Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศที่สูงล้นมาต่อเนื่องยาวนาน เป็นภาระที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบบรับมาโดยตลอด น่าประหลาดที่รัฐบาลเผด็จการสมัย คสช.1 กลับมีคำสั่งให้ กฟผ. “ลดการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา” เพื่อให้สามารถจัดทำโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา (มติ กพช. 2538) แนวคิดนี้ต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นโครงการ “โรงไฟฟ้าประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มี ศอ.บต.เป็นกลไกสำคัญในการผลักดัน โดยอ้างเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้

ตามระบบปกติแล้ว งานพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน โดยมีแผนแม่บทกำหนดทิศทางอยู่ที่แผน PDP และ แผน AEDP (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศไทย Power Development Plan และ แผนพัฒนาพลังงานทางเลือก Alternative Energy Development Plan)

เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไม่กี่วัน มีข่าวเล็กๆ เกี่ยวกับความขลุกขลักในการเสนอแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (revision 1) เข้าสู่ ครม.เพื่อขอมติเห็นชอบ ทำให้โครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ของนายสนธิรัตน์ต้องชะงักรอมติ ครม.ก่อน แล้วไม่กี่วันต่อมาเขาก็ตกจากเก้าอี้รัฐมนตรี

ปรากฏการณ์นี้ แท้จริงแล้วมีต้นตอมาจากการขยายบทบาทหน้าที่ของกองทัพ (ศอ.บต.) เข้าไป “เผือก” ถึงในเรื่องการวางแผนพลังงานของประเทศ ใช่หรือไม่ ?

             

วาทกรรม “โรงไฟฟ้าชุมชน”

โรงไฟฟ้าประชารัฐ  อ้างถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อแก้ปัญหาความยากจนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยข้อเสนอของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งถือเป็นส่วนของ “ภาครัฐ” ที่จะเป็นหน่วยสำคัญในการร่วมดำเนินการนี้ มีความเห็นว่า

นิยามโรงไฟฟ้าชุมชน ต้องมาจากชุมชน เพื่อชุมชน ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจะต้องตั้งเป็นบริษัท ไฟฟ้าประชารัฐ จำกัด ซึ่งมีหน่วยงานรัฐถือหุ้นสัดส่วน 40% ขณะที่บริษัทชุมชนประชารัฐถือหุ้นสัดส่วน 60% โดยบริษัทนี้มาจากวิสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย สมาชิกในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน ไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน” (สมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ., ประชาชาติธุรกิจ, 27 กย. 62)


แต่สุดท้าย มติ ครม. 2 มค. 2563 ก็ได้เห็นชอบโครงการ “การขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เป็นผู้เสนอ โดยมีรายละเอียดที่น่าสงสัยว่า ประโยชน์จะตกอยู่กับชุมชนหรือใครกันแน่ ภายใต้งบประมาณที่ ศอ.บต.เสนอว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 19,764 ล้านบาท/ 5 ปี ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการ

โครงสร้างการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนชายแดนภาคใต้ ที่ ครม.อนุมัติไปนี้ จะมีผู้ถือหุ้นร่วมกัน 3 ภาคส่วน ได้แก่

  1. ไม่เกิน 40% โดยภาคชุมชน 
  2. ไม่เกิน 30% โดยภาคเอกชนในพื้นที่
  3. ไม่เกิน 30% โดย กฟผ./กฟภ. และภาคเอกชนนอกพื้นที่

ทั้งนี้ ภาคชุมชน หมายถึง ประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชน โดยจะให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ถือหุ้นแทนประชาชนไปก่อนจนกว่าประชาชนจะมีความเข้มแข็ง

สรุปตัวเลขชัดๆ คือ ชุมชน 10-40% ส่วนรัฐและเอกชน 60-90% (มติ กพช. 16 ธค 62)  นอกจากนี้ ตามมติ ครม. 2 มค.63 นอกจากเห็นชอบโครงการ ศอ.บต. แล้ว ยังมีรายละเอียดอีก 3 ข้อคือ

  • “รับทราบ” การจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการบริหารโครงการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน่วยงานภายในของ ศอ.บต.
  • มอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานเร่งรัดความก้าวหน้าโครงการ โดยประสานกับ กพช.ให้ดำเนินการบรรลุเป้าหมายโดยเร็ว
  • ให้ ศอ.บต.จัดเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งในเรื่องเกี่ยวกับ “จำนวนประชาชน/กลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ของประชาชน ที่เข้าร่วมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

จะเห็นได้ว่า นี่คือการสร้างทางลัดสายตรงอำนาจของ ศอ.บต.ไปยังนายกรัฐมนตรีโดยตรง ไม่ต้องผ่านกลไกกระทรวงพลังงาน เรื่องนี้จำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ ?

 

ศอ.บต.กำลังทำอะไรกับธุรกิจพลังงานที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ?

เมื่อวันที่ 11 กค. 63 ที่มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ ปรากฏว่า กลุ่ม “ชุมชนจะนะต้นแบบ” ได้แถลงข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 5 ข้อโดยข้อที่ 1 คือ “ชุมชนจะนะต้นแบบต้องการใบอนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนขนาด 1,100 MW ด้วยแก๊ส ในนามสหกรณ์” ถือเป็นข้อเรียกร้องจากชุมชนที่เหลือเชื่อมาก และน่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ศอ.บต. “ประชาสัมพันธ์อะไร” แก่ประชาชนในพื้นที่ จนเกิดข้อเรียกร้องเช่นนี้ขึ้นมาได้

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แผนโรงไฟฟ้าชุมชนของ ศอ.บต.ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะนำมาประสานเข้ากับแผน PDP อยู่ดี ปรากฏว่า สนธิรัตน์พยายามเร่งปรับปรุงแผน PDP 2018 Rev.1 จนผ่านมติ กพช. โดยการเลื่อนโรงไฟฟ้าประชารัฐให้ช้าลง 1 ปี แล้วเสียบแทนด้วย Quick Win Project “โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” นวัตกรรมผลประโยชน์ชิ้นใหม่แด่นายทุนโรงไฟฟ้าของฝั่งสี่กุมาร ซึ่งนอกจากกลุ่มทุนอ้อยและน้ำตาลแล้ว และวาทกรรมโรงไฟฟ้าชุมชนนี้ ยังจะเป็นการเปิดทางสะดวกให้แก่ “ทุนทหาร” โรงไฟฟ้าขยะจากค่ายลูกมหาดไทยอีกด้วย

แต่ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่าเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ยังมีอีกเรื่องคือ โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติภาคใต้ ซึ่งภายใต้เมกะโปรเจ็คจะนะ ศอ.บต.ได้เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในภาคใต้รวม 2,630 เมกะวัตต์ (ที่ อ.จะนะ 1,700 เมกะวัตต์ และ จ.สุราษฎร์ธานี 930 เมกะวัตต์) แต่สนธิรัตน์พยายามขัดขวาง โดยแผน PDP 2018 Rev.1 มีการปรับเลื่อนโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 1,400 เมกะวัตต์ให้เข้าระบบเร็วขึ้น 2 ปี (จาก 2570 เป็น 2568) ทั้งนี้ก็เพื่อปิดทางโรงไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ของ ศอ.บต. โดยไม่ต้องสนใจว่าเราจะมีโรงไฟฟ้าล้นระบบมากขึ้นแค่ไหน

นี่กระมัง ที่ทำให้แผนพีดีพีฉบับใหม่ถูกสกัดไม่ให้เข้า ครม. นานถึง 4 เดือน และสนธิรัตน์ต้องตกจากเก้าอี้ไป

บทความนี้ไม่มีวัตถุประสงค์อะไร นอกจากจะขอร้องประชาชนทั้งหลาย โปรดช่วยกันตะโกนคำว่า “#ปฏิรูปกองทัพ” ให้ดังไปถึงฟ้า

 

 

ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค ศูนย์บริการข้อมูลมติ กพช. / กบง.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net