ใบตองแห้ง: ประยุด-ติธรรม

ประยุทธ์จะตอบอย่างไรเรื่องอัยการสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” หรือจะพูดตาม “เอ๋ ปารีณา” ว่านายกฯ ไม่เกี่ยวไม่ได้ช่วย นายกฯ สั่งอัยการไม่ได้

แต่ตาม ป.วิอาญา แม้อัยการสั่งไม่ฟ้อง ถ้า ผบ.ตร.ทำความเห็นแย้ง ก็ต้องให้อัยการสูงสุดชี้ขาดอีกที คดีนี้ ปรากฏว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.ซึ่งทำหน้าแทน ผบ.ตร.กลับ “เห็นพ้อง”

ทั้งที่ลูกน้องตายทั้งคน รถจักรยานยนต์ถูกลากไป 163.6 เมตร ยังเชื่อว่าขับด้วยความเร็ว 76 กม.ต่อชั่วโมง ได้อย่างไร ใครจะเชื่อว่า พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

ประยุทธ์อาจอ้างได้ว่า คดีเกิดในยุคยิ่งลักษณ์ การรวบรวมพยานหลักฐานบกพร่อง จนสั่งไม่ฟ้องความผิดฐานเมาสุราขับรถ ตั้งแต่ปี 2556 ทั้งที่ผลตรวจพบทั้งแอลกอฮอล์และโคเคน

แต่ก็ ป.ป.ช.ยุคปัจจุบันอีกนั่นแหละ ชี้มูลความผิดตำรวจ 7 นาย ฐานไม่ตั้งข้อหาเมาสุราขับรถ เสพยาเสพติด ว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง แล้วก็ถูกลงโทษแค่ภาคทัณฑ์-กักยาม

กระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เกิดในยุครัฐประหารอำนาจล้น กระทั่งสั่งเด้งอัยการสูงสุด เพราะไม่สั่งฟ้องยิ่งลักษณ์เสียที ตำรวจปล่อยให้บอสหลบหนีเมื่อปี 2560 จนคดีชนแล้วหนีขาดอายุความ แต่คดีขับรถประมาทชนคนตายยังอยู่ อัยการสูงสุดสั่งยุติเรื่องขอความเป็นธรรม อัยการคดีอาญากรุงเทพฯ ใต้ก็สั่งฟ้องแล้ว

จนผู้ต้องหาไปร้องคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และตำรวจ ยุค สนช.ที่รัฐประหารตั้ง อัยการสูงสุดจึงสั่งสอบสวนเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง กระทั่งได้ผล “โป๊ะเชะ” ตำรวจผู้เชี่ยวชาญ 3 นาย ดร.1 คน พยานที่เพิ่งโผล่มา 2 คน อ้างว่าเฟอร์รารี่ขับไม่เกิน 80 กม.ต่อชั่วโมง แล้วดาบตำรวจขับปาดหน้า

ดูรายชื่อกรรมาธิการแล้วน่าประหลาดใจ ประธานคือ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ โดยยังมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. เป็นกรรมาธิการ มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. และมีนายตำรวจระดับสูงทั้งในและนอกราชการอีกเพียบ เช่น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ พล.ต.อ.เอก อังสนานท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ, พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ, พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์, พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้, พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช, พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร, พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์

ยิ่งกว่านั้นยังมีอดีตอัยการสูงสุด พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริการ เป็นรองประธาน ยังไม่แน่ใจว่าตอนร้องขอความเป็นธรรมให้ผู้ต้องหา ท่านอยู่ตำแหน่งไหน

แต่เจอรายชื่อกรรมาธิการอย่างนี้ ใครเป็นอัยการสูงสุด มีหรือไม่เกรงใจ เพราะอยู่ในยุครัฐประหารเป็นใหญ่ ไม่ใช่นักการเมืองกิ๊กก๊อก ต่อให้อ้างว่าอัยการเป็นอิสระ เช่นเดียวกับตำรวจที่มาให้การเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องหา ก็ย่อมเชื่อว่า “นาย” เป็นตับ จะช่วยปกป้องคุ้มครองได้

ตลกร้ายคือผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คดีนี้มีทุกสี กระทั่งกรรมการปฏิรูปประเทศ ปชป. พธม. นักร้อง นักต้านโกง ฯลฯ เรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

คงลืมไปแล้วมั้งว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งร่างขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 แยกอัยการเป็นอิสระ ไม่อยู่ใต้ “นักการเมือง” จากข้อเรียกร้องของพวกนี้เอง ทั้งที่อัยการอยู่ในอำนาจบริหาร

แล้วอัยการก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใคร ไม่ยึดโยงอำนาจประชาชน ยกเว้นการแต่งตั้งอัยการสูงสุดต้องผ่านวุฒิสภา ซึ่งช่วงรัฐประหารก็คือ สนช. ตอนนี้ก็เป็น 250 ส.ว.ตู่ตั้ง

และยกเว้นในช่วงรัฐประหารที่ ม.44 เล่นงานอัยการได้ เพราะสังคมเชื่อในระบอบ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ไม่ต้องมีถ่วงคานอำนาจ ต่อเนื่องจน “คนดีย์” สืบทอดอำนาจ กระบวนการยุติธรรมถูกใช้ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จนเอียงกระเท่เร่ อภิสิทธิ์ชนก็เลยสวมรอยขอใช้บ้าง

ทั้งโดยระบอบ และความเกี่ยวพันของบุคคลรอบข้าง ประยุทธ์หนีความรับผิดชอบไม่พ้นหรอก

 

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/378568

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท