สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 ก.ค. 2563

สภาองค์การนายจ้างประเมินไทยเสี่ยงตกงานสะสมถึง 4 ล้านคน

25 ก.ค. 2563 นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณฺ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และตามมาด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำให้บริษัทเลิกจ้างแรงงานนั้น ได้ประเมินไว้ว่าน่าจะมีคนตกงานสะสม 3-4 ล้านคน

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเปราะบางขอหยุดจ้างชั่วคราว ประมาณ 7,000 แห่ง ซึ่งมีแรงงานอยู่ 1.5 ล้านคน หากสภาพคล่องลดลงอีก อาจทำให้มีแรงงานถูกเลิกจ้างมากขึ้น รวมถึงแรงงานที่ยังถูกจ้างงานตามมาตรการช่วยเหลือของสำนักงานประกันสังคม ที่มีความเสี่ยงว่าหากหมดการช่วยเหลือของประกันสังคมแล้ว อาจถูกเลิกจ้างถาวรได้

ขณะนี้แรงงานในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบ 500,000 คน ที่อาจกลายเป็นผู้ว่างงานถาวร หากว่างงาน ไป 1-2 ปี เพราะบริษัทส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายรับคนเพิ่ม เพื่อลดขนาดธุรกิจลงให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและเศรษฐกิจทั้งไทยและโลก ที่คาดว่าจะถดถอย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้ธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินกิจการปกติ แต่ภาพรวมธุรกิจก็ไม่ได้กลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเช่นก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้ได้คาดการณ์ในทางที่ดีที่สุด หากจบมาตรงกับความต้องการของตลาด อาจถูกดึงตัวไปทำงานได้ราว 20% ที่เหลือราว 400,000 คน ก็อาจหางานยาก และเสี่ยงตกงานถาวร เพราะส่วนหนึ่งระดับอุดมศึกษาที่ไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้างที่ต้องการแรงงานระดับ ปวช. ปวส.มากกว่า

ที่มา: TNN, 25/7/2563

ผู้ประกอบการพร้อมรับแรงงานเพื่อนบ้านเข้ากักตัว จ.ตาก

นายศุภมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร่วมกับประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน รวมถึงกล่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ในพื้นที่อำเภอแม่สอด

ขณะนี้ทุกภาคส่วนมีความพร้อมที่จะเปิดพื้นที่รองรับกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา และเจ้าของที่พักยินดีและพร้อมให้ ศบค.ใช้สถานที่เป็น Alternative Local Quarantine หรือ สถานที่กักตัวทางเลือกที่ผู้กักตัวหรือนายจ้างต้องจ่ายเงินเอง เพื่อให้กลุ่มแรงงานชาวเมียนมาที่ใบมีอนุญาตทำงานในไทย และนายจ้างต้องการให้ไปทำงาน เข้ามากักตัวตามมาตรการคัดกรองโรคโควิด-19 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งอนุญาตจากทาง ศบค. และจากข้อมูลพบว่าขณะนี้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด มีความต้องการแรงงานชาวเมียนมาไปทำงานกว่า 400 คน และจะขอนำเข้าวันละ 30 คน ซึ่งทุกคนจะเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในตำบลแม่ปะ และจะจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งค่าตรวจโรคในไทย ค่าประกันภัยโควิด ค่าที่พักและอาหาร

ทั้งนี้ จากการสอบถามกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ต้องการให้รัฐบาลคลายล็อก เพื่อให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ เพราะงานบางอย่าง แรงงานไทยก็ไม่พร้อมจะทำ

ที่มา: news.ch7.com, 25/7/2563

ศบค.แนะ 'นายจ้าง' เสนอรูปแบบพื้นที่กักตัว 'แรงงานต่างด้าว' ก่อนเปิดรับข้ามมาทำงาน

นพ.ทวีศิลป์ วิศณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีข้อเสนอให้เปิดด่านพรมด่านทั้งหมดได้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ ศบค.ต้องเป็นคนอนุมัติ แต่คนประสานเสนอขึ้นมา คือ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มอบให้ไปดูเรื่องความเหมาะสมทั้ง 91 จุด โดยจะทบทวนและมีข้อเสนอและมาตรการในเชิงปฏิบัติและนำมาสู่การอนุมัติโดย ศบค. ซึ่งเราจะมองรอบด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคง เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรณีนายจ้างเตรียมพื้นที่กักตัวแล้วต้องขออนุญาตจากใครอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การหาพื้นที่กักตัวของนายจ้างหรือออแกไนเซชัน ควอรันทีน การกักแยกเดี่ยวอย่างสเตทควอรันทีนค่าใช้จ่ายสูง ร่วมๆ 2 หมื่นบาทต่อคน แต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวถ้าต้องใช้สองหมื่นบาทก็เยอะเกินไป ถ้าจัดตรงนี้ให้ได้เหลือหมื่นต้นๆ พอไหวหรือไม่ โดยออแกไนเซชัน ควอรันทีน ก็ช่วยลดได้ อาจจะพักกัน 2 คน เอามาอยู่ในพื้นที่เราดูแลได้ และกัก 14 วันเช่นกัน แต่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ไม่ออกไปข้างนอก อยู่รวมกันได้เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยกระทรวงแรงงานนำเสนอขึ้นมา เพราะต้องการเข้ามาเป็นแสนราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ถามว่ามีตัวอย่างแล้วหรือไม่ ก็ยังไม่มีภาคเอกชนเสนอขึ้นมา ถ้าเสนอขึ้นมา ติดต่อมาที่ ศบค.ได้ อนุมัติหลักการแล้ว เราต้องการเห็นภาพที่ชัดเจน หากเสนอตัวขึ้นมาก็ขอบคุณ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ หากหาได้ให้มาแจ้งเรา และแจ้งที่กระทรวงแรงงานด้วย และมาร่วมหารือกัน จะดึงสาธารณสุข ตรวจคนเข้าเมืองมาคุยกันทั้งหมด โดยจะเข้าไปกำกับในทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจ

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/7/2563

จ.ตาก เตรียมนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้าน 400 คน หลัง ศบค.อนุมัติให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้

นายศุภภิมิตร เปาริก รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตาก เพื่อหาแนวทางการรับแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจำนวนมาก ที่จะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย หลัง ศบค.ไฟเขียวนำเข้าแรงงานต่างด้าว แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโควิด-19
โดยที่ประชุมมีการหารือว่าจะนำเข้าจำนวนแรงงานมากขนาดไหนต่อวัน หลังจาก ศบค.กำหนดให้นำเข้าแรงงานเพื่อนบ้านได้วันละ 400 คน รวมทั้งขั้นตอนการคัดกรองและขั้นตอนการเข้าสถานที่กักกัน เบื้องต้นจะใช้สถานที่กักกันคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศเมียนมา แต่ปรากฏว่าโรงแรมและรีสอร์ตเหล่านั้นขอถอนตัวบางส่วน เพราะโรงแรมกลัวจะมีประวัติกักตัวแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา แล้วลูกค้าคนไทยจะไม่เข้าพักทำให้ต้องมีการหาสถานที่กักกันใหม่ รวมทั้งใช้โรงงานที่ปิดกิจการหรือตึกร้างบางแห่งแทน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการสรุปเบื้องต้นว่าจะทดลองนำเข้าแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 400 คน ตามที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทยขอนำเข้า แบ่งเป็นวันละ 30 คน โดยจะนำไปกักกันที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการจะเป็นคนจ่าย ส่วนแรงงานชาวเมียนมา ซึ่งได้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานและมีวีซ่าทำงานอยู่ ซึ่งได้ขอวีซ่ารักษาสิทธิ์ใบอนุญาตทำงาน (re-entry visa) ที่เดินทางกลับประเทศ แล้วยังไม่ได้กลับเข้ามามีประมาณ 69,235 คน และกลุ่มเอ็มโอยูอีกประมาณ 42,168 คน และการจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ต้องปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด คือมีใบรับรองแพทย์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ต้องกักตัว 14 วัน ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งค่าตรวจโรคในไทย ค่าประกันภัยโควิด ค่าที่พักและอาหาร ส่วนกำหนดวันและเวลาในการเข้าประเทศนั้น ยังต้องรอทาง ศบค.กำหนดลงมาอีกครั้งจึงจะดำเนินการได้

นายศุภภิมิตร กล่าวว่าวันนี้เป็นการหารือคร่าว ๆ เพื่อดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล และ ศบค.ที่ให้แรงงานต่างประเทศเข้ามาทำงานในบ้านเรา เบื้องต้นจะนำร่องนำเข้าแรงงานชาวเมียนมาวันละ 30 คน ซึ่งขบวนการต้องพร้อม ตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนนำเข้ามา เข้ามาแล้วต้องทำอย่างไร และเข้ากักกันต้องทำอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งเราจะนำคณะไปสำรวจตรวจสอบสถานที่ต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นสถานที่กักกัน ก่อนจะนำเสนอให้ ศบค.ตัดสินใจต่อไป

สำหรับยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเมียนมา ล่าสุดยืนยันติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 343 คน รักษาหายแล้ว 280 คน และเสียชีวิต 6 คน

ที่มา: news.ch7.com, 24/7/2563 

สภาอุตสาหกรรมเสนอรัฐเยียวยา โดยเฉพาะการลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้าง-ลูกจ้างเหลือ 1%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน แบ่งออกเป็นผู้มีงานทำ จำนวน 37.3 ล้านคน (ภาคบริการ 47%, ภาคเกษตรกรรม 30% และภาคการผลิต 23%), ผู้ว่างงานจำนวน 0.39 ล้านคน และผู้รอฤดูกาลจำนวน 0.49 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือนมี.ค.)

แบ่งเป็นแรงงานที่มีรายได้ประจำ (มาตรา 33) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน อาชีพอิสระ (มาตรา 39, 40) ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 8 ล้านคน เกษตรกร ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการเยียวยา 15,000 บาท จำนวน 17 ล้านคน และข้าราชการ ได้รับเงินเดือนหรือบำนาญเต็มจำนวนตามปกติ จำนวน 2 ล้านคน คาดว่าธุรกิจการขายส่ง-ปลีก การผลิต และโรงแรมจะมีความเสี่ยงการว่างงานสูงที่สุด

สำหรับสถานการณ์การว่างงานและเลิกจ้าง พบว่า มีแรงงานที่ถูกพักงานจากสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 หยุดกิจการชั่วคราว จำนวน 4,458 แห่ง ส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง จำนวน 896,330 คน และมีแรงงานที่ว่างงานจากกรณีลาออก เลิกจ้าง สิ้นสุดสัญญาจ้าง ณ เดือนพ.ค.63 จำนวน 332,060 คน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด นอกจากนี้มีผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่ใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานฯ 62% กว่า 1,369,589 คำร้อง คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีกในช่วงเดือนส.ค.ถึงเดือนต.ค. หากมีการขยายมาตรการฯ อีก 800,000 คน ในภาพรวมพบว่าจะมีลูกจ้างในระบบที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 3,397,979 คน

โดย 3 อันดับแรกของกิจการที่ใช้มาตรา 75 คือ ภาคการผลิต, โรงแรมและภัตตาคาร และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าและบริการทางธุรกิจโดยภาครัฐควรพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มเติมเพื่อลดปัญหาการว่างงานและการเลิกจ้าง

นายสุชาติ จันทรนาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการมาตรการแรงงาน COVID-19 กล่าวว่า ภาคเอกชนขอเสนอาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือและเยียวยา 7 ข้อ 1. ลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 1% โดยให้มีผลจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 63 เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย จาก 90 วัน เป็น 150 วัน และขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ จากเดิมวันที่ 31 ส.ค.63 เป็นจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.63

3.เร่งพิจารณาการอนุมัติให้สามารถปรับการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยคิดค่าจ้างในอัตราชั่วโมงละ 40-41 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาจ้างขั้นต่ำ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน 4. ขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาการรับรองการอบรมออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการจัดอบรม ตาม พ.ร.บ. ส่งเสรมการพัฒนาฝีมือแรงงานปี45

5. ขอปรับอัตราเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนปี 37 เหลือ 0.01% 6. โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี 7. จัดสรรกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการเพื่อรักษาเสถียรภาพการจ้าง โดยให้เงินเยียวยาแก่ลูกจ้างผ่านนายจ้าง

นอกจากนี้ ขอให้สํานักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาบรรจุโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประสิทธิภาพแรงงาน Upskill/Reskill ให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (งบ 400,000ล้านบาท) เพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal

ที่มา: เดลินิวส์, 23/7/2563

โรงแรมชายแดนยินดีเป็นสถานกักตัวแรงงานเมียนมา

เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก ได้จัดงานขอบคุณคณะ อสม.ที่ช่วยกันดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดย นายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีนครแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า กำลังปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ในพื้นที่กว่า 40 แห่ง ถึงความพร้อมและเข้าหลักเกณฑ์ด้านสาธารณสุข ในการดูแลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา หากใช้เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มแรงงาน เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 ก่อนจะอนุญาตให้เข้าไปทำงานในพื้นที่ชั้นใน โดยผู้ประกอบการจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

เบื้องต้น กลุ่มผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วย และยินดีให้ความร่วมมือ เพราะต้องการให้ภาคธุรกิจเดินหน้า หลังหยุดนิ่งมาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ทั้งนี้ โรงแรมบางแห่งยังมีประสบการณ์จากการให้บริการกลุ่มแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคแล้ว จึงคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาในการให้บริการ

บรรยากาศริมแม่น้ำเมย ซึ่งกั้นพรมแดนไทย - เมียนมา พบว่าในฝั่งประเทศเมียนมาเริ่มมีความคึกคักจากกลุ่มแรงงานจำนวนมากที่ต้องการข้ามมายังฝั่งไทย เพราะทราบว่าจะมีการคลายล็อกในระยะที่ 6 อนุญาตให้เข้าประเทศได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ยังตรึงกำลังคอยลาดตระเวนอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าพื้นที่ทางช่องทางธรรมชาติ หากมีคำสั่งอนุญาตก็จะบังคับให้แรงงานชาวเมียนมาทุกคนใช้ช่องทางที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อให้สะดวกต่อการตรวจสอบหนังสืออนุญาตและคัดกรองเข้าสู่ระบบป้องกัน

ที่มา: news.ch7.com, 23/7/2563

ครม.อนุมัติจ่าย 15,000 บาทชดเชยรายได้ ผู้ประกันตน ม.33 ที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ที่ได้รับผลกระทบ COVID-19

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาฯ ของกระทรวงแรงงาน ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในการประชุมครั้งที่ 11/2563 โดยมีวงเงินรวม 896.64 ล้านบาท กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 (ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 59,776 คน

สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาทางสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน (มิถุนายน – สิงหาคม 2563) รวมเป็นเงิน 15,000 บาท โดยจ่ายเพียงครั้งเดียว

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 21/7/2563

"ยุติธรรม-แรงงาน" รับลูกนายกฯ พัฒนาอาชีพนักโทษ ต่อยอดทำงานต่างประเทศ

20 ก.ค. 2563 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ ระหว่างกระทรวงยุติธรรมกับกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 2 กระทรวง เข้าร่วมเป็นสักขีพยานเป็นจำนวนมาก

โดยก่อนการร่วมงาน นายสมศักดิ์ และ ม.ร.ว.จัตุมงคล ได้เดินชมบูธกิจกรรมที่เป็นฝีมือของผู้ต้องขัง เช่น กระถางต้นไม้แบบทันสมัยที่เป็นรูปหนุมาน เครื่องสาน และร้านกาแฟที่ทำโดยผู้ต้องขัง นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับอดีตผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำแล้ว สามารถทำอาชีพเลี้ยงตนเองและเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น นายอัครินทร์ ปูรี ช่างทำกีตาร์ชื่อดัง นายเฉลิมพร สวัสดิ์สุข นักมวยชื่อดัง และนายสุรวัจน์ ยุพรภักดีโรจน์ ที่ขณะนี้เป็นเกษตรกรเลี้ยงแพะ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พิธีลงนามข้อตกลงนี้เกิดขึ้นจากคำปรารภของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงาน ได้นำมาสานต่อ เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงการฝึกฝนภาษาอังกฤษ หรือภาษาท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการมีงานทำ ของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวเป็นพลเมืองดี มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ สามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศ สามารถอยู่ในสังคมอย่างคนปกติ เป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่จะสร้างขีดความสามารถของประเทศ โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมและกระทรวงแรงงาน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในด้านต่างๆ เพื่อบูรณาการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษมาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2560-2562 มีผู้ผ่านการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในกลุ่มผู้ต้องขังเด็กและเยาวชนในสถานพินิจกว่า 2 หมื่นคน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ตนมีแนวนโยบายที่จะยกระดับความร่วมมือและการพัฒนาฝีมือแรงงานที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยทั้งระบบ โดยกระทรวงยุติธรรมจะมีหน้าที่คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ารับการอบรมในหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน จัดเตรียมสถานที่ในการฝึกอบรม สนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม

ส่วนกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะมีหน้าที่แนะแนวอาชีพ จัดหาตำแหน่งงานว่าง ประสานและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการหรือนายจ้าง ส่งเสริมการมีงานทำโดยจัดสาธิต การฝึกทักษะอาชีพระยะสั้น จัดวิทยากรให้ความรู้ ให้ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน ให้คำปรึกษาและแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน การออกวุฒิบัตร การบรรจุงาน จัดหาแหล่งทุนและประเมินผล

"ผมมุ่งหวังว่าการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงยุติธรรมในครั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมและพ้นโทษออกไปจะมีงานทำเหมือนคนปกติทั่วไป ซึ่งส่วนสำคัญในการคืนคนดีสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างโอกาสทางอาชีพ ซึ่งมีอีกมากมายที่ลงทุนไม่มากและสามารถทำได้เมื่อพ้นโทษ ผมจึงนึกถึงคำปรารภของนายกฯที่พูดกับผมว่า อยากให้ผู้ต้องขังสามารถฝึกสุนัขได้ จากนี้ตนจะวางแผนหาพื้นที่ดำเนินการต่อไป ผมให้ความสำคัญในเรื่องพัฒนาฝีมือแรงงาน เพราะจะเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจได้ เรื่องนี้จะเป็นนโยบายสำคัญอีกเรื่อง ที่ผมจะเดินหน้าทำให้สำเร็จ" นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าด้วยความมั่นคง ให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมการมีงานทำทั้งในและต่างประเทศของผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย เพื่อให้โอกาสในการมีอาชีพ สามารถอยู่ในสังคมได้ปกติและเป็นกำลังของแรงงานที่มีคุณภาพ ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจัดการฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้กับผู้ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่างปูน ช่างไม้ การนวด มีผู้ผ่านการทดสอบ 8,084 คน

"การลงนามในครั้งนี้เรามีเป้าหมายบูรณาการร่วมกัน เรามีความพร้อมและให้การสนับสนุน ทั้งการแนะแนวอาชีพ การทดสอบ เพื่อให้สามารถนำไปสร้างอาชีพเลี้ยงตนเองได้และมีงานทำหลังพ้นโทษแล้ว รวมถึงการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในสังคม เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจ เป็นรากฐานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ" รมว.แรงงาน กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 20/7/2563

เตือนแรงงานถูกหลอกทำงานต่างประเทศช่วงโควิด-19

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานประกอบการปิดตัวลงหลายแห่ง และมีแรงงานตกงานจำนวนมาก จึงเป็นช่องทางให้กลุ่มนายหน้าแรงงาน อาศัยความเดือดร้อน อ้างว่าตัวเองทำงานในหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นบริษัทจัดหางาน ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงแรงงานไทย ว่าสามารถส่งไปทำงานในต่างประเทศได้ ทั้งที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และกาตาร์ได้ โดยใช้การโฆษณาทางสื่อออนไลน์ เพื่อหลอกลวงเหยื่อ และมีเงื่อนไขให้จ่ายเงินค่าดำเนินการสูงเกินจริง

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อมูล กับกองทะเบียนจัดหางานกลาง และคุ้มครองคนหางาน พบมีแรงงานร้องทุกข์เข้ามา 177 คน สูญเงินรวมกว่า 16 ล้านบาท จึงให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และดำเนินคดีกับนายหน้าที่ทำผิดกฎหมายอย่างจริงจังไปแล้ว 291 ราย ตาม พ.ร.บ.จัดหางาน และคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528

กรมการจัดหางาน เน้นย้ำถึงการไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย มี 5 วิธี ทั้งบริษัทจัดหางานจัดส่งไป กรมการจัดหางานจัดส่งไป เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไทยไปทำงาน และนายจ้างในประเทศไทย ส่งลูกจ้างไทยไปฝึกงาน เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม มีคุณภาพชีวิตการทำงานที่ดี และไม่ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งจะได้รับการดูแล คุ้มครองตามกฎหมาย

ที่มา: news.ch7.com, 20/7/2563

โควิด-19 ดัน 5 อาชีพต้องการแรงงานสูง 'โลจิสติกส์-อสังหาฯ-การตลาด-ประกันภัย-ขายปลีก'

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สำรวจภาวะการทำงานของประชากรคนไทยในปัจจุบัน (ล่าสุดเดือนมีนาคม 2563) แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนคนว่างงานกว่า 3.92 แสนคน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบในหลายภาคส่วนจนทำให้เกิดอัตราคนว่างงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในวิกฤตดังกล่าวพบว่ามีภาคธุรกิจที่ยังคงมีความต้องการแรงงานและล่าสุดข้อมูลสิ้นเดือนพฤษภาคมพบสัญญาณการรับสมัครงานเพิ่มขึ้นใน5กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโลจิสติกส์ เพิ่มขึ้น 23% ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้น 13% ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจการตลาด ธุรกิจประชาสัมพันธ์ เพิ่มขึ้น 6% ธุรกิจประกันภัย เพิ่มขึ้น 5% ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก เพิ่มขึ้น 2% นอกจากนี้อัตราการสมัครงานยังเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับในเดือนเมษายน

ส่วนผลสำรวจล่าสุดของจ๊อบส์ ดีบี ได้เผยภาพรวมความต้องการคนทำงานทั่วประเทศไทยช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม2563พบข้อมูลดังนี้ 5 ธุรกิจที่ยังมีความต้องการคนทำงาน ได้แก่ ธุรกิจไอที ,ธุรกิจการผลิต,ธุรกิจขายส่ง ธุรกิจขายปลีก,ธุรกิจบริการด้านการเงิน , ธุรกิจTrading ธุรกิจจัดจำหน่าย

สำหรับ 5 กลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนประกาศงานลดเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ธุรกิจท่องเที่ยว , ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจจัดเลี้ยง , ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจสถาปัตยกรรม ,ธุรกิจยานยนต์,ธุรกิจวิศวกรรมก่อสร้าง-ธุรกิจวิศวกรรมโยธา-ควบคุมอาคาร

ที่มา: TNN, 20/7/2563

กต.เร่งช่วย 102 แรงงานไทยในอุซเบกิสถานกลับบ้าน

19 ก.ค.2563 นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย กรณีที่มีแรงงานไทยในประเทศอุซเบกิสถาน จำนวน 102 คน ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย โดยสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก ซึ่งมีเขตอาณาดูแลประเทศอุซเบกิสถาน ได้ติดตามและประสานการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยกลุ่มนี้ผ่านตัวแทนแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง และผ่านกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำอุซเบกิสถาน

สถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ประสานงานกับบริษัทนายจ้างของแรงงานไทยและได้รับการยืนยันในการดูแลแรงงานไทยในสังกัดและปฏิบัติตามกฏหมายท้องถิ่นอย่างเคร่งครัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยบริษัทได้จัดให้แรงงานทั้งหมดรวมถึงแรงงานไทยรับการตรวจเชื้อ COVID-19 และพบว่าไม่มีแรงงานไทยติดเชื้อ แต่มี 2 คนที่ป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา และเกิดหวั่นวิตกหลังจากทราบข่าวว่ามีแรงงานชาติอื่นของบริษัทถูกนำไปกักตัว ซึ่งถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ COVID-19 จะถูกแยกตัวไปรับการรักษาทันที ส่วนเรื่องอาหาร ยังไม่พบว่ามีการขาดแคลนแคมป์คนงานยังจัดอาหารและที่พักเป็นปกติอยู่

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุอีกว่า ปัจจุบันอุซเบกิสถานยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางข้ามระหว่างเขตและปิดประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ อยู่ระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเที่ยวบินสำหรับแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทยในโอกาสแรก

นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ ได้ประสานงานกับกระทรวงแรงงานของไทยเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับสู่มาตุภูมิของแรงงานไทย ซึ่งเดินทางมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นสมาชิกเงินกองทุนช่วยเหลือแรงงานฯ หากการเจรจากับบริษัทไม่สำเร็จ กระทรวงการต่างประเทศจะทดรองจ่ายค่าเดินทางให้กับแรงงานไทยตามระเบียบราชการในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยากต่อไป

ที่มา: Thai PBS, 19/7/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท