Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อเรียกร้องหนึ่งของกลุ่มเยาวชน คือ ยุบสภา ลองประเมินกันว่า หากยุบสภาตอนนี้ จะเกิดอะไรขึ้น

1. เลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยที่รัฐธรรมนูญ 2560 ยังบังคับใช้อยู่เหมือนเดิม

2. ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมยังคงใช้งาน คาดเดาว่าจะมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเพิ่มอีกจำนวนมาก เพื่อมาช้อนคะแนนผู้สมัครเขตไปให้ ผู้สมัครบัญชีรายชื่อได้เป็น ส.ส. ผลลัพธ์คือ เราจะได้พรรคการเมืองกลายพันธุ์และรัฐบาลผสมพรรคจำนวนมากที่ไร้เอกภาพและประสิทธิภาพ

3. วุฒิสภาแต่งตั้งยังอยู่ ยังคงมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. เสียงข้างมากที่ต้องใช้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คือ 375 จาก 750 ดังนั้น โอกาสที่จะได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม หรือ คนใหม่ที่มาจาก “การจัดตั้ง” โดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงสูงมาก

แล้วหากแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนยุบสภาเล่า มีขั้นตอนอย่างไร

ผู้เสนอแก้ได้แก่ 1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน ขึ้นไป) 3. ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ ส.ว. 150 คนขึ้นไป) 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

จึงมีความเป็นไปได้ที่ ส.ส. 100 คน ขึ้นไป หรือ ประชาชน 50000 คน จะเป็นผู้เสนอแก้

ขั้นตอนการแก้ ติดเงื่อนไขสำคัญ 3 ประการคือ วุฒิสภา ประชามติ และ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงควรเลือกแก้เฉพาะบางประเด็นสำคัญ และที่จะหาแนวร่วมได้ง่าย

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าการแก้ไขเพิ่มเติม ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 เสียง และ วาระที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา คือ ส.ส.+ส.ว. ต้องได้ไม่น้อยกว่า 375 เสียง หมายความว่า นอกจาก ส.ว 84 คน ที่ให้ความเห็นชอบแก้ไขในวาระแรกแล้ว ต้องมี ส.ส. อีก 291 คน ซึ่งแม้ฝ่ายค้านในปัจจุบันจะมี 212 เสียง แต่ 291 เสียง เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้

แก้ประเด็นใด ? หลุมพรางที่ต้องระวังคือ ไม่ยอมโอนอ่อนต่อการแก้เล็กๆ น้อยๆ แค่เพียงให้ได้ชื่อว่าได้แก้รัฐธรรมนูญแล้ว เช่น แก้เพียงที่มา สว.

เพื่อให้การแก้รัฐธรรมนูญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทันท่วงที แนวทางที่อาจทำได้ คือ แก้ไขวิธีการแก้รัฐธรรมนูญคือ มาตรา 256 เพื่อปลดล๊อคให้การแก้ไขเพิ่มเติมทำได้โดยไม่ต้องรอคอยการยินยอมจาก สว. เป็นเรื่องๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามหมวด 15 จึงต้องทำประชามติ และต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

เรื่องเร่งด่วนที่ควรแก้อีก 2 ประเด็น คือ ที่มาของนายกรัฐมนตรี ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่ใช่จากรัฐสภาที่มี สว. ด้วย และแก้ไขระบบเลือกตั้ง จะกลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 (โดยยกเลิก หรือ ลด เกณฑ์ขั้นต่ำ ลงมาเหลือ 2-3%) หรือ จะใช้ระบบผสม MMP ก็ยิ่งดี ทั้ง 2 ระบบ มีบัตรเลือกตั้ง 2ใบ สำหรับ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ต่างกันที่วิธีคิดจัดสรรที่นั่ง

เมื่อได้รัฐบาลใหม่ สภาผู้แทนราษฎรใหม่ ในระยะเวลาที่ไม่เนิ่นนานเกินรอ จึงค่อยเดินเรื่องแก้รัฐธรรมนูญในมาตราอื่นๆ หรือทั้งฉบับต่อไป ซึ่งมีทางเลือกที่พอนึกได้ ดังนี้

1. จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ประสบการณ์รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้หลายคนฝังใจว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญจะนำมาสู่อำนาจของประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญ

แต่ข้อเสียคือ ล่าช้า สสร. เป็นใคร มีกระบวนการคัดสรรอย่างไร มีกระบวนการรับฟังความเห็น และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยวิธีใด และยังมีขั้นตอนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับ

แต่หากสังคมมีฉันทามติในประเด็นที่จะแก้ไขอยู่แล้ว การใช้กระบวนการ สสร. ก็สามารถทำให้กระชับได้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็มาจาก สสร. และใช้เวลาเพียงประมาณ 1 ปี ตั้งแต่การแต่งตั้ง สสร. การร่าง จนถึงการทำประชามติ

2. ค่อยๆ แก้ไขรายมาตรา ด้วยกลไกรัฐสภา ประเทศส่วนใหญ่ใช้วิธีการนี้ เช่นอินโดนีเซีย ซึ่งใช้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทำโดยใช้กลไกรัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ครั้ง ระหว่าง ค.ศ. 1999-2002 เป็นการแก้ไขแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านได้มีเวลาปรับตัว และประนีประนอมทางความคิด

3. ใช้กลไกรัฐสภาและ สสร. ผสมกัน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 มีการแก้ไขเพิ่มเติม 6 ครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2539 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยการออกเสียงประชามติ

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย

ในปี 2563 สังคมไทยจะต้องใช้ความพยายามขับเคลื่อนประชาธิปไตยเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เกื้อกูลการรับรองสิทธิ ส่งเสริมเสรีภาพ บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ตรวจสอบคานอำนาจอย่างสมดุล มีองค์กรรัฐและรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับและรับผิดชอบต่อประชาชน
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net