Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับพิจารณาคดีแบบกลุ่มชาวบ้านกัมพูชากว่า 700 ครัวเรือน 3,000 กว่าคนฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทมิตรผล จากเหตุที่บริษัทลูกไปรับสัมปทานจากรัฐบาลกัมพูชาที่มีนโยบายให้เอกชนเข้าไปใช้ที่ดินที่ซ้อนทับกับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน

31 ก.ค.2563 ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์เพื่อให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม (Class Action) กรณีที่ฮอย ไม (Hoy Mai) และ สมิน เต็ต (Smin Tet) เป็นตัวแทนชาวบ้านกว่า 700 ครัวเรือน 3,000 กว่าคน ในจ.อุดมมีชัย ประเทศกัมพูชา ร่วมกันฟ้องบริษัทมิตรผล จำกัด เป็นจำเลย เนื่องจากถูกละเมิดสิทธิจากการประกอบกิจการของบริษัทอังกอร์ ชูการ์ บริษัทลูกของบริษัทมิตรผล

ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้สัมภาษณ์ว่าทางฝ่ายโจทก์ได้ฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหายต่อชีวิตร่างกายเป็นค่าพยาบาลและสถานพยาบาล ค่าเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นบ้านและพืชผลจากถูกเผาทำลาย และยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จากบริษัทมิตรผลของไทยที่ให้บริษัทอังกอร์ชูการ์เพื่อรับสัมปทานในการทำไร่อ้อยจากรัฐบาลกัมพูชาที่มีนโยบายให้เอกชนเข้าไปใช้ที่ดินที่ซ้อนทับกับที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้าน

ทิตศาสตร์กล่าวถึงผลคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ว่าศาลมีคำสั่งให้รับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่าจากการไต่สวนของฝ่ายโจทก์แล้วเห็นว่า บริษัทอังกอร์ชูการ์ที่ลงทุนในกัมพูชาเป็นตัวแทนของจำเลยรับสัมปทานจำนวน 39,550 ไร่ซึ่งคลอบคลุมพื้นที่ทำกินของโจทก์ทั้งสองและสมาชิกของกลุ่มด้วย โดยบ้านและพืชผลถูกรื้อเผาทำลายทำให้สมาชิกกลุ่มได้รับความเสียหาย ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มบุคคลทั้งจากทั้งข้อเท็จจริงเดียวกันและข้อกฎหมายเดียวกันทำให้มีลักษณะเป็นคดีกลุ่ม ศาลจึงให้สมาชิกกลุ่มมาเรียกร้องค่าเสียหายร่วมกันได้ การดำเนินคดีแบบกลุ่มจึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยให้โจทก์ทั้งสองดำเนินการคุ้มครองสิทธิแทนสมาชิกกลุ่มอื่นๆ ได้

ทนายความยังกล่าวต่อว่า คดีนี้ตอนศาลชั้นต้น ศาลมองว่าไม่สามารถไปคุ้มครองสมาชิกของกลุ่มที่ต่างประเทศได้เพราะว่าอยู่ที่กัมพูชาและอยู่ในที่ทุรกันดาร การส่งคำบอกกล่าวคำสั่งต่างๆ อาจจะมีปัญหา แต่ในศาลชั้นอุทธรณ์กลับมองประเด็นนี้ว่าฝ่ายโจทก์มีความสามารถในการส่งคำบอกกล่าวและดูแลสมาชิกในคดีได้ก็พอ ส่วนประเด็นอื่นก็ต้องว่ากันไปในชั้นสืบพยาน

ทิตศาสตร์ แจ้งถึงนัดพิจารณาครั้งต่อไปว่าวันที่ 5 ต.ค.2563 ที่จะถึงนี้เป็นนัดพร้อมเพื่อเตรียมความพร้อมในการสืบพยาน แล้วกระบวนต่อไปหลังจากนี้ศาลต้องส่งคำสั่งไปถึงบริษัทมิตรผลเพื่อให้ส่งคำให้การมายื่นต่อศาลเพื่อชี้แจงว่าได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

สำนักข่าวชายขอบเคยรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อชาวกัมพูชา จ.อุดรมีชัย ได้ร้องเรียนว่าบริษัทมิตรผลได้บีบให้ครอบครัวของพวกเขาในพื้นที่ชนบททางตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชาออกจากที่ดินจนไร้ที่อยู่ในช่วงปี 2551-2552 เพื่อแปลงสภาพเป็นไร่อ้อยขนาดใหญ่ที่จะส่งให้กับโรงงาน บริษัทลูกของมิตรผลรวมถึงบริษัทน้ำตาลอังกอร์ โดยใช้ที่ดินจำนวน 9,430 เฮคตาร์ (58,937.5 ไร่)ในจำนวนนั้นมีผืนป่าชุมชนที่ชาวบ้าน 26 หมู่บ้านบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งในท้ายที่สุดโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ บริษัทลูกของมิตรผลปิดตัวลง แต่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแห่งประเทศไทย (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียน และต่อมารายงานว่ามิตรผลมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อการกระทำที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และมีข้อเสนอแนะให้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net