Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การบังคับลงทะเบียนไบโอเมทริก (Biometric) ทำให้มุสลิมเชื้อสายมลายูหลายคนรู้สึกไม่ไว้วางใจรัฐไทยและเกิดความกังวลว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา

เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจแม้แต่น้อยเมื่อสัญญาณโทรศัพท์ของนายอารีฟถูกตัดไป เนื่องจากก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว เขาปฏิเสธที่จะเดินทางไปบริษัทบริการเครือค่ายสัญญาณโทรศัพท์สาขาใกล้บ้านเพื่อให้ข้อมูลลายนิ้วมือและสแกนใบหน้าในการลงทะเบียนซิมการ์ด เขาทำเช่นนั้นเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการก้าวก่ายจากรัฐ ที่กำลังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ ต่อชีวิตของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู

นายอารีฟ อายุ 21 ปี ปัจจุบันว่างงาน อาศัยอยู่ในจังหวัดสงขลา หนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 พื้นที่ดังกล่าวมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ๆ ในประเทศ ที่มีประชากรไทยพุทธเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่

ในขณะที่ชาวไทยในพื้นที่อื่น ๆ ต้องลงทะเบียนซิมการ์ดด้วยหมายเลขบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาล ผู้ที่อาศัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้กลับถูกบังคับให้ต้องลงทะเบียนด้วยข้อมูลไบโอเมทริกตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา มาตรการของรัฐในครั้งนี้ มาพร้อมกับเทคโนโลยีเพื่อการสังเกตการณ์ (Surveillance Technology) จำนวนมาก โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าทางการไทยได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อสอดแนมกลุ่มชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ

การที่รัฐบาลกำหนดให้กองทัพสามารถใช้อำนาจควบคุมพื้นที่มาเป็นเวลานาน และการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ที่เกินความจำเป็น ทำให้ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูไม่ไว้วางใจรัฐไทย และเกิดความกังวลว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะส่งผลต่อชีวิตของพวกเขา แม้เพื่อนและครอบครัวของอารีฟหลายคนได้สละความเป็นส่วนตัวเพื่อความสะดวกสบาย แต่อารีฟยังคงยืนกรานต่อต้านมาตรการดังกล่าวอย่างแน่วแน่

“ผมไม่เชื่อรัฐบาล” อารีฟพูดกับผมผ่านโปรแกรม Signal ผ่านอินเทอร์เน็ตบ้าน “พวกเขาจะหาประโยชน์จากมาตรการดังกล่าวเพื่อปรามเสียงของเรา”

เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่ามาตรการดังกล่าวมีความสำคัญต่อการขจัดความรุนแรงในพื้นที่ดังกล่าว โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา กลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน เช่น ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional) ได้ใช้ความรุนแรงสร้างสถานการณ์ในพื้นที่   ในเวลาเดียวกันนั้น องค์กรฮิวแมนไรท์วอช (Human Rights Watch) พบว่าหน่วยงานความมั่นคงไทยได้ละเมิดสิทธิชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูหลายกรณี การละเมิดดังกล่าวนี้นับรวมไปถึงการวิสามัญฆาตกรรม การบังคับสูญหาย และการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน   ตั้งแต่ปี 2547 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 7,000 คนทั้งจากความรุนแรงของรัฐและจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

“ความขัดแย้งทำให้เราต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการปกครองและการบริหารด้วยความรุนแรง เขตแดน ประชาชน และงบประมาณ ที่แตกต่างจากส่วนอื่น ๆ ของประเทศอย่างเห็นได้ชัด” รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ องค์กรที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าว
นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยผู้ทำการวิจัยภาคสนามอย่างกว้างขวางทั้งด้านเทคโนโลยีไบโอเมทริกและการเก็บรวบรวมข้อมูลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวว่าการเพิ่มกำลังทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ส่งผลให้มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู โดยนายชนาธิปเชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคตจะสะท้อนให้เห็นแต่ภาวะไร้สมดุลทางอำนาจนี้

“หากพูดถึงการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมักจะถูกทำประวัติทางเชื้อชาติ (Racial profiling) ที่ด่านตรวจ” นายชนาธิปกล่าว “นี่ก็เป็นการทำประวัติทางเชื้อชาติเช่นกัน เพียงจะกระทำโดยผ่านช่องทางอัตโนมัติ (ที่ด่านตรวจ)”

หน่วยงานความมั่นคงไทยกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อสังเกตุการณ์และตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น มีรายงานว่าทางการไทยได้พยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ (DNA) จากคนไทยเชื้อสายมลายูที่ข้ามด่านตรวจจากประเทศมาเลเซีย โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อตรวจโรคโควิด-19

รัฐบาลไทยได้บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ประเทศไทย
รูปโดย Gogi Kamushadze

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจะเป็นการเลือกเก็บเฉพาะกลุ่ม โดยจะเก็บเฉพาะผู้ต้องสงสัย นักโทษ หรือผู้ต้องขัง แต่ปัจจุบันทางการได้บังคับเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากประชากรทั่วไปจำนวนมากขึ้น”

ปี 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพบว่าระหว่างการปราบปรามการก่อความไม่สงบ หน่วยงานความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูกว่า 100 คน ทั้งโดยสมัครใจและบังคับ พวกเขาเชื่อว่าจำนวนข้างต้นเป็นเพียงสัดส่วนเล็ก ๆ ของจำนวนผู้ถูกเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอทั้งหมด

นางสาวพรเพ็ญเชื่อว่าการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่ากล้องวงจรปิดทั้งหมด 8,200 ตัวได้ถูกติดตั้งในพื้นที่ แต่กลับอยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยหน่วยงานความมั่นคงจากกรุงเทพมหานครฯ

รัฐบาลกำลังทำให้ประชาชนเห็นว่าการขยายการติดตั้งเทคโนโลยีการสังเกตการณ์เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม

“เทคโนโลยีไบโอเมทริกทำให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นในการระบุตัวตนของผู้ก่อความไม่สงบ” นายชนาธิป กล่าว “และมันยังสร้างความหวังว่าผู้ใช้กฎหมายและกองทัพจะสามารถค้นหาตัวผู้ก่อความไม่สงบ จับพวกเขาเข้าคุก และฟื้นฟูจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กลับคืนสู่ความสงบ”

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนมากที่กังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลและการกำกับดูแลของหน่วยงานความมั่นคงพื้นที่ความขัดแย้งอย่างในจังหวัดชายแดนใต้

จากปี พ.ศ. 2557 ถึงปี พ.ศ. 2562 ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหาร กฎหมายหลายฉบับที่ผ่านออกมานั้น ได้เพิ่มอำนาจควบคุมของรัฐในด้านเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2562 รัฐบาลเผด็จการทหารก็ยังคงควบคุมอำนาจดังเดิม เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารเอง นั่นจึงทำให้บทบาทพิเศษของรัฐบาลหลังเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนใต้ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม

Article19 องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปี พ.ศ. 2559 ทำให้รัฐบาล “มีอำนาจเกือบจะอิสระในการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก” อีกทั้ง “สังเกตการณ์เฝ้าระวัง” และ “ทำการค้นหาข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต” นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ปี พ.ศ. 2562 ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจรัฐในการค้นหาและยึดข้อมูลและอุปกรณ์ทั้งหมด ในคดีที่ถือว่าเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ โดยไม่ต้องมีคำสั่งจากศาล

“เราไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวที่เข้มแข็ง ดังนั้นเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทางการจะสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นผ่านผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้” สุธาวัลย์ ชั้นประเสริฐ ผู้ประสานงานการวิจัยอินเทอร์เน็ตของ Digital Reach กล่าว “ไม่มีการยืนยันว่าข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมจะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่ระบุว่าองค์กรของรัฐสามารถทำอะไรกับข้อมูลดังกล่าวได้”

เมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ผ่านร่างกฎหมายที่ทำให้เกิดระบบยืนยันตัวตนดิจิทัล (Digital ID System) กลุ่มสิทธิมนุษยชนจึงมีความกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานไบโอเมทริกที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ

“คงเป็นหายนะหากรัฐบาลรวมเทคโนโลยีไบโอเมทริกกับการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเข้าด้วยกัน เพราะเรายังขาดการคุ้มครองในเชิงกฎหมาย” สุธาวัลย์กล่าว “ถ้ามีการรวมข้อมูลจำนวนมากเข้าด้วยกัน นั่นอาจทำให้รัฐสามารถสอดแนมประชาชนได้”

นอกจากนี้ ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีการสังเกตการณ์ในประเทศไทย อีกทั้งการใช้จ่ายของกองทัพมีลักษณะไม่โปร่งใส ไม่มีการเปิดเผยรายจ่ายดังกล่าว อีกทั้งองค์กรต่าง ๆ อย่างมูลนิธิผสานวัฒนธรรมก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าบริษัทหรือประเทศใดอยู่เบื้องหลังระบบดังกล่าว

“เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ขนาดนั้น” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

สิ่งที่เรารู้คือบริษัท Mengvii บริษัทสัญชาติจีนผู้ออกแบบเทคโนโลยีการจดจำรูปภาพ (Image Recognition) และซอฟต์แวร์การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning Software) ที่ถูกขึ้นแบล็คลิสต์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกี่ยวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ได้มุ่งความสนใจมายังประเทศไทยสักพักหนึ่งแล้ว โดยเห็นได้จากเทคโนโลยีจดจำใบหน้า Face++ ได้ถูกแสดงและสาธิตการใช้งานต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานตำรวจไทยในปี 2561

ณ ขณะนี้ การคัดค้านการใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นอกจากจะมีชาวบ้านที่ปฏิเสธการลงทะเบียนด้วยข้อมูลไบโอเมทริก (Biometric data) เพื่อลงทะเบียนซิมการ์ดเหมือนอารีฟแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ปฏิเสธให้หน่วยงานความมั่นคงเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ อีกทั้งยังมีการถกเถียงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพวกเขาควรให้ข้อมูลไบโอเมทริกกับเจ้าหน้าที่หรือไม่

“ประชาชนกำลังพูดถึงความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยีจะถูกใช้ในทางที่ผิดมากขึ้นเรื่อย ๆ” นายชนาธิปกล่าว

ชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูจำนวนมากตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีการสังเกตการณ์ในการปราบปรามประชากรชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงชุมชนอุยกูร์ในประเทศจีน

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้รับความสนใจจากคนไทยในภูมิภาคอื่นเพียงเล็กน้อย เท่านั้น และความกังวลเรื่องสิทธิของชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูมักไม่ได้ถูกให้ความสนใจเมื่อเทียบกับเรื่องความมั่นคงของชาติเสมอมา

“ไบโอเมทริกและเทคโนโลยีอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากการรับรู้ของคนไทยในภูมิภาคอื่น” นางสาวพรเพ็ญกล่าว “แต่ขณะที่เทคโนโลยีการสังเกตการณ์กำลังจะถูกใช้เพื่อสอดแนมชีวิตประจำวันของชาวมาเลย์มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เทคโนโลยีเดียวกันนี้ก็อาจจะกำลังคืบคลานมายังชีวิตของคนไทยทุกคนอยู่ก็เป็นได้”

 

อ้างอิง

Nithin Coca, “Surveillance of Minority Muslims in Southern Thailand is Powered by Chinese-Style Tech,” Coda Story, june 30, 2020, https://www.codastory.com/authoritarian-tech/surveillance-muslims-thailand/.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เว็บไซต์มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net