ครป.เสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทางออกเพื่อชาติบ้านเมือง

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอ 9 ข้อ แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทางออกเพื่อชาติบ้านเมือง ยกเลิก ส.ว.-คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ขยายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

1 ส.ค. 2563 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้รัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเร่งรัดให้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อหาทางออกให้ประเทศ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังขยายตัวก่อนที่จะสายเกินแก้ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเป็น “สัญญาประชาคม” ในการร่วมกันพัฒนาประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น

โดยให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรื่องคงค้างเก่าให้แล้วเสร็จก่อนการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2563 เพื่อเดินหน้าประเทศไทยและปลดล็อคการสืบทอดอำนาจโดยให้พรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและเปิดทางให้มีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านกลไก ส.ส.ร.ในอนาคต

เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีข้อบกพร่องมากมาย เพราะถูกออกแบบและเขียนขึ้นโดยกลุ่มคณาธิปไตย และใช้สืบทอดอำนาจคณะบุคคลในรัฐบาลชั่วคราวเพื่อจะเป็นรัฐบาลต่อไป ผ่านกลไกรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาลและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เงื่อนไขรัฐธรรมนูญเหล่านี้จะนำไปสู่วิกฤตการเมืองไม่จบสิ้นหากไม่แก้ไขหรือร่างขึ้นใหม่จากการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ในหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.ร.) ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกัน กรรมาธิการที่มาจากหลายพรรคการเมืองและสะท้อนเสียงของประชาชน ควรจะเสนอแก้ไขรายมาตราที่เป็นปัญหาต่อรัฐสภาโดยตรงไปด้วยในฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนี้เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญดังต่อไปนี้

1. การแก้ไขต้องยึดหลักรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นพื้นฐานหรือต้องได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับ 2540  โดยยกเลิกบทเฉพาะกาลที่สืบทอดอำนาจคณะรัฐประหารทั้งหมด รวมถึงการบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตร่วมของรัฐสภาในบทเฉพาะกาล ทำให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจเลือกผู้บริหารประเทศโดยไม่ยึดโยงเจตจำนงค์ของประชาชนผ่านการเลือกตั้งผู้แทน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายเสียงข้างมากต้องได้รับสิทธิในการบริหารประเทศ และถูกกำกับด้วยหลักธรรมาภิบาล กฎหมาย ฝ่ายเสียงข้างน้อย กระบวนการยุติธรรมและประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป หากไม่แล้วก็ควรให้มีระบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง

2. ขอให้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมผสานควรกลับมาใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเหมือนเดิม เพื่อให้ประชาชนเลือกคนที่รักและพรรคที่นโยบาย แยก ส.ส.เขตเลือกตั้ง กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคออกไปให้เป็นระบบ นอกจากนี้ควรยกเลิกสัดส่วนระหว่างบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คนกับ ส.ส.เขต 350 คน เพราะหาตรรกะไม่ได้และไม่มีความสมดุลกัน ในหลายประเทศทั่วโลกมีตัวอย่างระบบผสมแบบครึ่งต่อครึ่ง หรือระบบบัญชีรายชื่อระบบเดียว หรือระบบ ส.ส.เขตระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้มีการยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการลอนสิทธิทางการเมืองตามหลักอารยะประเทศ

3. ยกเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ยกเลิกการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคและกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นระบบธนาธิปไตยและต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ควรปรับลดจำนวน ส.ส.ลงมาเพื่อประหยัดงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องมีมากเหมือนเก่า เนื่องจากประชาชนเข้าถึงผู้แทนของตนเองง่ายกว่าในอดีต

4. กำหนดเงื่อนไขการปฏิรูปประเทศและกรอบเวลาการออกเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ขจัดการผูกขาด ระบบรัฐสวัสดิการ การปฏิรูปกองทัพ การปฎิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบการศึกษาให้มีคุณภาพและการพัฒนาพลเมือง (Civic Education) ตลอดจนการปฏิรูปพลังงานและทรัพยากรด้านต่างๆ ทางสังคม เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและรัฐสวัสดิการ เพื่อความมั่นคงของประเทศท่ามกลางระบบระหว่างประเทศที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

5. ต้องมีการกระจายอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญตามแนวคิดจังหวัดจัดการตนเองภายใต้หลักการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น ยกเลิกระบบรัฐราชการรวมศูนย์ และออกกฎหมายการกระจายอำนาจการปกครอง โดยให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ถ่ายโอนราชการส่วนภูมิภาคขึ้นกับจังหวัด กระจายอำนาจและความรับผิดชอบจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เพื่อเปิดปริมณฑลการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง รวมถึงระบบภาษีที่ประชาชนเสียภาษีที่ไหนให้ใช้พัฒนาที่นั่น เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจและมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ประเทศไทยต้องกระจายอำนาจการปกครองจากรัฐราชการรวมศูนย์ไปสู่การพัฒนาเมืองต่างๆ ให้เติบโตยั่งยืนด้วยตนเองและส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเองด้วยระบบราชการสมัยใหม่ที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกเมืองได้พัฒนาทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นเอง

6. ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นเสมือนคณะโปลิตบูโรและรัฐบาลเงาอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน จะต้องไม่มีองค์กรใดอยู่เหนือองค์กรที่มาจากประชาชนและยึดโยงกับพลเมือง ยุทธศาสตร์ชาติทำให้รัฐบาลขาดอิสรภาพที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยตามบริบทการพัฒนาที่รุดหน้าไปตามเทคโนโลยี สำหรับการพัฒนาที่ขาดธรรมาภิบาล แก้ปัญหาได้โดยให้มีการประชามติทุกโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ในรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องเขียนหน้าที่และนโยบายรัฐทั้งหมด เพราะทำให้อุดมการณ์พรรคการเมืองและข้อเสนอทางนโยบายไร้ความหมาย อีกทั้งบริบทโลกและบริบทประเทศเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การกำหนดหน้าที่และนโยบายแบบแข็งตัว (Rigid) จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง 

7. ปฏิรูปองค์กรอิสระและยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ทั้งคณะกรรมการสรรหา คุณสมบัติของผู้สมัคร และการให้ความเห็นชอบ ซึ่งทั้งหมดต้องยึดโยงกับประชาชนผ่านกลไกรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตย อีกทั้งผู้สมัครต้องแสดงวิสัยทัศน์ ต้องผ่านการฝึกอบรมในเรื่องพลเมืองประชาธิปไตย (Civic Education) และยกเลิกการตั้งเงื่อนไขคุณสมบัติว่า ต้องเป็นข้าราชการหรือเรียนจบปริญญาตรี เป็นต้น รวมถึงการลดวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการองค์อิสระ ให้เหลือแค่ 5 ปี เนื่องจากยาวนานเกินไป องค์กรอิสระ องค์กรศาลฯ หรืออื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ต้องยุติหลักสูตรพิเศษที่จัดขึ้นในองค์กรซึ่งระบอบอุปถัมภ์จะทำให้ความเป็นธรรมถูกเลือกปฏิบัติ 

8. ให้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายการเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าเหมือนนานาอารยประเทศ ยกเลิกนโยบายส่งเสริมการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การลดหย่อนภาษีเงินได้และการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ รวมถึงการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบอย่างจริงจัง โดยไม่ปล่อยให้ที่ดินถูกครอบครองโดยไม่จำกัดจากผู้มีทุนทรัพย์มากกว่า โดยให้มีการจำกัดการถือครองที่ดินและไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI) และการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีตามกฎหมายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC)

9. ขยายสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีอยู่ทั้ง 2 ฉบับ โดยแก้ไขการเข้าถึงซึ่งข้อมูลข่าวสาร ระเบียบข้อบังคับราชการ การรวมตัดสินใจในโครงการขนาดใหญ่ผ่านการประชามติและประชาธิปไตยทางตรงในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ ควรให้มีการตรวจสอบปัญหาการคอร์รัปชันโดยภาคการเมืองและภาคประชาชนควบคู่กันไป โดยเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบอิเลคทรอนิกส์อย่างเปิดเผย โปร่งใส และมีธรรมาภิบาลในการบริหารหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบราชการทั้งระบบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท