Skip to main content
sharethis

สื่อตะวันตกนำเสนอบทวิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในรอบใหม่ซึ่งดูจะยกระดับมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บรรณาธิการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของเดอะการ์เดียนระบุว่าการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้นโยบายแบบ 'อเมริกามาก่อน' มาตลอดกลายเป็นการล่าถอยจากการเป็นผู้นำโลก ทำให้เป็นอุปสรรคในการขับเคี่ยวกับจีนในหลาย ๆ ด้าน

26 ก.ค. 2563 หลังจากกรณีที่สหรัฐฯ สั่งปิดสถานกงสุลในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการจีนก็โต้ตอบกลับด้วยการปิดสถานกงสุลของสหรัฐฯ ในนครเฉิงตู เพื่อเป็นการโต้ตอบ โดยต่างฝ่ายต่างก็อ้างเรื่องความปลอดภัยทางข้อมูลข่าวสารของตัวเอง

ทั้งนี้ทางการสหรัฐฯ ก็มีท่าทียกระดับความขัดแย้งจากการกระทำหลายอย่าง เช่นกรณีการใช้เอฟบีไอจับกุมนักวิจัยชาวจีนในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ ที่ต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับกองทัพจีน (PLA) มีนักวิชาการอื่นๆ และนักธุรกิจจีนตกอยู่ภายใต้การจับตามองว่าจะมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลจีนหรือไม่ และบอกให้มีการออกมาสารภาพตัวเองโดยอ้างกฎหมายเรื่องการขึ้นทะเบียนตัวแทนต่างชาติของสหรัฐฯ

นอกจากปฏิบัติการเหล่านี้แล้ว ถ้อยแถลงของรัฐบาลทรัมป์ยังพยายามแสดงตัวเป็นผู้ต่อต้านจีนด้วย โดยเฉพาะไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ประกาศว่า "โลกเสรีจะต้องมีชัยเหนือทรราชย์ใหม่นี้" ปอมเปโอยังเดินทางไปที่ห้องสมุดประธานาธิบดีของริชาร์ด นิกสัน ในแคลิฟอร์เนียเพื่อประกาศว่าการที่นิกสันเคยมีนโยบายเปิดความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนเมื่อปี 2525 ทำให้ช่วย "กู้เศรษฐกิจที่ล้มเหลวของจีนได้" แต่ก็ทำให้จีน "จะหันมาแว้งกัดมือของประชาคมโลกที่หล่อเลี้ยง (เศรษฐกิจ) ของพวกเขา"

จูเลียน บอร์เกอร์ บรรณาธิการฝ่ายกิจการระหว่างประเทศของเดอะการ์เดียนวิเคราะห์ว่าภาษาท่าทีในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองจากรัฐบาลสหรัฐฯ ตอนนี้น่าจะเป็นการอาศัยความรู้สึกต่อต้านจีนเพื่อฟื้นฟูคะแนนนิยมให้โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. ที่จะถึงนี้ และอาจจะรวมถึงการที่ปอมเปโออาจจะลงชิงตำแหน่งในปี 2567 เองด้วย โดยที่ปอมเปโอแถลงว่าการต่อสู้กับความพยายามยึดกุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็น "ภารกิจแห่งช่วงเวลาของเรา"

บอร์เกอร์มองว่าคำแถลงของปอมเปโอก็น่าจะส่งผลสะท้อนจากชาวโลกเพราะจีนมีท่าทีรุกล้ำมากขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก รวมถึงมีประเด็นที่อื้อฉาวเกี่ยวกับค่ายกักกันชาวอุยกูร์ในซินเจียง การทำลายเสรีภาพในฮ่องกง การยึกครองพื้นที่พิพาทเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งมีการยึดพื้นที่ธรรมชาติทางทะเลบางส่วนเช่นแนวปะการังเอาไปทำเป็นปราการคอนกรีต รวมถึงข้อพิพาทด้านเขตแดนกับอินเดีย

กระนั้นการที่ปอมเปโอแถลงว่า "อเมริกามีจุดยืนที่สมบูรณ์แบบในการนำ" การต่อสู้กับจีนนั้น บอร์เกอร์มองว่ามันจะถูกมองจากพันธมิตรของสหรัฐฯ หลายคนว่าไม่จริงใจหรือน่าฉงนฉงาย เพราะการที่จีนแผ่อิทธิพลมาสู่ส่วนที่ขาดหายไปได้เป็นเพราะสหรัฐฯ ล่าถอยออกไปในการเป็นผู้นำโลกด้วยการใช้คำขวัญที่ฟังดูชาตินิยมแบบสุดโต่งและเน้นฝ่ายเดียวว่า "อเมริกาต้องมาก่อน"

บอร์เกอร์ระบุว่ามีอยู่หลายเรื่องนโยบายนานาชาติที่ทรัมป์ถอนตัวจนทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งแห่งที่ของสหรัฐฯ และทำให้เมื่อประเทศพันธมิตรพยายามดำเนินการต่อก็ทำได้ไม่เต็มที่ เรื่องนี้รวมถึงการที่สหรัฐฯ จู่ ๆ ก็ถอนตัวจากสมาชิกภาพองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่ากระทันหันในช่วงที่กำลังเกิดโรคระบาดหนักด้วย เรื่องนี้กลายเป็นตัวอย่างที่ทำให้คนมองว่าสหรัฐฯ กำลังนำตัวเองออกจากบทบาทผู้นำโลก

ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่รัฐบาลทรัมป์จัดการกับเรื่องการระบาดของ COVID-19 ได้แย่ทำให้ชาวอเมริกันถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปในหลายที่ของโลกในตอนนี้ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ทูตสหรัฐฯ ดำเนินการทางการทูตในการร่วมกันต่อกรกับจีนได้ยากขึ้นไปด้วย

อีกกรณีหนึ่งคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งใช้กองกำลังความมั่นคงของรัฐปราบปรามและจับกุมผู้ประท้วงในพอร์ตแลนด์ ที่บอร์เกอร์มองว่าอาจจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับกรณ๊การกวาดต้อนจับกุมชาวอุยกูร์ในจีนได้ กลายเป็นภาพลักษณ์ที่เสียหายขอสหรัฐฯ ในสายตาชาวโลก

จากปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้บอร์เกอร์วิเคราะห์ว่าสหรัฐฯ อยู่ในช่วงที่กำลังหาพันธมิตรได้ยากที่สุดในทางการทูตที่จะขับเคี่ยวกับจีน


เรียบเรียงจาก
US push for global alliance against China hampered by years of 'America first', The Guardian, 24-07-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net