เปิดรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น อนุฯ กมธ.CPTPP ด้านเกษตร-พันธุ์พืช เศรษฐกิจ และสาธารณสุข

เปิดรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นของ อนุฯ กมธ.ศึกษาผลกระทบ 3 ด้านจากการเข้าร่วม CPTPP ทั้งด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน รวมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข

24 ก.ค.2563 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงาน ผลการศึกษาเบื้องต้นของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ 3 ด้าน จากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ประกอบด้วย คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน และคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP สภาผู้แทนราษฎร

ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช

โดย อนุฯ กมธ. ด้านการเกษตรและพันธุ์พืช ระบุว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาจำนวน 7 ครั้ง โดยเชิญนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มเกษตรกร มาให้ข้อมูลและความคิดเห็น จำนวน 17 ราย

แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ผลผลกระทบจากกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) และ ผลกระทบด้านการเกษตร ที่ประกอบด้วย ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร และด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ซึ่งมีความเห็นของ กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทยและสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) ฯลฯ

โดยมีรายละเอียดสรุปผลการศึกษาเบื้องต้นดังนี้

1. ผลกระทบจากกรณีการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV)

การเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เป็นผลให้ต้องเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ดังปรากฏตามข้อบทที่ ๑๘ ของความตกลง CPTPP กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา โดยใน Article 18.7.2 (d) กำหนดให้เป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอนุสัญญา UPOV เป็นหนึ่งในความตกลงระหว่างประเทศดังกล่าว

อนุสัญญา UPOV มีวัตถุประสงค์ให้ความคุ้มครองแก่พันธุ์พืชใหม่โดยเฉพาะ เป็นการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยการให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งหากประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV (โดยคำวินิจฉัยของสหภาพ UPOV)

ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการจึงได้มีการรวบรวมผลกระทบจากการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ซึ่งสามารถสรุปเบื้องต้นได้ ดังนี้

ผลกระทบด้านบวกและความคาดหวัง

1. กรมวิชาการเกษตร มีความเห็นว่า จะทำให้มีการคิดค้น วิจัย พัฒนาพันธุ์พืชใหม่ มากขึ้น มีเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ที่ตรงตามพันธุ์ ตรวจสอบได้ จำหน่ายในประเทศมากขึ้น ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ในภูมิภาค มีการแข่งขันทางด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์มากขึ้น โดยมีโอกาสที่พันธุ์ต่างประเทศจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย มากขึ้น

2. สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่า เกษตรกรจะมีทางเลือกในการเข้าถึงพันธุ์พืชใหม่จากประเทศภาคีสมาชิกได้มากขึ้น และทำให้พันธุ์พืชใหม่ของประเทศไทยได้รับการยอมรับ

3. ความเห็นจาก 4 สมาคม ได้แก่ สมาคมเมล็ดพันธุ์แห่งประเทศไทย สมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย และสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก มีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์พืชของประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทางเลือกที่ดีในพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรไทย ทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณผลผลิต สิทธิในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ และราคาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมผ่านกลไกการตลาดที่มีเกษตรกรเป็นส่วนสำคัญ

ผลกระทบด้านลบและข้อกังวล

1. จำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ในหลายมาตรา เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไจการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เนื่องจากมีข้อแตกต่างระหว่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญา UPOV เช่น

1.1 กฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดให้มีการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์หรือพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ แต่อนุสัญญา UPOV ไม่ได้มีการกำหนดไว้ จึงอาจต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของประเทศไทยเพื่อให้มีความสอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV โดยตัดมาตราที่กำหนดเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบในกรณี ดังนี้ 1) มีนักปรับปรุงพันธุ์พืชนำพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ได้แก่ พันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป และพันธุ์พืชป่า มาขอรับความคุ้มครองเป็นพันธุ์พืชใหม่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอสำหรับการตรวจสอบ 2) มีผลต่อกลไกในการกำกับให้มีการขออนุญาตและทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมาย โดยการขอความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว จากสหภาพ UPOV เพื่อขอคำยืนยันว่าประเทศไทยสามารถกำหนดให้ต้องระบุสารพันธุกรรมในการจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เหมือนพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 มาตรา 19(3) ได้หรือไม่

1.2 หากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับอนุสัญญา UPOV จึงต้องทราบความชัดเจนในเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการปลูกพันธุ์พืชใหม่ว่า เกษตรกรรายย่อยสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ ไปปลูกต่อเพื่อขายผลผลิต ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของเกษตรกร รวมถึงสอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ได้หรือไม่ (ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บเมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชดั้งเดิมที่เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบัน)

1.3 มีความเห็นเป็นข้อกังวลต่อการพัฒนาพันธุ์ขึ้นใหม่ โดยมีพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าว เป็นพ่อแม่พันธุ์หรือเชื้อพันธุกรรมในการปรับปรุงพันธุ์ อาจทำให้พันธุ์พื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า ด้อยค่าหรือไม่เป็นที่นิยม และผลตอบแทนที่ได้กับประเทศอาจไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับประโยชน์ทางธุรกิจที่ผู้พัฒนาไปต่อยอดจะได้รับ

2. อนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองแล้ว (EDV) มีข้อแตกต่างระหว่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญา UPOV โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ไม่ได้มีการกำหนดให้สิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ครอบคลุมถึงอนุพันธ์ของพันธุ์พืชใหม่ (EDV) แต่อนุสัญญา UPOV 1991 กำหนดให้สิทธิของ

นักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ครอบคลุมถึง EDV ซึ่งมีลักษณะสำคัญมาจากพันธุ์พืชใหม่ที่เป็นพันธุ์ตั้งต้น และมีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์ตั้งต้น ซึ่ง EDV อาจถูกนำไปจดทะเบียนรับคุ้มครองได้ แต่หากจะทำการค้า ต้องขออนุญาตจากนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์ตั้งต้นก่อน หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ปนเปื้อนไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง อาจทำให้เกษตรกรในแปลงข้างเคียงมีโอกาสครอบครอง EDV ซึ่งละเมิดสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่นั้น และถูกดำเนินคดีได้

3. กรมวิชาการเกษตร มีความเห็นว่า ระยะแรกราคาเมล็ดพันธุ์อาจจะแพงขึ้น เนื่องจากยังมีการแข่งขันไม่เพียงพอ รัฐจึงต้องผลักดันนโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชอย่างเต็มที่และต่อเนื่องก่อนเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV และเกษตรกรต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน ต้องรู้และเข้าใจกฎหมายเพื่อจะไม่กระทำการละเมิดสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่

4. กรมการข้าว มีความเห็นว่า การที่รัฐบาลได้ลดทอนงบประมาณและจำนวนบุคลากรที่เป็นนักวิจัย สำหรับงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถนำเชื้อพันธุกรรมข้าวของประเทศไทยที่มีอยู่กว่า 20,000 ตัวอย่าง มาใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มตามศักยภาพ ดังนั้นประเทศไทยจึงยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แต่ควรพัฒนาระบบคุ้มครองพันธุ์ข้าวของประเทศไทย และจัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมข้าวให้ถูกต้องสมบูรณ์ (เหตุผลเพิ่มเติมในข้อ 2.1.1)

5. สำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ได้ส่งเอกสารแจ้งว่า พันธุ์ที่เกษตรกรญี่ปุ่นใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ทั่วไป โดยพันธุ์ทั่วไปของข้าวคิดเป็นร้อยละ ๘๔ ผักร้อยละ ๙๑ แอปเปิ้ลร้อยละ ๙๖ ส่วนพันธุ์ธัญพืช ผัก และผลไม้ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกว่าร้อยละ ๖๐ เป็นพันธุ์ที่พัฒนาโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งเก็บค่าพันธุ์ในอัตราที่ต่ำ จึงทำให้การเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ไม่มีผลกระทบต่อเกษตรกรมากนัก ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะดังกล่าว

6. กรมส่งเสริมการเกษตร มีความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV เช่น ด้านฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย และด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์พืชเกษตร โดยในขณะนี้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่พัฒนาและขยายพันธุ์พืชได้ถูกลดบทบาทและงบประมาณลงมาก ทั้งยังได้โอนย้ายศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชซึ่งเคยทำหน้าที่ขยายพันธุ์พืชแจกจ่ายแก่เกษตรกร จำนวนกว่า 20 แห่งจากกรมส่งเสริมการเกษตร ไปสังกัดกรมการข้าวและลดบทบาทเหลือเพียงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวแจกจ่ายแก่เกษตรกร ทำให้การพัฒนาและผลิตส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่จากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐเพื่อเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เหลือในสัดส่วนที่น้อยมาก

7. สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย มีความเห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร คือ การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV ซึ่งเพิ่มอำนาจการผูกขาดด้านพันธุ์พืช ห้ามเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อในฤดูถัดไป รวมทั้งขยายอำนาจการผูกขาดจากเดิมเฉพาะส่วนขยายพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ไปยังผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์ และกระทบต่อการพัฒนาขีดความสามารถของนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกรรายย่อย ซึ่งรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกและราคาสมุนไพร การแข่งขัน การต่อยอด และการค้นคว้าวิจัย จึงเห็นว่าต้องไม่ให้ข้าวเป็นพืชพันธุ์ใหม่ที่จะได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับหากต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 คือจะมีผลกระทบต่อกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์จากการขออนุญาตนำพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า ซึ่งเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของประเทศไทย ในกรณีที่มีผู้นำไปปรับปรุงพันธุ์ ศึกษา ทดลอง หรือวิจัยพัฒนาต่อยอดแล้วจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของตน

8. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์กรมหาชน) มีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย เนื่องจากอนุสัญญา UPOV จะส่งผลกระทบต่อกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ โดยกฎหมายของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน และมีการกำหนดในเรื่องของการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 กำหนดให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ต้องแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่หรือสารพันธุกรรมที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผูกพันให้มีการทำข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งนี้ หากเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV แล้ว จะทำให้ต้องตัดมาตราที่กำหนดเรื่องการแสดงที่มาของพันธุ์พืชใหม่ (อ้างอิงคำวินิจฉัยของสหภาพ UPOV ต่อกฎหมายของมาเลเซีย ซึ่งมีการกำหนดในลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายไทย) และการขยายสิทธิ์ของนักปรับปรุงพันธุ์พืชผู้ทรงสิทธิ์ในพันธุ์พืชใหม่ ให้ครอบคลุมถึง EDV ของอนุสัญญา UPOV อาจส่งผลกระทบต่อการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่น โดยอาจไม่สามารถทำตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการจากในแปลงปลูก มาปลูกได้

2. ผลกระทบด้านการเกษตร

2.1 ด้านพืช สำหรับ ข้าว กรมการข้าว มีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดของข้าว จึงมีความสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์ข้าว ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ แต่ยังมีการนำมาศึกษาวิจัยพัฒนาและต่อยอดน้อยมาก จึงมี

ข้อกังวลว่าการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบในส่วนนี้ เนื่องจากจะเกิดการถ่ายเทพันธุ์ข้าวระหว่างประเทศภาคีสมาชิก โดยประเทศสมาชิกสามารถนำพันธุ์ข้าวของประเทศไทยไปพัฒนาต่อยอดได้ ส่งผลต่อเกษตรกรเรื่องต้นทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะสูงขึ้น ส่วนพืชอื่น ๆ นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา

2.2 ด้านปศุสัตว์ 1) กรมปศุสัตว์ มีความเห็น ในประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาว่า การที่จะมีการจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของพืชอาหารสัตว์ตามอนุสัญญา UPOV ภายใต้ความตกลง CPTPP อาจทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น

สำหรับประเด็นการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ โดยในส่วนของมาตรการ SPS และการเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP บางประเทศมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงในระบบการผลิตสินค้าปศุสัตว์ จึงมีความเป็นไปได้ที่สินค้าปศุสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงจะถูกส่งออกจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP มายังประเทศไทย และเนื่องจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP บางประเทศมีกำลังการผลิตสินค้าปศุสัตว์บางชนิดมากกว่าประเทศไทย เช่น โคเนื้อและกระบือของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงปศุสัตว์ภายในประเทศ

2) สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ  มีความเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อเกษตรกรรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและห่วงโซ่การผลิตสุกรทั้งระบบ เนื่องจากสินค้าสุกรจากประเทศสมาชิกความตกลง CPTPP ที่ผลิตสุกรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ ประเทศแคนาดา มีศักยภาพเป็นอันดับ 3 ของโลกและต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องในสุกรที่แคนาดาไม่บริโภค ซึ่งอาจมีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงในปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคชาวไทย อาจถูกส่งมาขายในราคาถูก รวมทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชอาหารสัตว์ของเกษตรกรรายย่อยด้วย

2.3 ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร (SPS) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มีความเห็นเป็นข้อกังวลด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) คือ ข้อกำหนดด้านความโปร่งใสในการดำเนินขั้นตอน/กระบวนการ/มาตรการ SPS ของประเทศภาคีสมาชิก เช่น แนวทางวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงประกอบการนำเข้า การยอมรับความเท่าเทียมการตรวจประเมินและตรวจสอบกักกัน ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวตามความตกลงนี้ และกลไกระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement) ของความตกลง CPTPP ที่เปิดโอกาสให้ภาคีสมาชิกยื่นระงับข้อพิพาทต่อการประเมินความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ การยอมรับความเท่าเทียมของระบบงานการตรวจสอบกักกันสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นข้อบทที่มีความครอบคลุมสูงกว่า WTO และสูงกว่าความตกลงทุกฉบับที่ผูกพันอยู่ในปัจจุบัน สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการ SPS ว่าจะทำให้ประเทศไทยต้องเปิดให้มีการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ซึ่งปัจจุบันมติคณะรัฐมนตรีห้ามการปลูกพืชที่เป็น GMOs ในระดับไร่นานั้น มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะต้องยอมอนุญาตให้มีการนำเข้า GMOs ตามที่มีความห่วงกังวล แต่หากรัฐบาลบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด อาจทำให้ประเทศไทยยังไม่มีการปลูกพืชที่เป็น GMOs ต่อไปได้

2.4 ด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตร ข้อห่วงกังวลในการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ด้านการเปิดตลาดสินค้าเกษตรคือ จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร โดยอาจต้องลดภาษีเหลือร้อยละ 0 แก่สินค้าเกษตรถึงร้อยละ 95-99 ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรบางกลุ่ม นอกจากกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ อาทิ พืชไร่ ผัก และผลไม้ ที่จะเผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น เป็นต้น (อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษา)

ทั้งนี้ ยังมีข้อกังวลต่อความจริงจังในการดำเนินนโยบายของรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือ-เยียวยาและสร้างเสริมความเข้มแข็งแก่เกษตรกรรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบหลังจากการเปิดตลาดเสรี เช่น ไม่มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยกองทุน FTA ให้เป็นกองทุนหมุนเวียน ในปัจจุบันยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนลักษณะดังกล่าว มีแต่การของบประมาณประจำปี (กรมการค้าต่างประเทศ) และบางกองทุนที่เป็นกองทุนหมุนเวียน เช่น ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งได้รับงบประมาณน้อย ก็เยียวยาเฉพาะเกษตรกร ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ

ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน

คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน มีเกียรติ สิทธีอมร เป็นประธาน จัดประชุม 6 ครั้ง พิจารณา 5 ประเด็น ประกอบด้วย ประเด็น 1. ภาพรวมการประเมินผลกระทบ และ Post COVID 2. ประเด็นการค้าสินค้า รวมถึงการเปิด ตลาดสินค้า ประเด็น Free Zone และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3. ประเด็นการค้าบริการ การลงทุน และการเข้าเมืองชั่วคราวสำหรับนักธุรกิจ 4. ประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และ 5. ประเด็นการพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

ที่ประชุมยังมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อ ได้แก่ การให้นักลงทุนฟ้องรัฐ (ISDS) การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ (GP & SOE) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) และอุปสรรคการค้าเชิงเทคนิค (TBT) สำหรับประเด็นที่พิจารณาแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ที่ประชุมได้ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไปศึกษาและหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำามาพิจารณาและหาข้อสรุปต่อไป

โดยมี ข้อสังเกต ข้อห่วงกังวล และการมอบหมายของที่ประชุม ในประเด็นต่าง ๆ มีดังนี้

1. ประเด็นภาพรวมการประเมินผลกระทบ และ Post COVID 

ที่ประชุมทราบว่า ผลการศึกษาของโบลลิเกอร์ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของประโยชน์และผลกระทบ หากไทยเข้าร่วมและไม่เข้าร่วม CPTPP ภายใต้สมมติฐานการลดกำแพงภาษีสินค้าระหว่างสมาชิก เท่านั้น ที่

ประชุมมีข้อสังเกตและห่วงกังวลว่า 

  1. สมมติฐานการเปิดเสรีการค้าทันที 100% ในผลการศึกษายังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและมิได้คำนึงถึงระยะทางและต้นทุนค่าขนส่ง ในกรณีประเทศสมาชิกที่อยู่ห่างไกล
  2. ผลการศึกษามิได้คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงประเด็นด้านสังคมและความมั่นคง 
  3. ผลการศึกษาได้เสร็จสิ้นในปี 2562 จึงไม่ครอบคลุมถึงสถานการณ์ COVID-19 และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
  4. FDI อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นจากการทำ FTA เพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น ศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบภายในประเทศที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศมากขึ้น คุณภาพ บุคคลากร เสถียรภาพทางการเมือง และต้นทุน เป็นต้น ดังนั้น การเข้าร่วมความตกลง CPTPP อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ FDI ของไทยเพิ่มสูงขึ้น

2. ประเด็นการค้าสินค้า รวมถึงการเปิดตลาดสินค้า ประเด็น Free Zone และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า 

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นำเสนอการประเมินรายการสินค้าสำเร็จรูปและสินค้า เกษตรที่คาดว่าไทยอาจจะได้รับประโยชน์ และผลกระทบหากเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยมีเกณฑ์ในการพิจารณา คือ (1) ไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากประเทศที่ยังไม่มี FTA กับไทย คือ แคนาดา และเม็กซิโกที่ต้องเปิดตลาดให้สินค้าส่งออกจากไทย แต่ไทยก็ต้องเปิดตลาดสำหรับสินค้าอ่อนไหวของไทยให้กับประเทศเหล่านั้นเป็นการตอบแทน ขณะเดียวกันระยะทางที่ห่างไกลและค่าขนส่งอาจเป็นอุปสรรคในการขยายการค้ากับประเทศเหล่านั้น การค้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจึงมิอาจเป็นไปตามที่คาดหวัง (2) ไทยจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากประเทศที่มี FTA อยู่แล้วกับไทย แต่ยังเปิดตลาดให้ไทยไม่ถึง 100% คือ ญี่ปุ่น และเปรู แต่ไทยก็ต้องเปิดตลาดสำหรับสินค้าอ่อนไหวที่เคยสงวนไว้ใน FTA ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากให้กับประเทศเหล่านั้นเป็นการตอบแทน เช่นกัน (3) ไทยจะได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ เพิ่มเติมจากประเทศที่มี FTA อยู่แล้ว และเปิดตลาดระหว่างกันเกือบครบ 100% แล้ว ได้แก่ สมาชิก อาเซียน ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในส่วนสินค้าบางรายการที่ประเทศเหล่านี้ยังไม่เคยเปิดตลาดให้ไทย

หลักเกณฑ์ในการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าของ CPTPP เปิดโอกาสให้ภาคีสามารถนำมูลค่าการผลิต ที่เกิดขึ้นใน CPTPP มาสะสมถิ่นกำเนิดได้ตามที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่มีการกำหนดสัดส่วนขั้นต่อ ซึ่งช่วยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศภาคี และเป็นทางเลือกในการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่ใน FTA ปัจจุบันของไทย อย่างไรก็ดี การใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือผลกระทบด้านลบมากน้อยเพียงใด อาจจะต้องพิจารณาเป็นรายสินค้าและในรายละเอียดของห่วงโซ่การผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมจะได้ประโยชน์มากกว่ารายกลางและรายเล็ก

ประเด็น Free zone CPTPP ไม่ได้ห้ามภาคีมีมาตรการยกเว้นอากร แต่ห้ามไม่ให้ตั้งเงื่อนไขการได้รับสิทธิยกเว้นอากร อาทิ การกำหนดให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตสินค้าใน Free Zone ทั้งนี้ การห้ามกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่สำหรับไทย เนื่องจากไทยได้ผูกพันมานานแล้วใน WTO อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยกรมศุลกากรมีการกำหนดเงื่อนไขสัดส่วนของการใช้วัตถุดิบในประเทศใน Free zone อยู่ โดยได้มีการประเมินการใช้สิทธิยกเว้น อากรของภาคเอกชนซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยต่อปีประมาณ 489,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้สิทธิใน Free zone ประมาณ 285,000 ล้านบาท และการใช้สิทธิอื่น ๆ อาทิ การยกเว้นหรือลดอัตราอากรประมาณ 203,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาชิก WTO มิได้เรียกร้องหรือกดดันให้ไทยยกเลิกระเบียบของ กรมศุลกากร แต่ใน CPTPP ไทยอาจต้องยกเลิกระเบียบดังกล่าวตามกฎเกณฑ์ของ CPTPP

ที่ประชุมมีข้อสังเกตและห่วงกังวลว่า

1. การพิจารณารายการสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นการพิจารณาในเบื้องต้นของหน่วยงานเดียว ซึ่งในการเจรจาจริงต้องมีการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย

2. การเปิดตลาดและการใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ CPTPP จะทำให้ภาคเอกชนไทยได้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด อาจต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริง เช่น ปัจจัยเรื่องระยะทางและค่าขนส่งด้วยและ อื่น ๆ เป็นต้น

3. หากภาคเอกชนไทย เช่น กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไม่ได้รับสิทธิการยกเว้นอากรจากการผลิตสินค้าใน Free zone จะต้องเสียค่าอากรนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปที่มีอัตราสูง ซึ่งจะเสียเปรียบเมื่อต้องแข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าซึ่งได้รับยกเว้นอากร เป็นต้น ดังนั้น ภาครัฐต้องพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร เพื่อไม่ให้สินค้าที่ผลิตในประเทศ มีต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า

ที่ประชุมมอบหมายให้

1. ภาคเอกชนศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมในส่วนสินค้าอ่อนไหวหรือสินค้าที่กังวลว่าจะไม่สามารถ แข่งขันกับสินค้าสำเร็จรูปนำเข้าได้ (import competing industry) โดยขอให้พิจารณาให้รอบด้าน และ หารือกับผู้เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม เพราะในบางสินค้ามีทั้งผู้ต้องการนำเข้า เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ และผู้ที่ต้องรับผลกระทบจากการหลั่งไหลของสินค้านำเข้า เพื่อจะได้พิจารณาแนวทางดำเนินการได้อย่างเหมาะสม

2. กรมศุลกากรจะศึกษาเพิ่มเติมว่า CPTPP จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใดที่ได้รับสิทธิการยกเว้นอากรวัตถุดิบนำเข้าทั้งในและนอกเขต Free zone รวมถึงแนวทางที่เป็นไปได้ในการปรับแก้ไขมาตรการที่มีอยู่เพื่อให้สอดคล้องกับ CPTPP เช่น การแก้ไขประกาศของกรมศุลกากรโดยกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อยกเลิกเงื่อนไขการได้รับสิทธิพิเศษตามประกาศดังกล่าว การให้ภาครัฐมีนโยบายเพื่อให้ภาคเอกชนยังคงได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นอากรขาเข้าจาก Free zone โดยไม่มีเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือการมีนโยบายยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เข้ามาผลิตในประเทศ เป็นต้น

3. ประเด็นการค้าบริการ การลงทุน และการเข้าเมืองชั่วคราวสำหรับนักธุรกิจ  

ผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงภาคบริการท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ มีข้อห่วงกังวลเรื่องการ เปิดตลาดภาคบริการ อาทิ การให้สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติสูงถึง 100% จะกระทบต่อความเป็นเจ้าของและอำนาจต่อรอง การเปิดตลาดสาขาบริการที่ทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันสูงขึ้น การเปิดให้คนต่างด้าวมาทำงานในอาชีพสงวน อย่างไรก็ดี ที่ประชุมรับทราบว่า ไทยสามารถเจรจาต่อรองและจัดทำข้อสงวนที่จะไม่เปิดตลาดได้ ซึ่งจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดท่าทีของไทยที่ชัดเจนต่อไป

ที่ประชุมมีข้อสังเกตและห่วงกังวลว่า 1. ยังมิได้มีการศึกษาประเมินผลกระทบที่ชัดเจนเรื่องการเปิดตลาดภาคบริการสาขาต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยว โลจิสติกส์ ก่อสร้าง และการขนส่ง เป็นต้น 2. ต้องขอให้ภาคเอกชนช่วยประเมินและศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าบริการสาขาใดบ้างที่จะ ได้รับประโยชน์และผลกระทบจาก CPTPP การก าหนดทิศทางหรือยุทธศาสตร์ที่รัฐต้องเข้าไปส่งเสริม เพื่อพัฒนาภาคบริการของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ๓. นโยบายของรัฐเองก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถ แข่งขันกับต่างชาติได้อย่างไร

ที่ประชุมมอบหมายให้  1. ผู้ประกอบการเสนอโครงการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยจะต้องพิจารณา ถึงความสอดคล้องกับพันธกรณีของ WTO  2. ภาคเอกชน อาทิ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสมาคมผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) ไปศึกษาเพิ่มเติมและประเมินว่าบริการสาขาใดที่พร้อมเปิดตลาด เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณา ในที่ประชุมต่อไป  3. หน่วยงานและภาคเอกชนทำการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบต่อการเปิดตลาดบริการและการลงทุนในเชิงลึก รวมทั้งประเด็นด้านกฎหมายโดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

4. ประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

ที่ประชุมรับทราบถึงข้อห่วงกังวลกรณีที่จะต้องปรับมาตรฐานแรงงานให้สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานโลก (ILO) โดยเฉพาะการให้สิทธิแรงงานต่างด้าวในการเจรจาต่อรอง การรวมตัวและการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เนื่องจากในบางสาขาอุตสาหกรรม แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว

ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า การให้สิทธิแรงงานในการรวมตัวภายใต้ CPTPP จะครอบคลุมไปถึงการตั้งสหภาพแรงงานหรือไม่ และสามารถตีความเป็นการรวมกลุ่มในลักษณะอื่นได้หรือไม่ 

ที่ประชุมมอบหมายให้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสอบถาม ILO ถึงการตีความของพันธกรณีดังกล่าวให้ชัดเจน และให้ศึกษาเพิ่มเติมว่า ประเทศสมาชิก CPTPP ใดที่มีกฎหมายอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้ง สหภาพแรงงานได้ เพื่อนำมาพิจารณาต่อไปในที่ประชุม

5. ประเด็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)

ที่ประชุมรับทราบพันธกรณีข้อบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และการหลีกเลี่ยงที่จะสร้างอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการใช้และพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่ากฎหมายหลักที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันและที่กำลังดำเนินการอยู่มีความสอดคล้องกับ CPTPP แล้ว

ที่ประชุมมีข้อสังเกตและห่วงกังวลว่า

1. ไทยยังขาดยุทธศาสตร์และมาตรการที่ชัดเจนในการพัฒนาและกำกับดูแลการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม

2. ไทยอาจยังไม่มีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบกฎหมาย กระบวนการทำงานและกลไกในการจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยังจะต้องออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม เพื่อที่จะรองรับระบบเศรษฐกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศสูง

3. ไทยยังคงต้องออกกฎหมายลูกมารองรับเพิ่มเติมในประเด็นการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการมีตัวตนของผู้ขายและสามารถรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 

4. ไทยยังไม่มีกลไกและวิธีกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่ครอบคลุมเพียงพอ ซึ่งทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการในประเทศถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์หรือถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลนั้นถูกนำไปใช้ต่อและมีการจัดการอย่างไร 

5. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันที่มากพอ ทำให้ขาดกลไกที่จะควบคุมดูแลข้อมูลและเนื้อหาทางดิจิทัล (Digital content) ที่มีประสิทธิภาพ 

6. การเก็บภาษีในประเทศ เช่น VAT จากธุรกิจดิจิทัลยังมีความลักลั่น ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศมีภาระภาษีมากกว่าผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย เป็นต้น

7. แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อเก็บภาษีในประเทศ (Internal Tax) จากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ทราบถึงวิธีการและกลไกที่ชัดเจนในการเก็บภาษีดังกล่าว จะทำอย่างไรให้สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการในต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. รัฐจะต้องให้ความสำคัญและพัฒนากลไกที่จะคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเรื่องยากและเป็นปัญหาอย่างมากในปัจจุบัน 

9. พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ใน CPTPP เป็นอุปสรรคต่อไทยในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ ในประเด็น 1) การเปิดให้ส่งข้อมูลข้ามพรมแดนอย่างเสรี 2) การห้ามรัฐบังคับให้ผู้ให้บริการ e-commerce ต้องมีที่ตั้งในประเทศไทย 3) การห้ามเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-transmissions) แต่ไม่ได้ห้ามในส่วนการเก็บภาษีภายในประเทศ (internal tax) ซึ่งขณะนี้กรมสรรพากรกำลังร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีผู้ให้บริการ e-commerce และ e-services

ที่ประชุมมอบหมาย 1. ให้ กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันทบทวนและนำเสนอแผนพัฒนาและกำกับดูแลการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมที่ชัดเจนและมีบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการต่อไป 2. ให้กรมศุลกากรและกรมสรรพากรไปศึกษาถึงแนวการปฏิบัติของประเทศสมาชิกว่ามีการดำเนินการในประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อย่างไร รวมถึงแนวทางการเก็บภาษีอื่น ๆ อาทิ ภาษีสรรพสามิตและภาษีเงินได้ เพื่อให้ที่ประชุมนำมาพิจารณาต่อไป 3. ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไปหารือและทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันมากขึ้น เพื่อให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการควบคุมและดูแลข้อมูลและเนื้อหาทางดิจิทัล (Digital content) 4. ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องศึกษาเพิ่มเติมว่าจะสามารถออกกฎหมายที่เกี่ยวกับ Digital ID เช่นเดียวกับที่หลายประเทศกำลังดำเนินการอยู่เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ได้หรือไม่ 5. ให้ตรวจสอบประเด็นอ่อน ไหวกับทุกหน่วยงาน เช่น การจัดเก็บภาษี e-service เป็นต้น

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดประชุม 7 ครั้ง โดยมีประเด็นการพิจารณาประกอบด้วย การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา(Compulsory Licensing : CL)  การเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Patent Linkage) การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวกับสาธารณสุข  การรับฝากจุลชีพ  ประเด็นอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ ยาสูบ สุรา เครื่องหมายการค้า “กลิ่น” การบริการสาธารณสุข กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement : ISDS) ข้อบทที่ถูกระงับไว้ (Suspended) และสมุนไพร ส่วนการก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของประเทศไทย นั้นระบุว่าอยู่ในระหว่างรอข้อมูลจากสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

เอกสารระบุด้วยว่ารายงานนี้มิได้มีการศึกษาและพิจารณาในระดับมหาภาคถึง ภาพรวมและผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยาและระบบสาธารณสุข อีกทั้งผลกระทบ ต่อการก้าวสู่การเป็น Medical Hub ของประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ราคายา ค่ารักษาพยาบาล และ ค่าประกันฯ สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นภาระต่อทั้งภาคประชาชนและภาครัฐ นอกจากนี้ ยังคงมีความจ าเป็น ที่จะต้องศึกษาถึงมาตรการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วน รวมถึงข้อบทต่าง ๆ และ กรอบระยะเวลาที่จะสามารถเจรจาได้เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของหน่วยงานภายในประเทศ ที่จะต้องปรับตัวต่อไป

โดยมีรายละเอียดเรื่องพิจารณาดังนี้

1. การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing : CL) 

ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขมีความกังวลว่า ประเทศไทยอาจไม่สามารถใช้ มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) ได้เช่นเดิม หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงที่รัฐจะถูกบริษัทยา ต้นแบบภาคเอกชนฟ้องร้องได้ง่ายขึ้นผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ 

กรมทรัพย์สินทางปัญญาและกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ให้ข้อมูลว่า ข้อบท CPTPP ได้ยืนยันสิทธิของประเทศภาคีในการใช้มาตรการเพื่อปกป้องประโยชน์ด้านสาธารณสุข รวมทั้งการใช้ มาตรการ CL ดังนั้น หากไทยเข้าร่วม CPTPP ประเทศไทยจะยังคงสามารถใช้มาตรการ CL ได้เช่นที่ ผ่านมา หากได้กระทำตามกรอบความตกลง TRIPS 

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงว่า แม้ว่าในข้อบทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา อาจยืนยันให้สามารถทำ CL ได้ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ อาจไม่สามารถทำ CL ได้ หากการทำ CL ถูกตีความว่าเป็นการเวนคืนทรัพย์โดยทางอ้อม ตามการแปลความในภาคผนวก 9b ของข้อบทว่าด้วย การลงทุน และจึงสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการถูกฟ้องร้องโดยเอกชนได้ ถึงแม้ว่าจะปฏิบัติได้สอดคล้องกับ ความตกลง TRIPS ของ WTO ก็ตาม เพราะข้อบทเรื่องการลงทุนไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับของข้อบท ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกันในประเด็นดังกล่าวและยังไม่เป็นที่ยุติว่าประเทศ ไทยจะยังคงสามารถใช้มาตรการ CL ได้เช่นเดิมโดยมิได้เพิ่มความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องโดยภาคเอกชน ในกรณีที่ต้องพิจารณาร่วมกับข้อบทการลงทุนหรือไม่

2. การเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Patent Linkage) 

ที่ประชุมมีความเห็นตอ่กรณี ดังนี้

1. มีความกังวลจากภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขว่า ข้อบทใน CPTPP บางข้อบทอาจเป็นช่องทางให้กับบริษัทยาต้นแบบ (Original Drug) สามารถใช้สิทธิทางศาลขอให้มีคำสั่งใด ๆ  ได้ก่อนความคุ้มครองตามสิทธิบัตรจะสิ้นสุดลง โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทยาชื่อสามัญ (Generic Drug) ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยามายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งส านักงาน คณะกรรมการอาหารและยาจะต้องแจ้งเรื่องการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญให้กับบริษัทยาต้นแบบทราบ ทั้งนี้ เห็นว่าการยื่นขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อมาตรา 36 ประกอบมาตรา 35 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และไม่ถือว่า เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ทรงสิทธิ กระนั้น อาจส่งผลให้เกิดการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริตและร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทยาชื่อสามัญไม่สามารถนำยาออกสู่ตลาดได้ หรือยาชื่อสามัญอาจไม่นำยาออกสู่ ตลาดด้วยความกังวลต่ออรรถคดี เนื่องจากระยะเวลาการพิสูจน์การละเมิดสิทธิบัตรอาจใช้ระยะเวลา หลายปี อาทิ 5 ถึง 10 ปี ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเข้าถึงยาชื่อสามัญได้ช้าลง ยาต้นแบบซึ่งราคาสูง ยังคงผูกขาดตลาดอยู่ ทำให้ไม่สามารถนำเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศได้ จนกว่าจะมียาชื่อสามัญออกมาสู่ตลาด

2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเห็นว่า การเชื่อมโยงสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Patent Linkage) มีเป้าหมายหรือเจตนารมณ์ในการยับยั้งหรือชะลอกระบวนการที่ยาชื่อ สามัญจะเข้าสู่ตลาด โดยการใช้สิทธิทางศาล อาทิ การขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว หรือกลไกทางบริหารในระหว่างการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญ จึงเห็นควรทำความเข้าใจและตีความหมายตามข้อบทที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวอย่างถ่องแท้และถูกต้อง ก่อนที่จะออกแบบระบบการดำเนินการที่จะช่วยลดผลกระทบหรือป้องกันผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น

3. กรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า ข้อบทในเรื่องนี้ตาม CPTPP มีความยืดหยุ่น โดยประเทศภาคีสามารถกำหนดกลไกที่เห็นว่าเหมาะสมกับบริบทภายในประเทศของตนเองได้ อาทิ การแจ้งหรือการเปิดโอกาสให้บริษัทยาต้นแบบทราบถึงการขอขึ้นทะเบียนตำรับยา อาจดำเนินการโดยการนำคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นภาระต่อหน่วยงานที่รับขึ้นทะเบียนตำรับยาน้อยที่สุดและจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของสิทธิโดยไม่ต้องมีการระงับหรือหยุดกระบวนการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญได้ แม้จะมีข้อโต้แย้งจากบริษัทยาต้นแบบเกี่ยวกับประเด็นสิทธิบัตรยาก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อมิให้กลไก Patent Linkage ส่งผลกระทบและเกิดความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญ อย่างไรก็ตาม การฟ้องร้องคดีและการขอให้คุ้มครองชั่วคราวเป็นสิ่งที่ ผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิที่จะดำเนินการได้ตามกรอบแห่งกฎหมายภายในประเทศ แต่หากมีการใช้สิทธิ โดยไม่สุจริตก็อาจนำไปสู่ความรับผิดตามกฎหมาย 

4. กล่าวโดยสรุป การเข้าร่วม CPTPP ทำให้ประเทศไทยจะต้องสร้างกระบวนการเชื่อมโยง ข้อมูลสิทธิบัตรยา (Patent Linkage) และจะต้องเกิดการทำงานร่วมกันโดยสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ กระบวนการ Patent Linkage ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาและภาคสาธารณสุขยังไม่ปรากฏข้อยุติในเรื่อง ขนาดของผลกระทบและกระบวนการในการเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาต่อไป

3. การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกี่ยวกับสาธารณสุข 

องค์การเภสัชกรรมได้ให้ข้อมูลว่า สิทธิประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรม (GPO) ที่ได้รับจากประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างยาของภาครัฐตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันย่อมถูกกระทบสิทธิจากการที่ไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP เนื่องจากไม่ได้รับการยกเว้น เพราะมิใช่ธุรกิจที่ผูกขาด (Monopoly) 

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ให้ข้อมูลว่า ได้มีการวางกรอบแนวทางในการทำข้อสงวนของประเทศไทยโดยยึดต้นแบบจากประเทศเวียดนามซึ่งสามารถขอยกเว้นตลาดได้ ร้อยละ 50 ในระยะเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม ตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า การยกเลิกสิทธิประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรมอาจมีผลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดอุตสาหกรรมยาในประเทศ ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศเติบโตมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม องค์การเภสัชกรรมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปด้าน สาธารณสุขของประเทศ คือ ความมั่นคงทางยา ซึ่งองค์การเภสัชกรรมได้รับไปดำเนินภารกิจการสร้าง ความมั่นคงทางยา เพื่อให้มียาเพียงพอต่อความต้องการ (Availability) สามารถเข้าถึงยาได้ (Accessibility) มีเสถียรภาพ (Stability) และความสามารถในการจ่าย (Affordability) บทบาทของ องค์การเภสัชกรรมต่อระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นคือ ท าให้เกิดความสมดุลของแต่ละภาคส่วน เพื่อให้มีความมั่นคงยาและพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ

4. การรับฝากจุลชีพ 

การเข้าร่วม CPTPP กำหนดให้ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วม Budapest Treaty ด้วย ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจ้งว่า ประเทศไทยมีมาตรการและระบบภายในประเทศที่สอดคล้องกับ Budapest Treaty อยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศ แต่ยังต้อง ดำเนินการเพื่อยื่นภาคยานุวัติสารในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าวต่อไป

ประเด็นที่ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขกังวลเกี่ยวกับขีดจำกัดความสามารถในการ ยกระดับสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพภายในประเทศให้เป็น IDA (International Depositary Authority) กรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ข้อมูลว่า จากการประชุมร่วมกับหน่วยงานด้านการวิจัยและ พัฒนาของไทยในเรื่องนี้มีบางหน่วยงานได้แสดงความสนใจและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการที่จะเป็น IDA อย่างไรก็ดี CPTPP นั้น มิได้บังคับให้รัฐภาคีจะต้องยกระดับสถาบันรับฝากเก็บจุลชีพภายในประเทศให้เป็น IDA แต่หากสามารถจัดตั้ง IDA ภายในประเทศได้ จะทำให้ศักยภาพด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเสนอว่า ควรมีการเร่งพัฒนากฎหมายภายในประเทศเพื่อกำหนดให้ผู้ที่ต้องการขอขึ้นทะเบียนยาที่มีส่วนประกอบของจุลชีพหรือจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับจุลชีพต้องสำแดงแหล่งที่มาร่วมด้วยให้เร็วที่สุด เพื่อคุ้มครองจุลชีพจากแหล่งต้นกำเนิดภายในประเทศ

5. อาหาร

การกำหนดมาตรฐานในเรื่องอาหารที่ไทยจะต้องกระทำหากเข้าร่วม CPTPP ได้แก่ การกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานทางอาหารตาม CODEX Guidelines (องค์กรสากลที่กำหนดมาตรฐานทางอาหารระหว่างประเทศ) โดยไม่สร้างภาระให้แก่ภาคประชาชน

ทั้งนี้ ภาคประชาชนกังวลว่า หากประเทศไทยกำหนดมาตรฐานสูงจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารและประชาชน สมควรกำหนดมาตรฐานที่ประเทศดำเนินการได้และสอดคล้องตามมาตรฐานของ CODEX 

ในเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมเห็นเป็นยุติว่า ประเทศไทยย่อมสามารถกระทำเช่นนั้นได้โดยภาครัฐควรแถลงให้ชัดเจนในประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ภาคประชาชน

6. เครื่องสำอาง

ที่ประชุมบางส่วนมีความกังวลว่า การเข้าร่วม CPTPP ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยห้ามออกมาตรการเพื่อบังคับให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะต้องปรากฏฉลากที่แสดงเลขที่จดแจ้งกับ อย. อาจทำให้ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐและต้นทุนของภาคเอกชนสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อราคาเครื่องสำอาง  ที่ประชุมมีความเห็น ดังนี้

1. การปฏิบัติตามข้อตกลง CPTPP ที่กำหนดมิให้แสดงเลขที่จดแจ้งในฉลากเครื่องสำอางนั้นจะทำให้ประชาชนขาดวิธีการที่จะตรวจสอบได้ว่า เครื่องสำอางนั้นผ่านการอนุญาตจากสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยาแล้ว และในส่วนของเจ้าหน้าที่จะสามารถเชื่อมโยงการตรวจสอบข้อมูล การจดแจ้งและมาตรฐานสินค้าเครื่องสำอาง

2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอาจต้องมีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลทะเบียนการจดแจ้งเครื่องสำอางเพื่อให้มีการตรวจสอบเครื่องสำอางและเพื่อรองรับข้อบทต่าง ๆ ในข้อตกลง CPTPP

3. หากประเทศไทยกำหนดไม่ให้มีการแสดงเลขที่จดแจ้งบนฉลากเครื่องสำอางอาจต้องใช้รูปแบบอื่นแทนนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เสนอว่า มีตัวอย่างจากต่างประเทศ ที่เลี่ยงไปใช้บาร์โค้ดแทน 

อนุกรรมาธิการบางท่านเพิ่มเติมว่า อาจยกระดับเป็น QR code แทนเพื่อความสะดวกกับประชาชนแต่ต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว

7. เครื่องมือแพทย์

ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขมีความกังวลว่า มาตรฐานทางการแพทย์ของไทยอาจลดระดับลงหากเข้าร่วม CPTPP เนื่องจาก CPTPP กำหนดให้ประเทศไทยจะต้องเปิดโอกาสให้สามารถ นำเข้าเครื่องมือแพทย์มือสองฯ เข้ามาจำหน่ายภายในประเทศได้ ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยมีข้อห้ามมิให้นำเข้า รวมถึงภาระในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากนำเข้าเครื่องมือแพทย์ในอนาคต

อนุกรรมาธิการบางท่านเสนอว่า หากอนุญาตให้นำเข้าได้ แต่รัฐออกกฎหมายภายในห้ามมิให้ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและ/หรือเอกชนซื้อเครื่องมือแพทย์มือสองมาใช้ในสถานพยาบาลหรือใช้เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจะสามารถกระทำได้หรือไม่

กรมสนธิสัญญาและกฎหมายตั้งข้อสังเกตว่า หากกระทำเช่นนั้นในส่วนของสถานพยาบาล ของรัฐอาจขัดกับข้อบทว่าด้วยข้อกำหนดทางเทคนิค (Technical Specification) ในบท Government Procurement หรือไม่

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสนอแนะว่า อาจพิจารณาเป็นการกำหนดใน TOR ของหน่วยงานหรือออกมาตรฐานสินค้าเพื่อควบคุมคุณภาพของเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความด้อยคุณภาพ 

กรมศุลกากรได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า พิกัดศุลกากรตั้งแต่ 84-90 ครอบคลุมถึงสินค้า เครื่องมือแพทย์ อย่างไรก็ตามพิกัดศุลกากรดังกล่าวไม่สามารถแยกระหว่างสินค้าใหม่และสินค้า Remanufactured ได้อย่างชัดเจน ในเรื่องดังกล่าวกรมศุลกากรได้มีการเสนอความเห็นว่าอาจใช้รหัส สถิติเพิ่มอีก 2 หลักจากเดิม 8 รวมเป็น 10 หลักเพื่อแยกสินค้าทั้งสองประเภทได้

8. ยาสูบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่า การผูกขาด (Monopoly) ต่อการผลิต ภายในประเทศโดยการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ยังคงสามารถกระทำต่อไปได้หากเข้าร่วม CPTPP 

ในเรื่องนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า ประเทศไทยอาจระบุเป็นข้อสงวนไว้ใน ANNEX IV ได้

ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขกังวลเรื่อง มาตรการกำหนดรูปแบบฉลากและหีบห่อ ผลิตภัณฑ์ยาสูบซึ่งประเทศไทยกระทำตามกรอบ Framework Convention on Tobacco Control (FCTC) อาทิ การกำหนดรูปแบบบุหรี่ซองเรียบ อาจมีปัญหาเนื่องจากขัดต่อหลัก Fair and Equitable Treatment ใน CPTPP โดยประเด็นที่น่ากังวล คือ FCTC ไม่มีบทกำหนดโทษ แต่ CPTPP มีบทกำหนดโทษ เมื่อข้อบทใน CPTPP กำหนดว่าให้ภาคีพิจารณาร่วมกันว่าจะกระทำตามกรอบความตกลงใดเมื่อขัดแย้งกัน อาจต้องยุติด้วยการกระทำตามหลักการใน CPTPP เนื่องจาก ข้อบทใน CPTPP มีสภาพบังคับ

ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเสนอว่า ประเทศไทยอาจพิจารณาเจรจาเพื่อทำ Side Letter ในประเด็นดังกล่าวกับประเทศภาคีต่าง ๆ หรืออาจยกเหตุผลว่า เป็นมาตรการเพื่อสาธารณประโยชน์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่งเพื่อยกเว้นกรอบความตกลง ดังกล่าวได้ 

9. สุรา

ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขมีความกังวลเช่นเดียวกับกรณียาสูบ แต่ในกรณีสุรานั้น ไม่มีกรอบ Framework Convention on Alcohol Control (FCAC) จึงอาจมีความเสี่ยงสูงกว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเห็นว่า อาจทำข้อสงวนได้เช่นเดียวกับกับกรณียาสูบ เนื่องจากเป็นมาตรการเพื่อสาธารณประโยชน์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างยิ่งและ พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังคงสามารถบังคับใช้ได้เช่นเดิม เนื่องจากไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างคนชาติกับคนต่างชาติ (Non-Discrimination)

ในเรื่องนี้ที่ประชุมมีความเห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาและหาข้อยุติ เพื่อยกเว้นกรอบดังกล่าว 

10. เครื่องหมายการค้า “กลิ่น”

ภาคสาธารณสุขมีความกังวลว่า หากมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลิ่นขึ้นภายในประเทศไทยจะทำให้สิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกระทบต่อการกำหนดรูปแบบบุหรี่ซองเรียบ และอาจเป็นการกระตุ้นหรือชักจูงให้เกิดนักสูบรายใหม่เพิ่มขึ้น

กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า CPTPP มิได้บังคับให้ประเทศภาคีต้องรับจดทะเบียน เครื่องหมายการค้ากลิ่น เพียงแต่ระบุว่าควรพยายามให้มีขึ้น แต่มิได้บังคับให้มี

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเห็นว่า ไม่ว่าจะมีการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลิ่นหรือไม่ การใช้เครื่องหมายการค้ายังคงอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้ในอนาคตหากประเทศไทยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลิ่นก็ยังคงมีอำนาจในการออกมาตรการภายในประเทศเพื่อการควบคุมการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว

11. การบริการสาธารณสุข

ที่ประชุมได้เชิญสภาวิชาชีพทางสาธารณสุขมาให้ข้อมูลในข้อห่วงกังวลต่อการเข้าร่วม CPTPP ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ได้โดยเสรี ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการทางสาธารณสุขภายในประเทศ ที่

ประชุมมีความเห็นเป็นยุติว่า ให้รวบรวมข้อกังวลในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการให้บริการ ทางวิชาชีพจากทุกสภาวิชาชีพ ทั้งนี้ หากข้อกังวลใดมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ณ ปัจจุบัน

ที่ประชุมเห็นว่า กฎหมายภายในประเทศสามารถระบุไว้เป็นข้อสงวนใน ANNEX I หากแต่ ข้อกังวลใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน อาจระบุไว้เป็นข้อสงวนใน ANNEX II หรืออาจออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อรองรับและคลายข้อกังวลเหล่านั้นเสียก่อน แล้วนำไประบุเป็นข้อสงวนไว้ใน ANNEX I แทน

12. กลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน (Investor-State Dispute Settlement : ISDS)

ภาคสาธารณสุขมีความกังวลในเรื่อง ISDS ดังนี้

1. การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้บริษัทยาเอกชนโดยเฉพาะบริษัทยาต้นแบบสามารถฟ้องร้องรัฐได้ง่ายขึ้นผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

2. ข้อตกลง CPTPP ในเรื่องการเปิดตลาดการค้าเสรี (Fair Trade) สำหรับสินค้าประเภท สุราสามารถเปิดตลาดการขายเสรีเหมือนสินค้าประเภทอื่น และข้อตกลงทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ เรื่องสื่อดิจิตอลที่จะเป็นอุปสรรคใหม่สำหรับการควบคุมเครื่องดื่มและแอลกอฮอล์และอาจเป็นเหตุให้รัฐถูกฟ้องโดยเอกชนด้วยกลไกนี้ได้

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยอาจเจรจาขอจัดทำ Side Letter เพื่อยกเว้นข้อกังวลดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเจรจา โดยยกตัวอย่างกรณีนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ทำ Side Letter กับ 5 ประเทศ เพื่อจำกัดการใช้กลไก ISDS ระหว่างกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน โดย Side Letter ระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์กับ เปรู กำหนดห้ามมิให้นักลงทุนใช้กลไก ISDS เพื่อฟ้องรัฐ ส่วน Side Letter กับอีก 3 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ นิวซีแลนด์กับเวียดนาม นิวซีแลนด์กับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์กับบรูไน กำหนดเงื่อนไขให้มี การปรึกษาหารือระหว่างกันก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ นักลงทุนจะใช้กลไก ISDS ฟ้องรัฐได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอม (Consent) จากรัฐก่อน

ที่ประชุมมีการอภิปรายเชิงลึกตามลายลักษณ์อักษรในข้อบทที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ยังไม่เป็นที่ยุติ เนื่องจากปัญหาทางด้านการตีความ

13. ข้อบทที่ถูกระงับไว้ (Suspended)

ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขมีความกังวลว่า ข้อบทต่าง ๆ ที่ถูกระงับไว้ อาทิ ข้อบทที่เกี่ยวกับเรื่อง Data Exclusivity นั้นจะถูกนำกลับมาบังคับใช้ใหม่ได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาร่วมใน CPTPP

ที่ประชุมรับทราบจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมสนธิสัญญาและกฎหมายว่า ข้อบทดังกล่าวจะไม่สามารถนำกลับมาบังคับใช้ใหม่ได้หากประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ให้ความยินยอม อาทิ ประเทศไทย (หากประเทศไทยได้เข้าร่วม CPTPP แล้ว) เนื่องจากการนำข้อบทที่ถูกระงับไว้ กลับมาบังคับใช้นั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศภาคีเป็นเอกฉันท์

14. สมุนไพร

การเข้าร่วม CPTPP ทำให้ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นข้อกังวลจากภาคประชาชนต่อการเข้าร่วม CPTPP โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันการปรับปรุงพันธุ์พืชและการให้ความคุ้มครองสิทธิแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืชพันธุ์ใหม่ 

กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความเห็นว่า ข้อกังวลในประเด็นว่าพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยจะถูกลักลอบไปจดทะเบียนสิทธิน่าจะเกิดขึ้นได้ยากหรือแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก UPOV 1991 นั้น ให้ความคุ้มครองเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ที่ถูกคิดค้นและสร้างขึ้นด้วยการกระทำของนักปรับปรุงพันธุ์เท่านั้น ซึ่งย่อมจะต้องแสดงเส้นทางกระบวนการคิดค้น วิจัยและพัฒนาโดยละเอียดจึงจะสามารถนำมาขอจดทะเบียนเพื่อรับรองสิทธิได้

อย่างไรก็ดี ภาคประชาชนและภาคสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยาสมุนไพรมีความกังวลว่า ปัจจุบันฐานข้อมูลเกี่ยวกับพืชสมุนไพรของประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ข้อมูลว่า การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์พืชยังไม่สามารถจัดทำได้ครอบคลุมพันธุ์พืชทุกชนิดในประเทศไทย โดยอนุสัญญา UPOV 1991 กำหนดให้ต้องคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ดังนั้น พันธุ์พืชสมุนไพรไทยเมื่อถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่แล้ว อาจถูกนำไปขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ได้อีกทั้งอนุสัญญา UPOV 1991 ไม่ได้กำหนดให้ประเทศภาคีกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชใหม่จะต้องเปิดเผยข้อมูลแหล่งที่มาของพันธุกรรม ที่นำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบพันธุ์สมุนไพรไทย (Bio-Piracy) กล่าวคือ อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกต่างชาตินำพันธุ์พืชสมุนไพรของไทยไปพัฒนาเป็นพันธุ์พืชใหม่ และจดทะเบียนสิทธิเป็นของตนเอง

ที่ประชุมเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรวบรวมและจัดท าฐานข้อมูลพันธุ์พืช ของประเทศไทยให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด และจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังการลักลอบนำพันธุ์พืช ของไทยไปจดทะเบียนสิทธิ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางสมุนไพรของไทย โดยควร ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเข้าร่วมอนุสัญญา UPOV 1991

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท