4 ปี ประชามติ รธน. : คปอ.แถลงย้ำจุดยืนไม่ยอมรับ-นับผล หนุนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

4 ปี การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพออกแถลงการณ์ย้ำจุดยืนไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

กิตติธัช สุมาลย์นพ (คนกลาง) สมาชิกคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ "เข้าชื่อ 50,000 ชื่อ ร่วมรื้อร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" ที่มาภาพ iLaw

7 ส.ค.2563 เนื่องในวันครบรอบ 4 ปี การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการขาดเสรีภาพและความไม่เป็นธรรมในการรณรงค์นั้น วันนี้ (7 ส.ค.63) ช่วงบ่าย กิตติธัช สุมาลย์นพ สมาชิกคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) เข้าร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ "เข้าชื่อ 50,000 ชื่อ ร่วมรื้อร่วมสร้างร่วมร่างรัฐธรรมนูญ" ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และได้อ่านส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

เนื้อหาของแถลงการณ์ดังกล่าว มีดังนี้

แถลงการณ์ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) เรื่อง ครบรอบ 4 ปี ประชามติรัฐธรรมนูญ ยืนยันอีกครั้งไม่ยอมรับ-นับผลประชามติ ที่ไม่แฟร์ ไม่ฟรี และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2559 ผ่านไปครบรอบ 4 ปีแล้ว คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าว เพราะนอกจากกระบวนการประชามติไม่มีเสรีภาพและความเป็นธรรม ฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกขัดขวางและจับกุมคุมขัง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนสามารถระดมทรัพยากรของรัฐเพื่อรณรงค์ได้อย่างเต็มที่แล้ว ภายใต้บรรยากาศแห่งการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่มีรัฐประหาร พ.ศ. 2557 และรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงการทำประชามติ จึงไม่ต่างจากการลงประชามติภายใต้ปากกระบอกปืน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็ล่าช้า ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอ ความกลัวและอุปสรรคต่าง ๆ ข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้ออกเสียงประชามติน้อยลงเป็นประวัติการณ์ มิใช่เพราะบุคคลเหล่านั้น “นอนหลับทับสิทธิ์” แต่อย่างใด

ผลของประชามติมีผู้มาออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 16.8 ล้านคน นับเป็นประมาณ 34% หรือเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50 ล้านคนเท่านั้น จึงเท่ากับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการรับรองจากเสียงข้างมากของคนไทย ทั้งที่เป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

ต้นไม้พิษย่อมให้ผลไม้พิษตามมา คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอย้ำเช่นเดิมว่าเราไม่ยอมรับกระบวนการทำประชามตินี้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งกระบวนการต่อเนื่องภายหลังประชามติ ยิ่งไปกว่านั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประกาศใช้ยังได้ผ่านการแก้ไขในหลายมาตราจนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นฉบับเดียวกับที่ผ่านประชามติอีกต่อไป พร้อมทั้งยังมีกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกอีกหลายฉบับตามมา โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่แต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร ซึ่งสามารถร่างกฎหมายลูกได้ตามต้องการโดยไม่ต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชน

การร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 การปฏิรูปประเทศ ไปจนถึงการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลทหารที่พร่ำบอกว่าจะเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่สันติประนีประนอมได้นั้นเป็นเรื่องโกหก เพราะฐานคิดของผู้นำผู้มีอำนาจรัฐในระบบโครงสร้างการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งระบบราชการ มองประชาชนเป็นเพียงฟันเฟืองของกลไกทางเศรษฐกิจ หุ้นส่วนที่ต้องร่วมจ่าย ผู้บริโภค หรือผู้ด้อยโอกาสที่ต้องให้การสงเคราะห์ โดยประชาชนไม่มีอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองได้เต็มที่ อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญยังเน้นแนวคิดความมั่นคงของรัฐเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สร้างเงื่อนไขทำให้ประชาชนผู้คิดต่างไม่สามารถมีอำนาจต่อรองและกำหนดอนาคตของตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งไม่ยุติธรรม

ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดและมีผลกระทบต่อคนทั้งประเทศก็คือปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 การเลือกนายกรัฐมนตรีที่ถูกแทรกแซงโดย ส.ว. 250 คน และการบริหารราชการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่ง คสช. เขียนขึ้นเองโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ยังคงเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมรับและนับผลประชามติดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เราได้จัดเสวนารณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญนี้ในประเด็นต่าง ๆ หลายครั้ง เพื่อหวังผลในอนาคตว่าจะมีกระบวนการบอกเลิกให้ประชามติ พ.ศ. 2559 เป็นโมฆะและทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อถอนต้นไม้พิษและลบล้างมรดกบาปของ คสช. เสีย

ในโอกาสนี้คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ขอแสดงจุดยืนเดิมของเราตั้งแต่ก่อนมีประชามติ พ.ศ. 2559 อีกครั้งว่า

1. ขอสงวนสิทธิไม่ยอมรับนับผลประชามติ พ.ศ. 2559 และถือว่าประชามติเป็นโมฆะ หรืออย่างต่ำสุดเป็นโมฆียะซึ่งพลเมืองยังคงสิทธิที่จะบอกล้าง และถือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นเพียงฉบับชั่วคราว

2. ขอเชิญชวนพรรคการเมือง องค์กรทางการเมือง องค์กรสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ รวมถึงขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ร่วมให้สัตยาบันว่าจะผลักดันให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนครั้ง พ.ศ. 2539 และเปิดให้มีการประชามติภายใต้กระบวนการที่ให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเป็นธรรม ปราศจากความกลัว

3. ขอเรียกร้องให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่วมกันร่างขึ้นขยายสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค รับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ทั้งในด้านการศึกษา การสาธารณสุข และความมั่นคงในการทำงาน ให้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และหน่วยงานของรัฐรวมทั้งกองทัพและตำรวจยึดโยงกับประชาชน อยู่ใต้การบังคับบัญชาของประชาชน เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ให้อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมกันพิจารณาและร่วมกันผลักดันต่อไป

คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.)
7 สิงหาคม 2563

(ปรับปรุงแก้ไขจากฉบับเดิม วันที่ 7 สิงหาคม 2560)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท