กมธ. เห็นพ้องต้องแก้บทบัญญัติวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ตาม ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เห็นตรงกัน ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เตรียมส่งรายงานความเห็นต่อสภาภายในเดือน ส.ค. ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขณะที่ 'คณะก้าวหน้า' เสนอ แก้ 3 กรณี วิธีแก้ไข เปิดทางให้มี สสร. - ยกเลิกรับรอง คสช. - ส.ว.มาตามปกติ

31 ก.ค. 2563 สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) พร้อมคณะ แถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ. ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองและระบบกฎหมาย

ประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในมาตรา 256 แล้ว เห็นว่ามีหลักเกณฑ์ในมาตรานี้หลายข้อที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเห็นพ้องว่า ควรต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และมีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจมีการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยคณะกรรมาธิการจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดสรุปเป็นรายงานภายในวันที่ 27-28 ส.ค. 2563 และส่งรายงานเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 ส.ค. นี้ ก่อนส่งให้สภาพิจารณา ส่วนการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาและรัฐบาล

"มาตรา 256 เป็นส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของเนื้อหารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน หากยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมาธิการเห็นว่าทำให้การแก้ไขในหลายเรื่องลำบาก ก็คิดว่าควรแก้ไขมาตรานี้ก่อน ซึ่งนับแต่กรรมาธิการพิจารณามา ตั้งแต่มาตราต้นๆ ก็เห็นว่าควรจะแก้ไขทุกหมวดเพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมือง และมีความเห็นตรงกันว่านอกจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แล้วหากเป็นไปได้ควรต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับซึ่งอาจต้องมีการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งสุดแล้วแต่รัฐบาลที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป หากเป็นไปได้ก็จะใส่เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเข้าไปด้วย และ ถือว่าวันนี้ได้ตอบข้อเรียกร้องของน้องๆ นักศึกษาไปแล้ว เพราะคณะกรรมาธิการไม่เคยนิ่งนอนใจนำข้อเสนอต่างๆมาพิจารณาประกอบและเรื่องมาตรา 256 ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้วซึ่งก็ยืนยันว่าทำให้ทุกเรื่องและทำตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาแต่รวมถึงประชาชนทั่วไปและองค์กรอื่นๆด้วย" พีระพันธุ์ กล่าว

ด้านโภคิน พลกุล รองประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า ขณะนี้ นักศึกษา ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปในทางที่ดีขึ้น จึงเห็นพ้องกันว่าหากแก้ในมาตรา 256 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้การแก้ไขไม่ยุ่งยาก และเพิ่มหมวดว่าด้วยการให้มี ส.ส.ร. ขึ้นมา ทำนองเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 จนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเห็นควรให้คณะกรรมาธิการที่มาจากทุกพรรคร่วมกันพิจารณาในประเด็นนี้ หากทุกพรรคและ ส.ว. เห็นพ้องด้วย จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน น่าจะได้ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 390 วัน โดยรวมรวมน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี 6 เดือนก็จะเสร็จเรียบร้อย เห็นทางออกของประเทศว่าในอนาคตจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนเห็นชอบโดยประชาชน

สำหรับรูปแบบของ ส.ส.ร. นั้น นายโภคิน กล่าวว่า ตอนสมัยยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 ให้ผู้ที่สนใจสมัครและเลือกเข้ามากันเองแล้วให้รัฐสภาเลือก และรัฐสภาเลือกนักวิชาการมาอีกส่วนหนึ่ง เข้าสู่รัฐสภา ส่วนร่างที่ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เสนอ ให้เลือกคนมาเป็น ส.ส.ร. 200 คน เป็นตัวแทนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน ถ้าจังหวัดใหญ่ก็มีได้หลายคน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าบุคคลเหล่านี้จะเข้ามาแก้ไขอย่างไรและไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงอะไรได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ไอลอว์เคยอธิบายกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไว้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมดเพียงสองมาตราคือ มาตรา 255 มาตรา 256

มาตรา 255 กำหนดเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเด็ดขาด คือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งสอดคล้องไปกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่บอกว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาญาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ส่วนมาตรา 256 กำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไว้ว่า ผู้ที่สามารถยื่นญัตติหรือริเริ่มขอแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องเป็น 1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน ขึ้นไป) 3. ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ ส.ว. 150 คนขึ้นไป) 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

ส่วนญัตติแก้ไขเพิ่มต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่

วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา และกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 

หมายความว่า ส.ส.+ส.ว. ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 375 เสียงและในจำนวนนั้นต้องเป็น ส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 เสียง

วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงรายมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก คือ ส.ส. หรือ ส.ว.ก็ได้รวมกันให้ได้ 375 เสียงขึ้นไป แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระสาม

วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา คือ ส.ส.+ส.ว. ต้องได้ไม่น้อยกว่า 375 เสียง แต่มีเงื่อนไขพิเศษกำหนดให้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

'คณะก้าวหน้า' เสนอ แก้ 3 กรณี วิธีแก้ไข เปิดทางให้มี สสร. - ยกเลิกรับรอง คสช. - ส.ว.มาตามปกติ

คณะก้าวหน้ารายงานด้วยว่า วันนี้ ที่รัฐสภา ในการประชุม กมธ. ดังกล่าว ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า สำหรับสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาตอนนี้ มีเรื่องข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นเอกภาพ เพราะมีทั้งอยากให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ อยากให้ยกเลิก ส.ว. อยากให้ยกเลิกองค์กรอิสระ เป็นต้น ในฐานะที่เราเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งต้องช่วยกัน ใครทำอะไรได้ต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้การชุมนุมนี้ไปสู่จุดที่เราไม่อาจคาดหมายได้ ตนคิดว่า 2 เดือนก่อนปิดสมัยประชุม ยังมีโอกาส รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตามมาตรา 256  ที่บอกว่าแก้ยาก ก็อยู่ที่ทุกฝ่ายจะแก้หรือไม่

"สำหรับผม มีข้อเสนอแก้ 3 กรณี คือ 1. แก้วิธีการแก้ มาตรา 256 พร้อมเพิ่มบทบัญญัตให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2.ระหว่างกระบวนการในข้อหนึ่งที่ใช้เวลานาน ก็ให้แก้ไขบางมาตราที่สามารถทำให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติได้ นั่นคือ มาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ต้องเปิดทางให้คนโต้แย้งได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับว่าเรามีมาตราสุดท้ายนี้ที่ยกเว้น ทั้ง 278 ก่อนหน้าทั้งหมดเมื่อเจอกับประกาศ คำสั่ง คสช. และ 3.  ยกเลิก ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269-272 และไปใช้ช่องทางการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามระบบปกติ" ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ยาก แต่รัฐธรรมนูญนั้นต้องผ่านฉันทามติร่วมกันของสังคมมาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการยึดอำนาจของ คสช. แล้วเขียนรัฐธรรมนูญกันเอง เพื่อสกัดกั้นอีกฝ่ายไม่ให้แก้ อย่างนี้เอาไปเทียบไม่ได้เลยกับรัฐธรรมนูญสากล ผิดฝาผิดตัวมาก เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ชนะเป็นคนร่าง ประสบการณ์จากหลากหลายประเทศบอกไว้ว่า หากรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นฉันทามติร่วมกันแต่กลับกำหนดให้แก้ไขยาก ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญ อาจจบด้วยความขัดแย้งรุนแรง หรือฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยวิธีการนอกระบบ

ด้าน ชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะ กมธ.  กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญยากหรือง่าย ต้องพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน เป็นฉันทามติจากประชาชนต้องแก้ไขยาก ส่วนที่มาจากการรัฐประหารหรืออำนาจที่ไม่ชอบธรรมต้องทำให้ง่าย อย่างเช่นรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 นี้ ต้องแก้ไขให้ง่าย ดังนั้น ต้องไปแก้เรื่องมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไขก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อเปิดทางไปสู่การแก้ไขเรื่องอื่นๆ ซึ่งในความเห็นตน แก้ทีละมาตราไม่ได้ เพราะทุกเรื่องเกี่ยวโยงพันกันหมด ดูมาตราใดมาตราหนึ่งไม่ได้เพราะจะกระทบกับมาตราอื่น ดังนั้น ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท