Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมไปอ่านเจอบทความในมติชนสุดสัปดาห์ นั่นคือบทความของนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ชื่อดังคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นั่นคือบทความชื่อ ซากอนุสาวรีย์ matichonweekly.com/column/article_320679

อันมีบางส่วนของบทความที่น่าสนใจดังนี้

....... นักเขียนชาวรัสเซียคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้หนีออกจากรัสเซียแล้ว เล่าถึงสุสานอนุสาวรีย์ในมอสโก ซึ่งเธอเพิ่งค้นพบเมื่อกลับไปในฐานะนักท่องเที่ยว มีรูปปั้นที่เคยตั้งในที่สาธารณะวางระเกะระกะ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าซาร์ลงมาถึงผู้นำบอลเชวิกและจนหลังบอลเชวิค เพราะคงจะหาสังคมอะไรที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกแผ่นดินหลายต่อหลายตลบในศตวรรษเดียวยิ่งไปกว่ารัสเซียได้ยาก และด้วยเหตุใดก็ตาม รัสเซียใช้อนุสาวรีย์เหมือนเราใช้วิทยุกรมโฆษณาการ, กรมประชาสัมพันธ์, โทรทัศน์กองทัพบกและโทรทัศน์ NBT"...

จากประสบการณ์อันน้อยนิดที่ได้เดินทางไปรัสเซียช่วงสั้นๆ ผมคิดว่าส่วนที่นิธิแกบอกต่อจากประโยคข้างบนว่า

"รัสเซียจึงเต็มไปด้วยอนุสาวรีย์ เพื่อประกาศหรือโฆษณาสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการให้ราษฎรยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข แล้วผู้มีอำนาจก็เปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนกลุ่ม ทำให้ต้องรื้อโฆษณาเก่า แล้วติดตั้งโฆษณาใหม่ไปทุกจัตุรัสและสวนสาธารณะ"

นั้นไม่ใช่ว่าถูกต้องเลยทีเดียว ผมก็เคยคิดเหมือนกับแกคือมองว่าสหภาพโซเวียตหรือตอนที่รัสเซียรวมทั้งประเทศอื่นอีก 14 ประเทศเป็นคอมมิวนิสต์และอยู่ร่วมกัน อนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างทางศาสนาทั้งหลายในยุคของจักรวรรดิรัสเซียก็จะปลาสนาการคือสูญหายไปสิ้น เอาเข้าจริงจากการท่องเที่ยวในรัสเซียช่วงสั้นๆ (แต่เจาะลึกในบางจุด) ของผม ก็ได้พบว่าอนุสาวรีย์ของพระเจ้าซาร์ทั้งหลาย เช่นปีเตอร์มหาราช พระนางแคทอรีนมหาราช พระเจ้านิโคลัสที่ 1 ฯลฯ ยังอยู่อีกมากมาย เช่นเดียวกับวิหารเก่าแก่หลายร้อยปีทั้งหลายในเมืองสำคัญคือมอสโคว์และเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งไม่น่าจะรอดในช่วงคอมมิวนิสต์เพราะเป็นเหมือนอนุสาวรีย์ของศาสนาและความรุ่งเรืองของพระเจ้าซาร์ อันสะท้อนให้เห็นว่าไม่ใช่พอพรรคบอลเชวิกขึ้นมามีอำนาจก็จะทำลายอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างในยุคเก่าเสียสิ้น

แม้ว่าจะหาข้อมูลก็หาไม่ได้เสียที ผมก็เลยลองสันนิษฐานว่ามีความเป็นไปได้คือรัฐบาลโซเวียตมีอำนาจจำกัด อาจเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองแบบซาร์และศาสนายังฝังหัวอยู่ในประชาชนเป็นจำนวนมาก และการปกครองแบบกดขี่และบริหารผิดพลาด คนล้มตายหลายสิบล้านก็ยิ่งทำให้รัฐบาลโซเวียตในยุคสตาลินต้องผ่อนปรนบางเรื่องเช่นอนุสาวรีย์และสิ่งก่อสร้างอันเป็นสัญลักษณ์ทางใจของคนโซเวียตโดยเฉพาะตอนต้องต่อสู้กับเยอรมันนาซี ซึ่งยังทำให้การทำลายมรดกเก่าหยุดชะงัก มีเรื่องเล่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินถึงกลับต้องยุติการทำลายล้างศาสนาโดยอนุญาตให้พระออกจากคุกมาเพื่อปลุกระดมประชาชนให้ร่วมกันสู้กับพวกนาซี หรืออนุสาวรีย์ของพระเจ้านิโคลัสที่ 1 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต้องมีการช่วยกันเอากระดานไม้และถุงทรายมาคลุมเพื่อป้องกันระเบิดจากเครื่องบินหรือปืนใหญ่

ข้อที่ 2 ผมคิดว่าอนุสาวรีย์อีกมากมายมีประโยชน์ต่อสหภาพโซเวียต (ที่มุ่งเน้นวัฒนธรรมแบบรัสเซียเป็นแกนหลัก) นั่นคือรัฐบาลคอมมิวนิสต์หันมาใช้อนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ในการเสริมสร้างลัทธิชาตินิยมจากการสะท้อนถึงรากเหง้าและวัฒนธรรมของความเป็นรัสเซียเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ของประเทศตนถึงแม้อนุสาวรีย์จะเกี่ยวกับซาร์และนายพลก็ตาม ที่เห็นชัดเจนมากคืออนุสาวรีย์หลายแห่ง สะท้อนถึงชัยชนะของจักรวรรดิรัสเซียเหนือประเทศต่างๆ (ดังในรูปข้างล่าง)นอกจากนี้สหภาพโซเวียตยังสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงชัยชนะของตนเหนือเยอรมันนาซี ซึ่งมีหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันมากมาย

ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียในยุคของบอริสต์ เยลต์ซินและวลาดิมีร์ ปูติน ก็ยังอาศัยอนุสาวรีย์และสิ่งก่อสร้างในยุคซาร์ที่มีอยู่ดาดดื่นเพื่อผลประโยชน์แบบเดียวกับที่สหภาพโซเวียตเคยทำ และความพยายามดังกล่าวนี้สำคัญอย่างยิ่งยวดเพราะสหพันธรัฐรัสเซียในทศวรรษที่ 90 กำลังควานหาอัตลักษณ์และรากเง้าของตัวเองใหม่เพราะพยายามหันเหตัวเองออกจากเงาของโซเวียต ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการรื้อฟื้นเอาความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมาใหม่ อย่างเช่นการขุดเอาพระศพของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และครอบครัวมาบรรจุใหม่ในวิหารเซนต์ปีเตอร์และปอลและทางโบสถ์รัสเซียยังทำการสถาปนาพระองค์เหล่านั้นให้เป็นนักบุญพร้อมกันในปี 2000 โดยไม่สนใจในอดีตว่าพระองค์เคยมีส่วนในเข่นฆ่าประชาชนในปี 1905 หรือพาชาวรัสเซียหลายล้านคนไปตายในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในขณะเดียวกันรัฐบาลของทั้งเยลต์ซินและปูตินก็ไม่ได้ทำลายอนุสาวรีย์ที่สร้างในยุคคอมมิวนิสต์เสียทั้งหมดเช่นรูปปั้นของเลนินและสมาชิกคนสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์ (ตามความคิดของนิธิซึ่งไปเน้นเฉพาะสตาลินแค่คนเดียว) ซึ่งผมก็ขอเดาเอาว่าเป็นไปได้ว่ารัฐบาลซึ่งไม่ได้เป็นเผด็จการที่เน้นอุดมการณ์ชัดเจนเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์และมีอำนาจจำกัดอาจติดขัดด้วยกฎหมายที่มีมาตั้งแต่สมัยโซเวียตรวมไปถึงการยินยอมของรัฐบาลท้องถิ่นจึงปล่อยให้มันดำรงต่อไปแบบตายซากโดยปราศจากบริบททางการเมือง ยกเว้นจะมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐที่นิยมยุคนั้นอย่างเช่นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียซึ่งพยายามรื้อฟื้นมันขึ้นมา แต่ด้วยไม่ประสบความสำเร็จทางการเมือง อนุสาวรีย์พวกนี้จึงดำรงอยู่ไปเรื่อยเปื่อย หรืออีกประการคือรัฐบาลใช้สิ่งเหล่านั้นที่ก่อสร้างในยุคคอมมิวนิสต์ในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับรัสเซียในแง่ของอัตลักษณ์ประเทศ

ประเด็นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัสเซียยุคใหม่จะสนใจคอมมิวนิสต์ในมิติของเศรษฐกิจแต่ว่าคนรัสเซียจำนวนมากยังให้การชื่นชอบต่อความยิ่งใหญ่ของรัสเซียในยุคคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงเลนิน และสตาลิน ในฐานะบุรุษเหล็ก (ในขณะผู้นำหลังจากนั้นจนไปถึงกอร์บาชอฟไม่ได้เรื่องได้ราวเท่าไร อนุสาวรีย์จึงมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย) และผมคิดว่ารัสเซียในยุคปูตินไม่สามารถใช้อนุสาวรีย์ในการโฆษณาชวนเชื่อท่านผู้นำได้ในฐานะเจ้าของอุดมการณ์ Putinism ได้เท่ากับคอมมิวนิสต์ในยุคก่อน นอกเหนือจากการสร้างภาพผ่านสื่อทางออนไลน์และสื่อเก่าอย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลควบคุมไว้อย่างเหนียวแน่น ปูตินแม้จะเมินเฉยต่อมรดกของสหภาพโซเวียต (เขาน่าจะไม่ชอบให้ใครมานิยามว่าตนเป็นสตาลินอีกคน) ยังอาศัยมรดกเก่าๆ อย่างชัยชนะเหนือเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงกลับให้มีการเดินขบวนสวนสนามของกองทัพแดงเหนือเยอรมันนาซีเมื่อเดือนที่แล้ว โดยไม่หวาดหวั่นต่อโควิด -19 แต่ประการใด ก่อนหน้านี้เกือบ 3 ทศวรรษ รัฐบาลก็ผลิตซ้ำเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในอดีตอย่างเช่น การสร้างอนุสาวรีย์ใหม่เพื่อส่งเสริมลัทธิชาตินิยมเช่น Column of Glory เพื่อเฉลิมฉลองสงครามระหว่างรัสเซียกับตุรกีในศตวรรษที่ 19 ดังนั้นนิธิจึงกล่าวไม่ถูกต้องที่ว่า รัสเซีย "ต้องรื้อโฆษณาเก่า แล้วติดตั้งโฆษณาใหม่ไปทุกจัตุรัสและสวนสาธารณะ" เพราะเขาไม่ได้บอกว่ามีการรื้อเอาของเก่ากลับมาใหม่

นอกจากนี้จากการที่ผมไปสำรวจทั้งมอสโคว์และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแบบคร่าวๆ ยังมีอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับคนดังซึ่งก็ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองอะไรเท่าไรอย่างเช่นของกวีนักเขียนอย่างเช่นนิโคไล โกลกอล อาเล็กซานเดอร์ พุชกิ้น ฟีออดอร์ ดอฟโตสกี รวมไปถึง นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ฯลฯ ที่ผมไม่รู้จักชื่อ รวมไปถึงสัตว์ต่างๆ เช่นสุนัขหรือแม้แต่หนู อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและความภูมิใจของคนรัสเซีย ซึ่งน่าจะอยู่นอกเหนือจากการที่ผู้มีอำนาจจะ"ต้องการให้ราษฎรยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข" ตามความคิดของนิธิ

และผมคิดว่าด้วยอำนาจและความนิยมของปูตินที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่เหมือนกับสตาลิน ปูตินอาจไม่ได้ต้องการถึงขั้นให้คนรัสเซียยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขเหมือนกับรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ หากเป็นการสร้างคะแนนเสียงเพื่อให้คนในประเทศสนับสนุนเขาในระดับที่เขาอยู่ได้และจริงๆ แล้วก็ไม่รู้ว่าสำเร็จหรือเปล่าเพราะโกงทั้งการสำรวจโพลและการเลือกตั้ง จากการที่ผมไปพูดคุยกับคนรัสเซีย 2 คน เขาและเธอไม่ชอบปูตินและหนึ่งในนั้นบอกว่าปูตินเป็นมาเฟีย

ไม่ว่าข้อสันนิษฐานของผมข้อใดถูกต้อง แต่ผมคิดว่าการเก็บข้อมูลภาคสนามจริงๆ น่าจะช่วยให้การวิเคราะห์มีรายละเอียดขึ้นมากกว่าข้อสังเกตแบบขวานผ่าซากเหมือนกับของนิธิข้างบน คือท่านยังคิดว่ารัสเซียยุคปัจจุบันยังเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนหลักฐานของผมก็คือรูปภาพต่อไปนี้มาจากการถ่ายของผมเอง เคยเอามาลงในเฟสบุ๊คหลายรูปแล้ว ก็หากินซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั้นแหละ 555


อนุสาวรีย์ของนักเขียนชื่อดังคืออาเล็กซานเดอร์ พุชกิ้นและภรรยาที่กรุงมอสโคว์


รูปปั้นของพระเจ้าปีเตอร์มหาราชข้างแม่น้ำมอสควาในกรุงมอสโคว์ ต้องล่องเรือไปถึงจะเห็นชัดๆ


รูปปั้นของหนึ่งในสมาชิกพรรคบอลเชวิก Sergei Kirov ถูกฆ่าตายในปี 1934 ลือกันว่าเป็นฝีมือของสตาลินเพื่อเป็นข้ออ้างในการกวาดล้างสมาชิกพรรคด้วยกัน -นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก


อนุสาวรีย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และมเหสี อเล็กซานดราดูท่าทางน่าจะสร้างใหม่ในวิหารแห่งหนึ่ง ยุคหลังคอมมิวนิสต์ ทั้งสองพระองค์และครอบครัวได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญเพื่อหลีกหนีมรดกเก่าของคอมมิวนิสต์-นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก


อนุสาวรีย์ของวลาดิมีร์ เลนิน อยู่หน้าที่ที่ทำการของแขวงมอสโคฟสกีของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ไม่มีความสำคัญอะไร ไม่มีการฉลองระลึกถึง
แต่ก็ไม่มีการทำลายเหมือนอดีตบริวารหลายประเทศในช่วงสหภาพโซเวียตล่มสลาย


อนุสาวรีย์นายพล Mikhail Kutuzov ที่ช่วยให้รัสเซียเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ในปี 1814
ตั้งอยู่หน้ามหาวิหารคาซาน-นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net