับควบคุมความเป็นสภาพบุคคล ซึ่งการแต่งกายเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของการควบคุมทางสังคม

“มันไม่ใช่เรื่องของความบ้า แต่การใช้คำว่าความบ้า ก็เพื่อที่จะผลักปัญหาของสิ่งนี้ที่ควบคุมเราอยู่ให้กลายเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคล

“หนึ่งในพัฒนาการความรู้ทางการแพทย์ที่สำคัญคือการทำให้ประเด็นความบ้าเป็นเรื่องของ mental condition ทั้งหมด” เกษมกล่าวเสริม “จากที่เป็นเรื่องของสังคม กลายเป็นเรื่องของบุคคล ดังนั้นจะเห็นว่าเวลาเราแสดงออกทางการเมืองผ่านอัตลักษณ์หรือสัญลักษณ์บางอย่าง มันคือเรื่องปกติ แต่ในความเป็นปกตินี้ สังคมหรือการจัดการทางการเมืองทำให้เป็นเรื่องผิดปกติ ขณะเดียวกันก็ใช้วาทกรรมไปตัดสินว่าบ้า ทำให้กลายเป็นปัญหาส่วนตัวหรือส่วนบุคคล แล้วกลบประเด็นการควบคุมจิตใจซึ่งเป็นเรื่องทางสังคม วัฒนธรรม และบรรทัดฐานที่รัฐควบคุม

ประวัติศาสตร์ของความบ้า

เกษมอธิบายประวัติศาสตร์ของความบ้า โดยแบ่งออกเป็นยุคใหญ่ๆ 4 ช่วง ช่วงแรกกินเวลาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงสมัยใหม่ตอนต้น โดยเวลาพูดถึงความบ้าหมายถึงระดับระหว่างความปกติกับความไม่ปกติ ซึ่งในช่วงนี้ระดับของความบ้าระหว่างสิ่งที่เป็นปกติกับไม่ปกติเริ่มต้นจากสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองก่อน ความบ้าถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เกิดจากความเบี่ยงเบน ความไม่คุ้นชิน และลักษณะแปลกๆ บางอย่างที่บุคคลนั้นแสดงออก ยังไม่มีการเข้าไปสืบค้นสภาวะทางจิตแต่อย่างใด

เมื่อร่างกายของคนคนหนึ่งเริ่ม disorder และแสดงออกซึ่งระดับความไม่ปกติ ไม่สามารถสนองตอบต่อระบบความคิด เหตุผล หรือจารีตที่คนอื่นยึดถือ ทำให้คนจํานวนหนึ่งถูกคิดว่าบ้า เช่น กรณีการล่าแม่มดในยุคกลาง ความบ้าถูกเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจ

“กล่าวคือความบ้าเกิดจากสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรมที่คนคนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามครรลองที่สังคมนั้นยึดถือแล้วปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางจิตจึงตามมาทีหลัง”

ช่วงที่ 2 เรียกว่า medicalization คือความบ้าถูกจัดการและถูกเข้าใจผ่านความรู้ทางการแพทย์ การทำความเข้าใจความบ้าหรือคนบ้าเริ่มออกห่างจากสภาวะทางสังคมและวัฒนธรรม ความรู้ทางการแพทย์พยายามบอกว่า mental illness เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนเหล่านั้นปฏิบัติตัวแตกต่างไปจากครรลองของสังคม โดยชัยชนะที่สำคัญของความรู้ทางการแพทย์เกิดจากการเติบโตของความรู้ด้านจิตเวชและการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลบ้า ซึ่งทำให้คนที่แตกต่างไม่สามารถควบคุมตนเองให้อยู่ในครรลองของสังคมได้ถูกจับเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลบ้าและถูกจัดการด้วยความรู้ด้านจิตเวช การกีดกันและการสร้างความเป็นอื่นเริ่มก่อตัว คนบ้าหรือความบ้าไม่ใช่เรื่องทางสังคม วัฒนธรรม หรือการเมืองอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องปัจเจกแต่ละคนที่มีอาการป่วยทางจิต

เพียงเพราะแตกต่าง

“ช่วงที่ 3 นับจากปลายศตวรรษที่ 19 ถึงกลางศตวรรษที่ 20 ผมคิดว่าการเติบโตของวิชาจิตเวชและจิตวิเคราะห์มีผลสำคัญต่อการอธิบายความบ้า เกิดการจัดการทางการแพทย์ซึ่งต่างจากยุคที่ 2 ที่ทำให้ประเด็นความบ้าเป็นเรื่องทางการแพทย์และนำไปสู่โรงพยาบาลบ้า แต่ในยุคที่ 3 เริ่มจากการมีการบริหารจัดการทางการแพทย์อย่างเป็นระบบทำให้บทบาทของคนที่ทำงาน โดยเฉพาะแผนกจิตเวชในโรงพยาบาลเกิดขึ้น

“การจัดการเริ่มเป็นระบบมากขึ้น ไม่ได้เพียงทำให้ความบ้าถูกกีดกันออกจากสังคมเท่านั้น แต่คุณสามารถเข้ามารักษาความบ้าได้ เพื่อให้คุณกลับสู่ภาวะปกติตามที่เคยใช้ชีวิตมาก่อนหน้านี้ ต่างจากช่วงที่ 2 ที่คุณกีดกันเขาออกและคนเหล่านี้รักษาไม่ได้ ดังนั้น ในยุคนี้อาจจะไม่ได้ถูกกีดกันออกจากสังคมร้อยเปอร์เซ็นต์แต่จะถูกจัดการด้วยความรู้ด้านจิตเวช”

ส่วนช่วงที่ 4 เป็นช่วงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 จนถึงปัจจุบัน เกษมคิดว่าเป็นช่วงที่น่าสนใจเพราะเป็นการกลับมาของการปฏิบัติต่อความบ้าใน 3 เรื่อง หนึ่งคือการควบคุมจิตใจ สองคือความบ้าเป็นสิ่งที่ไม่ได้วางอยู่บนครรลองของสังคมและโดยเฉพาะสิ่งที่โยงกับเรื่องของการเมือง และสามคือการพยายามคืนความปกติให้กับสังคมผ่านความรู้ทางการแพทย์

“ในช่วงที่ 4 นี้ความบ้าจึงเป็นเรื่องของการควบคุมจิตใจของมนุษย์ให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ระเบียบทางสังคมจำนวนหนึ่งที่ถือว่าปกติหรือไม่ปกติ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าบรรทัดฐานหรือแนวปฏิบัติทางสังคม สมมติว่าเราเห็นคนๆ หนึ่งแต่งตัวด้วยเสื้อสีฉูดฉาดมาก ขณะที่ทุกคนอยู่ในครรลองบางอย่าง สิ่งที่การควบคุมจิตใจเข้าไปทำก็คือคนที่แต่งตัวฉูดฉาดเป็นบ้า แต่การที่บอกว่าคนนี้บ้า ไม่ได้หมายความว่าคนๆ นี้ป่วยทางจิต แต่เพียงเพราะคนๆ นี้ไม่ได้ทำตัวเหมือนคนอื่น มันไม่ได้ถูกผลักให้เป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่เป็นเรื่องทางสังคมที่กำหนดความบ้าด้วยตัวเอง ถ้าคนๆ นี้ควบคุมตัวเองไม่ได้ การแพทย์จึงจะเข้ามาจัดการ”

“สังคมนี้มัน crazy มาก”

ประหนึ่งว่าสังคมไทยย้อนกลับไปสู่ยุคโบราณที่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นปีศาจ แล้วก็จับปีศาจตนนั้นขังเอาไว้ เกษมแสดงทัศนะว่า

“สังคมไทยไม่ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในฐานะหลักการอยู่ร่วมกัน แม้ว่าเราจะอยู่ภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ตาม ในทางกลับกัน เราเป็นหนึ่งในสังคมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดภายใต้การสร้างระเบียบและความปกติในสังคมที่แต่ละคนไม่สามารถแสดงออกในสิ่งที่ต้องการแสดงได้ แต่กลับถูกควบคุมโดยสิ่งที่ผมเรียกว่าการควบคุมจิตใจ และการควบคุมที่มากที่สุดคือการควบคุมอัตลักษณ์ความเป็นบุคคลภายใต้ระเบียบบางอย่าง”

“มันไม่มีความผิดข้อหาใดที่สามารถจัดการกับคุณทิวากรได้ เขารู้ตัวว่าการที่เขาใส่เสื้อผ้าชุดนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมปฏิบัติหรือต้องการ เขาไม่ได้ป่วย แล้วมันก็ไม่มีกฎหมายรองรับว่าการแต่งตัวแบบนี้ผิด ทางเดียวที่ทำได้คือผลักคนเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่ม disorder เป็นความผิดทางสภาวะจิตใจ นี่คือช่องทางเดียวที่คุณจะสามารถอธิบายว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่คุณกระทำ มันเป็นเรื่องของบุคคล การจัดการตรงส่วนนี้จึงไม่ได้จัดการกับสิ่งที่สังคมมันปิดหรือซุกปัญหาไว้ แต่มันทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องของการแสดงออกของตัวบุคคลเอง

“ทำให้เวลาที่เราบอกว่าคนๆ นี้บ้า เราไม่ได้คิดว่านี่เป็นปัญหาของสังคม แต่เป็นปัญหาเฉพาะบุคคล นี่คือโจทย์ที่ทำให้คนจํานวนหนึ่งไม่กล้าปฏิบัติตนผิดแผก ไม่ใช่เพราะคนเหล่านี้กลัวหรือไม่เข้าใจเรื่องการควบคุมจิตใจ แต่คนเหล่านี้ไม่ต้องการถูกปฏิบัติเป็นบุคคลที่แปลกจากคนอื่น สังคมไทยพยายามสร้างความไม่แตกต่างให้เป็นครรลองและเป็นความสะดวกของรัฐหรือสังคมที่จะควบคุมคนได้อย่างสมบูรณ์”

ถือเป็นความสำเร็จของความบ้าที่ทำให้ปัญหาการควบคุมทางสังคมแปรเปลี่ยนเป็นปัญหาส่วนบุคคล จนนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มองไม่เห็นรากเหง้าของปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างสังคมที่อนุญาตให้รัฐเข้ามาควบคุมคน

สำหรับเกษม ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ ‘บ้า’ หรือ ‘ไม่บ้า’ หากอยู่ที่สังคมไทยกำลังสร้างการควบคุมจิตใจ ซึ่งก็คือความปกติที่รัฐเข้ามาควบคุมชีวิตคนเหนือการแสดงออกทางร่างกาย

“สังคมนี้มัน crazy มาก แต่ไม่ได้บ้าในความหมายของการป่วย แต่บ้าที่พยายามสร้างการควบคุมจิตใจผ่านการจัดการทางร่างกาย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net