การเมืองเรื่องข้อมูลเขื่อนจีนกับลุ่มน้ำโขง ในฐานะพื้นที่ขับเคี่ยวกันระหว่างจีน-สหรัฐฯ

สื่อต่างประเทศหลายแห่งรายงานเชิงวิเคราะห์ว่าประเด็นแม่น้ำโขงกำลังกลายมาเป็นพื้นที่ต่อสู้ขับเคี่ยวกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จากการที่นักสิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่ทางการตั้งข้อสังเกตว่าจีนพยายามใช้งบประมาณ และสร้างอิทธิพลเหนือสหรัฐฯ ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อทำให้ตัวเองกลายเป็นผู้ควบคุมทรัพยากรน้ำโขงเอง

ประเด็นเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงของจีนกลายเป็นประเด็นที่พูดถึงกันมาตั้งแต่หลายเดือนก่อนหน้านี้ จากที่มีความกังวลว่าการสร้างเขื่อนของจีนจะส่งผลกระทบทำให้จีนทำอำนาจในการควบคุมการไหลของแม่น้ำโขงที่ทาบผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แก่ ลาว, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม รวมถึงไทยด้วย ซึ่งจะทำให้ส่งผลต่อผู้คนที่ต้องอาศัยแม่น้ำในการทำการเกษตร หาปลา และการใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในลาว

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องที่จีนพยายามสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงนี้เป็นการพยายามแผ่อิทธิพลตัวเองในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อขับเคี่ยวกับอิทธิพลของสหรัฐฯ ในพื้นที่เหล่านี้ จากการที่ก่อนหน้านี้ในยุคสมัยของรัฐบาล บารัค โอบามา เคยมีการให้งบประมาณด้านการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในเขตลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังคงงบประมาณตรงนี้เอาไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะเริ่มสูญเสียพื้นที่การต่อสู้ตรงนี้ไปเรื่อยๆ

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าทั้งสหรัฐฯ และจีน เริ่มหันมาขับเคี่ยวกันในเรื่องน้ำโขงด้วยวิทยาศาสตร์มากขึ้น จากการที่ทั้งสองประเทศอาศัยรายงานผลการวิจัยคนละฉบับกันในการพูดถึงเขื่อนของจีน 11 แห่งว่าจะส่งผลเลวร้ายต่อประเทศลุ่มน้ำโขงหรือไม่

ฝ่ายจีนเคยนำเสนองานวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิงหวาร่วมกับสถาบันทรัพยากรน้ำของจีนระบุว่า เขื่อนของจีน "ไม่ได้สร้างปัญหาภัยแล้งให้กับประเทศแถบลุ่มน้ำโขง" แต่เป็นการ "แก้ปัญหา" ด้วยการเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและปล่อยน้ำในช่วงฤดูแล้ง ข้ออ้างจาก "งานวิจัย" ของฝ่ายจีนนั้นเป็นการพยายามช่วงชิงการเล่าเกี่ยวกับประเด็นแม่น้ำโขงหลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีการเผยแพร่ผลการสืบสวนที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ระบุว่าการสร้างเขื่อนในจีนจะก่อปัญหาขาดแคลนน้ำกับประเทศลุ่มน้ำโขง

การขาดแคลนน้ำนั้นไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่เป็นการถกเถียงในแวดวงวิชาการเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาจริงถึงขนาดที่เวียดนามเคยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินภัยแล้ว และไทยเคยมีการเกณฑ์แรงงานจากทหารไปบรรเทาทุกข์ในเรื่องนี้ แม่น้ำโขงจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบกับประชาชน 60 ล้านชีวิต แม่น้ำโขงมีต้นน้ำอยู่ที่จีนซึ่งเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง (Lancang) และไหลผ่านประเทศต่างๆ ได้แก่ ลาว, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม และไทย

รายงานของจีนนั้นเป็นการพยายามคัดค้านรายงานอีกฉบับก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าเขื่อนของจีนส่งผลให้เกิดภัยแล้งในประเทศลุ่มน้ำจากการที่จีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำเก็บกักน้ำเอาไว้ใช้เองกับการชลประทานและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในรายงานดังกล่าวระบุว่าจีนเก็บกักน้ำไว้ที่เขื่อนตัวเอง 47,000 ล้าน ลบ.ม.

รายงานเรื่องนี้มาจากองค์กรอายส์ออนเอิร์ธออกมาในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนจากโครงการหุ้นส่วนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและองค์กรริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศลุ่มน้ำโขงอื่นๆ นอกจากจีน นับเป็นรายงานที่ให้น้ำหนักในข้อถกเถียงเรื่องการต่อต้านเขื่อนแม่น้ำโขงจากจีน

ฝ่ายจีนต่อต้านด้วยรายงานของตัวเองที่มาจากนักวิจัย 8 คน นำโดยเทียนฟู่เฉียง ในรายงานนั้นระบุว่าภัยแล้วเกิดมาจาก "ปัจจัยทางธรรมชาติ" จากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝนที่ตกน้อยลง พวกเขาอ้างว่าเขื่อนที่สร้างจากมนุษย์นั้นเอาไว้ "เก็บกักน้ำในฤดูฝน" และ "ปล่อยน้ำในฤดูแล้ง" อีกทั้งยังอ้างว่าเป็นสิ่งที่เอาไว้ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้วงกับประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดไม่เพียงแค่จีน

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ระบุถึงรายงานของอายส์ออนเอิร์ธโดยตรง แต่สื่อโฆษณาชวนเชื่อของจีนโกลบอลไทม์ก็ระบุว่ารายงานของเทียนนั้นเป็นสิ่งที่ "ขัดกับคำกล่าวหาอย่างสุ่มเสี่ยงของนักวิจัยต่างชาติบางคนที่กล่าวหาว่าจีนเป็นเหตุทำให้เกิดภัยแล้งในประเทศแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง" ในรายงานของจีนยังระบุอีกว่าพวกเขามีความเสี่ยงจากภัยแล้งมากกว่าประเทศน้ำโขงอื่นๆ โดยระบุว่าจีนมีอัตราจำนวนการเกิดภัยแล้งหนักร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นร้อยละ 7

อย่างไรก็ตามมีผู้เชี่ยวชาญกับกลุ่มสิ่งแวดล้อมหลากหลายกลุ่มที่ตั้งคำถามต่องานวิจัยของจีน มาร์ค กอยโคต จากหน่วยงานริเริ่มด้านแม่น้ำโขงของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) กล่าวว่าในขณะที่เขาเห็นด้วยว่ามีปัจจัยทางธรรมชาติบางประการที่ส่งผลให้เกิดภัยแล้งแต่ขณะเดียวกันปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยแล้งใหญ่ๆ ยังมาจากน้ำมือมนุษย์ด้วย

มีนักวิจัยอีกคนหนึ่งชี้ให้เห็นว่าภัยแล้งเกิดแม้กระทั่งในฤดูฝนซึ่งขัดกับสิ่งที่จีนกล่าวอ้างในงานวิจัยของพวกเขา ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือ ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการของศูนย์สติมสันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่มีฐานในสหรัฐฯ อายเลอร์ระบุจากหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นว่าเขื่อนในจีนกักเก็บน้ำเอาไว้หลายพันล้าน ลบ.ม. ทำให้สายน้ำหลักของแม่น้ำโขงลดลงมากที่สุดในปีนี้ รวมถึงการที่จีนประกาศจะเสริมสมรรถภาพของเขื่อนต่างก็ทำให้เป็นไปได้ว่าอาจจะมีภัยแล้งที่หนักกว่าเดิมเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามว่าการที่จีนบอกว่าพวกเขากักเก็บน้ำไว้ในฤดูฝนและปล่อยออกมาในฤดูแล้งนั้นจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้ดีจริงหรือไม่สำหรับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด

โดยที่องค์กรเครือข่ายประชาชนไทยลุ่มน้ำโขงอธิบายว่าการกักเก็บน้ำเอาไว้เพื่อปล่อยในช่วงฤดูแล้งนั้นเป็นการกระทำที่ "เข้ากันไม่ได้" กับธรรมชาติ เพราะการที่น้ำหนุนสูงขึ้นเป็นธรรมดาอยู่แล้วในช่วงฤดูฝน มันเป็นช่วงที่ทำให้ปลาว่ายน้ำฝ่ากระแสน้ำไปสู่จุดต้นน้ำของแม่น้ำโขงเพื่อที่จะขยายพันธุ์ การใช้เขื่อนสกัดกั้นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสภาพชีวิจของคนไทยที่อยู่ริมน้ำ ไม่เพียงแค่ทำให้สัตว์สูญเสียถิ่นที่อยู่และระบบการแพร่พันธุ์เท่านั้นมันยังส่งผลกระทบต่อการสูญเสียพืชพันธุ์ที่เป็นแหล่งอาหารของคนในชุมชนด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่นำเสนอข้อมูลว่ารายงานของจีนขัดกับพฤติกรรมที่พวกเขากระทำในการจัดการกับเขื่อน หนึ่งในนั้นคือแกรี ลี ผู้อำนวยการโครงการจากองค์กรแม่น้ำสากลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงกลางปีที่แล้วมีการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนจินหงที่อยู่ตอนล่างของน้ำโขงในจีนในมณฑลยูนนาน การทำเช่นนี้กลายเป็นการเก็บกักแร่ธาตุและสารอาหารที่สำคัญของแม่น้ำไว้ ส่งผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำ องค์กรอื่นๆ ที่คัดค้านรายงานของจีนได้แก่บริษัทแอมเปเรสของออสเตรเลียที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำและพลังงานในแถบแม่น้ำโขง นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาลโตของฟินแลนด์ก็ระบุว่ารายงานจากมหาวิทยาลัยชิงหวาควรจะมีหลักฐานรองรับมากกว่านี้ในเรื่องที่อ้างว่าเขื่อนช่วยป้องกันภัยแล้งและอุทกภัยได้ เพราะเขื่อนเหล่านั้นสำหรับจีนแแล้วเอาไว้สร้างกระแสไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่

การโต้เถียงกันเรื่องเขื่อนในจีนนี้เองทำให้มีการมองว่าพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะกลายเป็นแหล่งขับเคี่ยวพื้นที่ใหม่ในการเมืองระหว่างประเทศของจีนกับสหรัฐฯ หนึ่งในผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้คือ เซบาสเตียน บิบา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกอเธแฟรงเฟิร์ตผู้ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นการเมืองเรื่องน้ำโขงกับประเทศจีนไว้ด้วย บิบาบอกว่า "ฝ่ายจีนไม่ได้ทำอะไรมากนักในแง่ของการลดความกังวลว่าเขื่อนจะเป็นสาเหตุทั้งหมดเหล่านี้ (เรื่องภัยแล้งและน้ำท่วม)" ขณะเดียวกันบิบาเองก็บอกว่าข้อมูลของแอมเปเรสก็มีการพูดถึงข้อสรุปไปไกลกว่าหลักฐานที่มีอยู่เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามบิบาบอกว่าการที่จีนไม่มีความเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลกับประเทศอื่นๆ กลับจะส่งผลไม่ดีกับจีนเองเพราะมันทำให้รู้สึกว่าจีนมีอะไรแอบซ่อนอยู่ ทำให้กลุ่มประเทศลุ่มน้ำ กลุ่มนักกิจกรรมในภูมิภาค กลุ่มชุมชนชายฝั่งน้ำโขง ต่างก็เริ่มไม่เชื่อถือในเจตนาของจีนแล้ว

กอยโคต เสนอว่าควรจะมีการตั้งระบบตรวจสอบวัดระดับน้ำโดยให้ประเทศแม่น้ำโขงทั้ง 6 ประเทศมีการจัดการระบบนี้เองเพื่อช่วยแก้ปัญหาความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ เนื่องจากในตอนนี้จีนเผยแพร่ข้อมูลของน้ำแต่เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ไม่ได้เผยแพร่ข้อมูลช่วงฤดูแล้งหรือข้อมูลเรื่องแร่ธาตุในน้ำเลย

ทั้งนี้ยังมีรายงานของเจแปนไทม์ที่ระบุว่าฝ่ายจีนเองก็กำลังอาศัยหน่วยงานที่ชื่อองค์กรความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (LMC) ในการสร้างอิทธิพลต่อเรื่องเล่าของประเด็นแม่น้ำโขง ซึ่งองค์กรนี้เป็นองค์กรระหว่างประเทศใหม่ที่เคยถูกกวิจารณ์จากทูตสหรัฐฯ ว่าเป็นการพยายาม "เบียดขับ" องค์กรเดิมคือคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ที่มีอยู่มากว่า 25 ปี แล้ว

โดยที่ MRC เป็นองค์กรที่มาจากความพยามของสหรัฐฯ ที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับแม่น้ำโขงและทรัพยากรริมน้ำโขงสำหรับประเทศไทย, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม ขณะที่ LMC เป็นองค์กรใหม่จากจีนที่เพิ่งจะจัดตั้งขึ้นในปี 2559 โดยให้ทุนวิจัย 300 ล้านดอลลาร์แก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ เจ้าหน้าที่ทางการไทยเคยตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมใน LMC มักจะเป็นกลุ่มคนใหญ่คนโตในจีนที่จัดประชุมประจำปีและมีกลุ่มเจ้าหน้าที่ๆ ทำงานเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังอยู่น้อย

ไมเคิล ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยเคยวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ LMC ทำตัวเป็น "องค์กรคู่ขนาน" และเรียกร้องให้ทางการจีนควรจะมาทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขงมากกว่าจะพยายามเบียดขับองค์กรเดิมออกไป

อย่างไรก็ตามฝ่ายเจ้าหน้าที่ของ MRC กล่าวว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำงานอบบประสานงานร่วมกับ LMC จากจีน หนึ่งในสาเหตุนี้คือเพราะสมาชิกที่เป็นรัฐบาลต้องการข้อมูลเรื่องปฏิบัติการเขื่อนของจีนมากกว่านี้ ทำให้เรื่องนี้วนกลับมาที่ว่าจีนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนและการจัดการน้ำน้อยเกินไปจนถูกกังขาเรื่องความโปร่งใส

เรียบเรียงจาก

The next US-China battleground: Chinese dams on the Mekong River?, South China Morning Post, 03-08-2020

Water wars: Mekong River another front in U.S.-China rivalry, Japan Times, 25-07-2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท