จดหมายถึง คณิต ว่าด้วยอัยการ กระทิงแดง และการอำนวยความยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อาจารย์คณิต ที่เคารพ

สวัสดีครับ ไม่ได้พบเจออาจารย์มานานแล้ว หวังว่าอาจารย์จะยังสบายดีนะครับ และผมก็เข้าใจว่าอาจารย์คงได้ทราบข่าวกรณีทายาทกระทิงแดงหลุดพ้นไปจากคดีขับรถชนคนตายแล้ว

ในฐานะของนักเรียนกฎหมายคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเกี่ยวข้องรวมถึงการติดตามการทำงานของบรรดาอัยการในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ผมมีความเห็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ ในฐานะที่เคยเป็นอัยการสูงสุด, นักวิชาการที่สนใจในกระบวนการยุติธรรม, และครูกฎหมาย โดยหวังว่าอาจจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่การทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยได้มีโอกาสหลุดพ้นไปจากความเสื่อมทรามบ้าง

สำหรับผม กรณีทายาทกระทิงแดงไม่ใช่ปัญหาเดียวของฝ่ายอัยการ หากเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่แสดงออกมาให้เห็นอย่างเต็มหูเต็มหา ลองหันกลับไปทบทวนก่อนหน้านี้มีปัญหาในการทำงานของอัยการปรากฏให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง และเห็นได้อย่างแจ่มแจ้งมากขึ้นภายหลังการยึดอำนาจเมื่อ พ.ศ. 2557

มีคดีเป็นจำนวนมากซึ่งผู้คนต้องตกเป็นจำเลยถูกอัยการสั่งฟ้อง ทั้งที่ในความเห็นผมแล้วนั้นมันมีเหตุผลในทางกฎหมายเบาบางเหลือเกิน ในบางคดีผมก็ได้เป็นพยานให้กับทางฝ่ายจำเลยหรือบางคดีก็ติดตามจากทางสื่อ เช่น การแจกเอกสารเอ 4 ที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” จำนวนไม่กี่ใบ, การไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐของชาวบ้านที่จะนะให้ทบทวนโครงการขนาดใหญ่, การเรียกร้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับฟังความเห็นประชาชน, การประชุมวิชาการที่ทำให้นักวิชาการต้องเป็นจำเลยในคดี “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”, มีตัวอย่างอีกมากมายที่คงต้องใช้เวลาหลายวันหลายคืนในการอธิบายถึง

ตามที่ได้เคยเล่าเรียนกับอาจารย์มา หน้าที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องคดี อัยการต้องตระหนักว่าตนเองไม่ใช่เพียง “ทนายของรัฐบาล” เท่านั้น หากต้อง “อำนวยความยุติธรรม” ให้แก่ทุกฝ่ายก่อนที่จะมีความเห็นในทางคดี ดังที่เรารับรู้กันอยู่แล้วว่าการเข้าสู่กระบวนการทางศาลนั้นมันหนักหนาสาหัสสำหรับสามัญชนมากเพียงใด

คำถามสำคัญก็คือ ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์ที่อัยการไม่สู้จะทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (อย่างน้อยก็ในความเห็นของผม) ในหลายครั้งที่ได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอาจารย์ก็มักจะบอกว่าเป็นเพราะสถาบันการศึกษานั่นแหละสอนนักศึกษามาอย่างไรให้กลายมาเป็นอัยการแบบนั้น ความบกพร่องของคณะนิติศาสตร์ทั้งหลายแหล่คงเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ผมว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการกำกับและตรวจสอบการทำงานของอัยการโดยประชาชนที่แทบจะไม่สามารถกระทำอะไรได้เลยแม้แต่น้อย

แทบทุกครั้งที่มีการกล่าวอ้างถึงการตรวจสอบก็มักจะมีการตอบโต้ถึงความเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งในทรรศนะของผมไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการปิดโอกาสในการตรวจสอบของสังคม การทำงานของอัยการทั้งหลายจึงขึ้นอยู่กับสายการบังคับบัญชาภายในเป็นสำคัญ และอีกอย่างที่มักติดตามกับการกล่าวอ้างถึงความเป็นอิสระก็คือ การเรียกร้องเงินเดือนให้เพิ่มสูงขึ้น ก็อีกนั่นแหละ นอกจากความอิ่มเอมของอัยการแล้ว ผมไม่คิดว่ามันได้ทำให้เกิดการปรับปรุงในเชิงระบบมากนักสำหรับการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน

ผมเข้าใจว่าอาจารย์ก็ไม่ได้อยู่ในแวดวงอัยการมานานแล้ว คงไม่มีอำนาจในการเข้าไปสะสางปัญหานี้ได้แต่อย่างใด และปัญหานี้ก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้อย่างง่ายดายเพราะไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็คงได้ทำมันตั้งแต่เป็นอัยการสูงสุดแล้ว แต่เรา, ผมหมายถึงสังคมไทยควรจะทำอย่างไรดี อาจารย์ก็คงตระหนักดีว่าความเสื่อมทรุดของกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธ จะปล่อยให้มันตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน

ต้องขอโทษด้วยครับที่ต้องเขียนจดหมายมารบกวนอาจารย์ เรื่องนี้คงสลับซับซ้อนและยุ่งยากเกินกว่าที่จะปรึกษาหรือถกเถียงกันในเนื้อที่สั้น ๆ ก็ขอให้อาจารย์ถือว่าเป็นเสียงพร่ำบ่นจากลูกศิษย์คนหนึ่งที่รู้สึกเอือมระอาอย่างถึงที่สุดกับกระบวนการยุติธรรมของไทย

ด้วยความเคารพและระลึกถึง
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
25 กรกฎาคม 2563

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท