ศูนย์ทนายสิทธิฯ เปิด 8 รูปแบบการคุกคามปิดกั้น รอบ 2 อาทิตย์หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรายงาน การคุกคามประชาชน ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างน้อย 8 รูปแบบ หลังการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก และการชุมนนุมตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่มี 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องสำคัญคือให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ 

3 ส.ค.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรายงาน การคุกคามประชาชน ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังจากวันที่ 18 ก.ค.63 กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และประชาชน จัดการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจใน 3 ข้อหลัก ได้แก่ เรียกร้องให้มีการประกาศยุบสภา, ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้เจ้าหน้าที่รัฐหยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ แรงสั่นสะเทือนนี้ได้ก่อให้เกิดการชุมนุมแฟลชม็อบในพื้นที่ต่างๆ ต่อเนื่องตามมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 2 อาทิตย์แล้ว เพื่อเน้นย้ำทั้ง 3 ข้อเสนอ

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จากการติดตาม ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 63 จนถึงวันที่ 1 ส.ค. 63 ได้มีการประกาศจัดการชุมนุมและกิจกรรมสาธารณะซึ่งมีเนื้อหาเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องของนักเรียนนักศึกษา เป็นจำนวนอย่างน้อย 75 กิจกรรม ใน 44 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ และยังมีอีกหลายพื้นที่ประกาศจัดกิจกรรมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม 

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความฯ พบการติดตาม คุกคาม และปิดกั้นผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรมในหลายพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้จากอย่างน้อย 76 กิจกรรม มีจำนวน 5 กิจกรรมไม่สามารถจัดขึ้นได้ ในจำนวนนี้มี 1 กิจกรรม ที่จังหวัดสกลนคร ที่ผู้จัดตัดสินใจเลื่อนกิจกรรม เพราะมีปัญหาด้านความพร้อม แต่ก็มีรายงานที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าพูดคุยกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ด้วย นอกจากการถูกกดดันข่มขู่จนผู้จัดต้องยกเลิกกิจกรรมแล้ว โดยภาพรวมยังปรากฎรูปแบบการคุกคามปิดกั้นอย่างน้อยจำนวน 8 รูปแบบด้วยกัน

โดย 8 รูปแบบการคุกคามปิดกั้นที่ศูนย์ทนายความฯ รวบรวมมีดังนี้

1. ในหลายพื้นที่ก่อนจัดกิจกรรม เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ, สันติบาล และฝ่ายปกครองในท้องถิ่น เข้าติดตามนักเรียน นักศึกษา และประชาชน โดยเฉพาะติดตามไปถึงบ้านหรือพื้นที่ส่วนบุคคล โดยอ้างว่า เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวรายงาน “นาย” หรือเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น

ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ระบุตัวผู้จัดกิจกรรมได้ ก็จะมีการไปพูดคุยถึงบ้านโดยตรง สอบถามรูปแบบกิจกรรม บันทึกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของผู้จัด แต่ในพื้นที่ที่ยังไม่ทราบตัวผู้จัดแน่ชัด เจ้าหน้าที่มีการพยายามติดตามข้อมูลโดยการไปสอบถามแบบหว่านแหยังกลุ่มผู้เคยเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ หรือเคยร่วมการชุมนุมแฟลชม็อบตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2563 ทั้งที่นักศึกษา-ประชาชนเหล่านั้น บางส่วนก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น

ไปจนกระทั่งผู้ที่ทำการประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือเพียงแค่สอบถามว่าพื้นที่นี้จะมีกิจกรรมหรือไม่ในกลุ่มโซเชียลต่างๆ ก็มีรายงานว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามหรือเสาะหาข้อมูลระบุตัวบุคคล ปฏิบัติการที่เกิดขึ้นสร้างความข้องใจให้กับประชาชนผู้ถูกคุกคาม ว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจทางกฎหมายใดในการดำเนินการดังกล่าว หรือหลายกรณีก็ไม่มีการกล่าวอ้างกฎหมายใด ไปจนกระทั่งอาจเป็นปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้น

นอกจากนั้น ลักษณะปฏิบัติการติดตามคุกคามนี้ พบว่าในหลายกรณีเป็นลักษณะการตักเตือน ห้ามปราม และข่มขู่ ผู้จัดการชุมนุม ผู้เข้าร่วมหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะส่งผลต่อผู้จัดกิจกรรมได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้มีการจัดการชุมนุมแสดงความคิดเห็นเกิดขึ้นได้ หรือเกิดขึ้นได้อย่างจำกัดที่สุด อีกทั้งเมื่อกลุ่มผู้ทำกิจกรรมเป็น “เยาวชน”  ปฏิบัติการเหล่านี้ ก็ได้ลุกลามไปถึงผู้ปกครอง เพื่อให้ห้ามปรามเยาวชนใต้ปกครองไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง โดยเจ้าหน้าที่มักอ้างถึงหน้าที่ของนักเรียน-นักศึกษาในการตั้งใจเรียน หรือข่มขู่ว่าจะมีผลกระทบจากการเคลื่อนไหว จนทำให้ในการชุมนุมบางพื้นที่ต้องมีการประกาศยกเลิกหรือกระทั่งเปลี่ยนตัวผู้จัดกิจกรรมไปในที่สุด

2. ไม่เพียงการบุกไปตามบ้าน ยังปรากฏกรณีซึ่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบขู่บังคับพาตัวผู้จัดกิจกรรมไปยังสถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายใดๆ อ้างว่าเพื่อการสอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรม โดยผู้กำกับสถานีตำรวจดังกล่าวระบุว่าเป็นขึ้นตอนปกติ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลับปรากฎข้อเท็จจริงว่าเป็นการพูดคุยหว่านล้อม ผสมกับการกดดันเพื่อไม่ให้จัดกิจกรรมได้ โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงในท้องที่นั้นๆ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

3. ในแทบทุกกิจกรรม พบว่าเจ้าหน้าที่มีการติดป้ายประกาศ แจกเอกสารประกาศ หรือใช้เครื่องเสียงประกาศกฎหมายที่อาจเป็นความผิดจากการชุมนุมสาธารณะดังกล่าว โดยเฉพาะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เรื่องการกีดขวางการจราจร, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และพ.ร.บ.รักษาความสะอาด เป็นต้น

ในกรณีที่เป็นการประกาศข้อกฎหมายดังกล่าวในที่ชุมนุม พบว่าบางครั้งมีลักษณะเป็นการรบกวนกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังปราศรัยเพื่อแสดงความคิดเห็นและนำเสนอข้อเรียกร้อง จนทำให้เกิดความไม่พอใจของกลุ่มผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนต้องเข้าพูดคุยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลดเสียงการประกาศ หรือยุติการประกาศดังกล่าวลง

4. ปฏิบัติการส่งเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบ เข้าติดตามบันทึกภาพนิ่งและเคลื่อนไหวในการชุมนุมยังคงมีอยู่ แต่ลักษณะปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในการชุมนุมแฟลชม็อบครั้งนี้ พบว่าในหลายครั้งเจ้าหน้าที่พยายามทำการถ่ายภาพเจาะจงตัวบุคคล อีกทั้งถ่ายภาพป้ายข้อความพร้อมกับผู้ถือป้ายข้อความอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถระบุตัวบุคคลได้อย่างชัดเจน

ในบางจังหวัด เจ้าหน้าที่ยังมีการพยายามปิดกั้นล้อมรั้วพื้นที่ ซึ่งถูกใช้ประกาศทำกิจกรรม ทำให้ผู้เข้าร่วมไม่สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ จนทำให้ต้องย้ายพื้นที่ทำกิจกรรมและบางจังหวัดยังรายงานว่าเจ้าหน้าที่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน. มาเป็นผู้ติดตามบันทึกกิจกรรมด้วยตนเองอีกด้วย

5. การใช้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินคดี เพื่อสร้างภาระและความยุ่งยากให้กับกลุ่มผู้จัดหรือผู้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุม นับตั้งแต่มีการชุมนุมเยาวชนปลดแอกมาปรากฎว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังการชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ได้มีการออกหมายเรียกนักศึกษา 4 ราย ที่ได้ปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าว ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพ.ร.บ.โรคติดต่อ สถานการณ์การนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กับการแสดงออกทางการเมือง จึงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

6. การติดตามไปถึงบ้านผู้ชุมนุมหลังกิจกรรม โดยเฉพาะจากกรณีการชูป้ายข้อความในการชุมนุม โดยทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าป้ายเหล่านั้นมีข้อความที่ “สุ่มเสี่ยง” โดยเฉพาะที่อาจตีความได้ว่ามีเนื้อหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ จึงต้องมีการเข้าพูดคุยและห้ามปรามไม่ให้กระทำอีก อีกทั้งทำการบันทึกข้อมูลส่วนตัวและภาพของผู้ชุมนุมคนดังกล่าวไว้ด้วย

หรือบางกรณีก็มีการเข้าไปขอเก็บป้ายข้อความตั้งแต่ในระหว่างการชุมนุม หรือการควบคุมตัวไปพูดคุย ให้ลง “บันทึกซักถาม” และเก็บป้าย ดังกรณีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่ยังไม่มีรายงานการดำเนินคดีหรือตั้งข้อกล่าวหาจากกรณีการชูป้ายเกิดขึ้น

นอกจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สันติบาล หรือฝ่ายปกครองแล้ว ยังปรากฎอีกว่าเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา ซึ่งมีอายุน้อยลงมาจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ มาตรการคุกคามหรือยับยั้ง ยังเกิดขึ้นผ่านโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น โดยหลายพื้นที่สถาบันการศึกษามีส่วนในการปิดกั้นห้ามใช้พื้นที่ หรือห้ามปรามไม่ให้มีนักเรียนหรือนักศึกษาสามารถจัดกิจกรรม หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมสาธารณะได้ โดยรูปแบบวิธีการ ดังนี้

7. เจ้าหน้าที่ตำรวจ, สันติบาล เข้าพูดคุยกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อขอข้อมูลของนักเรียนนักศึกษา โดยอ้างว่าเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจ โดยมีทั้งนักเรียนนักศึกษาที่มีประวัติเคยเข้าร่วมการชุมนุมมาก่อน แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น และนักเรียนนักศึกษาที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมที่ประกาศประชาสัมพันธ์ไว้

กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้สร้างแรงกกดดันให้กับนักเรียนนักศึกษาที่จะจัดกิจกรรม ทำให้ต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะหากทางเจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลส่วนตัวจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ก็จะส่งผลให้การคุกคามลุกลามไปยังที่บ้านของพวกเขาได้ หรือไปจนกระทั่งกลุ่มผู้จัดกิจกรรมต้องทบทวนความเสี่ยงในการชุมนุมอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่เข้าแสดงตัวกดดันในสถานศึกษาเช่นนี้

8. โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย มีการประกาศแจ้งห้ามไม่ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมการชุมนุม หรือบางพื้นที่ซึ่งประกาศจัดภายในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยก็มีการประกาศไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ทำกิจกรรมเอง เช่น ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

บางกรณียังพบว่ามีการติดตามเรียกตัวมาพูดคุยโดยผู้บริหารของสถานศึกษา หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายวินัยของนักเรียนนักศึกษา  เพื่อห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหรือห้ามเข้าร่วม โดยมีข้อกล่าวอ้างเช่น อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนหรือการจบการศึกษาได้ จนทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อตัวนักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงกรณีที่มีการส่งครูเข้าไปภายในการชุมนุม เพื่อห้ามนักเรียนที่เดินทางไปร่วมให้กลับออกจากการชุมนุม หรือไปถ่ายรูปนักเรียนไว้ โดยยังไม่ทราบวัตถุประสงค์แน่ชัด

ปรากฎการณ์คุกคามปิดกั้นที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกและชุมนุมสาธารณะ ของนักเรียน นิสิตนักศึกษาที่เกิดขึ้น ยิ่งตอกย้ำและส่องสะท้อนหนึ่งในข้อเสนอของ #เยาวชนปลดแอก ที่เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกสังกัดหยุดการคุกคามประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามสอบถามข้อมูลส่วนตัว ติดตามเข้าไปถึงที่บ้านหรือโรงเรียน ความพยายามสร้างความกลัว ด้วยข้อกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีรายชื่อในแบล็คลิสต์ของหน่วยงานความมั่นคง หรือการระบุว่าการชุมนุมอาจผิดกฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ทั้งที่ยังไม่มีการจัดกิจกรรมขึ้น

ความพยายามเข้าห้ามปราม กดดัน และคุกคามประชาชนที่เกิดขึ้น จากการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับการรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560  หลายครั้งเป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ เพียงแต่อาศัยช่องว่างของความไม่รู้ พยายามสร้างความหวาดกลัว และลดทอนพลังของการออกมาแสดงความคิดเห็นลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท