สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 ก.ค.-1 ส.ค. 2563

แรงงานผลิตกระเป๋าส่งออก จ.บุรีรัมย์ ประท้วงถูกลดค่าจ้างเหลือวันละ 198 บาท

แรงงานบริษัทผลิตกระเป๋าส่งออกแห่งหนึ่งใน อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมที่หน้าโรงงาน หลังไม่พอใจที่ถูกนายจ้างเอาเปรียบโดยการบีบให้เซ็นรับค่าแรงวันละ 198 บาท หรือ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างที่ได้รับตามกฎหมายวันละ 320 บาท โดยทางบริษัทอ้างว่าไม่มีออเดอร์งาน จากที่ก่อนหน้านี้ช่วงเกิดสถานการณ์เชื้อโควิดระบาดต้องหยุดงานยาวถึง 3 เดือน ก็ได้รับผลกระทบกันอยู่แล้ว

บรรดาแรงงาน บอกว่า ยอมรับค่าแรงช่วงที่ต้องหยุดงานตามที่บริษัทเสนอวันละ 198 บาทเพราะเข้าใจในสถานการณ์ แต่พอมาวันนี้ซึ่งเปิดทำงานวันแรกพนักงานก็เดินทางมาทำงานตามปกติ แต่ทางบริษัทกลับบอกว่าไม่มีออเดอร์จะจ่ายค่าแรงให้เพียงวันละ 198 บาท หรือ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง แรงงานจึงไม่พอใจได้รวมตัวกันออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยขอให้บริษัทจ่ายค่าแรงให้ตามปกติวันละ 320 บาท แต่หากไม่มีออเดอร์งานจริง ก็ขอให้จ่ายตาม พ.ร.บ.แรงงาน คือ 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง หรือวันละ 240 บาท หากทางบริษัทไม่ยอมจ่ายตามที่เรียกร้องก็จะเดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป พร้อมทั้งขอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลช่วยเหลือแรงงานด้วย

ตัวแทนแรงงาน บอกว่า ที่รวมตัวกันออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในวันนี้ เพราะถูกนายจ้างบีบให้รับค่าแรงงานตามที่บริษัทเสนอ คือ 62 เปอร์เซ็นต์ หรือวันละ 198 บาทของค่าจ้างปกติ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็หยุดงานไปถึง 3 เดือนก็ได้รับค่าแรงเพียง 198 บาท ก็เดือดร้อนกันอยู่แล้วเพราะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว เพราะแต่ละคนมีภาระหนี้สิน ค่าเล่าเรียนลูก และค่าครองชีพที่สูงขึ้น กลับจะมาบีบลดค่าแรงอีก ก็อยากให้ทางบริษัทเห็นใจแรงงานด้วย เพราะแต่ละคนก็ทำงานที่นี่มาไม่ต่ำกว่า 8 ปีถึง 10 กว่าปีแล้ว หากไม่จ่ายค่าแรงงานให้วันละ 320 บาท ก็ขอให้จ่ายตามกฎหมาย คือ 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างด้วย

ที่มา: one31, 1/8/2563

'ไทรอัมพ์' ชี้แจงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 'บริษัท บอดี้ แฟชั่น' ที่เลิกจ้างคนงาน

บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัดชี้แจงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

นางสาววันอาสาฬ์ ทีปังกร ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าแบรนด์ชุดชั้นในไทรอัมพ์ ขอแจ้งให้ทราบว่า ทางบริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

Triumph Holding AG (Bad Zurzach) – “Triumph” ขอยืนยันว่าบริษัทไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทยและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับการปลดพนักงานตามที่เป็นข่าว บริษัทไทรอัมพ์ได้ขายการผลิต “Body Fashion Thailand” (BFT) ในประเทศไทยให้กับผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นายโรเบิร์ต อึ้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2559 นายโรเบิร์ต อึ้ง เป็นเจ้าของกลุ่มบริษัทสิ่งทอระดับสากลประกอบไปด้วยบริษัทในเครือกว่าสามสิบบริษัท และแบรนด์ อาทิเช่น Hanro หรือ Huber Trikot ซึ่งในขณะนั้นเครือข่ายของนายโรเบิร์ต อึ้ง เป็นผู้ผลิตหลักที่มีความน่าเชื่อถือให้กับไทรอัมพ์เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี โดยเครือข่ายมีโรงงานสองแห่งตั้งอยู่ที่อำเภอบางพลี จังหวัดกรุงเทพมหานคร และจังหวัดนครสวรรค์

การตัดสินใจถอดศูนย์การผลิตในประเทศไทยเมื่อปี 2559 ของไทรอัมพ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถมุ่งเน้นไปที่ลูกค้าและความท้าทายทางการตลาดต่างๆ ได้มากขึ้น และด้วยมาตรการเดียวกันนี้ไทรอัมพ์ได้ถอนฐานการผลิตในแถบทวีปยุโรปทั้งหมดออกเช่นเดียวกัน สำหรับประเทศไทย พนักงานและผู้บริหารทั้งหมด 2,757 คน ถูกเข้าถือช่วงกิจการต่อ โดยไม่มีการปลดพนักงานหรือผู้จัดการใดๆ ออก

ไทรอัมพ์ประสบความสำเร็จกับธุรกิจการขายชุดชั้นใน ในประเทศไทยเนื่องจากมีการจัดกิจกรรมการขายและการตลาดผ่านสำนักงานในกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการประสานงานกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องสำหรับตลาดในประเทศไทย ไทรอัมพ์ครองตำแหน่งผู้นำตลาดชุดชั้นในด้วยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหนือระดับมีความทันสมัย การตลาดระดับโลก และการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยม

ไทรอัมพ์เป็นหนึ่งในบริษัทชุดชั้นในที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทตั้งอยู่ใน 120 ประเทศทั่วโลกด้วยแบรนด์หลักอย่าง Triumph® และ sloggi® บริษัท ให้บริการผู้ค้าส่งกว่า 40,000 รายทั่วโลก จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในจุดขายที่มีการควบคุม 4,050 แห่ง และผ่านร้านค้าออนไลน์หลายแห่ง Triumph Group เป็นสมาชิกของ Business Social Initiative (BSCI)
ต้องการสอบถามข้อมูลติดต่อ 098-263-9393, 098-635-6365

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 1/8/2563

กสร. พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่คุ้มครองแรงงานและ NGOs ร่วมขจัดปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

31 ก.ค. 2563 นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองแรงงานในการทำงานเป็นทีมร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ณ บ้านอัมพวา รีสอร์ทแอนด์สปา จ.สมุทรสงครามว่า แรงงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อมีการจ้างงานก็อาจเกิดปัญหาด้านการคุ้มครองแรงงานขึ้น เช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และการใช้แรงงานผิดกฎหมาย เป็นต้น ขณะเดียวกันปัญหาด้านแรงงานมักถูกเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาการค้ามนุษย์ เรียกว่า การค้ามนุษย์ด้านแรงงานซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกและถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

“กสร.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการคุ้มครองแรงงาน ได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเป็นไปอย่างทั่วถึง จึงได้พัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่ง NGOs ด้านแรงงานมีส่วนสำคัญและร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวกับ กสร.มาอย่างต่อเนื่อง”

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า เพื่อยกระดับความร่วมมือในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน กสร.จึงได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองแรงงานในการทำงานเป็นทีม ร่วมกับ NGOs ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปฏิบัติงานด้านคุ้มครองแรงงานและบุคลากรของ NGOs พร้อมหารือแนวทางพัฒนารูปแบบการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐและ NGOs ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการค้ามนุษย์ด้านแรงงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความถูกต้องและชอบธรรม สำหรับผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน และบุคลากรของ NGOs รวมทั้งสิ้น จำนวน 50 คน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 31/7/2563

พนักงานสนามกอล์ฟเชียงใหม่ตกงานร่วม 300 คน หลัง ทอ.เลิกสัญญาเช่า

31 ก.ค. 2563 กองบิน 41 ได้ติดป้ายบริเวณหน้าสนามกอล์ฟ สตาร์โดม จ.เชียงใหม่ ว่า บริษัทเดอะ สตาร์โดมจำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่สนามกอล์ฟ สัญญาได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. และหมดเวลาอนุโลมให้ใช้พื้นที่ ทำให้จะปิดบริการสนามกอล์ฟอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ 1 ส.ค. และให้ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ลูกค้า ระงับการใช้พื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงสายวันที่ 31 ก.ค. 2563 ดร.พรรณวิภา กฤษฎาพงษ์ ผู้บริหารสนามกอล์ฟ ได้เดินทางมาพบกับพนักงานและแคดดี้กว่า 300 ชีวิต พร้อมเปิดเผยภายหลังว่า บริษัทสตาร์โดมฯ ได้ชนะการประมูลได้รับสิทธิ์การบริหารสนามกอล์ฟแห่งนี้เป็นเวลา 30 ปี (ปี 2550-2580) ก็ได้บริหารเรื่อยมา บริษัทฯ ใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท ลงทุนสร้างสนามกอล์ฟขนาดมาตรฐาน 9 หลุม ช่องไดรฟ์กอล์ฟ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก ปรับปรุงภูมิทัศน์ต่างๆ

ต่อมาได้รับแจ้งจากทางกองทัพอากาศว่าสัญญาเดิม 30 ปี ยาวนานเกินไป เกรงจะมีข้อจำกัดต่างๆ จึงขอให้ต่อสัญญาทุกๆ 3 ปี และทุกสัญญาจะขอปรับเพิ่มค่าเช่าขึ้น 5% เราก็ยอมรับทำตามเรื่อยมา สัญญาล่าสุดต่อปี 2560-2563 ครบกำหนดแล้ว ก็ได้รับแจ้งมาอีกว่าขอปรับเปลี่ยนรายละเอียดสัญญาเช่าใหม่ โดยขอปรับค่าเช่าขึ้น 500% และระบุว่าเนื้อหาในสัญญาจะถูกปรับแก้เมื่อไหร่ก็ได้

ที่มา: ข่าวสด, 31/7/2563

รมว.ยุติธรรม หนุนเพิ่มความรู้-ทักษะอาชีพ ให้เยาวชนในสถานพินิจ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า ข้อมูลการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2563 ภาคเรียนที่ 1 มีเด็กและเยาวชน ทั้งหมด 6,564 คน ได้รับการลงทะเบียนเรียน 3,868 คน คิดเป็นร้อยละ 58.93 ส่วนเด็กและเยาวชนที่เหลือ คือ กลุ่มที่เข้ามาหลังการปิดลงทะเบียนแล้ว แต่จะได้รับการส่งเสริมให้เข้าเรียนทุกราย โดยเป็นการทบทวนและปรับพื้นฐานความรู้ เพื่อรอลงทะเบียนในภาคเรียนถัดไป ซึ่งต้องมีการเพิ่มเติมใน ส่วนคณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ที่ตนให้ความสำคัญเข้าไปด้วย ส่วนในรายละเอียดของการศึกษา กรมพินิจฯ ได้จัดการศึกษาในรูปแบบต่างๆ คือ 1. การศึกษาขั้นพื้นฐานนอกระบบ แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ผู้ไม่รู้หนังสือ ประถมศึกษา ม.ต้น และ ม.ปลาย 2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ 3. การศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ ระดับปริญญาตรี และระบบ Pre-degree ของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ ระบบสัมฤทธิบัตร ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ที่ได้รับการฝึกวิชาชีพระยะสั้น เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานกับทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน และเตรียมความพร้อมเข้าทำงานในสถานประกอบการ ประกอบด้วยหลักสูตร ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้าในอาคาร ช่างซ่อมเครื่องยนต์ และช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ โดยขณะนี้ มีผู้ที่เข้าฝึกการอบรม และผ่านการอบรมแล้ว 18 คน และมีการฝึกวิชาชีพเพื่อเตรียมเข้าทำงาน และฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 475 ราย และมีผู้ที่ฝึกวิชาชีพระยะสั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลักสูตรมี 7 ประเภท ได้แก่ ช่างอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ศิลปกรรม คหกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศ บันเทิงและดนตรี และประเภทกีฬา มีผู้เข้ารับการอบรม 9,063 คน ผ่านการอบรม 8,778 คน

"ผมให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานพินิจ แต่ก็ยังจำเป็นต้องเรียน เพื่อเสริมสร้างความรู้ และทักษะต่างๆ ให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต สำหรับกรณีของเด็กและเยาวชน ที่ได้รับการปล่อยตัว แต่ยังอยู่ในระหว่างการเรียนกับทาง กศน. กรมพินิจฯ จะดำเนินการนัดหมายให้เยาวชนทำงานให้ครบหลักสูตรและติดตามกลับมาสอบไล่ ที่ศูนย์ฝึก หรือกรณีที่บางคนไม่สะดวก จะมีการประสานกับทาง กศน.ในภูมิลำเนาของเยาวชน เพื่อให้เขาได้รับการเรียนอย่างต่อเนื่อง และเข้ารับการสอบเพื่อเลื่อนระดับต่อไป" นายสมศักดิ์ กล่าว

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 31/7/2563

พนักงาน 800 คน โรงงานผลิตชุดชั้นใน จ.นครสวรรค์ ถูกเลิกจ้างกระทันหัน

31 ก.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานโรงงานผลิตเสื้อชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อดัง ในพื้นที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ รวมตัวที่สำนักงานคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครสวรรค์เพื่อขอรับการช่วยเหลือ หลังทางโรงงานติดประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 800 ชีวิต โดยอ้างว่ากระทำผิดละทิ้งงานไปเข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ของบริษัท ร่วมกระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้บริหาร เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

พนักงานเล่าว่าก่อนหน้านี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้โรงงานประกาศปิดชั่วคราวนานกว่า 3 เดือน และกำหนดให้พนักงานกลับมาทำงานในวันนี้เป็นวันแรก แต่กลับถูกเลิกจ้างงานกระทันหันและยังไม่ได้รับค่าจ้างที่คงค้าง

ด้านสำนักงานคุ้มครองแรงงานได้ให้พนักงานเขียนคำร้องเพื่อรับการช่วยเหลือตามกฎระเบียบของทางราชการ และจะหาแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป

โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเพจเฟซบุ๊ก "แรงงานเพื่อสังคม" โพสต์ภาพแรงงานจำนวนมากหน้าโรงงาน พร้อมระบุข้อความ ประกาศเลิกจ้าง #เช้านี้ ที่นครสวรรค์ ครบกำหนดที่ นายจ้างใช้สิทธิปิดกิจการชั่วคราวแล้ว ลูกจ้างจึงมีหน้าที่ในการเดินทางไปทำงาน เมื่อลูกจ้างเดินทางไปถึงบริษัทฯ ประตูรั่วโรงงานปิด และมีใบปิดประกาศ บอกเลิกจ้าง ลูกจ้างกว่า 800 คน

ส่วนลูกจ้างที่ยังไม่ถูกเลิกจ้างจะมีเอกสารหนังสือแจ้ง การปิดกิจการชั่วคราวต่อเนื่องไปอีกแบบไม่มีกำหนด โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะจ่ายค่าจ้างให้หรือไม่ในวันที่ให้ลูกจ้างหยึดงานอยู่กับบ้าน

ที่มา: Thai PBS, 31/7/2563

กสร.ผนึกกำลัง ขจัดการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบภายใน ปี 2025

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กสร.ถือเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ในแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย เพื่อตอบข้อคำถามในรายงานสถานการณ์เด็กเลวร้ายของกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกาที่ใช้สำหรับการประเมินผลการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายของประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

และเพื่อรวบรวมผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ภายใต้คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมาการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้รับร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตามการรวบรวมข้อมูลจากผลการดำเนินการพบว่า ข้อมูลกระจายอยู่ในแต่ละหน่วยงาน ซึ่งบางหน่วยงานอาจไม่ทราบถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน กสร.จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงการดำเนินการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายขึ้นเมื่อ 29 ก.ค.63 เชิญผู้แทนหน่วยงานหลักภายใต้คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวม 50 คน มาร่วมระดมความคิดเห็น ถึงแนวทางการดำเนินการ การจัด เก็บข้อมูล การคัดกรอง ควบคุมดูแล และส่งเสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมไปถึงการดำเนินคดี และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสรุปจัดทำเป็นกรอบการดำเนินการ ที่ชัดเจน และเป็นไปในแนวทางเดียวกันต่อไป

“ได้รับทราบข้อมูลปัญหาร่วมกัน คำนิยามที่ถูกต้องชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เสนอแนะข้อคิดเห็น ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและยกระดับการดำเนินการป้องกัน แก้ไขการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการร่วมมือในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Plans: SDGs) ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไปในปี ค.ศ. 2025” อธิบดี กสร.กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/7/2563

ผลสำรวจชี้ภาคเอกชนชะลอรับพนักงานใหม่ 57%

กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย เอเจนซี่ผู้นำด้านทรัพยากรบุคคลครบวงจร เผยผลสำรวจ Resetting Normal: Defining the New Era of Work ที่สำรวจในกลุ่มคนทำงานในประเทศไทยจำนวน 670 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพนักงานประจำและมีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป และกว่าครึ่งเป็นพนักงานในระดับหัวหน้างาน/ผู้จัดการ ถึงผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดของโควิด-19 และมุมมองต่ออนาคตการทำงาน

ผลการสำรวจพบว่า ภาคเอกชนต่างมีมาตรการที่หลากหลายเพื่อรัดเข็มขัดในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่การชะลอรับพนักงานใหม่ (57%) ชะลอขึ้นเงินเดือน/เลื่อนขั้น (26%) ลดเงินเดือน (18%) ลดกำลังการผลิต (17%) ให้พนักงานใช้วันลา (17%) เลิกจ้างพนักงาน (16%) พักงานพนักงานชั่วคราว (14%) ลดการจ้าง supplier (11%) รวมถึงมีปรับตารางงาน ลดเวลาทำงานที่ออฟฟิศ ผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 (57%)

สำหรับมุมมองของพนักงานที่มีต่อนโยบาย Work From Home พนักงานส่วนใหญ่กว่า 80% หวังให้มีการสานต่อนโยบายนี้ โดยผสมผสานการทำงานจากที่บ้านในบางวัน เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 และสร้างสมดุลระหว่างชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว โดยพนักงานราว 54% ยังเชื่อว่าการมาทำงานที่ออฟฟิศยังจำเป็นอยู่เพราะจะช่วยให้การประสานงานระหว่างทีมดีขึ้น ในภาพรวมพนักงานส่วนใหญ่ยังคาดหวังให้องค์กรมองที่ผลงานมากกว่าให้ความสำคัญเรื่องชั่วโมงการทำงาน และอยากให้ยืดหยุ่นเรื่องการทำงานมากขึ้น โดยพนักงานส่วนใหญ่กว่า 51% เชื่อว่าการทำงานจากที่บ้านได้ประสิทธิผลไม่ต่างจากการมาทำงานที่ออฟฟิศ ขณะที่ 37% เชื่อว่าพวกเขาทำผลงานได้ดีขึ้นกว่าตอนทำงานที่ออฟฟิศ มีเพียง 12% ที่คิดว่าคุณภาพการทำงานของพวกเขาลดลงเมื่อทำงานจากที่บ้าน

ด้านผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นกับพนักงาน พนักงานส่วนใหญ่คิดว่าเป็นหน้าที่ของ องค์กรและ รัฐบาลที่ต้องยื่นมือช่วยเหลือพนักงานให้ก้าวข้ามวิกฤตนี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าตนต้องพึ่งพาตัวเองด้วย สำหรับสิ่งที่พนักงานคาดหวังจากองค์กร อันดับหนึ่งได้แก่การสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นและการทำงานจากบ้าน (84%) รองลงมาคือต้องการความชัดเจนในการรับมือกับวิกฤต (78%) การลงทุนด้านเทคโนโลยีและปรับตัวสู่ดิจิทัล (78%) การสนับสนุนอุปกรณ์ (76%) และระบบ IT ให้รองรับการทำงานจากที่บ้าน (75%) ด้านสิ่งที่พนักงานคาดหวังจากหัวหน้ามากที่สุดในช่วงเวลานี้ ได้แก่ การช่วยหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น (58%) การให้ความไว้วางใจในการทำงาน (55%) การมีความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี (52%) รวมถึงการสนับสนุนการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับพนักงาน (51%)

สำหรับมุมมองที่มีต่อสถานการณ์หลังโควิด-19 พนักงานกว่า 56% เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น และมองว่างานสายเทคโนโลยีน่าจะมีอนาคตที่สุด แต่แม้ว่าส่วนใหญ่จะมองโลกในแง่ดี พนักงานกว่า 65% ก็ยังไม่มีแผนเปลี่ยนงานในอีก 1 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังไม่กล้าเสี่ยงย้ายงานใหม่ในช่วงที่สถานการณ์ยังไม่แน่นอน

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า “เมื่อเทียบผลสำรวจของไทยกับในอีกหลายประเทศที่ Adecco ได้ทำการศึกษา ภาพรวมพบว่าผลที่ออกมาค่อนข้างสอดคล้องกับหลายประเทศ ที่องค์กรมีการปรับตัวให้ lean มากขึ้น ดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่รูปแบบการทำงานก็มีผสมผสานการทำงานจากที่บ้าน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น new normal หรือ ความปกติใหม่ที่องค์กรจำเป็นต้องวางแผนปรับตัวทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะฝ่าย HR ที่จะต้องปรับกลยุทธ์การสรรหาใหม่ เพราะโจทย์ทุกวันนี้ได้เปลี่ยนไป เราอาจจะต้องการคนที่มีชุดทักษะที่ต่างจากเดิม ไม่สามารถจ้างพนักงานประจำได้มากเท่าที่เคย อาจจะต้องมีการผสมผสานการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น การสรรหาก็จำเป็นที่จะต้องมีความคล่องตัวและปรับสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง Adecco ก็ได้ออกแบบหลักสูตรเพื่อช่วย HR เตรียมพร้อมในจุดนี้”

“ผลสำรวจครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นว่าคนไทยต้องการการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น องค์กรอาจจำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้และนำมาปรับใช้เพื่อรักษาบุคลากรและดึงดูดผู้สมัครหน้าใหม่ ปัจจุบันนี้ work from home ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้สมัครใช้คัดเลือกองค์กร เพราะคนสมัยนี้มองว่าการทำงานสามารถทำจากที่ไหนก็ได้ และให้ความสำคัญกับสมดุลการใช้ชีวิตในลำดับต้นๆ ที่สำคัญยังมีแรงงานเก่งๆ อีกมากที่ลาออกจากงานประจำเพราะความจำเป็นส่วนตัวแต่ยังพร้อมที่จะกลับมาทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ ดังนั้นการที่องค์กรนำนโยบายนี้มาปรับใช้ก็จะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน อีกด้านหนึ่งนโยบายนี้ก็ยังเป็นประโยชน์ต่อการรักษาบุคลากร เพราะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรห่วงใยสุขภาพและความปลอดภัยของพวกเขา นอกจากนี้การคงมาตรการ work from home ยังมีประโยชน์ในระยะยาวต่อการลดความเสี่ยงการระบาดของโรคและช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” คุณธิดารัตน์กล่าว

“อย่างไรก็ตามการผสมผสานการทำงานจากที่บ้านก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่งที่หลายองค์กรต้องเผชิญเพราะการทำงานนอกออฟฟิศนั้นองค์กรมักจะมีความกังวลใจในแง่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของพนักงาน และมักให้หัวหน้าฝ่ายใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลในการตัดสินว่าพนักงานคนไหนสามารถหรือไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยขาดเกณฑ์การประเมินและมาตรการที่ชัดเจน ในขณะที่พนักงานเองก็เรียกร้องความไว้วางใจในการทำงานจากหัวหน้า ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะการผสมผสานการทำงานแบบ Work From Home ก็ยังเป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับหลายๆ องค์กร”

“ภายใต้ความปกติใหม่นี้ผู้นำองค์กรก็จำเป็นที่จะต้องดึงทักษะบางตัวขึ้นมาในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยจากผลสำรวจของ Adecco ในต่างประเทศจะต้องการผู้นำที่มีทักษะในการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) แต่ด้วยความที่คนไทยมีความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว คนไทยจึงอยากได้ผู้นำที่เข้ามาให้คำแนะนำและช่วยแก้ปัญหามากกว่า ดังนั้นทักษะที่พนักงานไทยในระดับหัวหน้างานขึ้นไปต้องมีคือทักษะด้านการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving) และทักษะในการปรับตัว (Adaptability) เพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจไม่เคยเจอมาก่อน”

“นอกจากนี้เพื่อสร้างความไว้วางใจในการทำงานให้เกิดขึ้น ฝ่าย HR และผู้บริหารในแผนกจะต้องร่วมมือกันกำหนดกรอบการทำงานและเกณฑ์วัดผลที่ชัดเจน เพราะเมื่อทุกคนสามารถปฏิบัติตามกรอบ ส่งงานได้ตามเวลา มีผลงานที่ได้มาตรฐาน ฝ่ายบริหารก็จะมีความมั่นใจว่าพนักงานสามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำให้องค์กรสามารถปรับตัวสู่การทำงานแบบยืดหยุ่นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับฝ่าย IT ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเตรียมพร้อมและจัดหาเทคโนโลยีมารองรับการทำงานจากที่บ้าน เพราะจากผลสำรวจเราจะเห็นว่าคนทำงานกว่า 75% ยังต้องการการสนับสนุนอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงานจากที่บ้านอยู่”

ที่มา: Adecco Thailand, 29/7/2563

เครดิตบูโร เกาะติดกลุ่มผู้ว่างงานจากผลโควิดหลังพ้นระยะพักชำระหนี้ปลายปีนี้อาจทำหนี้เสียพุ่ง

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวผ่านรายการ CEO Talk พลิกวิกฤต ในหัวข้อ "อย่าปล่อยให้หนี้สิน...กลายเป็นหนี้เสีย"ว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามในกลุ่มคนที่ว่างงานและยังหางานไม่ได้ แต่มีหนี้สิน ทั้งหนี้บ้าน หนี้รถหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือหนี้อื่นๆ จะมีความสามารถในการกลับมาชำระหนี้ได้หรือไม่หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในช่วงสิ้นเดือนก.ย.หรือต.ค.นี้ ถือเป็นความเสี่ยงต่อประเทศไทยที่แนวโน้มของหนี้เสียจะพุ่งขึ้นในช่วงปลายปี และเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และยังเข้มงวดการให้สินเชื่ออีกด้วย

จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ที่เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการช่วยเหลือในการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาถือว่าคนไทยมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะภาคครัวเรือนที่ในช่วงไตรมาส 1/63 มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนสูงถึง 87% และคนไทยเริ่มมีหนี้สินที่มีอายุยาวนานมากขึ้น และเป็นหนี้เมื่ออายุยังไม่มาก ถือเป็นความเสี่ยงในระยะยาวที่ส่งผลทำให้ไม่สามารถเกษียณอย่างมีความสุข เพราะตลอดเวลาในการทำงานจะต้องทำเพื่อมาใช้หนี้เกือบทั้งชีวิต จึงมีเงินออมน้อยรองรับวัยเกษียณน้อยลง

ส่วนภาคธุรกิจในปัจจุบันยังเผชิญปัญหากับสภาพคล่องที่ไม่เพียงพอเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ หรือธุรกิจบางรายยังสามารถไปต่อได้แต่ไปแบบกระท่อนกระแท่น เนื่องจากปัจจัยโควิด-19 ส่งผลกระมบในวงกว้างเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ได้คาดคิดไว้ ทำให้อาจจะไม่ได้ระมัดระวังในเรื่องการวางแผนทางการเงิน ดังนั้น เมื่อธุรกิจต้องหยุดชะงักชั่วคราว ขาดสภาพคล่อง จึงมีผลกระทบทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ถือว่าในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนต่อภาคธุรกิจที่จะต่องมีการวางแผนทางการเงิน กักตุนสภาพคล่องไว้มากขึ้น และไม่ก่อหนี้จนเกินตัว

ขณะที่ในด้านธนาคารพาณิชย์มีความเข้มงวดในการให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ มากขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์เผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายค่อนข้างมากในการที่จะต้องแบกรับภาระหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นช่วงที่พักชำระหนี้ แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือออกไปแล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง แต่การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังมีความระมัดระวังสูง เห็นได้จากวงเงินกู้ซอฟท์โลนให้กับเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันปล่อยได้ไปจริงไม่ถึงแสนล้านบาท

"ที่ผ่านมาภาคธุรกิจเจอกับความท้าทายค่อนข้างมากตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะสงครามการค้าที่ทำให้บางธุรกิจอ่อนแรง และมาเจอกับโควิด-19 ก็ทำให้มีธุรกิจที่อ่อนแอมาเพิ่ม และสภาพคล่องที่เป็นปัญหาทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องการวงเงินสินเชื่อมาช่วยประคองไว้ แต่ธนาคารเองก็ต้องดูแลตัวเองในช่วงนี้ เพราะยังมีความเสี่ยงในอนาคตข้างหน้าที่ต้องระมัดระวัง และก็เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ภาพรวมยังค่อนข้างจะท้าทายต่อภาคธุรกิจและธนาคารเองที่จะฝ่าฝันไปข้างหน้า"นายสุรพล กล่าว

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ คือ ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในปัจจุบันชะลอการจ้างงาน เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาเร็ว ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ที่จะมีออกมาเฉลี่ย 300,000-400,000 คน/ปี ซึ่งอาจจะหางานไม่ได้หรือหางานทำยากขึ้น เพราะนายจ้างปิดประตูรับแรงงาน และคนที่ถูกเลิกจ้างไปก่อนหน้านี้จะเป็นอีกกลุ่มที่จะหางานทำยากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 29/7/2563

ก.แรงงาน ให้กำลังใจครอบครัวคนไทยในอุซเบกิสถาน ชี้กลับก่อนหมดสัญญาจ้างยังได้เงินสงเคราะห์

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้รับรายงานจาก นายมงคล สงคราม จัดหางานจังหวัดอุดรธานี ว่าได้ลงพื้นที่ร่วมกับนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ณ บ้านเลขที่ 94 หมู่ 17 บ้านหนองเม็ก ตำบลหนองเม็ก อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เพื่อให้กำลังใจครอบครัวแรงงานไทย นายบุญสงค์ สีทอง อายุ 70 ปี บิดานายศราวุธ สีทอง อายุ 32 ปี หนึ่งในแรงงานไทยที่ติดต่อขอกลับประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) อยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ครอบครัวของแรงงานไทยที่ติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ และแจ้งเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆที่แรงงานจะได้รับ ขณะที่ นายบุญสงค์ สีทอง ได้แจ้งว่า เข้าใจในสถานการณ์ที่แรงงานไทยประสบดี เนื่องจากเคยไปทำงานที่ต่างประเทศมาก่อน

"รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องแรงงานไทยกลับบ้านอย่างปลอดภัย ช่วงนี้ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19" ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าว

ในส่วนกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ติดต่อประสานบริษัทที่เป็นนายจ้าง ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบความเป็นอยู่และการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแรงงานไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในประเทศที่ทำงานอยู่ ซึ่งทางการของประเทศนั้นๆประกาศกำหนดแล้ว และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฯ โดยสมาชิกกองทุนฯ ที่ได้รับผลกระทบและประสบปัญหาจากการเกิดโรคระบาด ทำให้ต้องเดินทางกลับประเทศไทยก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างงาน จะได้รับการสงเคราะห์รายละ 15,000 บาท

ส่วน สมาชิกกองทุนฯ ที่ประสบปัญหาระหว่างอยู่ในต่างประเทศ เช่น นายจ้างประกาศปิดกิจการ เนื่องจากมาตรการในแต่ละประเทศเพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาด หรือนายจ้างสั่งให้พักงานและอยู่ระหว่างรอกลับเข้าไปทำงานใหม่ โดยมิใช่ความผิดของสมาชิกกองทุนฯ เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนขาดรายได้ โดยสำนักงานแรงงานในต่างประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบ และพิจารณาการให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์แก่สมาชิกกองทุนฯ ที่ยื่นคำร้องขอรับการสงเคราะห์

ทั้งนี้ สำนักงานแรงงานในต่างประเทศจะตรวจสอบข้อเท็จจริง หากสมาชิกกองทุนฯไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้าง สำนักงานแรงงานในต่างประเทศจะพิจารณาให้การช่วยเหลือตามความเป็นจริงและเหมาะสม ตามระเบียบ ข้อ 5 (2) (ง) เป็นค่าใช้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินรายละ 30,000 บาท

ขอเน้นย้ำให้แรงงานไทย และคนงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศทุกคน ควรไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ สมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครอง หากประสบอันตราย เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ ดังเช่นกรณีของแรงงานไทยที่ประสบภัยในอุซเบกิสถาน และขอให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นสมาชิกกองทุนฯ โดยเฉพาะการเดินทางไปทำงานด้วยวิธีแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นสมาชิกกองทุนฯ ได้ด้วยความสมัครใจ

อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจไปทำงานในต่างประเทศ ควรศึกษาข้อมูลก่อนเดินทาง โดยสอบถามข้อมูลสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ เพื่อเป็นการป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ หรือโทร.สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ไทยโพสต์, 29/7/2563

งานวิจัยชี้ 'เยาวชนพาร์ทไทม์' เสี่ยงอันตราย หากทำงานไม่เหมาะสม

งานวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยปัจจัยทางวิศวกรรมและการยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ชี้เยาวชนพาร์ทไทม์ เสี่ยงอันตราย หากทำงานไม่เหมาะสม ชี้ผู้เกี่ยวข้อง ควรยึดหลัก Human Engineering Design

ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยปัจจัยทางวิศวกรรมและการยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) แนะนายจ้างควรให้ “เยาวชน” อายุต่ำกว่า 18 ปี ที่พบได้ในกลุ่มงานพาร์ทไทม์ ทำงานในลักษณะงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับภาระงานไม่มากเกินกว่าความสามารถของเยาวชนและทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หลังพบกิจการการขายปลีกน้ำมัน การบริหารด้านอาหารและเครื่องดื่ม ก่อสร้าง งานบริการโรงแรม เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย อาทิ ยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก สัมผัสสารเคมีหรือความร้อนที่สูงเกินขีดจำกัดความสามารถของร่างกาย พร้อมเผยรายงานวิจัย พบการทำงานเสี่ยงกระทบอาการบาดเจ็บ ทางระบบกระดูก กล้ามเนื้อ และพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก กรณีเยาวชนต้องยกของหนักในพื้นที่ทำงานอุณหภูมิสูง และการทำงานในช่วงกลางคืน ย้ำวิศวกรและนักออกแบบ ต้องยึดหลัก Human Engineering Design ลดเสี่ยงอาการบาดเจ็บสะสม และอำนวยความสะดวกตลอดการใช้งาน ทั้งนี้ ทีมวิจัย ได้ยื่นข้อเสนอแนวทางแก้ไขร่วมมือกับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เล็งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานให้มีความเหมาะสม หนุนคุ้มครองสุขภาพและพัฒนาการของเยาวชนอย่างยั่งยืน

ผศ.นริศ เจริญพร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิจัยมนุษยปัจจัยทางวิศวกรรมและการยศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมการยศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า “เยาวชนทำงานพาร์ทไทม์” อาจมีความเสี่ยงสูงต่ออาการบาดเจ็บสะสมบริเวณกล้ามเนื้อ ซึ่งปัจจุบันพบมากในประชากรกลุ่มวัยทำงานทั่วไป เนื่องจากการทำงานที่หนักเกินกว่าความสามารถทางร่างกายในรูปแบบเดิมอย่างต่อเนื่อง และเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกิจการการขายปลีกน้ำมัน กิจการการบริหารด้านอาหารและเครื่องดื่ม กิจการก่อสร้าง กิจการงานบริการโรงแรม อีกทั้งปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมอย่าง “อุณหภูมิ” และ “ภาวะงาน” (Work load) รวมถึงช่วงเวลาการทำงานกลางคืน ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพและพัฒนาการของเยาวชนได้ และผลกระทบอาจจะรุนแรงขึ้นหากสถานการณ์ในการทำงานเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน เช่น การสัมผัสสารเคมี อันตรายจากสารไวไฟ การยกหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของน้ำหนักมาก การขับขี่จักรยานยนต์ขนส่ง การทำงานในที่สูง การทำงานในเวลากลางคืน หรือแม้กระทั่งการสัมผัสความร้อนที่สูงเกินขีดจำกัดความสามารถของร่างกาย

ดังนั้น การออกแบบเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งานตามหลักวิศวกรรม (Human Engineering Design) จึงเป็นหลักคิดสำคัญที่วิศวกรหรือนักออกแบบทุกคน ควรให้ความสำคัญกับงานออกแบบทุกชิ้น ก่อนนำไปใช้ในการทำงานของกระบวนการผลิตจริง เพื่อลดความเสี่ยงต่ออันตรายและจากการบาดเจ็บสะสม พร้อมอำนวยความสะดวกตลอดการใช้งานให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ทีมวิจัย ได้ชี้ให้เห็นตัวอย่างผลการจำลองสถานการณ์ในห้องปฎิบัติการมนุษยปัจจัยและการยศาสตร์ (human factors in engineering and ergonomics) ที่สามารถควบคุมสภาพอุณหภูมิได้ ซึ่งใช้ในการศึกษาเรื่อง “สภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน เพื่อหาขีดจำกัดและคำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับเด็ก ผ่านกลุ่มตัวอย่างทั้งเพศชายและหญิง ในช่วงวัย 15 – 17 ปี จำนวน 30 คน ด้วยการทดสอบสมรรถภาพร่างกายจากการปั่นจักรยาน ภายใต้ 3 เงื่อนไข ดังนี้ อุณหภูมิ ในระดับ 28 30 และ 32 องศาเซลเซียส (WBGT) ภาระงาน ในลักษณะงานเบามาก งานเบา และงานปานกลาง ด้วยจักรยานวัดงาน และ อัตราการเต้นของหัวใจ ซึ่งพบว่า เยาวชนอาจมีความเสี่ยงหากต้องทำงานต่อเนื่องที่สภาพแวดล้อมของอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และจะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นหากต้องทำงานที่สภาพอุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส

จากผลการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า กฎหมายความปลอดภัยสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน ที่มีอยู่ในปัจจุบันของแรงงานทั่วไปยังไม่เหมาะสม ที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการทำงานเพื่อความปลอดภัยของเยาวชน กล่าวคือ เยาวชนพาร์ทไทม์ จะสามารถทำงานที่ระดับภาระงานเบามากและเบาได้ โดยมีความเสี่ยงต่ำตลอด 8 ชั่วโมง ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิไม่เกิน 28 องศาเซลเซียส และมีภาระงานที่ไม่หนักเกินขีดความสามารถของร่างกาย หากอุณหภูมิสูงถึง 30 หรือ 32 องสาเซลเซียส อาจเป็นอันตรายต่อเยาวชนได้หากต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยอาจส่งผลต่ออาการบาดเจ็บทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อและพัฒนาการทางร่างกายของเด็กได้ กรณีเยาวชนต้องยกของหนักในพื้นที่ทำงานอุณหภูมิสูงและรวมถึงการทำงานในช่วงกลางคืน

“ทั้งนี้ ทีมวิจัย ยังได้ยื่นเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกับ กรมสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านกระบวนการทำงาน และสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการ เพื่อคุ้มครองเยาวชนที่ทำงานพาร์ทไทม์ให้มีสุขภาวะที่ดีตลอดการทำงาน และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ผศ. นริศ กล่าว

อย่างไรก็ดี หลักความรู้ด้าน Human Engineering & Design ยังสามารถนำไปปรับใช้วิเคราะห์และเสนอปรับกระบวนการทำงานให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยที่สูงขึ้น ช่วยลดคาวมเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัยและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต อาทิ การประเมินความเสี่ยงด้านการยศาสตร์ในโรงงานอุตสาหกรรม การเคลื่อนย้ายวัสดุด้วยแรงกาย (Ergonomics Guideline for Manual Handling) การออกแบบสถานีงานทำงานกับเครื่องจักร (design of workstations at machinery) รวมถึงการประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรบผู้ที่มีข้อจำกัดทางด้านร่างกายและผู้สูงวัย ผศ. นริศ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์, 29/7/2563

ครม.รับทราบผลการคุ้มครองแรงงานประมงตามนโยบาย 5P พบทำความผิดลดลงต่อเนื่อง

29 ก.ค. 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 18 พ.ย. 2562-31 พ.ค. 2563 ภายใต้กรอบนโยบาย 5 P (Policy Prevention Prosecution Protection and Partnership) เพื่อคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือและป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศพบเรือประมงกระทำความผิดลดน้อยลง

ทั้งนี้ รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มีความก้าวหน้าใน 5 ด้าน ได้แก่

- ด้านนโยบาย (Policy) มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทั้งระบบ
- ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) พบการกระทำความผิด 9 ลำจาก 37,054 เที่ยว หรือเพียงร้อยละ 0.024 ขณะที่การตรวจเรือประมงกลางทะเล 508 ลำ พบการกระทำความผิด 2 ลำจาก (ร้อยละ 0.39)
- ด้านการป้องกัน (Prevention) การบริหารจัดการแรงงานในกิจการประมงจำนวน 160,950 คน อาทิ ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานบนเรือประมง จำนวน 92,233 คน รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ในรอบปีการประมง พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 10,202 ลำ นอกน่านน้ำไทย จำนวน 6 ลำ
- ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย เป็นต้น
- ด้านการแสวงหาความร่วมมือ(Partnership) กับประเทศต่างๆ อาทิ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการ ATLAS Project ร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ รัฐบาลประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังภายใต้กรอบ 5 P ส่งผลให้สถานะไทยดีขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐ ฯ ปี 2563 ต่อเนื่อง 3 ปีตั้งแต่ 2561-2563 รวมทั้งสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองของประมงไทยในปี 2562 ด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/7/2563

สภาองค์การนายจ้างฯ จี้ทีมเศรษฐกิจใหม่ แก้แรงงานตกงาน จากพิษโควิด-19

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า โจทย์ปัญหาแรงงานในปัจจุบันและอนาคต เป็นความท้าทายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่โดยเฉพาะ รมว.แรงงาน เนื่องจากขณะนี้มีแรงงานตกงานในทุกกลุ่มสาขาอาชีพรวม 3-3.3 ล้านคน และตลอดทั้งปีนี้อาจสูงถึง 8 ล้านคน จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19

ดังนั้นรัฐบาลควรดึงกระทรวงแรงงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อปรับการบริหารงาน เป็นเชิงรุกในการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ๆให้สอดรับกับความต้องการของตลาด รวมถึงหากลไกใหม่ๆ แก้ปัญหาการถูกปลดออกจากงาน โดยรัฐบาลต้องจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะไทยไม่เพียงเผชิญกับแรงงานที่อาจตกงานจำนวนมากจากผลกระทบเศรษฐกิจโลก และประเทศไทยที่ชะลอตัวจากโควิด-19 ยังถอยหลังสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged society) หรือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20% ดังนั้นเมื่อโควิด-19 คลี่คลายแรงงานอายุเฉลี่ย 45 ปีขึ้นไปมีโอกาสตกงานสูง เนื่องจากธุรกิจหันไปพึ่งเทคโนโลยีการผลิตทดแทนแรงงานมากขึ้น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 29/7/2563

ชงตั้งกองทุน 'บำนาญแห่งชาติ' นายจ้าง-พนง.จ่ายสมทบคล้ายประกันสังคม

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สรุปผลการรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนบำเหน็จบำนาญ แห่งชาติ (กบช.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวเป็นประโยชน์ทำให้แรงงาน ในระบบทั้งหมด ประมาณ 14 ล้านคน มีรายได้หลังเกษียณ ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งในจำนวนนี้เป็น ผู้ที่ได้รับค่าจ้างไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือน มีสัดส่วนสูงถึง 50%

กฎหมาย กบช.นี้ ทำหน้าที่เหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปัจจุบัน แต่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนภาค สมัครใจ มีแรงงานในระบบเป็นสมาชิกเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น แต่กองทุน กบช. เป็นกองทุนภาคบังคับ นายจ้างจะต้องตั้งกองทุนขึ้นมาและใส่เงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งจะทำให้แรงงานในระบบ 14 ล้านคนมีเงินออมใช้ในวัยเกษียณอย่างเพียงพอ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. กบช. กำหนดว่า ให้ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี ทั้งลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และ เจ้าหน้าที่องค์การมหาชน เข้าเป็นสมาชิก

เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะให้ระยะเวลา 1 ปี กิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องตั้งกองทุน กบช. ส่วนกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป จะต้องตั้งกองทุน กบช.ภายใน 3 ปี และกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องตั้งกองทุนภายใน 5 ปี

การจ่ายเงินสมทบ ลูกจ้างต้องมีเพดานค่าจ้างไม่เกิน 6 หมื่นบาทต่อเดือน ในปีที่ 1-3 จ่ายฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง ปีที่ 4-6 จ่ายฝ่ายละ 5% ของค่าจ้าง และปีที่ 7-9 จ่ายฝ่ายละ 7% ของ ค่าจ้าง และปีที่ 10 ขึ้นไป จ่ายฝ่ายละไม่เกิน 10% ของค่าจ้าง

ลูกจ้างที่มีค่าจ้างน้อยกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน ให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายเดียว โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องจ่าย ส่วนกรณีที่ลูกจ้างและนายจ้างส่งเพิ่มเกินสูงสุดไม่เกิน 30% ของ ค่าจ้างโดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง ส่วนผลตอบแทนที่ลูกจ้างจะได้รับ เลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินบำนาญ 20 ปี หรือบำเหน็จเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งเงินที่ได้จะได้รับการยกเว้นภาษี

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพยายามเร่งผลักดันกฎหมาย ดังกล่าว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวสำหรับประเทศไทยในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลจะมี ค่าใช้จ่ายอย่างมากหากไม่มีการจัดตั้งกองทุน กบช. ขึ้นมา

ที่มา: ข่าวสด, 28/7/2563

แรงงานไทยในอุซเบกิสถาน ขอช่วยกลับไทย

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ได้เผยแพร่คำเตือนถึงพี่น้องชาวไทยและแรงงานไทยในอุซเบกิสถาน ซึ่งอยู่ในเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตฯ เนื่องจากทราบว่า มีคนไทยบางคนในกลุ่มแรงงานในอุซเบกิสถานกำลังวางแผนประท้วง เพื่อหวังกดดันให้ได้กลับประเทศไทยเร็วขึ้น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

"เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เพิ่มเติมว่า มีรายงานว่าแรงงานไทยในอุซเบกิสถานตรวจพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 27 คน จึงสร้างความวิตกกังวลในกลุ่มแรงงานไทยด้วยกัน อย่างไรก็ตาม แรงงานที่ติดเชื้อได้ถูกแยกไปกักตัวในสถานที่แยกต่างหากจากแรงงานคนไทยอื่นๆ และมีการดูแลรักษาตามมาตรการสาธารณสุขของอุซเบกิสถานแล้ว จึงขอให้แรงงานไทยมีความอดทนและปฏิบัติตามระเบียบที่ได้กำหนดไว้" นายเชิดเกียรติ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก กงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำอุซเบกิสถาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย กำลังดำเนินการอย่างสุดความสามารถเพื่อนำคนไทยกลับประเทศ โดยคำนึงถึงทางเลือกที่สามารถทำได้ในขณะที่สนามบินนานาชาติของอุซเบกิสถานยังปิดทำการอยู่ ดังนั้นจึงขอให้แรงงานไทยในอุซเบกิสถานติดตามและปฏิบัติตามคำแนะนำของสถานเอกอัครราชทูตฯ อย่างใกล้ชิดในช่วงที่รอรับความช่วยเหลือนี้

ที่มา: news.ch7.com, 28/7/2563 

สธ. ยืนยันผลักดันให้ อสม.ได้รับค่าตอบแทน 500 บาทต่อคน 19 เดือน มี.ค. 2563-ก.ย. 2564 ตามกำหนด พ.ร.ก.เงินกู้

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกนั้น นอกจากได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยเป็นอย่างดี อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม และปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัดแล้วนั้น

“ ยังได้รับความร่วมมือจากขุมพลังสำคัญ คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ ที่ร่วมทำหน้าที่ขับเคลื่อนระบบเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มแข็ง ทั้งการลงพื้นที่ให้คำแนะนำ เยี่ยมเยียนพี่น้องในชุมชน และติดตามผู้มีความเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค หรือกักตัว ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้พี่น้อง อสม.หลายคนต้องเจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติงาน ดังนั้นการสร้างเสริมขวัญกำลังใจของพี่น้อง อสม. จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐพึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะพลัง อสม.มีส่วนในขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทยให้สามารถผ่านวิกฤตโรคโควิด 19 ได้” นพ.สุขุม กล่าว

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส.) กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด 19 อสม.ได้มีส่วนสำคัญในการป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเข้มแข็ง จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยมีการเคาะประตูบ้านให้ความรู้แก่ประชาชน แนะนำและเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ควบคุมโรค ภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) สร้างความตระหนักไม่ให้ชุมชนการ์ดตก อีกทั้งรับหน้าที่เป็นด่านหน้าในการค้นหา คัดกรองประชากรกลุ่มเสี่ยงกว่า 14 ล้านครัวเรือน และติดตามกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความเสี่ยงสูง ต้องทุ่มเท เสียสละทั้งเวลา และค่าใช้จ่ายของ อสม. ทั้งที่ตัวของ อสม.เองก็เป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบในด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด 19 เฉกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป

ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบแทนและให้กำลังใจต่อความทุ่มเท เสียสละ ตรากตรำทำงานอย่างหนักของ พี่น้อง อสม. กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรให้ อสม. ได้รับค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยในการป้องกันโรคโควิด 19 จำนวน 500 บาท เป็นระยะเวลา 19 เดือน (มีนาคม 2563-กันยายน 2564) ตามระยะเวลาพระราชกำหนดเงินกู้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด 19 จะดีขึ้น แต่ อสม. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไปอย่างเข้มข้น ทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และการดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของประชาชนอันเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะการฟื้นฟูเยียวยาด้านจิตใจแก่คนในชุมชน

ที่มา: Hfocus, 27/7/2563

อสม.ตัดพ้อ สภาพัฒน์ฯ จ่อหั่นค่าเสี่ยงภัยโควิดจาก 19 เหลือ 7 เดือน

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2563 ที่โรงแรมเดอะ เล็คกาซี่ นายจำรัส คำรอด ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรานัดหารือและแถลงข่าวกรณีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัดงบประมาณอสม.กรณีโควิด 19 เดือนละ 500 บาท จาก 19 เดือน เหลือ 7 เดือน ว่า ที่ผ่านมา อสม.เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่ได้เรียกร้องอะไร ซึ่งต้องขอบคุณที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีการเสนอว่าจะให้ค่าตอบแทนเป็นค่าเสี่ยงภัยเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน ตั้งแต่ มี.ค.2563 ถึง ก.ย.2564 ซึ่งผ่านมาจนถึงตอนนี้ ยังไม่ได้ จึงมีความสงสัยว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่

“ล่าสุดทราบว่าทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะตัดค่าตอบแทนดังกล่าวเหลือเพียง 7 เดือนเท่านั้น จึงอยากจะให้กำลังใจรัฐบาลในการผลักดันการจ่ายในอัตราเดิมที่เคยระบุไว้คือ 500 บาท นาน 19 เดือน เพื่อเข้าครม.ให้สำเร็จ โดยเวลา 07.30 น. วันที่ 29 ก.ค.จะไปยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้กำลังใจที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้ พร้อมแนบรูปแบบการทำงาน ของเรา” นายจำรัส กล่าว

นายจำรัส กล่าวว่า สภาพัฒน์ฯ มองในมุมของตัวเอง โดยไม่เห็นว่าเราต้องออกไปเสี่ยงภัย เคาะประตูบ้านค้นหาคนเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ถูกสุนัขกัดบ้าง อุบัติเหตุบ้าง ทุกวันนี้อสม.ยังไม่หยุดทำงานเลย เรายังต้องไปดูแลควบคุม ป้องกันโรคในงานบุญ งานบวช งานศพ การเปิดโรงเรียนต่างๆ เราก็ไปร่วมดูแลคัดกรอง บางครั้งหมู่บ้านไม่มีเครื่องวัดไข้ ก็ควักเงินตัวเองซื้อ เครื่องละ 3,000 บาท อีกทั้งการไปคัดกรองที่ต่างๆ ก็มีค่าน้ำมัน ค่าเดินทาง กลับมา ครอบครัวมีปัญหาเรื่องการกิน การอยู่ ต้องแยกห้องนอน แยกสำรับอาหาร และข้าวของเครื่องใช้ บางคนอบครัวทำงานจิตอาสามากๆ ต้องหยุด เพื่อหันมาดูแลครอบครัวตัวเองบ้าง แต่สภาพัฒน์ฯ กลับบอกว่าค่าเสี่ยงภัยที่จะให้อสม.นั้นมากเกินไปเลยจะตัดเหลือ 7 เดือน จริงๆ เราทำงานจิตอาสาถ้าบอกว่าจะไม่ให้ เราก็ไม่ว่าอะไร แต่นี่บอกว่าจะให้เอง ดังนั้นอยากให้สภาพัฒน์ส่งตัวแทนมาคุยกับเรา

"ถ้าสุดท้ายแล้วจะตัดลดเงินค่าเสี่ยงภัยเราเหลือ 7 เดือนจริงๆ หรือไม่ให้อะไรเราเลยก็ไม่ว่า เพราะเราก็ทำงานจิตอาสามาตลอดอยู่แล้ว แค่ผิดหวัง แต่ฝากผู้ใหญ่ เมื่อท่านพูดอะไรแล้ว อสม.ก็มีความหวัง ดังนั้นครั้งหน้า อยากจะให้อะไรอสม. ให้ปรึกษาเราก่อน ไม่ใช่ว่าพูดว่าจะให้แล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ แบบนี้ใช้ไม่ได้ จริงๆ เราเข้าใจว่าเงินนี้เป็นเงินกู้ เราเองก็ไม่ได้อยากได้ แต่วิถีชีวิตใหม่ มีอะไรที่ต้องดูแลมากขค้น ต้องมีอะไรซับพอร์ตเราหรือไม่ ซึ่งเราทำงานดูแลประชาชนตั้งแต่เกิด จนถึงเสียชีวิต ก็อยากให้สภาพัฒน์ฯ ทราบและเห็นใจเราด้วย" นายจำรัส กล่าว

ด้าน นายอัมรินทร์ นิ่มนวล ประธานอสม.จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีมติอย่างไร เรารับได้หมด แต่การทำงานของอสม.จะมีมาตรฐานการทำงานเหมือนเดิม เราไม่เอาเงินมาเป็นตัวต่อรอง เราเป็นนักรบด่านหน้าก็ต้องทำงานเหมือนเดิม แม้ว่าสภาพัฒน์ จะเห็นความสำคัญเราหรือไม่ แต่ชมรมฯ ยังเห็นความสำคัญของอสม.เอง เราทำงานด่านหน้า 20-30 คน ในการติดตาม ค้นหาคนเสี่ยงติดเชื้อมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 2-3 คน มาร่วม หากเกิดการติดเชื้อพวกเราติดก่อน ดังนั้นอยากให้สภาพัฒน์ฯ ที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ ได้เข้าใจตรงนี้ด้วย

ที่มา: Hfocus, 26/7/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท