4 ปีประชามติที่ไม่แฟร์ไม่ฟรี กับรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านประชามติ

เปิด 4 ประเด็นการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขาดเสรีภาพ ไม่เป็นธรรม เป็นถึงกติการ่วมแต่ก็ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบของคนส่วนใหญ่ และรัฐธรรมนูญที่ใช้จริงก็ไม่ใช่ฉบับผ่านประชามติ เพราะแก้หลายมาตรา

ภาพ ปิยะรัฐ จงเทพ (โตโต้) ฉีกบัตรลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงพระโขนงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีฉีกบัตรประชามติ ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท ให้การเป็นประโยช์ลดเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี เพราะศาลเห็นว่าก่อให้เกิดความวุ่นวายและอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

7 ส.ค. 2563 ในวาระครบรอบ 4 ประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขอย้อนทบทวน 4 ประเด็นที่อาจเรียกได้ว่าการทำประชามติขณะนั้น ไม่เสรี ไม่เป็นธรรมและรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบันนี้ไม่ใช่ฉบับที่ผ่านประชามติดังกล่าวด้วย ดังนี้

1. ขาดเสรีภาพ

ตั้งแต่ช่วงรณรงค์ประชามติ ก่อนลงประชามตินั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้สรุปไว้วันที่ 12 ก.ค.59 มีการการดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสรีภาพการแสดงออกที่เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญมี 113 คน แบ่งเป็นข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ทั้งหมด 94 คน มาตรา 61 พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ 5 คน กรณีที่โดนทั้งข้อหาคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 พร้อมมาตรา 61 จำนวน 13 คน และมี 1 คนที่ถูกดำเนินคดีสองคดี คดีแรกข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 คดีที่สองข้อหาตามมาตรา 61 นอกจากนั้นจากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2559 ยังเกิดการคุกคามอย่างน้อย 43 จังหวัดในทุกภูมิภาค

อีกทั้งยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่เคยถูกใช้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีกับกลุ่มพลเมืองที่แสดงออกตามวิถี ของตนแล้ว ยังมีกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งคำร้องที่โครงการอินเตอร์เน็ต เพื่อกฎหมายประชาชน ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เนื่องจาก มีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ นำไปสู่ความสับสนของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น

ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 นักกิจกรรมคดีฉีกบัตรประชามติ 6 เดือน ปรับ 6 พัน รอลงอาญาโทษจำคุก

 

2. ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ประชาชนออกมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือตรวจสอบการทำประชามติอย่างการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติของ นปช. จะถูกคุกคามดำเนินคดีแล้ว รัฐใช้กลไกต่างๆ เพื่อรณรงค์ ทั้ง ครู ก., ข. และค. ข้าราชการกระทรวง รด. รวมทั้งกองทัพ แม้จะระบุว่าเป็นการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนออกมาลงประชามติโดยไม่มีการชี้นำ แต่ก็ทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะเอกสารแนะนำร่างรัฐธรรมนูญที่โน้มเอียงโดยเน้นการบอกข้อดี รวมถึงตัวเลือกในการลงมติยังมีความไม่ชัดเจน ว่าหากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่ตรงหน้า หรือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กมธ. ร่าง รัฐธรรมนูญ ออกมาขู่ว่า หากไม่ผ่านร่างใหม่จะโหดกว่าด้วย ยิ่งสร้างให้เกิดบรรยากาศของการไม่มีตัวเลือกอื่นนอกจากรับเพื่อให้กระบวนการผ่าน จนถึงมีคนเสนอว่ารับเพื่อให้มีการเลือกตั้งและ คสช. ออกจากอำนาจไปก็มี

3. ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบของคนส่วนใหญ่

หลังการลงประชามติ 7 ส.ค.59 ผลของประชามติมีผู้มาออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านคน นับเป็นประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

ขณะที่คำถามเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ มีผู้เห็นชอบน้อยกว่าคือเพียง 15 ล้านเสียง

4. รัฐธรรมนูญที่ใช้ไม่ใช่ฉบับผ่านประชามติ เพราะแก้หลายมาตรา

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ผ่านมา การปราศรัยของ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เรื่องบทบาทของสถาบันกษัตริย์กับการเมืองไทย ประเด็นหนึ่งคือเรื่อง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ โดยประเด็นนี้ ไอลอว์ อธิบายเพิ่มเติมผ่านตัวบทกฎหมายที่ถูกเขียนไว้แล้วอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ด้วยว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ต่อมาได้มีข้อสังเกตพระราชทาน นายกรัฐมนตรีจึงรับทูลเกล้าฯ กลับมาแก้ไข และทูลเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 17 ก.พ. 2560 เนื้อหาส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อสังเกตพระราชทาน มีอย่างน้อย 7 ประเด็น ดังนี้

1. แก้ไขมาตรา 5 กรณีมีวิกฤติของประเทศท่ีรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนทางออกไว้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น ซึ่งเป็นการเขียนแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งที่ฉบับลงประชามติพยายามจะเสนอกลไกอื่นขึ้นมาทดแทน

2. เพิ่มข้อความในมาตรา 12 เรื่องคุณสมบัติขององคมนตรี ท่ีต้องไม่เป็นข้าราชการ โดยเพิ่มข้อความว่า "เว้นแต่การเป็นข้าราชการในพระองค์ในตำแหน่งองคมนตรี"

3. มาตรา 15 ตัดพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง "สมุหราชองครักษ์" ออก

4. มาตรา 16 เพิ่มข้อความว่า จะทรงแต่งตั้งบุคคลหนึ่ง "หรือหลายคนเป็นคณะ" ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ "หรือไม่ก็ได้"

5. มาตรา 17 กรณีไม่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพิ่มเงื่อนไขหาก "องคมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น" ให้เสนอชื่อบุคคล "หรือหลายคนเป็นคณะตามลำดับที่โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดไว้ก่อนแล้ว" ได้

6. มาตรา 19 เพิ่ม วรรค 2 ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้ง และปฏิญาณตนแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนอีก

7. มาตรา 182 ตัด วรรค 2 ที่ให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท