Skip to main content
sharethis

สปสช.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประจำปีในส่วนของผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรวบรวมไปพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ แนะผู้สนใจสามารถเสนอข้อคิดเห็นได้ทั้งทาง Facebook และโปรแกรมรับฟังความคิดเห็นผ่านการยิง QR Code บนหน้าเว็บไซต์ ขณะที่กองทุนสุขภาพเทศบาลช้างซ้าย ผุด ‘ถนนกินได้-ปลูกพืชผักปลอดสารเคมี’ สุขภาพดี-ไร้เคมีเกษตร

24 ก.ค.2563 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ผ่าน Facebook Live ในหัวข้อ "บริหารกองทุนบัตรทองอย่างไรให้ ประชาชนสุขภาพดี โรงพยาบาลมีความสุข" เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปีตามมาตรา 18 (13)  พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ซึ่งครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ของปี 2563 โดยเป็นการรับฟังความคิดเห็นในส่วนของผู้ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์และขับเคลื่อนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ กองทุนบัตรทอง

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การรับฟังความเห็นในวันนี้เป็นไปตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดให้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของกองทุนร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นช่องทางการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายให้ร่วมนำเสนอความเห็นที่นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งในด้านสิทธิประโยชน์ใหม่ การบริหารจัดการ การสร้างความครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งในวันนี้เป็นการเน้นรับฟังความเห็นในส่วนผู้ให้บริการที่มีส่วนสำคัญทำให้บริการต่างๆ สู่ประชาชนอย่างครอบคลุมและทั่วถึงได้

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า เนื่องจากปีนี้มีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 สปสช.จึงเปลี่ยนรูปแบบการรับฟังความคิดเห็นมาเป็นแบบออนไลน์ โดยสามารถเสนอข้อคิดเห็นได้ 2 ช่องทาง คือ ทาง Facebook Live หรือ ผ่านโปรแกรมการรับฟังความคิดเห็นซึ่งพัฒนาขึ้นและใช้ครั้งแรกในปีนี้ โดยเข้าโปรแกรมผ่านการสแกน QR Code ซึ่งปรากฎอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของ สปสช.

ทั้งนี้ ข้อเสนอการปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพที่สะท้อนมาในเวทีครั้งนี้ มีทั้งจากผู้ที่เตรียมข้อคิดเห็นไว้ล่วงหน้าและข้อเสนอที่เข้ามาทาง Facebook Live ในขณะที่มีการถ่ายทอดสด โดยเป็นมีประเด็นที่หลากหลายและทาง สปสช.จะได้รวบรวมเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ต่อไป

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสนอว่า สปสช.ควรปรับหลักเกณฑ์ให้คล่องตัวและเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการ โดยยกตัวอย่างการดูแลคนไข้โรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งได้พัฒนาเครือข่ายบริการ Stroke Fast track เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว ตลอดจนพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น แต่ สปสช.ออกเงื่อนไขกำหนดให้หน่วยบริการต้องมีการดูแลผู้ป่วยครบตามกระบวนการที่ สปสช.กำหนด ทำให้โรงพยาบาลชุมชนไม่สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการได้ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลชุมชนไม่อยากเข้าร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการ สุดท้ายทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาส ดังนั้น อยากให้ปรับหลักเกณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของระบบบริการมากกว่านี้

รศ.นพ.สมศักดิ์ ยังสะท้อนประเด็นในเรื่องการเข้าถึงยา ตัวอย่างเช่น ยาโดนีพีซิล (Donepezil) ซึ่งเป็นกลุ่มยารักษาคนไข้โรคสมองเสื่อม แม้ว่าจะมีการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่คนไข้กลับยังเข้าไม่ถึงยา เพราะยามีราคาแพงและ สปสช.กำหนดให้เบิกจ่ายในงบผู้ป่วยนอก ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจ่ายเงินซื้อยานี้ได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด ดังนั้นเสนอว่า ยาราคาแพงในบัญชียาหลักแห่งชาติ สปสช.ควรเป็นผู้จัดหาแล้วจ่ายให้โรงพยาบาล โดยใช้วิธีการจัดซื้อยารวมเหมือนในอดีตที่ผ่านมา เพราะหากให้โรงพยาบาลซื้อยาเอง คนไข้ก็คงจะไม่ได้รับยาแน่ๆ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในประเด็นเรื่องโครงการรับยาร้านยาใกล้บ้าน ซึ่งในมุมมองของโรงเรียนแพทย์ยังไม่ตอบโจทย์มากนัก เนื่องจากมีผู้ป่วยมารับบริการจากหลายจังหวัด ไม่เฉพาะแต่ในเขตพื้นที่สุขภาพเท่านั้น ดังนั้นอยากให้ สปสช.เปิดกว้างในส่วนหลักเกณฑ์เครือข่ายร้านยาของโรงพยาบาลที่ไม่จำกัดเฉพาะร้านยาในเขตสุขภาพเท่านั้น

ด้าน รศ.นพ.จิระพงษ์ อังคะรา รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ให้ความเห็นว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบที่ดี ช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน รวมถึงแรงงานเคลื่อนย้ายที่เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพ ทำให้เข้าไม่ถึงหลักประกันสุขภาพที่รัฐจัดให้ โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบที่อยู่รอบ กทม. พื้นที่เชื่อมต่อกับจังหวัดทั้งนนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นคนยากจน จึงอยากให้เพิ่มเติมในการดูแลคนกลุ่มนี้

นอกจากนี้  ในส่วนสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยในส่วนของผู้ป่วยนอกนั้น ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติยังไม่ครอบคลุมเพียงพอและรายการยาไม่ทันสมัย เนื่องจากยารักษาโรคหลายรายการได้มีการพัฒนาที่ทำให้ผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่อยู่นอกบัญชียา อาทิ ยาความดัน ยาโรคหัวใจ ยาภูมิแพ้ เป็นต้น ยาเหล่านั้นยอมรับว่ามีราคาแพง หากจ่ายให้ผู้ป่วยก็อาจกระทบต่อกองทุนได้ ดังนั้นควรเปิดช่องทางให้ผู้ป่วยสามารถร่วมจ่ายค่ายาเพิ่มเติมได้ในกรณีที่ต้องการยาที่มากกว่ายาพื้นฐานในระบบ

ขณะที่ กรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข เสนอให้มีการพิจารณางบสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพให้หน่วยบริการที่มีการพัฒนาคุณภาพที่ไม่ใช่ HA บางโรงพยาบาลใช้ JCI ก็ควรได้รับการพิจารณาด้วย และควรมีการพิจารณางบสนับสนุนให้กับหน่วยบริการที่ไม่ผ่าน HA แต่ผ่านเกณฑ์ของวิชาชีพแล้วด้วย ขณะเดียวกัน ในส่วนของการจัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่กันดารห่างไกล มีบางจังหวัดที่แม้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวแต่มี รพ.สต. จำนวนมากและไม่สามารถปิดการให้บริการได้เพราะเป็นบริการของรัฐ ต่อให้มีประชากรน้อยก็ต้องเปิด ทำให้มีปัญหางบในการสนับสนุน รพ.สต. ดังนั้นเสนอให้ สปสช.พิจารณาจำนวนหน่วยบริการให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการจัดสรรงบประมาณด้วย

นพ.มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ จ.นราธิวาส เสนอให้เพิ่มเติมการสนับสนุนบริการสุขภาพยุค New Normal ในส่วนของการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายโรค รวมถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และในส่วนของการเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการนั้น ควรต้องหาจุดสมดุลไม่โอเวอร์โหลดต่อระบบ เพราะบุคลากรด้านการเงินเริ่มมีภาระงานสูงเกินไปแล้ว อีกทั้งยังมีบัญชีต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นทุกปีเข้ามาอีก

ขณะที่ รังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เสนอแนะว่า สปสช.ต้องทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มากกว่านี้ เพราะในช่วงหลังระเบียบการใช้จ่ายเงินกองทุนมีมากขึ้นประกอบกับความหวั่นเกรงจะถูกตรวจสอบจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทำให้หลายท้องถิ่นไม่กล้าดำเนินกิจกรรม นอกจากนี้ยังเสนอให้ สปสช.แก้ไขระเบียงกองทุนสุขภาพตำบลให้มีขอบเขตกว้างกว่านี้ เช่น การจัดซื้อครุภัณฑ์ฟื้นฟูสมรรถภาพ รวมถึงกระตุ้นให้พี่เลี้ยงกองทุนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากกองทุนได้จริง

ทั้งนี้ ในส่วนของข้อเสนอที่มีผู้สะท้อนผ่านช่องทาง Facebook Live มีหลากหลายประเด็น อาทิ ข้อเสนอให้กำหนดสิทธิประโยชน์ การจ่ายชดเชย การส่งข้อมูลเบิกจ่ายให้เท่ากันทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันเงื่อนไขการเบิกจ่ายในแต่ละสิทธิไม่เหมือนกันและไม่เท่าเทียม เช่น ในระบบบัตรทอง ถ้าเป็นผู้ป่วยมะเร็งต้องรักษาตาม Protocal ที่กำหนด ถ้ารักษานอก Protocal จะเบิกจ่ายเงินชดเชยค่าบริการได้น้อยกว่า ต่างจากสิทธิข้าราชการและประกันสังคม เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีกองทุนพัฒนาหน่วยบริการแยกต่างหากตามขนาดของประชากรในพื้นที่ ไม่ใช่ตามขนาดของเตียง เพื่อให้มีงบพัฒนาต่างๆที่ไม่ใช่งบค่าเสื่อม และถ้าเป็นหน่วยบริการของรัฐ น่าจะพิจารณาลงไปถึงระดับ รพ.สต.

ขณะเดียวกันยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลบริการ โดยสะท้อนว่าการบันทึกข้อมูลให้ สปสช. มีปัญหามากในเรื่องรหัสยา เสนอให้ใช้รหัสยาของแต่ละกลุ่มเหมือนๆกัน รหัสหัตถการมีไม่ครบทำให้โรงพยาบาลกำหนดราคาไม่เหมือนกัน  โปรแกรมบันทึกข้อมูลมีหลากหลายมาก เสนอให้ปรับให้ใช้โปรแกรมเดียวกันเพื่อลดภาระงาน รวมทั้งในส่วนของ PP Free schedule เสนอให้จ่ายแยกให้ชัดเจน ไม่เอามาปนกัน

นอกจากนี้ ในระบบการ Audit ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเสนอให้ปรับปรุงระบบให้ใกล้เคียงกันกัน รวมทั้งคุณภาพและเกณฑ์การตรวจสอบของ Auditor ของแต่ละกองทุนไม่เท่ากัน จึงเสนอให้ปรับปรุงเกณฑ์และสะท้อนความคิดเห็นไปยัง Auditor ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ปัญหาแพทย์และพยาบาลไม่เข้าใจเกณฑ์การตรวจสอบ ทำให้บันทึกข้อมูลไม่ครบถ้วน มีปัญหาตอนตรวจ ดังนั้นเสนอให้ สปสช.เน้นการอบรมหน่วยบริการ เน้นในประเด็นที่เกิดความผิดพลาดบ่อย และอยากให้คืนข้อมูลให้โรงพยาบาลเพื่อโอกาสในการพัฒนาด้วย

กองทุนสุขภาพเทศบาลช้างซ้าย ผุด ‘ถนนกินได้-ปลูกพืชผักปลอดสารเคมี’ สุขภาพดี-ไร้เคมีเกษตร

วันเดียวกัน สปสช. ลงพื้นที่ดูงาน “ถนนกินได้ ช้างซ้ายไร้เตียง” ของเทศบาลตำบลช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มโครงการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ในการสร้างหุ้นส่วนสุขภาพการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน พร้อมความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่

ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลช้างซ้าย ได้รับงบประมาณผ่านการจัดสรรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติราว 4.6 แสนบาทต่อปี รวมกับเงินสมทบ 60% จากเทศบาลตำบลช้างซ้ายอีกราว 2.8 แสนบาทต่อปี นำมาใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมแผนงานโครงการหรือกิจกรรมในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน

ชูชัย อุดมศรีโยธิน นายกเทศมนตรีตำบลช้างซ้าย อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า การอนุมัติงบประมาณของกองทุนฯ ได้พิจารณาตามความเหมาะสมและบริบทของพื้นที่ โดยการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการกองทุนฯ ทำให้ในแต่ละปีมีการเสนอเข้ามากว่า 50-60 โครงการ และได้มีการกลั่นกรองเป็นอย่างดี หากโครงการที่ยังไม่ผ่านให้ทำการศึกษาและเสนอเข้ามาใหม่ เช่นเดียวกับในปี 2563 ที่มีการอนุมัติใช้งบประมาณของกองทุนฯ ไปแล้วมากกว่า 90%

สำหรับหลักการของ “ถนนกินได้ ช้างซ้ายไร้เตียง” ได้ยึดหลักการดูแลสุขภาพ 3 อ. คือ 1. ออกกำลังกาย ซึ่งมีโครงการเด่น เช่น โครงการแอโรบิคเพื่อสุขภาพ โครงการฟื้นฟูสภาพข้อเข่าผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรมพรมกะลา กิจกรรมปั่นเพื่อสุขภาพ 2. อาหาร มีโครงการเด่นคือ โครงการถนนกินได้ ไร้สารพิษ 3. อารมณ์ มีโครงการเด่นคือ โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยธรรมะ ที่มีการอบรมชุมชนร่วมกันนั่งสมาธิตลอดทั้งปี เป็นต้น

ในส่วนของโครงการถนนกินได้ ไร้สารพิษ ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2552 เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี ด้วยการให้หมู่บ้านทั้ง 12 แห่งในตำบลเลือกเส้นทางแห่งละ 1 กิโลเมตรเพื่อปลูกพืชผักริมทาง พร้อมให้งบประมาณแห่งละ 6,000 บาท ในการดูแลจัดการ บนหลักเกณฑ์พื้นฐาน 3 ข้อ คือ ห้ามนำไปขาย ห้ามใครแสดงความเป็นเจ้าของ และห้ามใช้สารเคมี

ชูชัย กล่าวว่า จากการปลูกพืชผักปลอดภัยของชาวบ้าน ได้ทำให้เกิดความหลากหลายของพืชพันธุ์พื้นเมืองเดิม ซึ่งบางชนิดอาจหายไปได้ถูกกลับเข้ามาปลูกใหม่ รวมถึงเกิดการต่อยอดของชาวบ้านที่มีการปลูกเพิ่มนอกเส้นทาง หรือตามหน้าบ้านต่างๆ จนปัจจุบันในตำบลมีถนนกินได้ทุกหมู่บ้าน รวมกันกว่า 21 กิโลเมตร ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันกิน ร่วมกันใช้ และร่วมกันดูแลมาอย่างต่อเนื่องโดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มแต่อย่างใด

“อุปสรรคจากการที่ สตง. ได้ทำการตรวจสอบและติติงว่าโครงการไม่ได้เป็นไปตามระเบียบที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ระบุให้นำเงิน 6,000 บาทไปใช้ทำอะไรบ้าง เราบอกว่าหากโครงการนี้ทำไปตามระเบียบหลักเกณฑ์นั้น แต่ละกิโลเมตรอาจต้องใช้ไม่น้อยกว่า 30,000 บาท จากค่าแรง เครื่องมือ พันธุ์พืช หรือปุ๋ยต่างๆ แต่ชาวบ้านที่นี่มาร่วมกันลงมือลงแรงโดยไม่มีค่าจ้าง มีชุมชนหมู่บ้านที่เข้มแข็ง ดังนั้นในบางครั้งระเบียบบางอย่างอาจถูกกำหนดมาให้ดูสวยงาม แต่บริบทบางท้องถิ่นเขามีอะไรดีมากกว่านั้น ซึ่งจากสองปีที่ได้ตรวจและติติงขึ้นมา จน สตง.ยอมรับฟังด้วยเหตุผล เราก็ได้ทำโครงการมาโดยตลอด” ชูชัย กล่าว

ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า กปท. ของเทศบาลตำบลช้างซ้าย เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้กองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง ป้องกันก่อนที่จะไปเกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยความสำเร็จจากการที่ประชาชนมีสุขภาพที่ดีนั้นอาจเป็นกำไรที่วัดค่าไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นยังเป็นการที่คนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ ช่วยกันสร้างความยั่งยืนที่สอดคล้องกับความต้องการ

“การมีกองทุนท้องถิ่นฯ นับเป็นความก้าวหน้าในการกระจายอำนาจ ที่มีภาคส่วนต่างๆ เข้ามาร่วมกำหนดทิศทางตามบริบท แทนการกำหนดจากภาครัฐส่วนกลางที่มีความแข็งตัวเกินไป เช่นตัวอย่างจากช่วงโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่ากองทุนฯ เข้ามาช่วยเหลือประชาชนได้ชัดเจน แทนที่จะรอการสั่งการจากส่วนกลางที่อาจล่าช้า ไม่ทันการ” นพ.ประจักษวิช กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net