ส่องมาตรการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า 'ฟินแลนด์-สวีเดน' ฤดูกาล 2020

สำนักงานจัดหาแรงงานในหลายจังหวัด เผยแพร่เอกสาร 'มาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020' ระบุ 'บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า-บริษัทนายจ้างปลายทาง-บริษัทนายจ้างในไทย' ต้องจัดทำประกันสุขภาพให้แรงงานไม่จำกัดวงเงินความคุ้มครองและครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ หากคนงานเสียชีวิตด้วย COVID-19 ต้องจ่าย 1 ล้านบาท


ที่มาภาพประกอบ: Mikko Savolainen/Yle

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมากรมการจัดหางานได้แจ้งยกเลิกการระงับการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 เนื่องจากบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์และนายจ้างสวีเดนต้องการจ้างคนงานไทยไปทำงานจำนวนมาก จึงได้กำหนดมาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 เสนอศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) พิจารณาเพื่อให้สามารถจัดส่งคนไทยไปทำงาน โดยได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย มีการประกันรายได้ และปลอดภัยจากโรค COVID-19

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่าบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และนายจ้างบริษัทในประเทศสวีเดน แจ้งความประสงค์จ้างคนงานไทยไปทำงาน และมีคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าจำนวนมาก กรมการจัดหางานจึงได้กำหนดมาตรการ แจ้งการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 เพื่อ ศบค. พิจารณาความเหมาะสมในการจัดส่งคนงานไทย เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 โดยได้กำหนดให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าประเทศฟินแลนด์และบริษัทนายจ้างประเทศสวีเดน รวมทั้งบริษัทนายจ้างในประเทศไทยปฏิบัติตามเพื่อเป็นการคุ้มครองและดูแลคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าใน ฤดูกาลปี 2020 

"สำหรับมาตรการเพิ่มเติมของศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 คือ มาตรการการกักตัว 14 วัน เมื่อคนงานเดินทางกลับถึงประเทศไทย การตรวจหาเชื้อ COVID-19 ก่อนไปและก่อนกลับประเทศไทย และจัดทีมควบคุมทางสาธารณสุข เดินทางพร้อมไปกับคนงานเพื่อดูแล ให้คำปรึกษา และประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขของไทย ในการติดตามและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ต้องดำเนินการแยกคนงาน เพื่อกักตัวและทำการรักษาพยาบาลจนหาย ที่ประชุม ศบค.กำหนดให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่า และบริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าทั้งหมดให้คนงานไทย โดยวางหลักประกันทางการเงิน (Bank guarantee) คนงาน ต้องได้รับการอบรมก่อนเดินทางทุกคน และกรณีฟินแลนด์กรมการจัดหางานกำหนดให้บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์จัดทำหนังสือแต่งตั้งตัวแทนในการดูแลและคุ้มครองคนไทยทีเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า ฤดูกาลปี 2020 ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ฉบับภาษาอังกฤษ โดยบริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ลงนามและนำไปผ่านการรับรองของโนตารีพับลิค และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ" อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับคนงานไทยที่ต้องการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า หรือเดินทางไปทำงานตามฤดูกาล (Seasonal Work) และคนงานสนับสนุน (Staff) ที่ฟินแลนด์ และสวีเดนในปีนี้  นอกจากได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และได้ค่าจ้างที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องปลอดภัยจากโรค COVID-19 ด้วย ซึ่งเป็นแนวทางที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานวางไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนงานไทย  

ทั้งนี้คนหางานที่ต้องการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

มาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์-สวีเดน ฤดูกาลปี 2020

ต่อมาในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2563 สำนักงานจัดหาแรงงานในหลายจังหวัด ได้เผยแพร่เอกสาร 'มาตรการการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ฤดูกาลปี 2020' ทางออนไลน์ โดยระบุดังนี้

การเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์

1. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจัดทำประกันสุขภาพให้คนไทยที่เดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ ไม่จำกัดวงเงินความคุ้มครองและครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ

2. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวในประเทศไทย (Alternative State Quarantine: ASQ) เป็นเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยต้องวางหลักประกันทางการเงิน (Bank guarantee) หรือจ่ายค่าใช้จ่ายในการกักตัวทั้งหมดก่อนที่คนงานไทยจะเดินทางไปฟินแลนด์และนำใบเสร็จของโรงแรมที่กักตัวมาแสดงกับกรมการจัดหางาน

3. หลังสิ้นสุดฤดูกาลปี 2020 บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ต้องประกันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยไม่ต่ำกว่า 108,170 บาท หากคนงานไทยมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไม่ถึงจำนวนดังกล่าว บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบให้คนทำงานไทยมีรายได้ตามที่กำหนดเท่ากับจำนวน 108,170 บาท

4. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนงานไทยกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจาก COVID-19 เป็นจำนวน 1,000,000 บาท

5. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ให้คนงานไทยก่อนเดินทางไปฟินแลนด์ และก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

6. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจ่ายเงินชดเชยเนื่องจากการขาดรายได้ช่วงที่คนงานไทยต้องกักตัวในฟินแลนด์เป้นเวลา 14 วัน

7. รายการค่าใช้จ่ายของคนงานไทยก่อนเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ต้องเป็นรายการค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ เป็นต้น โดยแสดงหลักฐานเอกสารค่าใช้จ่ายให้กรมการจัดหางาน

8. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างที่คนงานไทยรอเดินทางกลับประเทศไทย รวมถึงค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรโดยสารเครื่องบิน

9. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำไป-กลับ ให้คนงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในฟินแลนด์ และจัดพาหนะรับ-ส่ง จากสนามบิน-แคมป์ที่พัก-สนามบิน

10. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจัดเตรียมที่พักให้คนงานไทยไม่เกิน 4 คน ต่อห้อง จัดเตรียมห้องน้ำ/ห้องสุขา เฉพาะสำหรับห้องพักแต่ละห้อง จัดเตรียมห้องรับประทานอาหารร่วมกันมีการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร จัดเตรียมอุปกรณ์/ของใช้ส่วนตัวให้กับคนงานไทยทุกคน และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้คนงานไทย เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย เป็นต้น

11. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องจัดเตรียมรถสำหรับเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า โดยรถแต่ละคันจะมีคนไทยไม่เกิน 6 คน และจัดให้คนงานชุดเดียวกันไปในรถคันเดียวกันทุกวัน

12. บริษัทผู้รับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ ต้องเป็นผู้ดำเนินการต่ออายุวีซ่าให้คนงานไทย กรณีคนงานไทยอยู่ระหว่างรอเดินทางกลับประเทศและวีซ่าหมดอายุ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

การเดินทางไปทำงานในสวีเดน

1. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องจัดทำประกันสุขภาพให้คนไทยที่เดินทางไปทำงานในสวีเดน ไม่จำกัดวงเงินความคุ้มครองและครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลกรณีติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ

2. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกักตัวในประเทศไทย (Alternative State Quarantine: ASQ) เป็นเวลา 14 วัน เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย โดยต้องวางหลักประกันทางการเงิน (Bank guarantee) หรือจ่ายค่าใช้จ่ายในการกักตัวทั้งหมดก่อนที่คนงานไทยจะเดินทางไปสวีเดนและนำใบเสร็จของโรงแรมที่กักตัวมาแสดงกับกรมการจัดหางาน

3. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องจ่ายเงินชดเชยให้คนงานไทยกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยจาก COVID-19 เป็นจำนวน 1,000,000 บาท

4. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องรับรองรายได้ขั้นต่ำรายเดือนให้กับคนงานไทยตามที่สหภาพแรงงานส่วนท้องถิ่นแห่งสวีเดน (Swedish Municipal Workers' Union หรือ Kommunal) ประกาศกไหนด ซึ่ง Kommunal ประกาศรายได้ขั้นต่ำรายเดือนสำหรับฤดูกาลปี 2020 เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 22,049 โครนาสวีเดน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 71,659 บาท

5. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ให้คนงานไทยก่อนเดินทางไปสวีเดน และก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

6. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดระหว่างที่คนงานไทยรอเดินทางกลับประเทศไทย รวมถึงค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนบัตรโดยสารเครื่องบิน

7. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องจัดเครื่องบินเช่าเหมาลำไป-กลับ ให้คนงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในสวีเดน และจัดพาหนะรับ-ส่ง จากสนามบิน-แคมป์ที่พัก-สนามบิน

8. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องจัดเตรียมที่พักให้คนงานไทยไม่เกิน 4 คน ต่อห้อง จัดเตรียมห้องน้ำ/ห้องสุขา เฉพาะสำหรับห้องพักแต่ละห้อง จัดเตรียมห้องรับประทานอาหารร่วมกันมีการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร จัดเตรียมอุปกรณ์/ของใช้ส่วนตัวให้กับคนงานไทยทุกคน และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้คนงานไทย เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หน้ากากอนามัย เป็นต้น

9. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย ต้องจัดเตรียมรถสำหรับเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า โดยรถแต่ละคันจะมีคนไทยไม่เกิน 6 คน และจัดให้คนงานชุดเดียวกันไปในรถคันเดียวกันทุกวัน

10. บริษัทนายจ้างสวีเดน/บริษัทนายจ้างในประเทศไทย  ต้องเป็นผู้ดำเนินการต่ออายุวีซ่าให้คนงานไทย กรณีคนงานไทยอยู่ระหว่างรอเดินทางกลับประเทศและวีซ่าหมดอายุ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด

มาตรการควบคุมและจำกัดการข้ามแดนของฟินแลนด์

ปัจุบันฟินแลนด์ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศให้กับคนที่อาศัยในประเทศเกาหลีใต้ จอร์เจีย ญี่ปุ่น จีน รวันดา ไทย ตูนิเซีย อุรุกวัย และนิวซีแลนด์ โดยไม่ต้องมีการแยกตัว (self-isolation) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2563 | ที่มาภาพประกอบ: Silja Viitala/Yle

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้แจ้งเรื่องการปรับมาตรการควบคุมและจำกัดการข้ามแดนของฟินแลนด์ในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 สรุปได้ดังนี้

1. รัฐบาลฟินแลนด์เห็นชอบให้ใช้มาตรการจำกัดการข้ามแดนระหว่างฟินแลนด์กับออสเตรีย สโลวีเนีย และสวิตเซอร์แลนด์ เช่นเดิม โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2563 เนื่องจากประเทศทั้งสามมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 8 คน ต่อประชากร 100,000 คน

2. ปัจจุบัน ฟินแลนด์ได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าฟินแลนด์ด้วยเหตุผลจำเป็นอื่น ๆ สำหรับคนชาติและผู้มีใบอนุญาตให้พำนักอาศัยในประเทศสมาชิกความตกลง Schengen (internal borders) ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม อิตาลี กรีซ ลิกเตนสไตน์ มอลตา เยอรมนี สโลวาเกีย และฮังการี โดยไม่ต้องมีการแยกตัว (self-isolation)

3. รัฐบาลฟินแลนด์ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าฟินแลนด์ให้กับคนที่อาศัยในประเทศเกาหลีใต้ จอร์เจีย ญี่ปุ่น จีน รวันดา ไทย ตูนิเซีย อุรุกวัย และนิวซีแลนด์ โดยไม่ต้องมีการแยกตัว (self-isolation) โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. 2563 ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค. 2563 รัฐบาลฟินแลนด์ได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าฟินแลนด์ของคนที่อาศัยในประเทศเหล่านี้ เพื่อทำงานและด้วยเหตุผลจำเป็นอื่น ๆ เท่านั้น ตามข้อเสนอแนะของ Council of European Union แต่สำหรับจีน นั้น Council of European Union ต้องยืนยันการปฏิบัติต่างตอบแทนที่เพียงพอจากจีน

4. รัฐบาลฟินแลนด์เห็นชอบให้ใช้มาตรการจำกัดการข้ามแดนเข้าฟินแลนด์กับแอลจีเรียและออสเตรเลียตามเดิมเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 2 ประเทศนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่รัฐบาลฟินแลนด์กำหนด (มากกว่า 8 คน ต่อประชากร 100,000 คน)

5. ตามที่รัฐบาลฟินแลนด์ได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการข้ามแดนระหว่างฟินแลนด์กับประเทศนอกความตกลง Schengen (external borders) ได้แก่ อันดอรา ไซปรัส ไอร์แลนด์ ซานมาริโน และนครรัฐวาติกันแล้ว ก่อนหน้านี้ นั้น ให้การข้ามแดนระหว่างฟินแลนด์กับประเทศเหล่านี้ไม่มีข้อจำกัด

6. ข้อมติของรัฐบาลฟินแลนด์ในวันที่ 23 ก.ค. 2563 จะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 25 ส.ค. 2563 และรัฐบาลฟินแลนด์จะทบทวนความจำเป็นเกี่ยวกับมาตรการจำกัดการข้ามแดนระหว่างฟินแลนด์กับประเทศต่าง ๆ ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า บนพื้นฐานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในประเทศเหล่านั้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท