Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พล.อ.สมศักดิ์​ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) อ้างความเห็นของฝ่ายสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ที่ว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด 19 ระดับโลกยังรุนแรงและประเทศไทยกำลังจะเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามา จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน แต่จะไม่นำมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่ห้ามการชุมนุมทางการเมือง เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปเพื่อการควบคุมการระบาดของโรคเท่านั้น

แต่สิ่งที่ เลขาธิการ สมช. รวมถึงโฆษก ศบค. ไม่ได้พูดก็คือว่านี่คือความพยายามดิ้นรนให้พ้นกับดักที่ตัวเองวางไว้ เพราะการรับมือกับโรคระบาดไม่จำเป็นต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ได้ แต่เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และไม่มีปัญญาที่จะจัดการกับระบบราชการที่รวมศูนย์แต่แตกกระจาย ไม่นับรวมความไม่ต้องรับผิดและสิทธิอำนาจอื่นๆ ที่ตามมา จึงจำเป็นต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวบอำนาจมาไว้ในมือ แล้วตั้ง ศบค. เป็นกลไกในการใช้อำนาจนั้น โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งการนำโจทย์ด้านสาธารณสุขมาปะปนกับโจทย์ด้านการเมืองและความมั่นคงอย่างนี้ นอกจากจะส่งผลให้ ศบค. เจอปัญหา ยังจะพาประชาชนไปสู่ความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วย

เพราะการกระทำดังกล่าวได้สร้างความคลางแคลงใจว่ามาตรการที่ออกมามีเป้าหมายควบคุมโรคหรือมีวัตถุประสงค์อื่นกันแน่ หรือสถานการณ์รุนแรงอย่างที่ ศบค. รายงานจริงหรือไม่ ศบค. อาจใช้ความหวาดกลัวสะกดให้ผู้คนปฏิบัติตามได้ในช่วงแรก แต่การยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้หลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแถมยังใช้ในการดำเนินคดีผู้เคลื่อนไหวส่งผลให้ความคลางแคลงใจขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือหลังจากที่คนของ ศบค. ที่พร่ำแต่เทศนากลับ “การ์ดตก” เสียเอง รวมถึงการที่ ศบค. อนุญาตให้ “แขก VIP” ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเหมือนคนไทยแล้วสร้างความเสียหายตามมา ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรง
การกลับลำของโฆษก ศบค. จาก “ขู่รายวัน” เป็น “สร้างขวัญและกำลังใจ” ดูจะไม่สามารถกอบกู้ “วิกฤติศรัทธา” ที่ ศบค. ก่อขึ้นเองได้ ขณะที่การ “อุ้ม” เยาวชนที่ชูป้ายประท้วงอย่างอุกอาจได้กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการชุมนุมระลอกใหม่ที่ทำให้การห้ามชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

แต่จะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอนนี้ก็ไม่ได้ เพราะไม่แล้วก็อาจต้องยุบ ศบค. ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายนี้ตามไปด้วย แต่การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้โดยทำอะไรกับการชุมนุมไม่ได้ก็ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลายเป็นแค่เศษกระดาษไปเช่นกัน ศบค. จึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการยกเลิกข้อห้ามการชุมนุมออกไปก่อน แต่ปัญหาก็คือว่าความศักดิ์สิทธิ์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เสียไปในบริบทของการควบคุมโรคใช่ว่าจะกู้คืนได้โดยง่าย และขณะเดียวกันก็ทำให้มาตรการด้านสาธารณสุขต่างๆ เสียสภาพการบังคับตามไปด้วย จากที่การให้อภิสิทธิ์แก่คนบางกลุ่มได้ทำให้คนทั่วไปไม่รู้สึกว่าต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว

ฉะนั้น หากเกิดการระบาดขึ้นมาอีกครั้ง ก็จะโทษใครไม่ได้นอกจากรัฐบาลที่นำโจทย์สาธารณสุขไปพันกับโจทย์การเมืองและความมั่นคง เป็นเหมือนหมองูที่ตายเพราะงู แล้วพาคนดูอย่างประชาชนมาเสี่ยงตายด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net