Skip to main content
sharethis

'ทวี สอดส่อง' ระบุ ถึงเวลาแล้วที่อำนาจการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องของ ผบ.ตร. และอัยการสูงสุดต้องเปลี่ยนแปลง เสนอให้อำนาจสั่งคดีเป็น 'คณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก' แทน ในชั้นอัยการหากผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ฟ้องศาลเองได้

29 ก.ค. 2563 วันนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คแฟนเพจระบุว่า อำนาจการ ”สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง” ของ ผบ.ตร. และ อัยการสูงสุด ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง โดยยกกรณีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด วรยุทธ อยู่วิทยา ลูกชายเศรษฐีเจ้าของน้ำดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต  เสนอให้ในชั้นพนักงานสอบสวนแก้ไขอำนาจสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวน จาก “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” ซึ่งได้แก้หัวหน้าหน่วยงาน เช่นระดับสถานีตำรวจ คือ ผู้กำกับการหัวสถานีตำรวจ ถ้าระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ ผบ.ตร ให้เปลี่ยนอำนาจสั่งคดีรูป “คณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก” แทน

พ.ต.อ.ทวีระบุว่า สำหรับในคดีพิเศษที่ได้เปิดช่องให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือคดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน แต่พบว่าได้ออกข้อกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการให้อัยการที่ร่วมสอบสวนว่า พนักงานอัยการไม่ต้องมีความเห็นในสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เห็นควรแก้ไขข้อกำหนดให้อัยการที่ร่วมสอบสวนมีความเห็นในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในสำนวนด้วย

และควรแก้ไข ป.วิ.อาญา มาตรา 145 เรื่องการแย้งหรือไม่แย้งไม่ใช่ที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ ผบ.ตร. หรือ รอง ผบ.ตร. หรือ ผู้ช่วย ผบ.ตร. หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้การแย้งหรือไม่แย้งเป็นอำนาจของเสียงข้างมากที่องค์คณะแต่งตั้งขึ้นต่างหาก โดยส่งกลับไปที่คณะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีความเห็นก่อนและให้มีกระบวนการที่เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

สำหรับข้อเสนอในการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลและอำนวยความยุติธรรม เห็นควรศึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมาย พ.ต.อ.ทวีระบุดังนี้

1. กรณี พงส.สั่งฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้เสียหายเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมประสงค์จะฟ้องคดีเองให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานในสำนวนการสอบสวนกับผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องต่อศาลได้เอง

2. ความผิดต่อรัฐ เช่นภาษีอากร ป่าไม้ที่ดิน ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายและไม่เห็นด้วยกับอัยการ สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง ถ้าหน่วยงานไม่ฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายฟ้องคดีเองได้

3. กรณีที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมและผู้เสียหายไม่ฟ้องเอง กรณีนี้ควรให้องค์กรอิสระสักหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำการตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องต่อศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมของประเทศ

"จากกรณีที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาในคดีนี้ จนเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด และผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีอยู่ในปัจจุบันดังกล่าวข้างต้นน่าจะยังมีความไม่เหมาะสมอยู่ ไม่สามารถควบคุมการใช้ดุลพินิจที่อาจไม่ชอบหรือตามอำเภอใจได้ จึงเป็นการสมควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการศึกษาทบทวนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยอาจกำหนดให้มีการควบคุมตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่เหมือนระบบลูกขุนใหญ่ของอเมริกัน หรือของญี่ปุ่น หรือให้ศาลเข้ามาคุมเหมือนของประเทศระบบกฎหมาย Civil Law ก็ได้ " พ.ต.อ.ทวีระบุระบุ

 

 

อำนาจการ ”สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้อง” ของ ผบ ตร และ อัยการสูงสุด ถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลง

จากกรณีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด นายวรยุทธ อยู่วิทยา ลูกชายเศรษฐีรถน้ำดื่มชูกำลังกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนกับอัยการและตำรวจนั้น ประเด็นปัญหาผู้มีอำนาจการสั่งสำนวนว่าต้องฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนเลยแต่ต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในสิ่งที่คนอื่นก่อขึ้น

สำหรับในคดีอาญาทางกฎหมาย เมื่อพนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จส่งพนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนจะหมดอำนาจสอบสวนในคดีนั้นทันที จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้อย่างเดียวคือพนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงที่ทราบคดีนี้อัยการสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมหลายครั้งใช้เวลาพิจารณาสำนวนการสอบสวนอยู่ที่อัยการนานถึง 8 ปี จนในที่สุดอัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง (โดยรองอัยการสูงสุด) และ ผู้ช่วย ผบ ตร ไม่แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการคดีจึงสิ้นสุดลงตามป.วิอาญา มาตรา 145 

ข้อเสนอแก้ไขในชั้นพนักงานสอบสวน ของ ตร และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ในชั้นพนักงานสอบสวนเห็นควรแก้ไขอำนาจสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวน จาก “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” ซึ่งได้แก้หัวหน้าหน่วยงาน เช่นระดับสถานีตำรวจ คือ ผู้กำกับการหัวสถานีตำรวจ ถ้าระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ ผบ.ตร ให้เปลี่ยนอำนาจสั่งคดีรูป “คณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก” แทน

ด้วย สอบสวนคดีอาญา กฎหมาย ป วิ อาญา จะบัญญัติให้มีผู้ทำหน้าที่สอบสวนอยู่ 2 ตำแหน่ง คือตำแหน่งพนักงานสอบสวน และ ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

“ตำแหน่งพนักงานสอบสวน” 

การเป็นพนักงานสอบสวนได้จะต้องมีเงื่อนไข 4 ประการ คือ
1. กฎหมายให้อำนาจไว้ 
2. กฎหมายกำหนดความรับผิดชอบไว้ 
3. กฎหมายและข้อบังคับกำหนดเขตพื้นที่ไว้ 
4. ต้องได้รับการแต่งตั้ง 

ดังนั้น ข้าราชการตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษจะไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวนทุกคน กล่าวคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 215,136 คนเศษ แต่ที่มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบเป็นพนักงานสอบสวนเพียงประมาณ 10,310 คนเศษ หรือกรณี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่อื่นประมาณ 1,179 คน มีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษประมาณ 487 คน เท่านั้น 

“ตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ”

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะมีคนเดียว คือ ‘ผู้เป็นหัวหน้า’ ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 18 วรรคท้าย “ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการ สอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้า ในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทน” 

อำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตาม ป วิ อาญา มาตรา 140 “เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนเห็นว่าการสอบเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด..” และมีมาตราเกี่ยวข้อง คืออำนาจพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบถ้าคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมีอำนาจเสนองดการสอบสวน ถ้าคดีรู้ตัวผู้กระทำผิดมีอำนาจสั่งฟ้อง หรือสังไม่ฟ้อง แม้ในคดีที่สอบสวนจะแต่งตั้งพนักงานสอบสวนมากถึง 100 คน หรือ 1,000 คน หรือมากกว่าแต่ผู้มีอำนาจสั่งเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเพียงคนเดียวคือผู้เป็นหัวหน้า (หน่วยงานนั้น ๆ) เท่านั้นในกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้เป็นหัวหน้าสูงสุด คือ ผบ ตร หรือ กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ คืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร

จึงเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม ป วิ อาญา มาตรา 140 และที่เกี่ยวข้อง ให้การมีความเห็นในการสั่งฟ้อง สั่งไม่ฟ้อง หรืองดการสอบสวน เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นจาก “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” เปลี่ยนเป็นรูป “คณะพนักงานสอบสวนเสียงข้างมาก” โดยยึดมั่นในข้อเท็จจริงที่ได้มาจากพยานหลักฐานและการพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์จนสมบูรณ์ครบถ้วย ซึ่งแต่ละสำนวนควรมีพนักงานสอบสวน จำนวน 3 คน หรือ 5 คน เหมือนองค์คณะตุลาการในศาลปกครอง หรือองค์คณะพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมมาใช้ และมีหลักเกณฑ์วิธีการในการตรวจสอบ ถ่วงดุลโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือผู้เป็นหัวหน้า ให้เกิดความเชื่อมั่นในความยุติธรรม เช่นเดียวกับศาลพิจารณาคดีของศาล

สำหรับ ในคดีพิเศษที่ได้เปิดช่องให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีที่มีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม หรือคดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน แต่พบว่าได้ออกข้อกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการให้อัยการที่ร่วมสอบสวนว่า พนักงานอัยการไม่ต้องมีความเห็นในสำนวนว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เห็นควรแก้ไขข้อกำหนดให้อัยการที่ร่วมสอบสวนมีความเห็นในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ในสำนวนด้วย

และควรแก้ไข ป.วิ.อาญา มาตรา 145 เรื่องการแย้งหรือไม่แย้งไม่ใช่ ที่เป็นอำนาจเฉพาะตัวของ ผบ ตร หรือ รอง ผบ ตร หรือ ผู้ช่วย ผบ ตร หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้การแย้งหรือไม่แย้งเป็นอำนาจของเสียงข้างมากที่องค์คณะแต่งตั้งขึ้นต่างหาก โดยส่งกลับไปที่คณะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีความเห็นก่อนและให้มีกระบวนการที่เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความยุติธรรม

ข้อเสนอแก้ไขในชั้นอัยการ

สำหรับการสั่งสำนวนในชั้นอัยการ ที่นับแต่ได้มีรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นมาองค์กรอัยการได้รับการรับรองให้เป็นองค์กรอิสระโดยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 248 บัญญัติว่า 

“พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง”

โดยตาม ป.วิอาญา การควบคุมดุลพินิจการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นซึ่งเป็นมาตรการควบคุมภายในองค์กรของอัยการเอง อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าตาม ป.วิอาญามาตรการควบคุมดุลพินิจการสั่งฟ้องของพนักงานอัยการอีกชั้นหนึ่งคือการที่ศาลอาจมีคำสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พนักงาน อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีก็ได้ ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบันแทบจะไม่มีคดีใดที่ศาลสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์เลยก็ตาม

ข้อเสนอในการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลและอำนวยความยุติธรรม เห็นควรศึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมาย คือ

1. กรณี พงส.สั่งฟ้อง และอัยการสั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้เสียหายเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมประสงค์จะฟ้องคดีเองให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานในสำนวนการสอบสวนกับผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายฟ้องต่อศาลได้เอง

2. ความผิดต่อรัฐ เช่นภาษีอากร ป่าไม้ที่ดิน ถ้าอัยการสั่งไม่ฟ้อง หน่วยงานที่ได้รับความเสียหายและไม่เห็นด้วยกับอัยการ สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง ถ้าหน่วยงานไม่ฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือภาคประชาสังคมที่ได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายฟ้องคดีเองได้

3. กรณีที่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยในกระบวนการยุติธรรมและผู้เสียหายไม่ฟ้องเอง กรณีนี้ควรให้องค์กรอิสระสักหน่วยงานหนึ่งเข้ามาทำการตรวจสอบและมีอำนาจฟ้องต่อศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมของประเทศ

จากกรณีที่เกิดเป็นปัญหาขึ้นมาในคดีนี้ จนเป็นเหตุให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องของอัยการสูงสุด และผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรืออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีอยู่ในปัจจุบันดังกล่าวข้างต้นน่าจะยังมีความไม่เหมาะสมอยู่ ไม่สามารถควบคุมการใช้ดุลพินิจที่อาจไม่ชอบหรือตามอำเภอใจได้ จึงเป็นการสมควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งมีการศึกษาทบทวนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบการควบคุมถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้โดยอาจกำหนดให้มีการควบคุมตรวจสอบโดยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่เหมือนระบบลูกขุนใหญ่ของอเมริกัน หรือของญี่ปุ่น หรือให้ศาลเข้ามาคุมเหมือนของประเทศระบบกฎหมาย Civil Law ก็ได้ 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net