วิษณุชี้แก้รัฐธรรมนูญมีสองแบบ แบบเเรกใช้เงินและเวลา แบบที่สองแก้ได้ทันที

รองนายกฯ แจงการแก้รัฐธรรมนูญมี 2 แบบ แบบแรกแก้เรื่องที่อยู่ในหมด 1 , 2 , 15 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ จะต้องทำประชามติ ใช้เวลา 3 พันล้าน และยังไม่มีกฎหมายรับรองการทำประชามติ แบบสองแก้รายมาตรา เช่น ไม่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งสามารถทำได้ทันที

6 ส.ค. 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ว่า การแก้ไขมาตรานี้ จะต้องมีการทำประชามติ ซึ่งใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท เทียบเท่ากับการเลือกตั้งหนึ่งครั้ง

วิษณุย้ำว่า ตนไม่ได้ต้องการมาบ่น หรือเสียดายเงิน แต่เป็นเพราะสื่อมาถาม ส่วนขั้นตอนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น แก้ไขได้ 2 แบบคือ 1.แก้เป็นรายมาตราเรื่องใด เรื่องหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวกับหมวด 1 เรื่องทั่วไป  2 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมวด 15 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจ หน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกระจายอยู่หลายหมวด แต่ถ้าเป็นการแก้ไขบทเฉพาะกาลที่ซึ่งเป็นการแก้ไม่ให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นการแก้เป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งรวมทั้งการแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง เช่น ใช้บัตร 1 ใบ หรือบัตร 2 ใบ ก็ถือเป็นการแก้ในแบบที่ 1 โดยตามกระบวนการสามารถทำได้ตามมาตรา 256

เขากล่าวต่อถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่ 2 ว่า หากมีการแก้ไขในหมวด 1 2 หรือหมวด 15 รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจ หน้าที่ขององค์กรอิสระ จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก่อนจะนำไปลงประชามติ ซึ่งจะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเพราะจะต้องทำประชามติภายใต้กฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งเวลานี้ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว ก็จำเป็นต้องใช้เวลา เนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นเพียงกฎหมาายที่ออกมาเพื่อใช้ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ส่งร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเข้ามารัฐบาลแล้วเมื่อปี 2562 และรัฐบาลกำลังเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) แต่ สนช. ก็สิ้นสภาพไปก่อน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง กกต. จะได้นำร่างกลับไปปรับปรุงแก้ไข และยังไม่ได้ส่งร่างเข้ามาให้รัฐบาล ซึ่งหากจะมีการแก้ไขในลักษณะนี้ก็อาจจะไม่ทันในสมัยการประชุมครั้งนี้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อเเก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือว่าคุ้มค่าหรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ไม่ทราบ แต่ถ้าคิดว่าจำเป็นจริงๆ ก็คุ้ม ถ้าจะพูดเหมือนฝ่ายค้านบางท่านที่พูดว่า ก็ไม่เป็นไรถ้าจะเสียก็ต้องเสีย แต่อีกฝั่งก็อาจจะมองว่า เป็นการสิ้นเปลืองเงินในยุคนี้ หากไม่จำเป็นจริง ๆ และไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่นำไปสู่การทำประชามติ ไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียว เพราะหากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องนำไปลงประชามติอีกครั้ง

วิษณุ กล่าวด้วยว่า แนวทางของการแก้รัฐธรรมนูญ ของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธานยังไม่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้พูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าอยู่ระหว่างรอข้อเสนอให้ส่งมาว่าจะแก้ไขรายมาตรา หรือแก้ไขทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลมีความคิดอยู่แล้วว่าจะทำอะไร แต่ขอรอฟังเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ขณะนี้เท่าที่ทราบฝ่ายค้านคิดจะแก้อย่างหนึ่ง รัฐบาลคิดจะแก้อีกอย่างหนึ่ง และพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้คิดตรงกัน ขณะที่ ส.ว.ก็คิดจะแก้ไขเช่นกัน

เขากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องยึดข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ ชุดของนายพีระพันธุ์ทั้งหมด แต่หากถามใจรัฐบาลมีธงอยู่แล้วว่าจะแก้อะไร เพราะเมื่อบริหารงานมาตั้งแต่ปี 60 ก็พบปัญหา พรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นปัญหาตรงกัน โดยเฉพาะ ม.144 เพราะไปเปลี่ยนอำนาจ ส.ส.ในการพิจารณางบประมาณ ซึ่งเชื่อว่าหากจะแก้มาตรานี้ก็จะมีเสียงเห็นชอบอย่างท่วมท้น

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท