Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ บทความชุด เฟมินิสต์ประสาทแดก ซึ่งมีจุดประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจว่าเหตุใดคนบางส่วนจึง "ไม่ซื้อ" เรื่องการต่อสู้สิทธิสตรีและการต่อสู้กับระบอบชายเป็นใหญ่ ผู้เขียนได้ใช้เวลาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเพื่อพยายามทำความเข้าใจความคิดของคนเหล่านั้น และได้ข้อสรุปคร่าวๆประมาณ 3 ประเด็นหลักๆ ที่เห็นในสังคมออนไลน์ (ไทย)

 #1เฟมินิสต์ประสาทแดก: ระบอบชายเป็นใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว (?)  
มีคนไม่เชื่อว่าระบอบชายเป็นใหญ่ยังมีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งผู้เขียนในพยายามวิเคราะห์และแบตัวอย่าง/ตัวเลข ให้เห็นหลักฐานว่าสังคมเรายังเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ (แนบว่าในเมล์นี้พร้อมรูปประกอบ)

 #2เฟมินิสต์ประสาทแดก: มายาคติเรื่องสมองของสองเพศ 
บางคนไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของสังคมชายเป็นใหญ่ แต่ยังมีมายาคติเรื่อง Gender role
และมักอ้างว่าสังคมชายเป็นใหญ่ดีอยู่แล้ว เพราะสมองของผู้หญิงและผู้ชายต่างกัน จึงทำให้ผู้หญิงและผุู้หญิงเหมาะกับงานที่ต่างกัน (ซึ่งไม่จริง) ผู้เขียนได้อ่านงานวิจัยเรื่องสมองและประสาทมาบ้าง และได้เรียนรู้ว่า งานวิจัยด้านนี้นอกจากซับซ้อน มี controversial แล้ว ยังมีความ Neurosexism อีกด้วย มีงานวิจัยยุคใหม่หลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า สมองมนุษย์นั้นคล้ายกับพลาสติกที่สามารถแปรรูป เปลี่ยนโครงสร้างได้ตลอดเวลา และเพศกำเนิดไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลกับโครงสร้างสมอง สังคม วัฒนธรรม พฤติกรรม และสภาพแวดล้อมก็ส่งผลต่อโครงสร้างสมองเช่นกัน ทั้งยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำให้เราต้องทบทวนมายาคติ และ Stereotype ที่เรามีเกี่ยวกับเรื่องเพศ อีกสิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อในบทความนี้คือ สุดท้ายแล้วแม้ความรู้ทาง Brain และ Neuroscience จะเป็นอย่างไร เราก็ไม่ควรทำความรู้พวกนี้มา stereotype และปิดกั้นโอกาสของคนเพศต่างๆ เราควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง ผู้เขียนเชื่อว่า สังคมควรขับเคลื่อนด้วยคนที่ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักได้อย่างมีความสุข

#3 เฟมินิสต์ประสาทแดก: ทำไมจึงเกรี้ยวกราด?
ผู้เขียนอพยายามเข้าใจความเกรี้ยวกราดของตัวเองและเฟมินิสต์คนอื่นๆ

ผู้เขียนคิดว่า การแสดงความเกรี้ยวกราด คือ การทวงคืนอำนาจอย่างหนึ่ง การบอกให้ผู้หญิงต้องเรียบร้อย พูดจาอ่อนหวาน ถือเป็นการควบคุมผู้หญิงอย่างหนึ่ง เหมือนที่ผู้มีอำนาจในประเทศนี้ชอบควบคุมประชาชน

ในบรรดาคนที่ “ไม่ซื้อ” การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศในไทยตามที่ฉันสังเกต คนบางกลุ่มไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของสังคมชายเป็นใหญ่ และมักอ้างว่าสังคมชายเป็นใหญ่นั้นดีอยู่แล้ว พวกเขาเชื่อว่า เพียงเพราะเกิดมาด้วยอวัยวะเพศที่ต่างกัน แปลว่าสมองของเพศหญิงและชายต้องต่างกันด้วย ดังนั้นคนเหล่านี้จึงเชื่อว่า เพศหญิงและชายถูกกำหนดมาแล้วโดยธรรมชาติว่าควรมีบทบาทหน้าที่ทางสังคมต่างกัน งานบางงานควรเป็นงานของผู้ชาย หน้าที่บางอย่างควรเป็นของผู้หญิง ในความเห็นของคนกลุ่มนี้ เฟมินิสต์ประสาทแดกเพราะอยากได้ความเท่าเทียม ซึ่งในทางธรรมชาติ (ของสมองแล้ว) มันเป็นไปไม่ได้!

การถกเถียงในประเด็นนี้ทำให้ฉันนึกถึงบทความที่อ่านเมื่อปลายปีที่แล้วเรื่อง  Neurosexism: the myth that men and women have different brains ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature [1] โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ของ Gina Rippon ศาสตราจารย์ด้าน Cognitive NeuroImaging จากมหาวิทยาลัย Aston ซึ่งทำให้ฉันได้ตระหนักว่าการเหยียดเพศนั้นฝังรากลึกไปวงการวิชาการด้านสมองและพฤติกรรมมนุษย์ ความประสาทแดกของเฟมินิสต์อันดับที่ 2 นี้ จะเล่าเรื่องผ่านการอธิบายของอาจารย์ Ribbon ผู้เปิดเนตรให้ฉันได้ตาสว่างจ้าเรื่องมายาคติทางเพศ โดยงานวิจัยที่อ้างอิงในบทความนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการอ่านหนังสือของอาจารย์ (The Gendered Brain: The New Neuroscience that Shatters the Myth of the Female Brain)

Neurosexism ถูกนิยามครั้งแรกโดย Cordelia Fine ศาสตราจารย์ด้าน History and Philosophy of Science จากมหาวิทยาลัย Melbourne คำนี้ถูกใช้เรียกการทำวิจัยทางด้านประสาทวิทยาที่มุ่งหาแต่ความแตกต่างในโครงสร้างทางสมองระหว่างเพศหญิงและชาย เช่น ทักษะทางด้านภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ (spatial skill) โดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางสมองส่วนที่เหมือนกัน หรือความยืดหยุ่นของสมองที่อาจเปลี่ยนไปเพราะสภาพแวดล้อมทางสังคม ราวกับสมองของสองเพศนั้นเป็นถูกออกแบบมาให้ต่างกัน (hard-wired) โดยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโดยปัจจัยอื่นๆ เลย อาจารย์ Rippon ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในจำนวนงานศึกษาด้านประสาทวิทยาและความแตกต่างทางเพศ งานที่ได้รับการตีพิมพ์และได้ความสนใจจากสื่อมักจะเป็นงานที่ ขาย ความแตกต่างของสมองอย่างมีนัยสำคัญ (significant difference) ระหว่างสองเพศ ซึ่งน่าสนใจว่ามีงานวิจัยจำนวนกี่ชิ้นที่ถูกเก็บไว้ในลิ้นชัก ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพียงเพราะไม่พบความแตกต่างแบบนี้? ในปี 2018 John Ioannidias และคณะได้ศึกษาความเป็นไปได้ที่รายงานการศึกษาด้านความแตกต่างระหว่างเพศโดยเทคนิค Neuroimaging  จะเป็นรายงานที่อคติ [2] จากตัวอย่างงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวน 179 งาน พวกเขาพบว่า 88% ของงานวิจัยเหล่านี้รายงานว่า พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสมองของสองเพศ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่ง Ioannidias และคณะให้ความเห็นว่า ตัวเลขนี้สูงเกินไปและไม่น่าเป็นไปได้ ถ้างานวิจัยเหล่านี้ถูกรายงานโดยปราศจากอคติ จำนวนโครงสร้างในสมองที่มีความแตกต่างระหว่างสองเพศ จะต้องมีความสัมพันธ์กับจำนวนตัวอย่างของผู้เข้าร่วมการทดลอง เช่น งานวิจัยที่สุ่มตัวอย่างโดยใช้จำนวนคนเยอะๆ ควรมีโอกาสเจอโครงสร้างในสมองที่มีความแตกต่างระหว่างสองเพศมากกว่า แต่การศึกษาของ Ioannidias กลับไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้เลย พวกเขาจึงสรุปว่า รายงานเหล่านั้นอาจมีอคติ โดยอคตินี้อาจมาจาก วิธีวิเคราะห์ผล-การใช้สถิติในงานวิจัยอย่างไม่เหมาะสม หรือ ความกดดันด้านรางวัล-ชื่อเสียงที่จูงใจให้นักวิจัยรายงานเพียงแค่การศึกษาที่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น

 

แล้วสมองของสอง (?) เพศต่างกันไหม หรือต่างกันแค่ไหน?

1) เริ่มจากทารก –สมมติว่านี่คือตัวแทนของมนุษย์ที่ผ่านการปั้นแต่งด้วยค่านิยมทางสังคมน้อยที่สุด

งานวิจัยนำโดย Douglas Dean ในปี 2018 [3] ได้ศึกษาโครงสร้างสมองของทารกอายุ 1 เดือนจำนวน 143 คน (เพศหญิง 73 คน, ชาย 70 คน) ตั้งแต่ขนาดของสมองโดยรวม (total brain volume) เนื้อสมอง รวมทั้งต่อมต่างๆ ในสมอง ในตอนที่งานวิจัยนี้เผยแพร่ครั้งแรก พวกเขารายงานว่า พบความแตกต่างในทุกส่วนของโครงสร้างระหว่างสมองของทารกทั้งสองเพศ โดยทารกเพศชายมีขนาดของสมองโดยรอม รวมถึงโครงสร้างในสมองอื่นๆ ที่ใหญ่กว่า แต่ว่าการสรุปเช่นนี้มีปัญหาและได้รับการท้วงติงจากผู้เชี่ยวชาญ เพราะการคำนวณขนาดโครงสร้างภายในสมองในตอนแรกนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้คำนวณโดยพิจารณาขนาดสมองโดยรวมและอายุที่แท้จริงของทารก (gestation-corrected age) เพราะอายุและขนาดสมองโดยรวมมีผลต่อขนาดโครงสร้างในสมอง (สมองที่ใหญ่กว่า-ไม่ว่าเพศไหน-มักมีโครงสร้างภายในต่างๆ ที่ใหญ่กว่า) หลังจากที่ผู้วิจัยได้แก้ไขสูตรคำนวณแล้ว พวกเขาพบว่า ขนาดของโครงสร้างต่างๆ ในสมองของทารกทั้งสองเพศนั้นต่างกันแบบไม่มีนัยสำคัญ (ทั้งนี้ขนาดสมองโดยรวมไม่ใช่สาเหตุสำคัญต่อความฉลาดทางปัญญา (IQ) ของมนุษย์ [4])

 

2) มนุษย์ที่โตขึ้นและแหวกว่ายอยู่ในสายธารของสังคมชายเป็นใหญ่

ความแตกต่างทางสมอง

การศึกษาของ Daphna Joel และคณะ [5] ได้เสนอว่า สมองและพฤติกรรมมนุษย์มีลักษณะเหมือนศิลปะโมเสก ลักษณะบางอย่างพบบ่อยในเพศหญิง บางอย่างพบบ่อยในเพศชาย บางอย่างพบได้ในทั้งสองเพศ และไม่ว่าความต่างทางพฤติกรรมและสมองของแต่ละเพศจะเกิดจากธรรมชาติหรือการเลี้ยงดู สมองมนุษย์ก็ไม่สามารถถูกจำแนกออกเป็นสองประเภทตามเพศกำเนิด ว่าเป็นสมองผู้หญิงหรือสมองผู้ชาย งานวิจัยนี้ดูเหมือนจะสอดคล้องกับงานวิจัยของ Stuart Ritchie และคณะ [6] ที่พบว่า ในตัวอย่างประชากรเพศหญิงจำนวน 2750 คน และเพศชายจำนวน 2466 คน (ช่วงอายุ 44-47 ปี) ขนาดของโครงสร้างต่างๆ ภายในสมองของเพศหญิงชายมีความคาบเกี่ยวกันอย่างมาก (‘considerable distributional overlap between the sexes’)

ความต่างทางด้านจิตวิทยา

Ethan Zell และคณะได้ศึกษาความเหมือนและความต่างทางเพศโดยวิธี Metasynthesis (รวมรวบผลการศึกษาจากหลายๆ งานวิจัยที่เกี่ยวกับความต่างทางเพศ) โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาว่า แท้จริงแล้วผู้หญิงและผู้ชายต่างกันมากเท่าไหร่ [7] งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยมากกว่า 20,000 ชิ้น ที่ครอบคลุมตัวอย่างประชากรมากกว่า 12 ล้านคน พวกเขาพบว่าเพศหญิงและชายมีความเหมือนมากกว่าความต่าง จากคุณลักษณะทางจิตวิทยา (psychological characteristics) ที่ศึกษาจำนวน 386 คุณลักษณะ พบว่า 85% ของคุณลักษณะเหล่านี้ ผู้หญิงและผู้ชายมีความต่างกันน้อย (คะแนน 0.11-0.35) ถึงน้อยมากๆ  (คะแนน 0 – 0.10) ส่วนคุณลักษณะซึ่งมักมีมายาคติว่าเป็นความต่างที่สำคัญของสองเพศ เช่น คุณลักษณะทางด้านการรู้คิด Cognitive variables (ความจำ สมาธิ ทักษะการแก้ปัญหา ความสามารถทางคณิตศาสตร์ มิติสัมพันธ์ และ ทักษะการใช้คำ เป็นต้น) และคุณลักษณะทางสังคม-บุคลิกภาพ (ภาวะผู้นำ อารมณ์ ความสนใจ ความก้าวร้าว การสื่อสารระหว่างบุคคล การช่วยเหลือ และวิถีทางเพศ เป็นต้น) งานวิจัยนี้กลับว่า ผู้หญิงและชายมีความต่างกันน้อย (คะแนน 0.22) นอกจากนี้คุณลักษณะที่ต่างกันมากที่สุด คือลักษณะความเป็นชาย-หญิง (masculine vs feminine traits) นักวิจัยยังได้ให้ความเห็นไว้ว่า ความต่างทางด้านพฤติกรรมอาจมาจากการเรียนรู้ผ่านทางสังคม (ที่มักสอนเราตั้งแต่เราเริ่มพูดได้ว่า ผู้หญิง-ผู้ชาย “ควร” เป็นอย่างไร—ผู้เขียน) แม้จะมีคำกล่าวที่ว่าผู้ชายมาจากดาวอังคารและผู้หญิงมาจากดาวศุกร์ นักวิจัยยังย้ำว่า สุดท้ายแล้วงานวิจัยนี้ก็ชี้ให้เห็นว่า เรา-หญิงชาย-ไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น และเราล้วนมาจากดาวเคราะห์ที่เรียกว่าโลกนี่แหละ [8]

3) Neural Plasticity –สมองเปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติกรรมและสภาพแวดล้อม

Neural Plasticity คือความสามารถของระบบประสาทส่วนกลางที่จะปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ งานวิจัยหนึ่งที่ฉันเห็นว่าเป็นตัวอย่างของ Neural Plasticity ที่ท้าทายมายาคติเรื่องเพศได้อย่างดี คือ การศึกษาเรื่องพฤติกรรมการเลี้ยงลูกที่ส่งผลต่อกิจกรรมในโครงสร้างทางสมองของเพศชาย [9] วัฒนธรรมมนุษย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าผู้หญิงถูกกำหนดมาให้เป็นแม่ มีหน้าที่เลี้ยงดูลูก แต่งานวิจัยนี้จะทำให้เราต้องทบทวนมายาคตินี้ใหม่ เพราะการศึกษาชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เราเคยเชื่อว่าเป็น “สัญชาตญาณความเป็นแม่” นั้น ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะที่มีแต่ในผู้หญิง หรือถูกกระตุ้นเพียงแค่จากฮอร์โมน แต่สามารถเกิดขึ้นกับคนเพศไหนก็ได้ที่เลือก (ลงมือ) เลี้ยงลูก

การศึกษานี้นำโดย Ruth Feldman นักจิตวิทยาและประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Bar-Ilan ซึ่งศึกษาการเลี้ยงลูกของครอบครัวสองแบบในอิสราเอล ได้แก่ ครอบครัวตามแบบแผนที่มีแม่เป็นผู้เลี้ยงหลักและมีพ่อเป็นผู้ช่วย กับครอบครัวคู่รักชาย-ชาย ที่มีลูกจากการอุ้มบุญ โดยคู่รักพ่อ-พ่อนี้แบ่งหน้าที่การเลี้ยงลูกเท่าๆ กัน การวิจัยนี้สนใจการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างทางสมองบางชนิดที่เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงลูก โดยได้วัดระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความใกล้ชิด-คุ้นเคย และความรัก) ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงสร้างในสมองที่เกี่ยวข้องการเลี้ยงดู ควบคู่ไปกับการสแกนสมองเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมในสมองส่วนนั้น

ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างในระดับฮอร์โมนออกซิโทซิน ทั้งคู่พ่อ-แม่ และ คู่พ่อ-พ่อ

แต่พบความต่างของกิจกรรมภายในสมองด้านการเลี้ยงดูลูก ผ่านการกระตุ้นของวิถีสั่งการ 2 ส่วน โดยวิถีแรกเกี่ยวข้องกับโครงสร้างในสมองที่พัฒนามาจากวิวัฒนาการ เช่น amygdala, insula, และ nucleus accumbens ซึ่งโครงสร้างเหล่านี้ควบคุมอารมณ์ ความใส่ใจ ความระมัดระวัง และการให้รางวัล ส่วนอีกวิถีนั้นเกี่ยวกับประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองส่วน prefrontal cortex และ superior temporal sulcus

ในครอบครัวตามแบบแผน สมองของแม่ที่ถูกกระตุ้นคือ สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ amygdala ในขณะที่สมองของพ่อถูกกระตุ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ แต่ในครอบครัวของคู่รักชาย-ชาย สมองของทั้งสองคุณพ่อกลับถูกกระตุ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ amygdala เช่นเดียวกับในคุณแม่

การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมการเลี้ยงลูกสามารถปรับกิจกรรมในสมองของผู้เลี้ยงได้เหมือนกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร นอกจากนี้ผู้วิจัยยังชี้ว่า การกระตุ้นของสมองส่วน amygdala ของพ่อในคู่ตามขนบนั้นจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนเวลาที่ใช้กับทารก ถ้าพ่อ (ในคู่ตามขนบ) ใช้เวลากับลูกมาก ก็จะมีการกระตุ้นของสมองส่วนนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตามการตุ้นในสมองส่วนนี้ของพ่อตามขนบจะไม่สูงเท่าแม่ตามขนบหรือคู่รักพ่อ-พ่อ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูก

………………………

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนมายาคติเรื่องเพศ กลับมาทบทวนว่าค่านิยมในสังคมเราได้ปั้นแต่งสมอง พฤติกรรม ความคิดของคนในสังคมให้หลงทางไปไกลแค่ไหน ไม่ใช่เพียงแค่มายาคติที่หลอกเราว่า สมองทำให้เพศชายเหมาะกับงานเท่ๆ เพศหญิงเหมาะกับการเป็นแม่-เลี้ยงลูก แต่ยังรวมไปถึงการนิยามเพศให้มีเพียงแค่หญิง-ชาย อย่างที่ (กฎหมาย) รัฐไทยกำลังทำอยู่ในตอนนี้ เพศวิถีเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทุกคนสามารถเป็นเพศที่อยากเป็น หรือไม่อยากเป็นเพศอะไรเลยก็ได้  สังคมและรัฐมีหน้าที่เคลียร์พื้นที่ให้ทุกคนได้เป็นอย่างที่ตนเองอยากเป็นด้วยความสุขและภาคภูมิ

เป็นความจริงที่ว่างานวิจัยทางสมองในมิติทางเพศนั้นเต็มไปด้วยข้อโต้แย้ง-ดีเบตที่เผ็ดร้อนระหว่างนักวิทยาศาสตร์ต่างสำนัก แต่เราต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ในสายธารแห่งชายเป็นใหญ่ที่เราต่างก็แหวกว่ายอยู่นี้นอกจากอคติที่อาจมีผลต่อการตีพิมพ์งานวิจัยแล้ว สมองแต่ละก้อนนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งพันธุกรรม การเลี้ยงดู พฤติกรรม อายุ ฮอร์โมน (ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามพฤติกรรมอีกทีหนึ่ง) และเพศกำเนิดไม่ใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ส่งผลต่อสมอง ฉันเป็นแฟนตัวยงของข้อเท็จจริงและเห็นด้วยว่าเราจำเป็นต้องศึกษาเพื่อเข้าใจมนุษย์ ฉันสนับสนุนเต็มที่หากการศึกษาความแตกต่างทางสมองและพฤติกรรมของคนแต่ละเพศจะนำมาสู่พัฒนาการทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือและรักษาชีวิตผู้คน—ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม แต่ฉันไม่เห็นด้วยอย่างมาก หากเราจะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือการศึกษาที่อาจจะเต็มไปด้วยอคติ มาเหมารวม (stereotype) คนทั้งโลก และใช้อวัยวะเพศที่ติดตัวมาตอนเกิด มาเป็นตัวกำหนดบทบาท กำจัดสิทธิและศักยภาพของผู้อื่น

ฉันเชื่อว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือการรวมคนทุกเพศในสมการ การเรียกร้องประชาธิปไตยก็เช่นกัน

 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณรัชพงศ์ เนตรศรีทอง นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาชีววิทยาที่ช่วยอ่านทบทวนบทความนี้ให้

 

อ้างอิง

[1] L. Eliot, “Neurosexism: the myth that men and women have different brains,” Nature, vol. 566, no. 7745, Art. no. 7745, Feb. 2019, doi: 10.1038/d41586-019-00677-x.

[2] S. P. David et al., “Potential Reporting Bias in Neuroimaging Studies of Sex Differences,” Scientific Reports, vol. 8, no. 1, Art. no. 1, Apr. 2018, doi: 10.1038/s41598-018-23976-1.

[3] D. C. Dean et al., “Correction to: Investigation of brain structure in the 1-month infant,” Brain Struct Funct, vol. 223, no. 6, pp. 3007–3009, Jul. 2018, doi: 10.1007/s00429-018-1643-z.

[4] J. Pietschnig, L. Penke, J. M. Wicherts, M. Zeiler, and M. Voracek, “Meta-analysis of associations between human brain volume and intelligence differences: How strong are they and what do they mean?,” Neuroscience & Biobehavioral Reviews, vol. 57, pp. 411–432, Oct. 2015, doi: 10.1016/j.neubiorev.2015.09.017.

[5] D. Joel et al., “Sex beyond the genitalia: The human brain mosaic,” Proc Natl Acad Sci USA, vol. 112, no. 50, pp. 15468–15473, Dec. 2015, doi: 10.1073/pnas.1509654112.

[6] S. J. Ritchie et al., “Sex Differences in the Adult Human Brain: Evidence from 5216 UK Biobank Participants,” Cereb Cortex, vol. 28, no. 8, pp. 2959–2975, Aug. 2018, doi: 10.1093/cercor/bhy109.

[7] E. Zell, Z. Krizan, and S. R. Teeter, “Evaluating gender similarities and differences using metasynthesis,” Am Psychol, vol. 70, no. 1, pp. 10–20, Jan. 2015, doi: 10.1037/a0038208.

[8] “Gender roles: Men and women are not so different after all,” ScienceDaily. https://www.sciencedaily.com/releases/2015/01/150129093859.html  (accessed Jul. 12, 2020) .

[9] E. NortonMay. 27, 2014, and 4:45 Pm, “Parenting Rewires the Male Brain,” Science | AAAS, May 27, 2014. https://www.sciencemag.org/news/2014/05/parenting-rewires-male-brain (accessed Jul. 13, 2020) .

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net