Skip to main content
sharethis

กมธ.กฎหมาย ที่มีสิระ เจนจาคะ เป็นประธาน ส่งหนังสือเชิญอัยการและตำรวจชี้แจงคดี 'บอส อยู่วิทยา' ด้านศรีสุวรรรณจี้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง เพราะอาจขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ธนาธรถาม รัฐบาลกล้านำคนผิดมาลงโทษตามที่ประยุทธ์ชอบพูดให้ประชาชนทำตามกฎหมายหรือไม่

วอยซ์ออนไลน์ รายงานว่า กรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.กฎหมายฯ) ส่งหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องในคดีที่วรยุทธ อยู่วิทยา หรือ 'บอส' ขับรถยนต์เฟอรารี่ชนดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ จนเสียชีวิต ได้แก่ อัยการที่ไม่สั่งฟ้องคดี , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตำรวจ 5 นายที่เป็นผู้ตั้งต้นสอบสวนคดีนี้ ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดวินัยไม่ร้ายแรงไปก่อนหน้านี้ ให้มาชี้แจงต่อ กมธ.กฎหมายฯ แล้ว

สิระ เจนจาคะ ประธาน กมธ.กฎหมายฯ เปิดเผยว่า วันพุธนี้จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการ อยากฝากถึงทุกท่านให้มาชี้แจงด้วยตัวเอง อย่าส่งตัวแทนมา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ตนก็จะส่งหนังสือเชิญไปอีกครั้งหนึ่ง โดยตนเชื่อว่าหากทุกท่านต้องการเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมอย่างแท้จริงก็ควรที่จะให้ความร่วมมือ เพราะประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นต่อองค์กรของท่านและความศรัทธาของประชาชน

ประธาน กมธ.กฎหมายฯ ยังกล่าวว่า อยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า กมธ.กฎหมายฯ จะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้อย่างแน่นอน เพราะในคณะกรรมาธิการมีผู้มีประสบการณ์ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถึง 2 คน คือ รองประธาน สุทัศน์ เงินหมื่น และที่ปรึกษาอย่างพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่พร้อมทำหน้าที่เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ขณะที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงยืนยันว่าพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายวราวุธ อยู่วิทยาหรือบอส ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้ว และดำเนินการเพิกถอนหมายจับต่อไปนั้น

คดีดังกล่าว ถูกสังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการใช้อำนาจที่อาจเข้าข่ายการเลือกปฏิบัติในการสั่งคดีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจเพราะผู้ถูกกล่าวหาเป็นทายาทของผู้มีสถานะทางสังคมที่สูง เป็นทายาทนักธุรกิจที่ร่ำรวยในลำดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งเหตุแห่งคดีไม่ได้มีข้อยุ่งยากในการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ต้องหาในคดีที่มีลักษณะเดียวกัน เช่น คดีเสี่ยเบนซ์เมาชน รอง ผกก. เสียชีวิต อัยการกลับอุทธรณ์สู้จนถึงที่สุดแม้จำเลยจะชดใช้ดูแลบุตรผู้ตายแล้ว 45 ล้านบาทก็ตาม ทว่าคดีที่ผู้ตายมียศเพียงแค่ดาบตำรวจ ผลการสั่งคดีกลับแตกต่างกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการใช้แทกติกในการทำสำนวนคดี หรือประวิงเวลา

ศรีสุวรรณเห็นว่า เมื่อมีการประวิงเวลาจนทำให้ผู้ต้องหาหลบหนีไปยังต่างประเทศ และตำรวจไม่สามารถนำตัวมาส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลได้ ทำให้ฐานความผิดอย่างน้อย 4 ข้อหา ขาดอายุความไปแล้วส่วนข้อหาสุดท้ายคือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งมีอายุความ 15 ปี อัยการกลับมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง และตำรวจก็มิได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านแต่อย่างใด จึงถือเป็นข้อพิรุธที่สำคัญที่นายกรัฐมนตรีควรใช้อำนาจตาม มาตรา 11 (6) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 ในการตั้งกรรมการมาสอบอัยการและตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะอ้างว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็นผู้แต่งตั้งอัยการ แล้วจะสั่งให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของอัยการมิได้นั้น หาชอบด้วยกฎหมายไม่

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า ประเด็นการสั่งคดีนี้ของอัยการนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 248 วรรคสอง จะให้ความเป็นอิสระของอัยการในการพิจารณาสั่งคดี แต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้งปวง แต่การประวิงเวลาการสั่งคดีมาจนกว่า 8 ปีย่อมถือได้ว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าว

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ 2553 มาตรา 21 วรรคสอง ประกอบระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของอัยการ 2547 กำหนดให้อัยการต้องทำหน้าที่ให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาแก่ประชาชน และระเบียบฯว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ 2554 ได้กำหนดไว้ว่า คดีอาญาที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุดเพื่อมีคำสั่ง

ศรีสุวรรณกล่าว่า กรณีของบอส อยู่วิทยา ความปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่ทราบเรื่องแต่อย่างใด จึงชี้ให้เห็นว่าคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบอสในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าว

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 27 ก.ค. 2563 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่หาเสียง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี (อบจ.นนทบุรี) ถึงกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ์ อยู่วิทยา ทั้ง 5 คดี โดยระบุว่า แน่นอนว่าประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยในความสองมาตรฐาน ในแง่หนึ่งเมื่อคนรวยคนมีอำนาจทำผิดกฎหมายไม่ต้องเข้าคุกในประเทศนี้ ขณะเดียวกันคนเล็กคนน้อยคนที่ไม่มีเงินไม่มีอำนาจ ทำผิดกฎหมายก็จะถูกติดคุกติดตาราง

“ความยุติธรรมเป็นเสาหลักสุดท้ายของสังคมในภาวะที่พี่น้องประชาชนหมดศรัทธาต่อสถาบันองค์กรการเมืองต่างๆ เมื่อพี่น้องประชาชนหมดศรัทธากับความยุติธรรม สังคมจะล่มสลาย ความยุติธรรมคือที่พักพิงสุดท้ายของประชาชน การเอากระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือองค์กรอิสระอย่าง กกต. ป.ป.ช. รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ มาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในวันที่ประชาชนไร้สิ้นความหวัง หมดศรัทธากับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม แผ่นดินจะเดือดดาล ผมไม่อยากให้สังคมไปถึงจุดนั้น ดังนั้นเรื่องนี้ต้องกลับมาที่รัฐบาลว่า รัฐบาลจะกล้าจริงใจเอาคนผิดมาลงโทษหรือไม่ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดเสมอว่า ขอให้ประชาชนทุกคนทำตามกฎหมาย คำถามคือ รัฐบาลทำตามกฏหมาย เพื่อยื่นความเป็นธรรมให้กับคนทุกกลุ่มคนในประเทศไทยอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันหรือไม่ ซึ่งผมอยากฝากคำถามนี้ถึงรัฐบาลด้วยเช่นกัน” ธนาธร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net