ศาลยุติคดี ฟ้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างข้อกำหนด ศบค. ให้ชุมนุมได้แล้ว

ศาลแพ่งจำหน่ายคดี กรณี 'People Go Network ' ฟ้องยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อ้างข้อกำหนดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ประชาชนชุมนุมได้แล้ว ตัวแทนเครือข่ายระบุเท่ากับศาลรับรองว่าการชุมนุมทำได้ และขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐ รร. และครูหยุดคุกคามผู้ชุมนุมหรือผู้แสดงความคิดเห็น

5 ส.ค. 2563 วันนี้ไอลอว์รายงานว่า เวลา 9.00 น. ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ นิมิตร์ เทียนอุดม, แสงศิริ ตรีมรรคา, ณัฐวุฒิอุปปะ , วศิน พงษ์เก่า และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ เป็นโจทก์ร่วมกันยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย จากกรณีขอให้เพิกถอนการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุม โดยยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยในคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำหน่ายคดี โดยให้เหตุผลว่าขณะนี้มีการออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ข้อ 1 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้โจทก์ทั้งห้ากลับมามีเสรีภาพในการชุมนุม จึงไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 713 เวลาประมาณ 9.00 น. นิมิตร์ เทียนอุดม โจทก์ที่หนึ่ง แสงศิริ ตรีมรรคา โจทก์ที่สอง พร้อมด้วยทนายโจทก์ เดินทางมาถึง

ศาลออกนั่งพิจารณาในเวลาประมาณ 9.05 น.โดยได้อ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้ 

หลังจากโจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องคดี จำเลยได้ออกประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ฉบับที่ 4 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 31 สิงหาคม 2563 รวมถึงออกข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 13 ข้อ 1 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ความว่า การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชน เพื่อการชุมนุมใด ๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย 

จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการผ่อนคลายข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 เรื่องห้ามชุมนุม ทำให้ขณะนี้ โจทก์ทั้งห้ามีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงไม่มีเหตุให้ต้องเพิกถอนประกาศการขยายระยะเวลาประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 เรื่องห้ามชุมนุม ตามฟ้องของโจทก์อีกแต่อย่างใด ศาลจึงเห็นว่าไม่มีเหตุให้ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ให้จำหน่ายคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ 

หลังฟังคำพิพากษา นิมิตร์ เทียนอุดม ให้สัมภาษณ์ว่า “คำพิพากษาที่ออกมานับว่าดีกว่าที่เราคาดไว้เยอะ จนถึงวันนี้เราต้องเคารพและเชื่อมั่นจริงๆว่า เรามีสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ คำสั่งที่ออกมาวันนี้ ศาลบอกว่าไม่มีเหตุให้ต้องพิจารณาคดีต่อไป เพราะ ข้อกำหนดฉบับใหม่ที่ออกมา ได้ยกเลิกเรื่องการห้ามชุมนุมไปแล้ว”

“ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า ถ้าตนไม่นำเรื่องมาฟ้อง ก็ไม่รู้ว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้จะยังห้ามเรื่องการชุมนุมอยู่หรือไม่ แต่วันนี้ ศาลก็บอกแล้วว่า การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เท่ากับว่า ศาลก็ยอมรับและรับรองว่าเรามีสิทธิทำได้ เมื่อข้อห้ามเรื่องการชุมนุม ถูกยกออกไปก็นับว่าเป็นชัยชนะของประชาชน ฉะนั้นเมื่อประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุม ก็อยากจะส่งข่าวถึง สำนักงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจ กอ.รมน. รวมถึง ครูในโรงเรียนต่างๆ ที่กำลังคุกคามเด็กที่ออกมาชุมนุม วันนี้ทั้งศาล ทั้งข้อกำหนดฉบับใหม่ก็ชี้แล้วว่า ประชาชนมีสิทธิชุมนุมได้ตามกฎหมายการกระทำใดๆที่เป็นการคุกคามผู้ชุมนุม ต้องหยุดแล้ว รวมถึงนายกรัฐมนตรี ก็มีหน้าที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคนด้วย”

ทางด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา ให้สัมภาษณ์ว่า “แม้ศาลจะไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อ เนื่องจากมีข้อกำหนดฉบับใหม่มายกเลิกเรื่องการห้ามชุมนุมแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราและเครือข่าย people go network จำเป็นต้องเรียกร้องต่อไปคือ ณ ขณะนี้มีการคุกคามผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือแสดงความเห็นผ่านทางโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ มากมายทั่วประเทศ เราคิดว่า ถือเป็นหน้าที่ของ ฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กอ.รมน. ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เนื่องจากศาลประกาศแล้วว่า ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการพูด การสื่อสาร และการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ” 

“และภายในเดือนนี้ ทางเครือข่ายจะนำหนังสือไปยื่นต่อฝ่ายความมั่นคงให้ติดตาม รวมถึงหยุดการคุกคามผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือแสดงความเห็น ที่สำคัญคือจะไปยื่นต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ติดตามกรณีที่ครูในสังกัดกระทรวงฯคุกคามนักเรียน”

 

ภูมิหลังของคดี 

คดีนี้เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 เครือข่าย People Go Network จัดกิจกรรม "เดินไปฟ้องศาลแพ่ง ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้" โดยขอให้เพิกถอนการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเพิกถอนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุม โดยมี นิมิตร์ เทียนอุดม กับพวกรวมห้าคน เป็นโจทก์

ในคำฟ้องระบุว่า การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 3 และยังบังคับห้ามการชุมนุม ส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิทางรัฐธรรมนูญ ม.44 ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รับความเสียหาย

ซึ่งการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการยกเรื่อง ความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการนั้นไม่ใช่ “ความจำเป็น” อันเป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้ง การไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศ เป็นเวลามากกว่า 43 วันแล้ว ได้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์คลี่คลายเบาบางลงจนไม่มีความจำเป็นต้องใช้อำนาจฉุกเฉิน รวมถึง พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อหรือกฎหมายอื่นสามารถดำเนินการป้องกันโรคระบาดแทนได้

ดังนั้น ข้อกำหนด "การห้ามชุมนุม" เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินสมควรแก่เหตุ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิที่ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ เพราะสถานการณ์เบาบางลงจนไม่มีความจำเป็นจะต้องมีข้อห้ามในการชุมนุมแล้ว อีกทั้ง แม้แต่การควบคุมสถานการณ์ของรัฐบาลเองก็มีการผ่อนคลายให้กิจกรรมต่างๆที่มีโอกาสของการแพร่กระจายของโรค สามารถดำเนินการได้ อาทิ กิจกรรมจัดเลี้ยง สัมนา หรือจัดการประชุม

ในคำฟ้องระบุด้วยว่า มาตรการการห้ามชุมนุมจึงไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุดในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมเนื่องจากมีมาตรการอื่นในการป้องกันโรคได้ การบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการจำกัดสิทธิที่กระทบกับแก่นหรือสาระสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุม

อ่านข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 13 ได้ที่: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/174/T_0077.PDF?fbclid=IwAR2oFpef2thxjGqAHzMxV6NVB7nzdkJ7CY5VcA9ptIxhsb8C2wAn72dXMJc

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท