Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณถามมีตำรวจไว้ทำไม หลังไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและอาชีวะช่วยชาติ ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ผบ.ตร. ขอให้เคารพและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อไปอีก 1 เดือน ในเดือน ส.ค. นี้ โดยจะไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะ ตามที่สื่อได้นำเสนอข่าวไปก่อหน้านี้นั้น

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้การชุมนุมในช่วงเวลานี้เป็นการละเมิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม ทำกิจกรรม ที่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ตามข้อกำหนดฉบับที่ 1 ข้อ 5 และการชุมนุม หรือทำกิจกรรมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ตามประกาศของ ผบ.สส. หัวหน้าผู้รับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง 

ศรีสุวรรณย้ำว่า การชุมนุมที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 หรือหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2563 หรือการชุมนุมแสดงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างจังหวัด ในหลายๆ พื้นที่ กระทั่งล่าสุดคือกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เป็นการทำกิจกรรมที่เกิดขึ้นก่อนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2563 ทั้งสิ้น ถือว่าการชุมนุม ทำกิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดตามข้อกำหนดที่ ศบค. ประกาศกำหนด ซึ่งจะต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเห็นว่า ในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีและ/หรือ ศบค. ออกมาประกาศว่าจะมีการงดเว้นบังคับตามข้อกำหนดที่ออกตาม มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการชุมนุม ดังกล่าวนั้น พบว่า ประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 4) นั้นจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป ดังนั้น การชุมนุมทุกครั้ง ทุกกลุ่มที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น แต่จนบัดนี้ ยังไม่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด ฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง ข้อกฎหมายต่างๆ ทั้งสิ้น

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ข้ออ้างที่ว่ายังอยู่ระหว่างสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปนั้น จะใช้ระยะเวลาในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกี่วัน กี่เดือน กี่ปี หรือเอาให้เต็มที่ 8 ปีเหมือนกรณีคดีของบอส-วรวุธ อยู่วิทยา บ้านเมืองมีขื่อมีแปร มีกฎหมายเพื่อใช้บังคับ หากตำรวจไม่เร่งรีบบังคับใช้กฎหมายปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวล โดยไม่เกรงกลัวความผิดเยี่ยงนี้ แน่นอนว่าตำรวจย่อมมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 โดยตรง และในที่สุดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็อาจจะถามกันอย่างเซ็งแซ่ว่า “มีตำรวจไว้ทำไม”

ขณะที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างที่มีการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ โดยเคารพและคุ้มครองสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชน ทั้งยังต้องดูแลให้การชุมนุมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม รวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุม ยุติการคุกคามและข่มขู่ประชาชนเพียงเพราะไปเข้าร่วมการชุมนุม และหยุดการคุกคามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะมีการรายงานจากผู้ชุมนุมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าพบผู้ชุมนุมและครอบครัวถึงที่พักของพวกเขา พร้อมทั้งตักเตือนไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมด้วย 

มิง ยู ฮา รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องรับรองว่า สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบต้องได้รับการเคารพ คุ้มครอง สนับสนุน และทำให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ โดยปราศจากการแบ่งแยกทุกประเภท รวมถึงในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง ทางการไม่ควรแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิเหล่านี้ตามอำเภอใจ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รับรองและอำนวยให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบด้วย 

โดยย้ำว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ตระหนักถึงการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตอบรับในรูปแบบที่มีการประสานเชื่อมต่อและอยู่ในระดับที่กว้างขวาง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเรียกร้องทางการไทยว่าหากมีการดำเนินมาตรการใดๆ ที่จำกัดสิทธิมนุษยชนในช่วงวิกฤตินี้ควรทำเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนเท่านั้น 

“เราขอเรียกร้องให้ท่านรับรองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาระเบียบและคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 โดยดำเนินการตรวจตราดูแลให้การชุมนุมโดยสงบสามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิผล การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวหมายรวมถึงให้งดเว้นการฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ รับประกันความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ชุมนุม และให้พวกเขาสามารถใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบได้”  

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถอนฟ้องคดีอาญาต่าง ๆ ที่ยื่นเพื่อเอาผิดประชาชนจำนวนมาก ทั้งนักเรียน นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง เพียงเพราะพวกเขาเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ คดีเหล่านี้หมายรวมถึงกรณีที่เกิดขึ้นจากการละเมิดข้อห้ามเรื่องการชุมนุมสาธารณะภายใต้มาตราที่ 9 (2) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 และทางการได้ประกาศว่ากำลังจะยกเลิกการบังคับใช้ในเกือบทุกกรณี ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบได้ปฏิบัติตามมาตรการเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน รวมถึงใส่หน้ากากและเว้นระยะห่างทางกายภาพระหว่างกันและกัน 

ท้ายสุดแอมเนสตี้ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในเสรีภาพการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ที่สอดคล้องกับหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ต้องสลายการชุมนุมซึ่งผิดกฎหมายแต่ไม่ใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากเป็นไปไม่ได้ต้องงดเว้นเอาไว้ หรือใช้ให้น้อยที่สุดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net