ศาล รธน.แจง 'ทวีเกียรติ' ไม่ได้เขียนบทความแสดงความเห็นทาง กม.คดี 'บอส อยู่วิทยา'

ศาลรัฐธรรมนูญแจง 'ทวีเกียรติ' ไม่ได้แสดงความเห็นเรื่อง 'บอส อยู่วิทยา' สื่อลงข่าวคลาดเคลื่อน ระบุเป็นข้อเขียนของ 'สุรพล นิติไกรพจน์' ด้าน 'ศรีสุวรรณ' จี้นายกฯ ตั้งกรรมการสอบอัยการ-ตำรวจปมถอนหมายจับ ส่วน 'กระทิงแดง' ชี้แจงไม่มีความเกี่ยวข้องธุรกิจ

ช่วงดึกวานนี้ (25 ก.ค. 2563) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงกรณีปรากฏข่าว นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แสดงความคิดเห็นต่อการการที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีกับ นายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง โดยระบุว่า

"หลังปรากฏข่าวต่อสาธารณะทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทางคดีความที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม วันนี้ (25 ก.ค.) มีข้อความสำคัญบางส่วนที่อาจสื่อให้เกิดความเข้าใจ ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นจากข้อเขียนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ขอเรียนชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่มาของข้อความ เพื่อความเข้าใจในข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ว่าความคิดเห็นดังกล่าวได้รับการยืนยันจากนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นความคิดเห็นที่มีที่มาจากข้อเขียนทางวิชาการของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เป็นข้อเขียนของนายทวีเกียรติ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด จึงเรียนชี้แจงมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน"

'ศรีสุวรรณ' จี้นายกฯ ตั้งกรรมการสอบอัยการ-ตำรวจปมถอนหมายจับ

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่านายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมดในคดีขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตเมื่อปี 2555 หลังจากพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วนั้น

กรณีดังกล่าว สังคมไทยได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบไปในทางลบ เพราะมีข้อเปรียบเทียบให้เห็นกับคนยากคนจนที่ต้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ล้วนถูกตำรวจ อัยการ และศาลดำเนินคดีและมีบทลงโทษอย่างตรงไปตรงมา แต่กลับคดีของคนรวย คนที่มีสถานะทางสังคมในระดับสูงกลับมีการตั้งข้อหา การทำสำนวน การสั่งคดีที่ฝืนความรู้สึกของประชาชน เสมือนเรามิได้ใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งในที่สุดก็มีการผูกโยงมาถึง การที่รัฐบาลรับเงิน 300 ล้าน เพื่อช่วยโควิดจากบริษัทเครื่องดื่มชื่อดังดังกล่าวเมื่อหลายเดือนก่อนเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องนี้  ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล ที่คนจำนวนมากเชื่อว่า สามารถสั่งหน่วยงานไหนก็ได้ให้ซ้ายหัน ขวาหันก็ได้ หากจะตอบแทนผลประโยชน์จากการช่วยโควิด-19

ทั้งนี้ รัฐบาลควรแร่งดับไฟเสียแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้ไฟแห่งความโกรธเคืองในความเหลื่อมล้ำและ 2 มาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม ที่จะทำให้ปลาตายตัวเดียวแล้วเน่าไปทั้งข้อง หรืออาจเป็นผลให้รัฐบาลล้มไปทั้งคณะได้ หรืออาจทำให้ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในฝ่ายตุลาการ ต้องตกลงมาอยู่ในระนาบเดียวกันกับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ เฉกเช่นเดียวกันกับนักการเมืองน้ำเน่าที่กำลังแย่งชิงตำแหน่งเสนาบดีกัน โดยไม่คำนึงถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ล้มเหลว คนตกงาน เพราะถูกโควิดคุกคาม สังคมเกิดความแตกแยก เกิดการชุมนุมประท้วงแผ่กระจายโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ทำให้คนเบื่อและเกลียดรัฐบาลมากขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม ม.11(6) แห่งพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา เพื่อดำเนินการตรวจสอบฝ่ายอัยการและฝ่ายตำรวจ ว่าเหตุใดคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส ทายาทผู้ก่อตั้งเครื่องดื่มชูกำลังชื่อดัง ต้องหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด จนในที่สุดอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทั้ง ๆ ที่อายุความของคดียังคงเหลืออยู่ถึงกว่า 7 ปี หากพบว่ามีกระบวนการแทรกแซงหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดไหน หรือฝ่ายใด จักได้ลงโทษเสีย ต้องยอมตัดนิ้วร้ายออกไปเพื่อรักษาชีวิต รักษากระบวนการยุติธรรมให้มีความหมาย ให้มีความน่าเชื่อถือของสังคมไทยสืบไป แต่ถ้านายกฯยังนิ่งเฉย ก็เตรียมตัวเตรียมใจกลับบ้านเก่าได้เลย นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด

'กระทิงแดง' ชี้แจงไม่มีความเกี่ยวข้องธุรกิจ

รายงานข่าวจาก จากบริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด หรือ ทีซีพี (TCP) ผู้ผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังแบรนด์ "กระทิงแดง" เผยแพร่เอกสารชี้แจง ผ่านเว็บไซต์ https://www.tcp.com/th/news/detail-55 กรณี คุณวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจ TCP

สืบเนื่องจากการรายงานข่าวการยกฟ้องคุณวรยุทธ อยู่วิทยา จนนำไปสู่ความเข้าใจผิดในความเกี่ยวข้องกันกับทางกลุ่มธุรกิจ TCP และแบรนด์สินค้าต่างๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP นั้น เราขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทฯ รับทราบข้อมูลดังกล่าวและเข้าใจความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ TCP ขอเรียนให้ทราบว่า คุณวรยุทธ อยู่วิทยา ไม่เคยเป็นผู้ถือหุ้น ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหาร และ ไม่เคยดำรงตำแหน่งใด ๆ ในบริษัทต่าง ๆ ภายใต้กลุ่มธุรกิจ TCP เลย ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นของบริษัทต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจ TCP มีทั้งหมด 7 ท่านดังต่อไปนี้

1. คุณภาวนา หลั่งธารา 2. คุณสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา 3. คุณจิรวัฒน์ อยู่วิทยา 4. คุณปนัดดา อยู่วิทยา 5. คุณสุปรียา อยู่วิทยา 6. คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา 7. คุณนุชรี อยู่วิทยา

คณะผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นและพนักงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหรือกระบวนการต่าง ๆ ของคดีที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคลของคุณวรยุทธ

บริษัทฯ ขอความร่วมมือจากท่านในการพิจารณาเผยแพร่ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภคผ่านช่องทางการสื่อสารของท่านต่อไป

หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP และที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสาธารณชน และหลีกเลี่ยงความคลาดเคลื่อนที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจไม่ถูกต้องในอนาคต

ที่มาเรียบเรียงจาก: ผู้จัดการออนไลน์ | โพสต์ทูเดย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท