Skip to main content
sharethis

6 ส.ค. 2563 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงาว่า เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค. ศาลแพ่งนัดสืบพยานในคดีที่ มารดาของ ชัยภูมิ ป่าแส่ นักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ทหารยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 เป็นโจกท์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก โดยมีการพยานโจทก์ 1 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด และสืบพยานจำเลย 4 ปาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุจำนวน 3 นาย และนายทหารพระธรรมนูญ 1 จนเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 26 ต.ค. 2563 เวลา 09.00 น. ณ ศาลแพ่ง

กรณีนี้ สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ชัยภูมิ ป่าแส ชาติพันธุ์ลาหู่เยาวชนนักกิจกรรมทางสังคม พร้อมเพื่อนหนึ่งคน ขับรถยนต์ผ่านด่านตรวจบ้านรินหลวง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจค้นยานพาหนะ เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าชัยภูมิพยายามขัดขืนและทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธมีดและระเบิดขว้างสังหาร เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงชัยภูมิฯ จนเสียชีวิต โดยภายหลังระบุว่ากระทำไปเพื่อป้องกันตนเอง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังอ้างว่าพบยาบ้าเป็นจำนวน 2,800 เม็ดซ่อนอยู่ในช่องกรองอากาศของรถยนต์ของชัยภูมิอีกด้วย ต่อมา ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเรื่องการชันสูตรพลิกศพชัยภูมิฯ ว่า “พฤติการณ์ที่ตายคือ ถูกเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 ยิง กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายด้านนอกทะลุต้นแขนซ้ายด้านใน และกระสุนแตกเข้าไปในลำตัวบริเวณสีข้างด้านซ้ายเหนือราวนม กระสุนปืนทำลายเส้นเลือดใหญ่หัวใจและปอดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2562 นาปอย ป่าแส แม่ของชัยภูมิ ป่าแส ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากกองทัพบก เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ.2591/2562 ซึ่งการสืบพยานเมื่อวันที่ 4 และ 5 ส.ค.2563 ที่ผ่านมานั้น ฝ่ายโจทก์ได้นำเสนอพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลเห็นข้อพิรุธของเจ้าหน้าที่หลายประการที่ชี้ได้ว่า ชัยภูมิไม่ได้ต่อสู้ขัดขวาง และไม่มีสิ่งผิดกฎหมาย และระเบิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด โดยคดีนี้แม่ของผู้ตาย ได้รับความช่วยเหลือด้านกฎหมายจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม Protection International และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เพื่อให้ครอบครัวของชัยภูมิฯ ได้เข้าถึงความยุติธรรมอย่างเต็มที่อีกด้วย 

หลังสืบพยานเสร็จทนายความโจทก์แถลงขอยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีภายใน 1 เดือน ส่วนพนักงานอัยการซึ่งเป็นทนายความจำเลยแถลงไม่ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี ศาลอนุญาต

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า การวิสามัญฆาตกรรมกลุ่มชาติพันธุ์  มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่แถบชายแดนของไทย สาเหตุหนึ่งเนื่องจากชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์มักตกเป็นเหยื่อของอคติ และการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติโดยจะถูกตีตราเหมารวมว่าเป็นพวกค้าหรือขนส่งยาเสพติด ทำให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐวิสามัญฆาตกรรมด้วยข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเช่นเดียวกันกับกรณีของชัยภูมิบ่อยครั้ง ในช่วงเกิดเหตุการณ์วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแสดังกล่าว ยังมีอีกกรณีที่คล้ายคลึงกันอย่างมากเช่น เกิดขึ้นในพื้นที่การดูแลด่านบ้านรินหลวง คือกรณีของอาเบหรืออะเบ แซ่หมู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารในด่านบ้านรินหลวงยิงเสียชีวิต ด้วยข้ออ้างต่อสู้ขัดขืนเจ้าหน้าที่และมีระเบิดไว้ในครอบครองเช่นเดียวกัน แต่คดีดังกล่าวเมื่อมารดาของอาเบฟ้องกองทัพบก ศาลได้พิพากษาว่าที่เจ้าหน้าที่ทหารอ้างว่าอะเบผู้ตายได้ล้วงระเบิดจากย่ามจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ก็พบว่าตามบันทึกการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือ ไม่ปรากฏลายพิมพ์นิ้วมือแฝงหรือฝ่ามือแฝงของอะเบ ที่ระเบิดตามอ้าง ทั้งยังพบว่าลักษณะที่ปรากฏหรือตำแหน่งที่พบระเบิดนั้นผิดธรรมชาติเนื่องจากอาเบตกจากรถ ดังนั้นวัตถุระเบิดไม่น่าตกอยู่ใกล้มือของอาเบ ศาลจึงได้มีคำพิพากษาให้กองทัพบกชดใช้ค่าเสียหายให้แก่มารดาของยอะเบ โดยคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net