Skip to main content
sharethis

การนำเข้าแรงงานชาติอื่นมีอุปสรรค ไต้หวันหันมาว่าจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น

สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ในต่างประเทศยังคงรุนแรง ประเทศผู้ส่งออกแรงงานประสบปัญหา อย่างเช่น รัฐบาลอินโดนีเซียออกคำสั่งห้ามแรงงานเดินทางทางไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.เป็นต้นมา แรงงานเวียดนามและฟิลิปปินส์เดินทางมาทำงานลำบาก นายจ้างไต้หวันหันมาว่าจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา แรงงานไทยทยอยเดินทางเข้าสู่ไต้หวันแล้ว และเมื่อการนำเข้าไม่สะดวก แรงงานต่างชาติที่นายจ้างเดิมประสบปัญหาถูกเลิกจ้าง มีนายจ้างใหม่รับโอนอย่างไม่จำกัดจำนวน

ที่มา: Radio Taiwan International, 1/7/2020

ทางการแคลิฟอร์เนียฟ้อง Cisco ข้อหาแบ่งชนชั้นทางสังคมในหมู่พนักงาน

หน่วยงาน Department of Fair Employment and Housing ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้ยื่นฟ้อง Cisco ต่อศาลรัฐบาลกลางในเมืองซาน โฮเซ ซึ่งไม่ได้เอ่ยชื่อของพนักงานของบริษัทที่เกี่ยวข้อง แต่ระบุว่าเป็นวิศวกรที่ปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักงานใหญ่ของซิสโกมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2015 โดยเป็นผู้ที่มีเชื้อสายอินเดียและถูกจัดให้อยู่ในวรรณะจัณฑาล ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างวรรณะ จึงเกิดมาไร้วรรณะและมีสถานะทางสังคมต่ำ ตามความเชื่อทางศาสนาฮินดู

เป็นที่ทราบกันดีว่า พนักงานที่ทำงานในซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Cisco นั้นประกอบด้วยผู้มีเชื้อสายอินเดียอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ถูกจัดให้อยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือสูงกว่านั้น ในคำฟ้องล่าสุดนี้ ทางการรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวหาบริษัทว่ายินยอมให้อดีตผู้จัดการแผนกวิศวกรรม 2 รายล่วงละเมิดพนักงานอเมริกันเชื้อสายอินเดีย เพียงเพราะเรื่องของวรรณะ

ทั้งนี้ กฎหมายการว่าจ้างงานของรัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้ให้การคุ้มครองพนักงานในเรื่องของการถูกเลือกปฏิบัติเพราะระบบชั้นวรรณะ แต่ทางการระบุว่า คำฟ้องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนาซึ่งเป็นประเด็นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองอยู่ โฆษกของ Cisco บอกกับผู้สื่อข่าวว่าทางบริษัทได้เริ่มการสอบสวนประเด็นตามข้อกล่าวหาแล้ว พร้อมยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายต่าง ๆ มาโดยตลอด

กลุ่มสิทธิมนุษยชน Equality Labs มีรายงานเกี่ยวกับประเด็นการแบ่งแยกชนชั้นในปี 2018 ที่อ้างว่าผู้มีเชื้อสายอินเดียและอยู่ในวรรณะจัณฑาลราว 67 เปอร์เซ็นต์ที่ร่วมทำการสำรวจระบุว่าตนได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในที่ทำงานในสหรัฐฯ

ที่มา: VOA, 2/7/2020

อัตราการว่างงานในยุโรป-สหรัฐฯ เริ่มลดลง แต่แรงกดดันทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ยังคงอยู่

ข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ออกมาในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2020 ระบุว่าอัตราการว่างงานใน 19 ประเทศของยุโรปปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 7.4% ในเดือนพ.ค. 2020 เทียบกับอัตรา 7.3% ในเดือน เม.ย. 2020 โดยรายงานข่าวประเมินว่า อัตราการเพิ่มที่ลดลงนี้เป็นผลมาจากมาตรการของรัฐบาลต่าง ๆ ในการพยุงตลาดแรงงานที่ถูกกระทบหนักจากการระบาดของ COVID-19 เช่น เงินสนับสนุนค่าแรงและเงินเดือนเพื่อไม่ให้นายจ้างปลดคนงาน โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการภาษีอื่น ๆ ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ประจำเดือน มิ.ย. 2020 อยู่ที่ 11.1% ลดลงจากระดับ 13.3% ในเดือน พ.ค. 2020

การลดลงของตัวเลขคนว่างงานในสหรัฐฯ ที่เป็นผลมาจากการทยอยปลดล็อคมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่เอื้อให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดทำการและจ้างงานได้อีกนั้นยังมีความไม่แน่นอนอยู่ หลังอัตราการติดเชื้อในหลายรัฐเริ่มพุ่งสูงอีกครั้ง ทำให้ต้องมีการสั่งชะลอการเปิดหรือแม้แต่สั่งปิดภาคธุรกิจอีกครั้งแล้ว ในส่วนของยุโรป แม้ตัวเลขสถิติจะเริ่มดูดีขึ้น หลายภาคส่วนยังคงกังวลเกี่ยวกับทิศทางของสถานการณ์ต่อจากนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการทั้งหลายหลังสูญเสียรายได้ไปมากในช่วงที่มีคำสั่งล็อคดาวน์เป็นเวลานาน ขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวการณ์ระบาดในช่วงฤดูร้อนซึ่งเป็นเวลาที่ธุรกิจท่องเที่ยวควรคึกคักที่สุดว่าจะเป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานของคณะกรรมาธิการยุโรป ประเมินว่ามีประชาชนใน 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรเป็นหลักจำนวน 12.1 ล้านคน อยู่ในภาวะว่างงานเวลานี้ ขณะที่คณะกรรมาธิการยุโรปคาดไว้ว่า เศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะหดตัวถึง 7.75% ในปีนี้

ที่มา: VOA, 3/7/2020

หนังสือพิมพ์ดังของอังกฤษจะเลิกจ้างพนักงาน 550 คน

สำนักพิมพ์ Reach ของอังกฤษที่พิมพ์หนังสือพิมพ์ Daily Mirror, Daily Express และ Daily Star จะเลิกจ้างพนักงาน 550 คน โดยให้เหตุผลว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระบาดทำให้คนหันไปอ่านทางออนไลน์มากขึ้น และสำนักพิมพ์มีรายได้จากโฆษณาลดลงทำให้ต้องมีการลดต้นทุน

ที่มา: Independent, 7/7/2020

ยกระดับความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติ ไต้หวันกำหนดปีใหม่ 2021 นี้เป็นต้นไป เพิ่มพื้นที่พักโดยเฉลี่ยจากคนละ 3.2 ตร.ม. เป็น 3.6 ตร.ม.

เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ของแรงงานต่างชาติให้สูงขึ้น พร้อมสอดคล้องกับนโยบายขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ กระทรวงแรงงานไต้หวันประกาศว่า ที่พักของแรงงานต่างชาติในภาคการผลิต เพิ่มจาก 3.2 ตร.ม. ในปัจจุบัน เป็น 3.6 ตร.ม. หรือเพิ่มเป็น 1.09 ผิง นอกจากนี้ แม้จะยังไม่สามารถแยกหอพักออกจากโรงงานได้ แต่กำหนดให้นายจ้างจะต้องชี้แจงตำแหน่งที่ตั้งหอพักว่าอยู่ในสถานที่ทำงานที่อันตราย และจะต้องยื่นขอตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารสิ่งก่อสร้างตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2021 เป็นต้นไป

นายเซวียเจี้ยนจง ผอ. สำนักงานบริหารแรงงานข้ามชาติ กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานชี้แจงว่า กระทรวงแรงงานพิจารณาจากข้อเสนอขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ที่เสนอให้พื้นที่หอพักของผู้ใช้แรงงานควรจะอยู่ที่ 3.6 ตร.ม. และใช้เตียงร่วมกันไม่ได้ จึงมีการปรับพื้นที่หอพักของแรงงานต่างชาติจากเดิมเฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3.2 ตร.ม. เป็น 3.6 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 0.4 ตร.ม. หากคิดเป็นมาตราวัดพื้นที่ที่ในไต้หวันนิยมใช้กัน เพิ่มเป็น 1.09 ผิง พร้อมทั้งกำหนดให้นายจ้างต้องจัดหาตู้เก็บสิ่งของหรือเสื้อผ้าส่วนตัวให้แรงงานต่างชาติตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้น นายจ้างต้องรับประกันว่าหอพักที่จัดหาให้แรงงานต่างชาติ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ถูกกฎหมายและมีระบบป้องกันอัคคีภัยตามกำหนดแล้ว

สืบเนื่องจากปลายปี 2017 และครึ่งแรกของปี 2018 ระยะเวลาห่างกันเพียง 6 เดือน ได้เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานร้ายแรงถึง 2 ครั้ง ส่งผลให้แรงงานต่างชาติเสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นแรงงานเวียดนาม 6 ราย แรงงานไทย 2 ราย และแรงงานต่างชาติที่เคราะห์ร้ายทั้ง 8 ราย เสียชีวิตในหอพักซึ่งตั้งอยู่ในโรงงาน ดังนั้น กลุ่ม NGO ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างชาติ จึงเรียกร้องขอให้ออกกฎหมาย แยกหอพักและโรงงานออกห่างจากกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาแยกหอพักออกจากโรงงานไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนายจ้างจะคัดค้านแล้ว กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมการออกแบบและก่อสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างเห็นว่า อาคารหอพักหากได้มาตรฐานความปลอดภัยถือว่าถูกกฎหมาย ไม่ติดใจว่าจะต้องแยกออกจากโรงงานหรือไม่? ด้านกรมบันเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ขณะที่ตรวจสอบระบบความปลอดภัยที่โรงงาน ไม่ได้มีการแบ่งแยกว่าหอพักและโรงงาน ทุกอย่างจะตรวจสอบตามมาตรฐาน แต่หากว่าหอพักและโรงงานอยู่ในอาคารเดียวกัน เข้าข่ายเป็นอาคารแบบผสม จะมีการตรวจสอบเข้มงวดมากกว่าที่แยกเป็นคนละอาคาร ส่วนกระทรวงเศรษฐการก็แสดงจุดยืนว่า ตามกฎหมายในปัจจุบัน อนุญาตให้หอพักตั้งอยู่ภายในบริเวณโรงงานได้ ขอเพียงแต่ให้สิ่งก่อสร้างและระบบอุปกรณ์ป้องกันภัยได้มาตรฐานตามกำหนด ไม่มีความจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อแยกหอพักออกจากโรงงานอีก

ที่มา: Radio Taiwan International, 10/7/2020

สายการบิน United Airlines ร่อนจดหมายเลิกจ้างให้พนักงานเกือบครึ่งหนึ่งในสหรัฐฯ

สายการบิน United Airlines ร่อนหนังสือแจ้งเตือนเลิกจ้างพนักงาน 36,000 ตำแหน่ง หรือเกือบครึ่งหนึ่งของตำแหน่งงานของสายการบินนี้ในสหรัฐฯ สะท้อนสัญญาณที่ชัดเจนล่าสุดจากผลกระทบของ COVID-19 ต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลก

United Airlines ระบุว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด สายการบินจะเดินหน้าแผนลดการจ้างงาน ที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2020 นี้ โดยจะเสนอทางเลือกให้พนักงานราว 36,000 คน เข้าโครงการเกษียณก่อนกำหนด คิดเป็น 45% ของตำแหน่งงานของ United Airlines ในอเมริกา ที่มีอยู่ราว 95,000 ตำแหน่ง

ผู้ที่ได้รับจดหมายแจ้งเตือนล่วงหน้า 60 วัน ได้แก่ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 15,000 ตำแหน่ง พนักงานฝ่ายบริการลูกค้าและเจ้าหน้าที่สนามบิน 11,000 ตำแหน่ง พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุง 5,500 ตำแหน่ง และนักบินอีก 2,250 คน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในวันที่ 1 ต.ค. 2020 จะมีการปลดพนักงานในฝ่ายบริหารออกอีก 1,300 ตำแหน่งทั้งในสหรัฐฯ และต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ที่มา: VOA, 10/7/2020

ผลกระทบโควิด ชาวเวียดนามหลบหนีเข้าไต้หวันทางทะเลมากขึ้น ค่าหัวคิวเพิ่มจาก 7,000 USD เป็น 10,000 USD

ช่วง 2-3 ปีมานี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเวียดนามเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มนุษย์เรือชาวเวียดนามที่ลักลอบเข้าสู่ไต้หวันโดยทางเรือประมงลดน้อยลง แต่ปีนี้ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้ภาวะทางเศรษฐกิจซบเซา โรงงานต่าง ๆ ปลดพนักงาน ชาวเวียดนามที่หลบหนีเข้าสู่ไต้หวันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ตำรวจหน่วยยามฝั่งของไต้หวันตรวจพบมนุษย์เรือชาวเวียดนามแล้ว 31 คน เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ตรวจพบชาวเวียดนามอีก 30 คนที่ลักลอบเข้าเมืองโดยเรือประมงเหล่านี้ ส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ชนบทของเวียดนามเหนือ ซึ่งยากจนและหางานทำได้ยาก พวกเขาต้องจ่ายค่าหัวคิวในอัตราแพงให้กับขบวนการค้ามนุษย์ข้ามพรมแดนจากเวียดนามไปที่มณฑลกวางตุ้ง จีนแผ่นดินใหญ่ จากนั้นจัดลงเรือประมงเพื่อแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ลักลอบขึ้นฝั่งหางานทำ หากโชคร้ายเรืออับปางก็อาจเสียชีวิตกลางทะเล หรือแม้จะปลอดภัยเข้าใกล้ไต้หวัน ก็อาจถูกหน่วยยามฝั่งตรวจพบส่งกลับประเทศ กล่าวได้ว่า เสียเงินเพื่อเสี่ยงดวงหาอนาคตใหม่

หน่วยยามฝั่งของไต้หวันได้รับแจ้งข้อมูลว่า จะมีเรือประมงลำเลียงชาวเวียดนามกลุ่มใหญ่ลักลอบขึ้นฝั่งไต้หวัน จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาล  เมื่อเวลา 23.00 น. ของวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าพนักงานอัยการจากศาลท้องถิ่นผิงตง สนธิกำลังจากหลายหน่วยงาน โดยสารเรือลาดตระเวน 3 ลำ ตรวจพบเรือประมงไต้หวันลำดังกล่าวนอกชายฝั่งตำบลหลินเปียนในผิงตง เมื่อขึ้นเรือตรวจค้น พบชาวเวียดนาม 30 คน เป็นหญิง 7 ชาย 23 ยัดเป็นปลากระป๋องอยู่ในท้องเรือพื้นที่แคบ ๆ  ของเรือประมง และเพื่อป้องกันติดเชื้อโควิด-19 ตำรวจได้ลากเรือประมงลำนี้ไปยังท่าเรือหลินเปียน จากนั้นฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ เจ้าหน้าที่สวมชุดป้องกันโควิด-19 เรียกชาวเวียดนามเหล่านี้ออกมาจากท้องเรือประมง ฉีดพ่นแอลกอฮอล์และทำการตรวจวัดอุณหภูมิ ไม่พบผู้ติดเชื้อหรือเป็นไข้แต่อย่างใด จึงส่งทั้งหมดไปยังสถานกักกันเพื่อรอเนรเทศส่งกลับประเทศ

จากการสอบปากคำและตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในจำนวนชาวเวียดนามที่นั่งเรือประมงเตรียมลักลอบขึ้นฝั่งไต้หวันกลุ่มนี้ อายุอยู่ระหว่าง 25-30 ปี และมี 29 คนเคยเดินทางมาทำงานที่ไต้หวันก่อนหน้านี้ แต่หลบหนีถูกจับกุมส่งกลับประเทศ ไม่สามารถเข้าไต้หวันได้อีก เมื่อกลับประเทศแล้ว ไม่มีงานทำ จึงต้องดิ้นรนกู้หนี้ยืมสินจ่ายค่าหัวคิวคนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 320,000 บาท จากเมื่อปีที่แล้วจ่าย 7,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 220,000 บาท ให้กับขบวนการค้ามนุษย์ เดินทางข้ามพรมแดนเข้ามณฑลกวางตุ้งในจีนแผ่นดินใหญ่ จากนั้นถูกจัดให้นั่งเรือประมงข้ามช่องแคบไต้หวัน ลักลอบเข้าไต้หวัน แต่ต้องเสียเงินกว่า 300,000 บาทฟรี ๆ เพราะยังไม่ทันขึ้นฝั่งก็ถูกจับทั้งหมด

ที่มา: Radio Taiwan International, 17/7/2020

คาดคนออสเตรเลียจะตกงานอีกจำนวนมาก จากล็อกดาวน์ในวิกตอเรีย

คาดว่าจะมีการเลิกจ้างงานในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นในรัฐวิกตอเรีย หลังรัฐเข้าสู่การล็อกดาวน์ระดับ 3 เป็นครั้งที่สอง ขณะที่งานหลายหมื่นตำแหน่งหดหายไปในอุตสาหกรรมการให้บริการต้อนรับ อุตสาหกรรมด้านการศึกษา และศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐอื่น ๆ ที่จะเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และพยุงตลาดแรงงานในวิกตอเรีย

การสูญเสียรายได้ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้แค่ปีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการไม่มีนักเรียนต่างชาติ ทำให้คาดกันว่าอย่างต่ำจะมีการเลิกจ้าง 21,000 ตำแหน่ง โดยสถิติล่าสุดของรัฐวิกตอเรียพบว่า มีการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 6.9% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 7.1% ขณะที่รัฐอื่น ๆ เริ่มการฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนแล้ว แต่รัฐวิกตอเรียต้องรอต่อไปอีกจนกว่าจะสิ้นสุดการล็อกดาวน์รอบสอง ที่กำหนดไว้ 6 สัปดาห์ในเบื้องต้น

ที่มา: SBS, 17/7/2020

ญี่ปุ่นออกกฎระเบียบป้องกัน COVID-19 สำหรับคนทำงานกลางคืน

บาร์ในญี่ปุ่นกำหนดระเบียบเพื่อการป้องกันโรคติดเชื้อ COVID-19 เพื่อให้สามารถทำงานเลี้ยงชีพได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้คนทำงานกลางคืนในญี่ปุ่นต้องมีระเบียบปฏิบัติเรื่องการต้อนรับลูกค้า เช่น การห้ามไม่จูบ ไม่รับประทานอาหารจานเดียวกัน และเว้นระยะระหว่างสนทนา เป็นต้น

สมาคมธุรกิจกลางคืนเผยว่าอาชีพนี้ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะแม่เลี้ยงเดี่ยวมีรายได้เลี้ยงชีพ ประมาณการณ์ว่ามีคนทำงานธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

ที่มา: The Japan Times, 21/7/2020

รอบ 1 ปีที่ผ่านมามีแรงงานต่างชาติในไต้หวัน เล่นน้ำหรือจับปลา จมน้ำเสียชีวิตแล้วร่วม 10 คน

ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2020 ที่ผ่านมา แรงงานฟิลิปปินส์กลุ่มหนึ่งไปเล่นน้ำที่หาดทรายซินเยวี่ยซาวาน (新月沙灣) ในซินจู๋ ซึ่งเป็นหาดมรายอันตราย ในจำนวนนี้ มี 2 คนที่จมน้ำหายไป เพื่อนๆ รีบโทรศัพท์กลับโรงงานและแจ้งความ หน่อยกู้ภัยไปถึงพบ 1 ในจำนวนนี้ว่ายกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย อีกคนหนึ่ง หลังค้นหานานประมาณ 1 ชั่วโมง พบร่างที่ไม่มีสัญญาณชีพแล้ว รีบนำกลับเข้าฝั่งทำการปั๊มหัวใจกู้ชีพ จากนั้นนำส่งโรงพยาบาล โชคดีที่แพทย์สามารถกู้ชีวิตให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติได้อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2020 ที่ผ่านมาก็มีแรงงานเวียดนามในไทจงรายหนึ่งไปเล่นน้ำในแม่น้ำ ซึ่งไหลเชี่ยวและลึกถึง 3 เมตร ทำให้จมน้ำหายไป เพื่อนอีก 2 คนตกใจรีบขอความช่วยเหลือจากชายชาวไต้หวันที่ตกปลาอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุไม่ไกล ช่วยโทรศัพท์แจ้งความ ไม่นานหน่วยกู้ภัยมาถึงออกค้นหา จนถึงหัวค่ำ จึงพบศพผู้ตายห่างจากจุดเกิดเหตุค่อนข้างไกล 

ที่มา: Radio Taiwan International, 22/7/2020

สหภาพแรงงานนักบิน FedEx เรียกร้องให้ระงับการดำเนินงานในฮ่องกง

สหภาพแรงงานนักบิน FedEx ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางบริษัทระงับการดำเนินงานในฮ่องกง หลังนักบินต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบากอย่างมากจากมาตรการกักกันตัวของรัฐบาลฮ่องกงที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุม COVID-19 โดยนักบินที่ได้รับการตรวจแล้วพบว่าไม่ได้ติดเชื้อ COVID-19 ก็ยังจะถูกสั่งให้กักกันตัวในสถานที่ของรัฐบาล ซึ่งทำให้กลุ่มนักบินปฏิบัติหน้าที่ได้ยากลำบากมาก

ที่มา: Reuters, 29/7/2020

Google อนุญาตให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ถึง มิ.ย. 2021

Google อนุญาตให้พนักงานของตนทำงานจากที่บ้านต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2021 เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 การตัดสินใจของผู้บริหาร Google ครั้งนี้ มีผลบังคับใช้ต่อพนักงานเกือบ 200,000 คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงทั้งพนักงานประจำและพนักงานที่ทำสัญญาว่าจ้าง และทำให้ Google กลายมาเป็นบริษัทอเมริกันที่มีขนาดใหญ่แห่งแรกที่ยินยอมให้พนักงานไม่ต้องเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในที่ทำงานเป็นเวลานานกว่า 1 ปี หลังจากประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะให้พนักงานทำงานจากบ้านไปจนถึงสิ้นปี 2020 นี้

รายงานข่าวระบุว่าการที่ Google เริ่มดำเนินนโยบายเช่นนี้ น่าจะส่งผลให้ธุรกิจอีกหลายแห่งพิจารณาดำเนินแผนงานแบบเดียวกันในไม่ช้าแล้ว

ที่มา: VOA, 30/7/2020

การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้คนในญี่ปุ่นตกงานกว่า 40,000 คน

กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นระบุว่า ประชาชน 40,032 คนกลายเป็นผู้ว่างงานระหว่างช่วงปลายเดือน ม.ค. ถึงวันที่ 29 ก.ค. 2020 หลังจากที่พวกเขาถูกให้ออกจากงานหรือไม่ได้รับการต่อสัญญา เนื่องจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ในจำนวนนี้อย่างน้อย 15,000 คนเป็นลูกจ้างไม่ประจำ ซึ่งรวมถึงพนักงานชั่วคราวและพนักงานไม่เต็มเวลา

จำนวนของผู้คนที่ตกงานเนื่องจากการระบาดของไวรัสนี้มีมากเกิน 10,000 คนติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค. 2020 การตกงานในภาคที่พักและร้านอาหารอยู่ในภาวะย่ำแย่เป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในภาคการผลิตก็กำลังเกิดการตกงานเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

ที่มา: NHK World Japan, 30/7/2020

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net