'ไอลอว์' กางกฎหมาย 4 ประเด็นที่ 'ทนายอานนท์' ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

'ไอลอว์' เปิดตัวบทกฎหมายที่ถูกเขียนไว้แล้วอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร 4 ประเด็นที่ 'ทนายอานนท์' ปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดนี้ กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ การออกพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และ งบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

 

4 ส.ค.2563 จากการชุมนุมวานนี้ (3 ส.ค.63) ช่วงเย็น กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด จัดกิจกรรมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายใต้ชื่อกิจกรรม #เสกคาถาปกป้องประชาธิปไตย โดยนำเอานิยายชื่อดัง “แฮรี่ พอตเตอร์” มาใช้เป็นไฮไลท์ของกิจกรรม พร้อมมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ เรียกร้องยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองขณะนี้นั้น

อย่างไรก็ตามจุดสำคัญหนึ่งของการชุมนุมครั้งนี้คือการปราศรัยของ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ปราศรัยประเด็นบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ทางการเมืองปัจจุบัน ในเรื่องสำคัญ 4 ประเด็นด้วยกันคือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ 2. กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 3. การออกพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ และ 4. งบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ไอลอว์ เผยแพร่บทวิเคาระห์การออกกฎหมายเหล่านั้นแต่ละครั้ง โดยพิจารณาจากตัวบทกฎหมายที่ถูกเขียนไว้แล้วอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนี้

เรื่องที่หนึ่ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ต่อมาได้มีข้อสังเกตพระราชทาน นายกรัฐมนตรีจึงรับทูลเกล้าฯ กลับมาแก้ไข และทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เนื้อหาส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อสังเกตพระราชทาน มีอย่างน้อย 7 ประเด็น

1. แก้ไขมาตรา 5 กรณีมีวิกฤติของประเทศท่ีรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนทางออกไว้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ซึ่งเป็นการเขียนแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งที่ฉบับลงประชามติพยายามจะเสนอกลไกอื่นขึ้นมาทดแทน

2. เพิ่มข้อความในมาตรา 12 เรื่องคุณสมบัติขององคมนตรี ท่ีต้องไม่เป็นข้าราชการ โดยเพิ่มข้อความว่า "เว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี"

3. มาตรา 15 ตัดพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง "สมุหราชองครักษ์" ออก

4. มาตรา 16 เพิ่มข้อความว่า จะทรงแต่งตั้งบุคคลหนึ่ง "หรือหลายคนเป็นคณะ" ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ "หรือไม่ก็ได้"

5. มาตรา 17 กรณีไม่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพิ่มเงื่อนไขหาก "องคมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น" ให้เสนอชื่อบุคคล "หรือหลายคนเป็นคณะตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้ว" ได้

6. มาตรา 19 เพิ่ม วรรค 2 ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้ง และปฏิญาณตนแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก

7. มาตรา 182 ตัด วรรค 2 ที่ให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวง

อ่านเต็มๆ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4475

เรื่องที่สอง กฎหมายจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์

16 กรกฎาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/075/1.PDF โดยที่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานใดจัดทำร่างและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และมีการพิจารณากันเมื่อใด

"เหตุผล" ในการออกที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติ อธิบายว่า โดยที่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ทรงใช้ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ จึงสมควรให้การจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินนั้นเป็นไปโดยเหมาะสมตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยและเป็นไปตามโบราณราชประเพณี ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดระเบียบราชการในพระองค์ตามที่ได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์ขึ้นใช้บังคับแล้วด้วย

พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ที่ออกใหม่นี้ ยังมีข้อแตกต่างที่สำคัญจากกฎหมายเดิม ได้แก่

1. ประธานและกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แก้ไขให้มาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย

2. ยกเลิกระบบ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน” แล้ว และให้พระราชวัง หรือทรัพย์สินอื่นในประเภทนี้ไปรวมกับ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

3. เปลี่ยนหลักการเสียภาษี ตามกฎหมายเดิม เขียนว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากร เช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน แต่กฎหมายใหม่แก้ไขเป็นว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทุกประเภทจะต้องเสียภาษีอากรหรือได้รับยกเว้นภาษีอากรย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

อ่านเต็มๆ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4567

เรื่องที่สาม การออกพ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ

17 ตุลาคม 2562 สภาผู้แทนราษฎรลงคะแนนอนุมัติ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/103/T_0001.PDF ด้วยคะแนน เห็นชอบ 376 เสียง ไม่เห็นชอบ 70 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

ในระหว่างการพิจารณา พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ได้อภิปรายไม่เห็นชอบการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า ไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่คณะรัฐมนตรีจะออก เป็นพ.ร.ก. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคสอง และเห็นว่าควรตรวจสอบการออกพระราชกำหนดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ในมาตรา 3 ของ พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลฯ บังคับให้โอนบรรดาอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศกำหนด ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการในพระองค์

อ่านเต็มๆ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5434

เรื่องที่สี่ งบประมาณจากภาษีที่ใช้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ที่ใช้เวลาพิจารณาและถกเถียงกันในสภาผู้แทนราษฎรยาวนาน จนกระทั่งผ่านออกมาบังคับใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/015/T_0001.PDF ได้กำหนดการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เอาไว้ ซึ่งประชาไทสรุปไว้ว่า งบประมาณแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่ 1 รายจ่ายโดยตรง 19,685 ล้านบาทส่วนที่ 2 รายจ่ายโดยอ้อม 10,043 ล้านบาทรวม 29,728 ล้านบาท และยังมีโครงการที่ใช้ชื่อเกี่ยวเนื่อง 1,262 ล้านบาท

ตัวอย่างเช่น พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับความสะดวกปลอดภัยสูงสุด การถวายปฏิบัติการบินได้รับการตอบสนองอย่างสมพระเกียรติเมื่อได้รับการร้องขอ 5,528 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี การสนับสนุนถวายความปลอดภัย การถวายพระเกียรติ และปฏิบัติตามราชประสงค์ 1,201 ล้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกฯ งบก้อนใหญ่ที่สุดคือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในแผนยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ 1,976 ล้านบาท

กระทรวงมหาดไทย งบประมาณก้อนหลักนั้นหลายหน่วยงานนำไปดำเนินการในโครงการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งเป็นหลายกิจกรรม รวมวงเงิน 1,454 ล้านบาท

อ่านเต็มๆ ต่อได้ที่ https://prachatai.com/journal/2020/03/86761

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท