Skip to main content
sharethis

'กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย' 6 หมู่บ้าน ยื่นหนังสือกับ กมธ.ที่ดิน เสนอรัฐยกเลิกสัญญา-เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัด ขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟู และขอให้หน่วยงานรัฐแก้ไขในเรื่องเร่งด่วน เช่น ปัญหาการรั่วไหลของสารพิษ


ภาพโดย Luke Duggleby

เฟซบุ๊กเพจ The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ รายงานว่า ที่รัฐสภาวันนี้ (5 ส.ค.63 ) นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 6 หมู่บ้าน ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ให้กับ อภิชาติ ศิริสุนทร ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภา เพื่อขอให้มีการติดตามตรวจสอบให้เกิดการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษจากเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ ซึ่งได้เข้าร่วมการยื่นหนังสือในครั้งนี้ กล่าวว่า สัญญาดังกล่าวระหว่างรัฐบาลกับบริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ จำกัด อาจเปรียบได้เสมือนเป็นสัญญาทาส เนื่องจากตราบใดที่ยังไม่มีการยกเลิกสัญญาจากทางบริษัท ทางบริษัทยังคงสามารถขายสัญญาดังกล่าวให้กับบริษัทอื่นๆ ต่อได้ ทั้งนี้ ในพื้นที่ยังคงมีพื้นที่อีกกว่า 3 หมื่นไร่ที่ยังเปิดโอกาสให้มีการบุกเบิกทำเหมืองทองได้ ดังนั้น จึงต้องมีการยกเลิกสัญญาดังกล่าว เพิกถอนประทานบัตรของบริษัท และให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดการฟื้นฟูเหมืองจากทางภาครัฐอย่างแท้จริง 

ขณะที่วิรอน รุจิไชยวัฒน์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดที่อ่านแถลงการณ์ในวันนี้ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่ศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ให้บริษัทฯ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากมีการปนเปื้อนมลพิษจากกรรมวิธีการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามกฎหมาย ชาวบ้านยังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ จากทางภาครัฐและบริษัท นอกจากนี้ ยังมองว่า แผนการฟื้นฟูของภาครัฐ ยังขาดประเด็นการฟื้นฟูในมิติของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการละเมิดสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการถูกทำร้ายร่างกายจากการทำงานปกป้องสิทธิชุมชน ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดได้ถูกฟ้องกลั่นแกล้งจากการปกป้องสิทธิชุมชน รวมกันแล้ว 27 คดี

ด้านอภิชาติ ศิริสุนทร กล่าวว่า หลังจากนี้ จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าพิจารณาในกรรมาธิการฯ เพื่อเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ความเห็นและร่วมแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและยาว ทั้งนี้ ทางพรรคก้าวไกลได้เตรียมจะเสนอญัตติเข้าสู่สภาผู้แทนฯ เพื่อจัดตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบเรื่องการทำเหมืองแร่ต่อประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาด้านนโยบายในด้านนี้ต่อไป

สำหรับรายละเอียดของ 4 ข้อเรียกร้องจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย 6 หมู่บ้านที่ยื่นต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐสภามีดังนี้

1. ขอให้ตรวจสอบสัญญาว่าด้วยการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำระหว่างรัฐบาลกับบริษัททุ่งคำฮาร์เบอร์จำกัดมหาชนเพื่อเสนอความเห็นให้ยกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัด

2. ขอให้แผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำจำกัดต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดขอบเขตการฟื้นฟูโดยเน้นแผนฟื้นฟูของประชาชนเป็นหลักที่ครอบคลุมมิติสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อย่างรอบด้าน

3. ขอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกลางอำนวยการเพื่อการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกเหมืองแร่ของคำของบริษัททุ่งคำจำกัด

4. ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระหว่างที่ยังรอการฟื้นฟู เช่นปัญหาสันเขื่อนกักเก็บการแร่ทรุดตัว ปัญหาการรั่วไหลสารพิษจากบ่อกักเก็บกักแร่หรือบริเวณอื่นๆของเหมืองที่อาจเสี่ยงต่อการถล่มรวมถึงการสำรวจการกระจายตัวของสารไซยาไนด์และสารโลหะหนักในพื้นที่เกษตรกรรมและที่อาศัยของชุมชนโดยที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมรับรู้และดำเนินการในทุกขั้นตอนของการแก้ไขปัญหา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net