ชุมนุมธีมแฮรี่พอตเตอร์ ร้องยกเลิก-แก้กฎหมายขยายพระราชอำนาจฯ และฟังเสียงนักศึกษา-ประชาชน

กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและ มอกะเสด จัด 'เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย' ร้องยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขณะนี้

3 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวันนี้ (3 ส.ค.63) ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและ มอกะเสด จัดกิจกรรม 'เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย' เพื่อปกปักรักษาประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดจาก #คนที่คุณก็รู้ว่าใคร

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ 1. ให้ยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2. แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 3. ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

รายละเอียดแถลงการณ์ : 

ธัชพงศ์ แกดำ หนึ่งในผู้ปราศรัย กล่าวว่า วรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่าถึงความชั่วร้ายของจอมมารโวลเดอมอร์ฝ่ายมืดต่อสู้กับ ฝ่ายสว่าง คนหนุ่มสาว และอาจารย์ในโรงเรียน การต่อสู้ดำเนินไปอย่างยาวนาน สิ่งที่สู้ยากที่สุดคือเครือข่ายของคนที่คุณก็รู้ว่าใคร กระจายแทรกซึมทุกวงการ วันที่เขาแผ่อำนาจปกคลุมจนแม้กลางวันก็ยังมืดมิด คือวันที่เขายึดกระทรวงเวทย์มนต์ พยายามจะครอบงำไปทุกวงการ อ้างการปฏิรูปประเทศ แต่สุดท้ายเหล่าคนหนุ่มสาวรู้ทัน พยายามสู้ แต่แค่พูดต่างก็ถูกล่าแม่มด ถูกจับดำเนินคดี

"ในยุคของอำนาจมืด การขับรถชนตำรวจตาย ก็ไม่มีความผิด เป็นยุคที่ศักดิ์ศรีตำรวจถูกลดทอน กระบวนการยุติธรรมอับปาง แต่ในการต่อสู้ระหว่างคุณงามความดีคือประชาธิปไตย กับจอมมาร เรามีเครือข่ายภาคีนกฟีนิกซ์ เราจะใช้คาถาผู้พิทักษ์ไล่เหล่าผู้คุมวิญญาณ ไล่สิ่งชั่วร้าย แต่ตอนร่ายคาถา ต้องคิดถึงความสุข ขอให้เราทุกคนนึกถึงรอยยิ้มของวันเฉลิมไว้ เราจะไม่ลืมรอยยิ้มของเขา" ธัชพงศ์ กล่าว 

เราไม่ต้องการ ส.ว. แล้ว

อีกหนึ่งในผู้ปราศรัยกล่าวว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องคือการหยุดคุกคามประชาชน เปิดทางให้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องใส่ข้อกำหนด ผู้ใดทำรัฐประหารต้องได้รับโทษสูงสุด ต้องไม่มีการัฐประหารเกิดขึ้นอีก แล้วจึงยุบสภา ซึ่งจะยุบได้ต้องเกิดขึ้นหลังแก้ไขอำนาจวุฒิสภาหรือ ส.ว. ซึ่งมีอำนาจล้นเหลือ ทั้งการเลือกรัฐมนตรี การผ่านกฎหมาย

ผู้ปราศรัยคนดังกล่าวระบุอีกว่า ส.ว. ชุดนี้ไร้ประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด พวกเราไม่ต้องการ ส.ว. แล้ว เพราะมี ส.ส. ที่มีศักยภาพพอ งบประมาณที่ต้องเสียให้กับ ส.ว.จำนวนมาก หากนำมาช่วยเยียวยาประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า

"เชื่อว่าอำนาจบริสุทธิ์ของประชาชน จะเป็นแสงสว่างต่อสู้กับอำนาจมืด อย่าให้เขาคุกคามเพื่อนเรา อย่าให้เขาอุ้มฆ่าเพื่อนเรา ขอให้เราชูสามนิ้ว แล้วพูดว่า 'เราจะไม่หยุดจนกว่าอำนาจมืดจะหมดไป" ผู้ปราศรัยรายเดิมกล่าว

เวลาประมาณ 19.30 น. ระหว่างที่มีการชุมนุม ปรากฏบุคคลสวมหน้ากากลักษณะคล้าย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สวมเสื้อคลุม ถือไม้กายสิทธิ์ ปรากฎตัวในที่ชุมนุม ก่อนจะเดินมาหน้าเวทีเพื่อให้ทุกคนได้ถ่ายภาพ โดยการชูสามนิ้ว

'ทนายอานนท์' ย้ำต้องอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา

อานนท์ นําภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ขึ้นปราศรัยถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เกี่ยวกับการเมืองไทย โดยย้ำด้วยว่า เป็นการอภิปรายด้วยความเคารพและให้เกียรติ สิ่งที่พูดไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันอยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เขายืนยันว่าการกล่าวอ้างเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ลอยๆ ตามที่ชุมนุมต่างๆ นั้น จะไม่มีน้ำหนัก หากไม่มีการพูดด้วยเหตุด้วยผลอย่างตรงไปตรงมาตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

"อย่าปล่อยให้คนตัวเล็กตัวน้อยพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วถูกคุกคามตามลำพัง" อานนท์ กล่าว

อานนท์ กล่าวถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังการทำประชามติในประเด็นพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และประเด็นการวินิจฉัยวิกฤตบ้านเมืองที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ประเด็นการออก พ.ร.บ.การจัดการระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ที่ทำให้สาธารณสมบัติไม่ได้เป็นของประชาชน ประเด็นการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และประเด็นเรื่องการประทับต่างประเทศ รวมทั้งการโอนกรมทหารราบที่ 1 และกรมทหารราบที่ 11 เป็นส่วนราชการในพระองค์

อานนท์ ย้ำอีกว่า ต้องพูดถึงปัญหาพระราชอำนาจล้นเกินกว่าระบอบการปกครองอย่างตรงไปตรงมา พร้อมข้อเสนอในการแก้ปัญหาด้วย โดยยกตัวอย่าง เช่น ให้สภาที่เป็นประชาธิปไตยแก้รัฐธรรมนูญให้มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีสถาบันกษัตริย์หากอยู่ต่างประเทศ, ทรัพย์สินสาธารณะสมบัติที่ถูกถ่ายโอนไปนั้นก็ให้ดึงกลับมาเป็นสาธารณะสมบัติ หรือการใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นต้องถูกตรวจสอบตามระบอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ อานนท์ ยังเรียกร้องให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่นิ่งเฉยกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่แอบอ้างเพื่อประโยชน์ทางการเมืองด้วย

อำนาจพิเศษของ ส.ว. จากมรดก คสช.

เกี่ยวกับ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ไอลอว์ได้สรุปไว้ว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งขึ้นโดย คสช. และบังคับผ่านประชามติที่ไม่ชอบธรรมมาในปี 2559 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงวางกลไกหลายอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ คสช. โดยกลไกหลักที่คอยรักษาฐานอำนาจนี้ไว้ ก็คือ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งนี่เอง

มาตรา 219 กำหนดว่า ส.ว. มีอำนาจในการให้ความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระในการจัดทำ “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อบังคับใช้ต่อองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญนี้ และมาตรฐานทางจริยธรรมที่จัดทำขึ้นเสร็จแล้ว ก็จะมีผลบังคับใช้ต่อนักการเมืองทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. เองด้วย

มาตรา 256 กำหนดว่า หากมีข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณา ในวาระที่หนึ่ง และวาระที่สาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 คน หรือ หนึ่งในสามของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ จึงจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อำนาจนี้เป็นอำนาจที่สำคัญ เพราะกลไกต่างๆ ที่เป็นฐานอำนาจให้กับ คสช. จะไม่สามารถถูกแก้ไขหรือยกเลิกได้เลยหากไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. ก่อน

มาตรา 270 กำหนดว่า ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งแผนการปฏิรูปประเทศและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี นั้นต่างก็เขียนขึ้นในยุคของ คสช. โดยคนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นเองทั้งหมด ส.ว. จึงมีหน้าที่ในการกำกับดูแลให้ประเทศเดินไปในทางที่ คสช. วางไว้นั่นเอง

สำหรับการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ จะไม่ใช้กฎหมายการออกกฎหมายตามปกติที่ต้องผ่าน สภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. มีอำนาจเพียงยับยั้งหรือส่งคืนเท่านั้น แต่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่ง ส.ว. จะร่วมอภิปรายและลงมติพร้อมกับ ส.ส. เลยตั้งแต่ต้น

มาตรา 271 กำหนดให้กรณีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าหากเป็นกรณีที่การแก้ไขหรือเพิ่มเติมโทษนั้นจะทำให้ผู้กระทำผิดพ้นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ และวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างฉบับที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร หรือกรณีการออกกฎหมายใดๆ ที่วุฒิสภาลงมติมากกว่าสองในสามว่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง เมื่อวุฒิสภาส่งคืนให้กับสภาผู้แทนราษฎร ให้ลงมติใหม่โดย ส.ว. กับ ส.ส. พิจารณาร่วมกัน และร่างกฎหมายนั้นจะเห็นชอบได้เมื่อมีมติมากกว่า 500 เสียงขึ้นไป หรือสองในสามของสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน

มาตรา 272 กำหนดว่า ส.ว.มีอำนาจร่วมกันกับ ส.ส. ในการลงมติให้ความเห็นชอบเลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในระยะห้าปีแรกนับตั้งแต่มีสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท