ศูนย์วิจัยกฎหมาย มช. ออกแถลงการณ์หยุดคุกคามประชาชนโดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย มช. ออกแถลงการณ์หยุดการคุกคามประชาชนโดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรียกร้องให้กลุ่มองค์กรและสถาบันต่าง ๆ ต้องร่วมกันกดดันเพื่อกลไกของรัฐทุกระดับยุติการคุกคามประชาชนด้วยการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ รวมทั้งให้การสนับสนุนและร่วมกันปกป้องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน

8 ส.ค. 2563 ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์ เรื่อง หยุดการคุกคามประชาชนโดยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุว่าการดำเนินการด้วยการใช้กฎหมายกับผู้เข้าร่วมการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 โดยการแจ้งข้อกล่าวหากับนายอานนท์ นำภา และพวกอีกเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเข้าจับกุมและดำเนินการคดีเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2563 นั้น ถือเป็นการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างโจ่งแจ้งอีกครั้งหนึ่ง

นับตั้งแต่การยึดอำนาจโดยคณะ คสช. ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา คณะรัฐประหารได้ใช้อำนาจทั้งที่ปราศจากกฎหมายรองรับ และด้วยการใช้กฎหมายและกลไกในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นและคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ดังมีการกล่าวหาบุคคลในการกระทำความผิดในหลากหลายข้อหาทั้งโดยคำสั่งของ คสช., กฎหมายที่บัญญัติขึ้นโดย สนช. (ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร), หรือกฎหมายอำนาจนิยมที่มีอยู่, เพื่อให้บุคคลต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งในกระบวนการยุติธรรมตามปกติและศาลทหาร

กระบวนการในทางกฎหมายนับตั้งแต่การถูกดำเนินคดี การพิจารณาและรวมถึงการตัดสินคดีในกระบวนการยุติธรรม ได้กลายเป็นภาระและก่อให้เกิดปัญหากับประชาชนจำนวนมากซึ่งผู้ที่ต่อสู้และเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ

แม้ภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและการจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยมที่มีพรรคการเมืองและ ส.ว. (ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร) เป็นผู้สนับสนุน สถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใด ยังคงมีการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้อำนาจโดยปราศจากกฎหมายรองรับเฉกเช่นการข่มขู่ประชาชนก็ยังคงปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง

ขณะที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนเพื่อจัดการกับประชาชน ความเหลวแหลกของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในการ “จัดการ” กับผู้มีอำนาจก็ปรากฏให้เห็นอย่างเต็มตาในหลากหลายคดี กรณียืมนาฬิกาเพื่อน, กรณีกระทิงแดงขับรถชนคนตาย, การปล่อยให้ผู้ค้ายาดำรงตำแหน่ง รมต., การดำเนินคดีอย่างรวดเร็วกับพรรคอนาคตใหม่แต่ล่าช้ากับฝ่ายผู้มีอำนาจ ฯลฯ

การปราบปรามและการคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายผ่านกลไกของกระบวนการยุติธรรมอย่างซ้ำซากที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 คือการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทยกำลังพังทลายลงในทุกระดับ นับตั้งแต่ต้นทางไปจนกระทั่งปลายทางของกระบวนการยุติธรรม สังคมที่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นและการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขได้อย่างแน่นอน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเคลื่อนไหวให้มีการยุบสภา, การหยุดการคุกคามประชาชน, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่ข้อขัดแย้งของสถาบันทางการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว ตำรวจ อัยการ และศาล ล้วนแต่เป็นมีบทบาทต่อการถอยหลังของประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสำคัญ จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองที่ได้ต้องการปฏิรูปอย่างรอบด้านด้วยเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้า ขอเรียกร้องให้กลุ่ม องค์กรและสถาบันต่าง ๆ ต้องร่วมกันกดดันเพื่อกลไกของรัฐทุกระดับยุติการคุกคามประชาชนด้วยการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ รวมทั้งให้การสนับสนุนและร่วมกันปกป้องการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายและนำไปสู่ความยุ่งยากที่ดิ่งลึกลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่

ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
8 ส.ค. 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท