'นิด้าโพล' เผยคนเกิน 50% เห็นด้วยการชุมนุม 'เยาวชนปลดแอก'

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจคนเกิน 50% เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่ม 'เยาวชนปลดแอก' แต่กังวลเกิดความขัดแย้งการเมืองเหมือนในอดีต แนะ 'ประยุทธ์' รับฟังปัญหาด้วยตัวเอง 'ซูเปอร์โพล' ระบุผู้ใหญ่ทางการเมืองไม่มีคุณธรรม จุดชนวนการชุมนุมเพิ่มขึ้น เตือนมัวเกียร์ว่าง-ซื้อเวลา แก้ยาก-ประชาชนคล้อยตาม 'ข้อความการเมือง'

2 ส.ค. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ม็อบเยาวชน ปลดแอก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29-31 ก.ค. 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการชุมนุมของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และในอีกหลายจังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.56 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากปราศจากอาวุธและความรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 26.16 ระบุว่า เป็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หากไม่กระทำผิดกฎหมาย ร้อยละ 18.24 ระบุว่า เป็นการชุมนุมของพลังบริสุทธิ์ ของนักศึกษา ร้อยละ 17.12 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่ออนาคตของประเทศ ร้อยละ 13.44 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ

ร้อยละ 9.76 ระบุว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกและสถานการณ์ความวุ่นวายในอนาคต ร้อยละ 8.88 ระบุว่าเป็นการจัดการชุมนุมเพื่อต่อต้านความไม่ยุติธรรมในสังคม ร้อยละ 7.04 ระบุว่า เบื่อการชุมนุมบนท้องถนน ร้อยละ 6.48 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมเพื่อล้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.08 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีกลุ่มการเมือง/พรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 5.68 ระบุว่า เป็นการจัดชุมนุมที่มีเจตนาอื่นแอบแฝง ร้อยละ 4.64 ระบุว่า เป็นแค่แฟชั่นการชุมนุม ทำตามกระแสตาม social media/ คำชักชวนของเพื่อน ร้อยละ 0.88 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีหน่วยงานต่างประเทศอยู่เบื้องหลัง ร้อยละ 0.72 ระบุว่า เป็นการชุมนุมที่มีการกระทำผิดกฎหมาย และร้อยละ 2.72 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ด้านการเห็นด้วยของประชาชนต่อการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและในอีกหลายจังหวัด พบว่า ร้อยละ 34.72 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน และอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไปในทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ร้อยละ 19.28 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ เป็นสิทธิของกลุ่มเยาวชนที่จะเรียกร้องความถูกต้อง และอยากให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้

'ซูเปอร์โพล' ระบุผู้ใหญ่ทางการเมืองไม่มีคุณธรรม จุดชนวนการชุมนุมเพิ่มขึ้น

ด้านนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ธรรมะ คือ ทางออก” กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ผ่าน “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ด้วยระบบ Net Super Poll จำนวน 616,132 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 3,752 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม-1 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.0 ระบุระดับการปฏิบัติธรรมและคุณธรรมของผู้ใหญ่ทางการเมืองมีน้อยถึงไม่มีเลย เพราะโกง คิดคด ทรยศ หักหลัง เสร็จนาฆ่าโคถึก กดดัน เบียดเบียนผู้อื่น คุกคามประชาชน ข่มเหงจิตใจเพื่อนร่วมงานผู้บริสุทธิ์ ทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ คิดจะถอนทุนคืน แก่งแย่งตำแหน่ง ขณะประชาชนเดือดร้อน ทุกข์ยาก และไม่เคยเห็นประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 18.0 ระบุมีมากถึงมากที่สุด เพราะเสียสละ อดทน บำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.0 ระบุว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมี ม็อบ การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 42.0 คิดว่าไม่มี

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 ระบุ ห้ามทุกม็อบ ทุกฝ่าย อ้างก้าวละเมิด สถาบันหลักของชาติ ให้จำกัดเฉพาะประเด็นการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองที่ล้มเหลวของรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 10.7 ระบุแล้วแต่ดุลพินิจ

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 ไม่เชื่อมั่นต่อการปรับคณะรัฐมนตรีชุดเก่าออก เอาชุดใหม่แทน เพราะ เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่ยึดเป้าหมายความต้องการในการแก้ปัญหาเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนเป็นหลัก ไม่ได้มุ่งลดความทุกข์ยากของประชาชน ปรับเพราะมุ่งแก้ปัญหาการเมืองภายในพรรค ปรับแล้วไม่เห็นว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตามข่าวจะมีอะไรที่ดีกว่าชุดเดิม เป็นต้น ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 14.9 ที่เชื่อมั่น

นายนพดล กล่าวด้วยว่า ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll พบว่า ข้อความการเมืองที่กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มีวันปล่อยข้อความแต่ละข้อความแตกต่างกัน โดยเริ่มจากข้อความที่ว่า เยาวชนปลดแอก เริ่มปล่อยในวันที่ 12 กรกฎาคม 2563 และวันที่ปั่นยอดสูงสุดคือ 23 กรกฎาคม 2563 ผ่านช่องทางที่นิยมคือ ทวิตเตอร์ (90.7%) วิดีโอ (4.7%) ต่อมาคือ ข้อความที่ว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” เริ่มปล่อยข้อความวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 และวันที่ปั่นยอดสูงสุดคือ 18 กรกฎาคม 2563 จากนั้นลดต่ำลง ที่น่าสนใจคือช่องทางผ่าน อินสตาแกรม (11.5%) สูงมาเป็นอันดับสอง รองจาก ทวิตเตอร์ (82.8%)

ข้อความถัดมาคือ “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” เริ่มปล่อยข้อความวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 และวันที่ปั่นยอดได้สูงสุดคือวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ผ่านทวิตเตอร์(91.0%) และข่าว (3.8%) และข้อความใหม่ล่าสุด คือ “คณะประชาชนปลดแอก” เริ่มปล่อยข้อความวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ส่วนวันที่ปั่นยอดสูงสุดกำลังเก็บข้อมูลอยู่ โดยพบว่าช่องทางที่นิยมใช้คือ ทวิตเตอร์ (64.3%) และข่าว (21.4%) ตามลำดับ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า เสียงของประชาชน ทั้งในโลกโซเชียลและนอกโลกโซเชียลกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายได้ ถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมีข้อมูลที่ไม่ดีเพียงพอต่อการตัดสินใจและปล่อยให้สถานการณ์สุกงอม มัวแต่ตั้งรับซื้อเวลาให้ผ่านไปจนถึงจุดที่แก้ไขยาก ถึงเวลานั้นประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่จะอยู่กันด้วยความทุกข์ยากลำบาก และใครจะคุมใครได้ในเวลานั้น เพราะนายกรัฐมนตรีและผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองตัดสินใจด้วยคำนึงถึง “วิถีทางและผลประโยชน์แห่งการเมือง” มากกว่าจะปรับปรุงคณะรัฐมนตรีที่ยึดการทำงานให้ตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ

“ผลที่ตามมาคือทำให้อารมณ์ของประชาชนกำลังคล้อยไปตาม “ข้อความการเมือง” และความเป็นจริงแห่งความทุกข์ยากที่ประชาชนกำลังเผชิญในขณะนี้และจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะตอนนี้ข้อความการเมืองในโลกโซเชียลกำลังถูกยกระดับจาก “เยาวชนปลดแอก” เป็น “คณะประชาชนปลดแอก” ทางออกที่เสนอ คือ ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองรีบปรับตัวให้ทัน ดับไฟแต่ต้นลม ใช้ธรรมะเป็นทางออก” นายนพดล กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท