Skip to main content
sharethis

สภาผู้แทนราษฎร เปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์รัฐสภาต่อร่าง 'พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ....' ที่ ส.ส. 'รังสิมันต์ โรม' และคณะเสนอ ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำกัดอำนาจนายกในการออกประกาศข้อกำหนดที่อาจมีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 ว่าสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. .... ตามที่ นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) กับคณะเป็นผู้เสนอ  โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่เป็นสาระสำคัญคือ ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องจากกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับปัจจุบันได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศและออกข้อกำหนดต่าง ๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจมีผลจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุและให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการใช้บังคับข้อกำหนด โดยขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลโดยสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรตุลาการ รวมถึงการกำหนดคำนิยามศัพท์สถานการณ์ฉุกเฉิน  /การกำหนดอำนาจของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน /การกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน และการกำหนดอัตราโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศ หรือคำสั่ง

สำหรับประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น มี 7 ข้อถาม ประกอบด้วย

1. สมควรยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือไม่

2. สมควรให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องมีระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน หรือไม่

3. สมควรให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีภายในสามวันและต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายในเจ็ดวัน นับแต่วันประกาศ หรือไม่

4. สมควรให้การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องได้รับความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรโดยขยายระยะเวลาได้คราวละไม่เกินสามสิบวัน หรือไม่

5. สมควรให้กรณีมิได้ดำเนินการให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันประกาศหรือสภาผู้แทนราษฎรไม่ให้ความเห็นชอบให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นอันสิ้นสุดลง หรือไม่

6. สมควรให้นายกรัฐมนตรีต้องรายงานผลการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในสามสิบวันนับแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงหรือไม่

และ 7. สมควรกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมงโดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำผิดไม่ได้ หรือไม่

ทั้งนี้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ....ตามที่ ส.ส.รังสิมันต์โรมกับคณะ เป็นผู้เสนอ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์รัฐสภา https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=97

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net