สปสช.พบเพิ่ม 5 คลินิกทันตกรรม ทุจริตเงินกองทุนบัตรทอง 

สช.- สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จับมือวางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ด้านสปสช.พบเพิ่ม 5 คลินิกทันตกรรม ทุจริตเงินกองทุนบัตรทอง ประสาน สบส. กองปราบปราม ดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบอายัดเอกสารหลักฐาน  

สช.- สนง.คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จับมือ วางแนวปฏิบัติข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

29 ก.ค. 2563 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำทีมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าหารือกับ ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) เพื่อหาแนวทางในการจัดทำแนวปฏิบัติเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2562 มีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกับด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหว (Sensitive Data) ซึ่งปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.สุขภาพแพ่งชาติ พ.ศ.2550 ด้วยเช่นกัน 

นพ.ประทีป กล่าวภายหลังการประชุมว่า การหารือร่วมกันในครั้งนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ 

นพ.ประทีปขยายความว่า ที่ผ่านมา มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ กำหนดเรื่องการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลไว้อย่างเข้มงวด มีบทลงโทษ แต่ไม่มีกระบวนการขั้นตอนปฏิบัติ ทำให้เกิดความแตกต่างในการตีความกฎหมายและสร้างข้อจำกัดในภาคปฏิบัติที่ต้องถือเอาชีวิตผู้ป่วยเป็นหลัก ทาง สช. ได้พยายามแก้ปัญหาข้อร้องเรียนในกรณีนี้โดยหารือแนวปฏิบัติกับคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุขไว้แล้ว แต่ไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกหรือประกาศใดๆ ขณะที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลข่าวสาร มีอำนาจในการออกกฎหมายลูกและแนวปฏิบัติในด้านต่างๆ ได้โดยตรง จึงพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ พร้อมเชื่อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและวางแนวปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ ทำให้สามารถคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขณะเดียวกันก็ไม่สร้างอุปสรรคในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข

ด้านภุชพงค์กล่าวว่า รู้สึกยินดียิ่งที่มีพันธมิตรในการทำงานเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติการคุ้มครองข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ ส่วนที่ สคส.จะต้องจัดทำแนวปฏิบัตินอกเหนือไปจากการออกกฎหมายลูก เพื่อวางมาตรการในกรอบใหญ่ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกำหนดไว้ หวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้การจัดทำแนวปฏิบัติดำเนินไปได้ด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยทั้งกฎหมายลูกและแนวทางปฏิบัติต่างๆ จะต้องยกร่าง รับฟังความคิดเห็นและประกาศใช้ ก่อนที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปแล้ว 50 มาตราในสองหมวดหลัก จากนั้นมีการออก พ.ร.ฎ.ยกเว้นให้หน่วยงานและกิจการ 22 ประเภทยังไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยภุชพงค์กล่าวว่า เพื่อให้เอสเอ็มอีมีเวลาในการปรับตัวและทำระบบจัดเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งไม่ต้องการเพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบการรายย่อยมากเกินไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันด้วยว่า มาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ นั้นเขียนไว้ค่อนข้างเข้มงวดว่า ข้อมูลสุขภาพของบุคคลเป็นความลับส่วนบุคคล จะเปิดเผยไม่ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้น ในขณะที่พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเปิดกว้างมากกว่า โดยในมาตรา 26 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ 5 ประการ เช่น เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคลนั้น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งตรงนี้น่าจะช่วยขจัดปัญหาการตีความมาตรา ๗ ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติที่แตกต่างกันได้ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลการแพทย์เพื่อการรักษาชีวิตบุคคล

 

สปสช.พบเพิ่ม 5 คลินิกทันตกรรม ทุจริตเงินกองทุนบัตรทอง 

วันนี้ (29 ก.ค. 2563) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รายงานว่า นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  ร่วมแถลงข่าว “ความคืบหน้า สปสช.เร่งดำเนินการเอาผิดหน่วยบริการทุจริตเงินบัตรทอง”  

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ตามที่ระบบการตรวจสอบปกติของ สปสช. โดย สปสช.เขต 13 กทม. พบการจัดทำเอกสารหลักฐานเท็จเพื่อเบิกเงินค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก จาก “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตรทอง” ปีงบประมาณ 2562 ในคลินิกเอกชน 18 แห่ง ที่ผ่านมา สปสช.ได้เร่งเอาผิดทุกช่องทางตามกฎหมายแล้ว ซึ่งอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนและจัดการกับผู้ที่โกงเงินงบประมาณชาติโดยเร็ว โดย สปสช.ได้เดินหน้าเอาผิดทุกช่องทาง ทั้งยกเลิกสัญญาทันทีพร้อมเรียกเงินคืน แจ้งความคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมฟ้องร้องคดีแพ่งเพิ่มเติม และดำเนินการทางจรรยาบรรณวิชาชีพ แล้ว  

ต่อมา สปสช. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบคลินิกทันตกรรมอีก 2 แห่ง เบิกจ่ายทุจริตงบบัตรทองลักษณะเดียวกันนี้ โดยมีห้องปฏิบัติการ (Lab) 2 แห่ง สมรู้ร่วมคิดปลอมแปลงเอกสารหลักฐานทุจริต โดย สปสช. ได้เข้าแจ้งความคดีอาญาที่กองบังคับการปราบปรามแล้วเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 และวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 พร้อมกันนี้ในส่วนคลินิกเอกชน 18 แห่ง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 สปสช.ได้มอบเอกสารหลักฐาน อาทิ เอกสารสรุปประเด็นความผิด ประเภทความผิด วันและเวลาที่กระทำความผิดโดยการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานเป็นเท็จ เพื่อเบิกค่าบริการเพิ่มเติมแห่งละประมาณ 50 ฉบับ ให้กองบังคับการปราบปรามเพิ่มเติม เพื่อความสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมาย 

“ในการเร่งเอาผิดกับคลินิกเอกชนทุจริตเงินบัตรทอง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา สปสช.ได้ประชุมร่วม 3 หน่วยงาน คือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปราม เพื่อหารือถึงการดำเนินการกับหน่วยบริการทุจริตงบบัตรทอง และวันนี้ (29 ก.ค. 63) ทั้ง 3 หน่วยงานได้ร่วมลงพื้นที่คลินิกทันตกรรม 2 แห่ง และห้องปฏิบัติการ (lab) 2 แห่ง เพื่ออายัดเอกสารหลักฐานพร้อมคอมพิวเตอร์ เพื่อนำมาตรวจสอบตามที่ สปสช.ได้แจ้งเบาะแส พร้อมตรวจสอบบัญชีและธุรกรรมการเงิน ค้นหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับความผิด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนการขยายผลสุ่มตรวจหน่วยบริการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก ครั้งที่ 1 จำนวน 86 แห่ง พบการเบิกจ่ายข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง สปสช.จึงขยายการตรวจสอบแบบ 100% พร้อมอายัดเอกสารการบริการและเบิกจ่ายของคลินิกทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ ขณะนี้ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่เพื่อเร่งตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ต่อมา สปสช.ขยายผลตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พบเพิ่มเติมอีก 3 แห่ง ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรม รวมเป็น 66 แห่ง เมื่อรวมกับการตรวจสอบที่พบก่อนหน้านี้ 20 แห่ง เท่ากับ สปสช.ตรวจสอบพบหน่วยบริการเบิกจ่ายข้อมูลเป็นเท็จทั้งสิ้น 86 แห่ง แยกเป็นโรงพยาบาลเอกชน 8 แห่ง, คลินิกเอกชน 73 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ซึ่ง สปสช. จะนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวยื่นต่อกองบังคับการปราบปรามและกรมสอบสวนคดีพิเศษต่อไป 

“ในการตรวจสอบ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่ สปสช.จากเขตต่างๆ กว่า 300 คน มาตรวจสอบเวชระเบียนหรือบันทึกการรักษาว่าตรงตามการรายงานในระบบหรือไม่ โดยได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุดราชการ ซึ่งมีเอกสารเกี่ยวข้องขณะนี้มีมากกว่า 7 แสนฉบับ ต้องใช้ระยะเวลาในกระบวนการตรวจสอบอย่างมาก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว 

ด้าน นพ.การุณย์ กล่าวถึงการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัญญาคลินิกเอกชน 18แห่ง ในระบบบัตรทองว่า สปสช. ได้จัดหาหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 9 กรกฎาคม 2563 และได้เข้าพบ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 เพื่อประสานความช่วยเหลือในการจัดหาหน่วยบริการรองรับประชาชน ซึ่งท่านยินดีให้ความช่วยเหลือเต็มที่ รวมถึงการดูแลประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากหน่วยบริการที่ สปสช. จะยกเลิกสัญญาเพิ่มเติมหากพบทุจริต ขณะเดียวกันได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานต่างๆ ร่วมจัดหน่วยบริการรองรับประชาชนในส่วนนี้เช่นกัน โดยเป็นไปตามข้อหารือที่ได้จากการประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) 

สำหรับแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต สปสช.ได้วางระบบป้องกันก่อนการเบิกจ่ายและหลังการเบิกจ่าย โดยเมื่อเริ่มต้นบริการได้เพิ่มในเรื่อง Digital Identification เพื่อพิสูจน์ตัวตนผู้รับบริการก่อน เช่น เสียบบัตรสมาร์ทการ์ด หรือพิสูจน์ตัวตนออนไลน์ ให้ผู้รับบริการขอรหัสการบริการจาก สปสช. ยืนยันตัวเองก่อน ส่วนกรณีรายการที่มีค่าใช้จ่ายสูงจะมีกระบวนการ pre-authorization และ pre-audit รวมทั้งจะนำระบบ AI มาช่วยตรวจสอบ และเมื่อให้บริการแล้วหน่วยบริการจะส่งเอกสารหลักฐานเบิกจ่ายมาที่ สปสช. ซึ่ง สปสช.จะดำเนินการตรวจสอบตามระบบ  

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท