Skip to main content
sharethis

ภาพจากงานฌาปนกิจ ‘หลีอุย แซ่อึ้ง’ หรือที่รู้จักในนาม ‘ซีอุย แซ่อึ้ง’ ที่วัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี ภายหลังการเรียกร้องใน change.org ในปี 2561 และโดยชาวบ้านทับสะแกต่อกรรมการสิทธิในปี 2562 จนพิพิธภัณฑ์ศิริราชนำร่างซีอุยออกจากการจัดแสดง และมีการจัดพิธีบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจนับเป็นการปิดตำนานและคำตราหน้า ‘มนุษย์กินคน’

เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์และมูลนิธิร่วมกตัญญูนำร่างของ ลีอุย หรือซีอุย แซ่อึ้ง จากศิริราชพยาบาลมายังวัดบางแพรกใต้ จ.นนทบุรี เพื่อตั้งศพบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจและเก็บอัฐิเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 หลังจากมีการเคลื่อนไหวทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้แก่เขามาตั้งแต่ปี 2561

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2561 "ฟาโรห์ จักรภัทรานน" เริ่มต้นแคมเปญล่ารายชื่อใน change.org ถึงผู้บริหารพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช เรียกร้องให้ "นำร่างซีอุย แซ่อึ้งออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน" (https://tiny.cc/l30o6y) และต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 กระแสเรียกร้องให้นำร่างซีอุย แซ่อึ้ง ออกจากพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน หรือที่รู้จักกันในชื่อพิพิธภัณฑ์ศิริราช กลับมาอีกครั้ง และมีชาวทับสะแกมายื่นเรื่องร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

โดยในวันฌาปนกิจดังกล่าวนอกจากอังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมไปถึงเทิดพร มโนไพบูลย์ วัย 69 ปี อดีตนักแสดงที่เคยรับบทบาทเป็น "ซีอุย" ในละครโทรทัศน์ ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เมื่อปี 2527 จะมาร่วมพิธีฌาปนกิจ ยังมีชาวบ้านจากทับสะแก อำเภอหนึ่งใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สถานที่ซึ่งซีอุยเคยอาศัยอยู่ ได้มาร่วมไว้อาลัยและทำบุญให้ซีอุยเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

บำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจหลีอุย แซ่อึ้ง หรือ 'ซีอุย'

เทิดพร มโนไพบูลย์ นักแสดงผู้เคยรับบท 'ซีอุย' ในละครโทรทัศน์


เส้นทางทวงคืนศักดิ์ศรีจากออนไลน์ สู่กรรมการสิทธิและพิพิธภัณฑ์

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ นายหลีอุย หรือซีอุย แซ่อึ้ง ถูกศาลฎีกาตัดสินประหารชีวิตในข้อกล่าวหาฆาตกรรมเด็กในหลายพื้นที่ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 ที่เรือนจำบางขวาง หลังจากนั้นศพได้ถูกจัดแสดงเพื่อการศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช เพื่อเป็นวิทยาทานด้านนิติเวชศาสตร์ตั้งแต่ปี 2502 จนกระทั่งปี 2562 มีการยกเลิกการจัดแสดงและนำออกจากพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากอาจเข้าข่ายหมินประมาทและละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต มีการประกาศตามหาญาติเพื่อเปิดโอกาสให้ญาติดำเนินการเกี่ยวกับศพให้เหมาะสม

ร.ต.ต.พล พลายสถิตย์ อดีตข้าราชการตำรวจ ประจำสถานีตำรวจภูธรทับสะแก วัย 50 ปี เล่าถึงแรงบันดาลใจในการยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เพื่อเรียกร้องและทวงคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับซีอุยว่ามีที่มาจากแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org ดังกล่าว แต่แม้จะมีคนลงชื่อสนับสนุนนับหมื่นคน แต่ยังไม่มีการยื่นหนังสือเป็นทางการ เขาในฐานะชาวบ้านทับสะแกเมื่อเห็นดังนั้น จึงได้มีการพูดคุยกับชาวบ้าน ล่ารายชื่อจำนวน 50 รายชื่อ และทำหนังสือ โดยอ้างข้อกฎหมายและแคมเปญในเว็บไซต์ Change.org และยื่นให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตีความ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ตีความว่าศิริราชต้องปลดป้ายมนุษย์กินคน และนำร่างของซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์

จากการเปิดเผยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (https://pct.fyi/6cux1) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องดังกล่าว ได้ปรับปรุงข้อความในป้ายจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2562

และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2562 ผู้ถูกร้องได้ประกาศติดตามหาญาติของซีอุย เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติได้ร่วมหารือเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับศพให้เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย  แต่เมื่อครบกำหนดในวันที่ 4 สิงหาคม 2562 แล้ว ไม่มีบุคคลใดที่สามารถแสดงตัวได้ว่าเป็นทายาทหรือญาติ

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 ผู้ถูกร้องจึงได้แถลงต่อสาธารณะว่าได้นำศพของซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว โดย วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าการดำเนินการของผู้ถูกร้องแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้วจึงให้ยุติเรื่อง

ลงชื่อคืนศักดิ์ศรี-นำร่างซีอุยออกจากพิพิธภัณฑ์ รพ.ศิริราช, 14 พ.ค. 2562

กสม. ร่วมหาทางออกปมนำร่างของ 'ซีอุย แซ่อึ้ง' ไปแสดงในพิพิธภัณฑ์, 26 มิ.ย. 2562

กสม. แนะเรือนจำบางขวางเป็นผู้จัดการศพ 'ซีอุย' หลังไม่มีญาติมาขอรับศพ, 6 ก.พ. 2563

ชาวบ้านทับสะแกหวังจบคำครหา “มนุษย์กินคน”

“คำว่า ‘มนุษย์กินคน’ เป็นคำที่มีความหมายรุนแรง คำว่า ‘มนุษย์’ มันมีเผ่าพันธุ์ ถ้าซีอุยมีญาติพี่น้อง เขาคงไม่ยอม ถึงซีอุยจะผิดหรือไม่ผิด พอตายลงไปก็ต้องเผา พอเผาเสร็จกระดูกจะไปเก็บไว้ หรือว่าไปลอยอังคาร หรือจะไปทำบุญ อะไรก็ว่าไป แต่วันนี้ก็น่าจะเบาบางลง คำว่า ‘ซีอุยมนุษย์กินคน’ ก็จะเบาบาง และลืมกันไปในคนรุ่นหลัง ก็จะจบไป” ร.ต.ต.พล ผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

ส่วนคำถามว่ายังมีคนนึกถึงหรือเชื่อถือหรือไม่ พล พลายสถิตย์กล่าวว่า ก็มีคนรุ่นเก่าๆ ที่ยังทันๆ กันอยู่ ก็ยังนึกถึง บางคนก็เชื่อว่าซีอุยทำจริง บางคนก็ไม่เชื่อ แต่ส่วนมากชาวทับสะแก 70-80% ไม่เชื่อ

พล เล่าถึงความทรงจำต่อซีอุยว่า ถ้าสมัยก่อนตอนเด็กๆ ที่ยังไม่มีข้อมูล อาศัยการดูในหนัง เขาเองก็เชื่อ หรือบางทีก็มีผู้ใหญ่พูดว่า “อย่าออกไปไหนดึกดื่นนะ เดี๋ยวซีอุยจับกินตับนะ ซีอุยเอาไปฆ่านะ” เขาก็เชื่อ และกลัว จนเมื่อโตขึ้น มีข้อมูล และข้อเท็จจริง ชาวบ้านในทับสะแกส่วนใหญ่ในรุ่นเดียวกับซีอุยก็บอกว่า จริงๆ แล้วซีอุย เป็นคนที่ร่าเริง แจ่มใส นิสัยดี รักเด็ก เป็นคนจีนที่พูดไทยไม่ได้ และไม่มีทีท่าว่าจะโหดร้าย ตามที่ในหนัง ในสารคดี ตามที่สื่อมวลชนสมัยก่อน หรือคนทั่วไปเสนอ

“แต่เราเชื่อในกระบวนการศาลยุติธรรม กระบวนการยุติธรรม การตัดสินใจของการพิพากษา ที่ซีอุยโดนประหาร เรายอมรับคำตัดสิน”  พลกล่าว

ต่อคำถามถึงการเยียวยา พลระบุว่าไม่ได้มีการเยียวยาอะไร เพราะจุดประสงค์หลักของเขาและชาวบ้าน คือให้นำร่างซีอุยที่พิพิธภัณฑ์ศิริราช มาฌาปนกิจเพียงเท่านั้น

“เราก็ไปบังคับเขาไม่ได้ว่าจะจำว่าซีอุยไม่ใช่คนที่ทำผิด มันคงจะไม่ได้ ก็คงจะเป็น ถือว่าเป็นวิถีชีวิต ซีอุยมาทำงานที่ทับสะแกมา ใช้ชีวิตที่ทับสะแก ก็อยากให้จำแค่นั้น แล้วก็ซีอุยไม่ได้อยู่ที่ศิริราชอีกต่อไป ได้ทำการฌาปนกิจไปเรียบร้อยแล้ว ให้ภาพลบเลือนไป” พล กล่าวทิ้งท้าย

ด้านวรรณภา ทองฉิม ชาวบ้านทับสะแก และหลานสาวของอดีตนายจ้างซีอุย เล่าถึงซีอุยว่า มันจึงเป็นความฝังใจสำหรับเธอว่าคนๆ หนึ่ง ซึ่งพลัดถิ่นมาแล้วมาทำงานอยู่ในเมืองไทย เขาก็ลำบากพอแล้ว ยังซ้ำเติมโดยที่เขาไม่มีทางสู้ เธอเอง ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง หากมองมุมกลับว่าเกิดกรณีอย่างนั้นกับเธอจะรู้สึกอย่างไร เธอจึงอยากทำให้ซีอุยได้ออกมาจากตู้กระจก 

“วินาทีนี้เขาได้ออกมาแล้วเราก็ดีใจ ก็คงจะจบตำนานซีอุย คงจะมีแต่สิ่งที่ดีๆ ของซีอุยให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขานกัน” วรรณภากล่าว

ต่อคำถามว่าอยากให้ซีอุยถูกจดจำด้วยภาพแบบไหน วรรณภากล่าวว่า อยากให้คนจำภาพซีอุยเป็นภาพที่ดี หมายถึงว่าซีอุยเป็นคนพลัดถิ่นมา มาอยู่เมืองไทย ไม่มีญาติ เป็นคนที่ดี มีนิสัยอ่อนโยน อ่อนหวาน ไม่ได้เป็นคนที่โหดร้ายทารุณอะไรแบบนั้นเลย

“ต้องบอกว่าเขารับผิด รับโทษ รับกรรม ที่อยู่ในตู้ แล้วก็ออกมายังเป็นนักโทษอยู่ ยังไงก็ยังไม่ได้หลุดคำว่านักโทษนะ” ผู้ที่มากับวรรณภากล่าวเสริม

แต่เดิมชาวบ้านทับสะแกที่มาร่วมพิธีฌาปนกิจคาดว่าจะเจรจากับกรมราชทัณฑ์เพื่อขอนำอัฐิของซีอุยไปเก็บที่หมู่บ้าน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่เรือนจำให้ข้อมูลว่าเถ้ากระดูกที่เหลือหลังฌาปนกิจจะต้องเก็บไว้ที่วัดบางแพรกใต้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถเคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนาหรือนำไปลอยอังคารได้ เนื่องจากเป็นระเบียบของทางกรมราชทัณฑ์

สัปเหร่อไม่คิดมาก่อนว่าจะได้ฌาปนกิจให้ซีอุย

ผู้สื่อข่าวสัมภาษณ์สัปเหร่อประจำวัดบางแพรกใต้ อรชร มั่งเรือน ซึ่งไม่เคยข้องเกี่ยวกับซีอุยมาก่อน เธอระบุว่าส่วนตัวไปพิพิธภัณฑ์ศิริราชบ่อย เพราะต้องไปดูเกี่ยวกับการจัดกระดูก โครงกระดูก ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับที่จัดแสดงร่างของซีอุย “แต่จริงๆ แล้วไม่คิดว่าจะได้เผาหรืออะไรทั้งสิ้น” อรชร กล่าว

เธอเล่าถึงการทำงานสัปเหร่อที่วัด โดยระบุว่า ปกติไม่เพียงแต่นักโทษ แต่ชาวบ้านหรือคนทั่วไปก็สามารถนำมาฌาปนกิจที่วัดนี้ได้ แต่ด้วยความที่ประตูแดงของเรือนจำกลางบางขวางอยู่ใกล้เมรุของวัดบางแพรกใต้ ทำให้ง่ายต่อการขนย้าย ซึ่งอรชรกล่าวเสริมว่า มีบางศพ เฉพาะเป็นบางเคสที่เจ้าภาพเอาศพกลับบ้านก็มี เป็นบางเคสที่เขาไม่มีตังค์แล้วก็มาทำที่นี่(วัดบางแพรกใต้) ก็มี โดยการทำพิธีกรรมเหมือนกันหมด แต่สำหรับนักโทษ จะทำอะไรที่เรียบง่ายเพราะว่าสภาพศพไม่สมบูรณ์ 

“..บางทีมาก็เดือน สองเดือน มาถึงก็ต้องเอาเข้าเลย ประหารเสร็จนอนอยู่ข้างในคืนหนึ่ง เช้าถึงจะออก แต่เขาไม่ได้มีฉีดยา แล้วบางทีกว่าญาติ ซึ่งญาติอยู่ไกล อยู่เหนือหรืออยู่ใต้ เขาไม่ได้รู้นี่ว่าจะโดนประหารเมื่อไหร่ คือ ไม่มีตังค์น่ะ กว่าเขาจะเก็บตังค์กันลงมา กว่าจะได้ทำ ก็เดือนสองเดือนแล้ว ก็มาเผาที่นี่แล้วก็เอากระดูกกลับ มันจะง่ายกว่า” เธอกล่าว

สำหรับความแตกต่างระหว่างร่างซีอุย และร่างอื่นๆ เธอกล่าวว่า การที่ไม่ทราบว่าสภาพของร่างที่ถูกนำมาฌาปนกิจเป็นอย่างไร เนื่องจากไม่มีการเปิดดูมาก่อน ทำให้เธอต้องคำนวณเวลาในการเผาไหม้ด้วยตนเอง รวมถึงร่างของซีอุยได้มีการทาขี้ผึ้งมาด้วย

“ก็ดีนะพี่ว่า เอาเขาเผาไป เขาจะได้ไปผุดไปเกิดสักที..” อรชรกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net