สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 2-8 ส.ค. 2563

พบแรงงานไทยรายที่ 3 บาดเจ็บ ในเลบานอน

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผย สถานการณ์แรงงานไทย ในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ล่าสุด พบผู้บาดเจ็บคนที่ 3 ที่บาดเจ็บจากแรงระเบิด ทราบชื่อคือ นายคมสันต์ ขจรสมบัติ อาชีพช่างจิวเวลรี่ ถูกประตูห้องพักล้มทับขา ทำให้ขา และเท้าบวม ส่วนที่พักได้รับเสียหายทั้งหมด เบื้องต้นได้พักฟื้นอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว

ส่วนความช่วยเหลือแรงงานไทย ทางทูตแรงงาน ประจำสำนักงานแรงงาน ในประเทศซาอุดีอาระเบีย ได้ประสานอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศ มาช่วยกันจัดถุงยังชีพ เพื่อส่งให้กับแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบ และขณะเดียวกัน รักษาการกงสุลกิตติมศักดิ์ กรุงเบรุต ยืนยันพร้อมให้ความช่วยเหลือ คนไทยและแรงงานไทย รวมทั้งผู้ที่ประสงค์จะเดินทางกลับ จะช่วยประสานให้เดินทางกลับประเทศไทย ภายในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ แรงงานไทยหรือญาติพี่น้องแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย และอาสาสมัครแรงงานในต่างประเทศ ประเทศเลบานอน

ที่มา: news.ch7.com, 8/8/2563 

ภาวะการตกงานยังพุ่ง 3 เดือน โรงงานปิดกิจการชั่วคราว 7,080 แห่ง สาขายานยนต์อันดับแรก

หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเดือนสิงหาคม 2563 ยอดตกงานพุ่งระลอกใหม่ ผลพวงจากสถานประกอบการ นายจ้าง ทนพิษเศรษฐกิจ-โควิด-19 ไม่ไหว ถูกเลิกจ้างจะมีตามมาอีกระลอกใหญ่

นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงแรงงานมอนิเตอร์สถานการณ์แรงงานทั้งการจ้างงาน การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงานทั้งในระบบและแรงงานอิสระ พบว่าตัวเลขการจ้างงาน และการเลิกจ้างในระบบประกันสังคม ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 2563 มีลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง พนักงานที่ยังทำงานกับนายจ้าง) รวม 11.3 ล้านคน ลดลง 294,867 คน

เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้าง 145,747 คน เพิ่มขึ้น 119,807 คน จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาที่มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น อาทิ ที่พักแรม และบริการด้านอาหาร เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 20,836 คน หรือเพิ่มขึ้น 2,547%

สำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากที่สถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 (ปิดกิจการชั่วคราว) จากเดือน เม.ย.-ก.ค. 2563 รวม 1,568,613 คน จากสถานประกอบการ 7,080 แห่ง โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ การค้า ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร

โดยกระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลดผลกระทบหลายมาตรการ อาทิ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับการว่างงานจากโรคโควิด-19 ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยจ่ายเงินทดแทน 62% ของค่าจ้าง ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 78 รวม 70% ของค่าจ้างรายวัน ถึง 28 ก.พ. 2565 เยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างสถานประกอบการที่ถูกกระทบจากโควิด กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ชดเชย 5,000 บาท 3 เดือน เยียวยาผู้ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และกลุ่มแรงงานต่างด้าว

นายอภิญญา สุจริตตานนท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การประกาศปิดกิจการ เลิกจ้าง ที่ยังมีต่อเนื่องจากที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด หลังเดือน ส.ค. 2563 จะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะหลังเดือน ส.ค. ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเพิ่มเนื่องจากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่จะมีกิจการบางส่วนที่สู้ไม่ได้ ต้องปิดโรงงาน เลิกจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดยังคาดการณ์ได้ยาก

นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน แรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า คาดว่าเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มว่างงานลดลง เมื่อดูตัวเลขตามมาตรา 75 ในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 พบว่า มีผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิประมาณ 300,000-400,000 คน การใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน มีประมาณ 60,000 คน ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการเลิกจ้าง สมัครใจลาออกและสิ้นสุดสัญญาจ้าง อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องเฝ้าระวังตัวเลขผู้ประกันตนที่ใช้มาตรา 75 เดือนกรกฎาคม 2563 ถ้าลดลง แต่ตัวเลขการขอใช้สิทธิประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้ว่ามีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น

รายงานข่าวจากแรงงานจังหวัดสระบุรีเปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2563 มีผู้ว่างงาน 9,097 คน มาจากการประกาศเลิกกิจการ 6 แห่ง ลูกจ้าง 135 คน และสถานประกอบการที่แจ้งใช้มาตรา 75 จำนวน 9 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,806 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่วนช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 มีผู้ว่างงาน 7,230 คน มีสถานประกอบการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว 81 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 169 คน

นายสมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดมีตัวเลขคนตกงานในระบบประกันสังคม ประมาณ 2 หมื่นกว่าคน เนื่องจากโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หลากหลายธุรกิจปิดกิจการไปประมาณ 100 แห่ง สถานการณ์ปัจจุุบันถือว่ายังไม่ดีขึ้น

นายสุทธิรักษ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราด ภาพการตกงานจะชัดเจนขึ้นในเดือนสิงหาคม เพราะเดือนกรกฎาคมเพิ่งจะครบ 3 เดือน การช่วยเหลือลูกจ้างจากเงินประกันสังคม 62% และผู้ประกอบการบางรายสามารถขอใช้สิทธิ์หยุดกิจการชั่วคราว โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ของอัตราค่าจ้างรายเดือน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมจำนวน 20-30% ที่กลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศยังไม่เปิดบริการ รอดูสถานการณ์เดือนตุลาคม

นายสุพัฒน์ กองเงิน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตราด กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 มีสถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราว และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 162 แห่ง มีลูกจ้างทั้งหมด 4,502 คน และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3,889 คน คิดเป็น 86% เป็นภาคโรงแรม รีสอร์ตและห้องชุดได้รับผลกระทบมากที่สุด จากจำนวนสถานประกอบการ 120 แห่ง มีลูกจ้าง 4,502 คน แต่มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ 3,646 คน หรือคิดเป็น 86% และมีปัญหาจากสถานประกอบการปิดกิจการ 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างประมาณ 120-130 คน

ที่มา: ประชาติธุรกิจ, 7/8/2563

กรมการจัดหางานส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กรณีแรงงานเมียนมาใน จ.ตาก กว่า 400 คน รวมตัวเรียกร้องให้โรงงานเปิดแรงงานกลับเข้าทำงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวถึงกรณีที่มีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมากว่า 400 คน รวมตัวกันหน้า บริษัทคอร์ติน่า อีเกอร์ จำกัด หมู่ที่ 3 บ้านแม่ตาวใหม่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเรียกร้องให้โรงงาน เปิดรับกลุ่มแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติ หลังจากสถานประกอบการได้หยุดกิจการชั่วคราว กว่า 2 เดือน เพราะพิษโควิด – 19 ทำให้แรงงาน ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ กรมการจัดหางาน ไม่นิ่งนอนใจ ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางาน จ.ตาก ลงพื้นที่ ร่วมกับสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก และสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตาก ทันที เพื่อรับฟังปัญหา เจรจาและชี้แจงข้อกฎหมาย จากการตรวจสอบ พบว่า ลูกจ้างแรงงานต่างด้าวประเภทกลุ่มเช้าไป-เย็นกลับ (มาตรา 64) ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรา 79/1 ของสำนักงานประกันสังคมจากการที่นายจ้างประกาศหยุดกิจการชั่วคราวเนื่องจากเหตุสุดวิสัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. 2563 - 30 ก.ย.2563 อีกทั้ง นายจ้างยังคงค้างจ่ายเงินค่าจ้างตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแรงงานต่างด้าวได้เรียกร้องว่า หากนายจ้างประสงค์จะปิดกิจการขอให้นายจ้างจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี จะมีการเจราจาหาข้อยุติร่วมกันระหว่างนายจ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรภาคเอกชน (MAP, LPN) อีกครั้งในวันที่ 11 ส.ค. 2563 นี้ เวลา 09.00 น. ที่ บริษัทคอร์ติน่า อีเกอร์ จำกัด

“ทันทีที่รับทราบเรื่อง กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษชน การได้รับสิทธิความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างเท่าเทียมกัน แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยจะได้รับความคุ้มครองและดูแลเหมือนเช่นคนไทย และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งความคุ้มครองกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของนายจ้าง หรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมาย ซึ่งสามารถร้องทุกข์ได้ ผ่านทาง สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือผ่านทางเพจของสำนักงานฯ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แทนการรวมตัวกัน หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงานโทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยยังจะได้รับประโยชน์จากสวัสดิการการประกันสังคม การประกันสุขภาพ การศึกษาและสังคม เพื่อให้สามารถทำงานอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปกติสุข ” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: New TV, 7/8/2563

'คสรท.' วอนรัฐมนตรีแรงงานคนใหม่ช่วยลูกจ้างด่วน

นายไพฑูรย์ บางหรง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า จากกรณีนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมว.แรงงาน และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมช.แรงงาน เมื่อเห็นรายชื่อคนจะมาดูแลกระทรวงแรงงานแล้ว ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรนัก เพราะทั้ง 2คนไม่เคยมีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในด้านแรงงานมาก่อน และที่ผ่านมากระทรวงแรงงานไม่เคยมีรัฐมนตรีช่วยมาก่อน แต่มีในสมัยนี้ แต่ทั้งนี้ต้องให้โอกาสในการทำงาน

โดยในฐานะตัวแทนภาคประชาชนอยากเสนอรัฐมนตรีใหม่ให้ลงมาดูเรื่องปากท้องของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในส่วนของผู้ประกันตน มาตรา 33ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล และการเข้าไปดูแลการเลิกจ้างคนงานที่กำลังระบาดในขณะนี้ เพราะบางแห่งได้เงินตามกฎหมาย บางแห่งก็ไม่ได้ ทั้งนี้ในวันที่ 8 ส.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อกำหนดข้อเรียกร้อง และขอเข้าพบกับรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 2 คนในเร็ว ๆ นี้

ที่มา: สยามรัฐ, 7/8/2563

27 บริษัทขยายลาคลอดเป็น 120 วัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวในการเป็นประธานพิธีประกาศเจตนารมณ์ “การเสริมพลังบทบาทหญิงและชายเพื่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ” จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่บริษัท สถานประกอบการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สมาพันธ์แรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงาน รวม 27 แห่งร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมพลังบทบาทหญิงและชายในการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ

โดยขยายวันลาคลอดบุตรสำหรับพนักงานหญิงเป็น 120 วัน จากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดได้ไม่เกิน 98 วัน โดยได้รับค่าตอบแทน และให้พนักงานชายลาเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วัน จากเดิมที่ กฎหมายบังคับใช้แต่ในภาคราชการเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ที่ให้ยืดหยุ่นครอบคลุมไปถึงภาคราชการด้วย

นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีมุมนมแม่ที่มีความสะอาดและปลอดภัยด้วย สร้างความตระหนักรู้และคุ้มครองสิทธิแรงงานหญิงให้สอดคล้องกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และมีหลักประกันความมั่นคง

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 7/8/2563

กสร. ขานรับนโยบายรัฐบาล ใช้งบ 4.8 ล้านบาท จ้างงานระยะสั้น 230 ตำแหน่งทั่วประเทศ เยียวยาโควิด

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติมาตรการด้านงบประมาณเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อให้ส่วนราชการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 หรือปรับเปลี่ยนเพื่อไปดำเนินการซึ่งก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตรายย่อยรวมถึงการจ้างงาน ซึ่งจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 พบว่า มีสถานประกอบกิจการที่มีการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จำนวน 4,599 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 919,410 คน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนองตอบนโยบายของรัฐบาลที่จะบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงได้จัดทำโครงการจ้างงานระยะสั้นแก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด 19 เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้มีรายได้สามารถดูแลตนเองและครอบครัวในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า กสร. ได้ดำเนินการจ้างเหมาบริการแรงงานตามโครงการดังกล่าว จำนวน 230 คน ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหน่วยงานส่วนกลาง จำนวน 40 คน ส่วนภูมิภาค 190 คน โดยได้จัดจ้างเป็นระยะเวลา 2 เดือน คือเดือนสิงหาคม-กันยายน 2563 และได้รับค่าจ้างเดือนละ 10,500 บาท รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 4,830,000 บาท ซึ่งแรงงานที่ได้รับการจ้างในครั้งนี้จะปฏิบัติหน้าที่ประชาสัมพันธ์ภารกิจและการดำเนินงานของกรม ให้คำปรึกษา แนะนำนายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย สำรวจข้อมูลสถานประกอบกิจการที่มีการเลิกจ้าง ทั้งนี้ กสร. มุ่งหวังว่าการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ้างงานระยะสั้นนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประชาชนที่ว่างงานได้มีงานทำ มีรายได้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 7/8/2563

พนง.โรงแรมชะอำ ดังรวมกลุ่มร้องทุกข์ บังคับลา-ทำงาน 15 วันได้ค่าแรง 30 เปอร์เซ็นต์

นายปิยะ พดด้วง ผู้จัดการห้องอาหาร แผนกอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ในแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นำกลุ่มพนักงานโรงแรมชื่อดังริมหาดชะอำกว่า 30 คน รวมตัวกันเข้าร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลังจากทำงานครบ 15 วัน แต่โรงแรมจ่ายเงินเดือนให้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างซึ่งต่ำกว่ากฎหมายแรงงานกำหนด ส่งผลให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

นายปิยะกล่าวว่าตนและเพื่อนพนักงานได้มาร้องขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ เนื่องจากโรงแรมเปิดกิจการแล้ว แต่พนักงานโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ได้กลับเข้าไปทำงาน มีเพียงพนักงานบางส่วนที่ได้กลับเข้าไปทำงานเต็มเวลาแต่มีเงื่อนไขในการรับเงินเดือน 60 เปอร์เซ็นต์ ทำงาน 15 วัน และโดนบังคับให้ลางานอีก 15 วัน สุดท้ายได้รับเงินเดือนเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สำหรับพนักงานที่ไม่ได้รับสิทธิกลับเข้าทำงาน โรงแรมไม่มีการเยียวยาและช่วยเหลือ ทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน

“ที่ผ่านมา โรงแรมได้เรียกพนักงานเข้าไปประชุมพูดคุยเพื่อหาข้อยุติ แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบหรือคำยืนยันจากทางโรงแรม ขณะที่โรงแรมได้เปิดทำการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 มีลูกค้าและนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการตามปกติและเป็นช่วงวันหยุดยาว แต่โรงแรมยังไม่มีนโยบายที่จะเรียกพนักงานที่เหลืออีก 60% กลับเข้าทำงาน และไม่มีมาตรการช่วยเหลือ พนักงานหลายคนไม่ได้มีรายได้หลักหลายทาง ที่ผ่านมา 3 เดือนจากสถานการณ์โควิดมีเพียงความช่วยเหลือจากประกันสังคมเท่านั้น และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพนักงานไม่มีรายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัว แต่ต้องมีรายจ่าย ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ จึงขอให้สำนักงานคุ้มครองแรงงานฯให้ความช่วยเหลือ” นายปิยะกล่าว

นายวรรณณะ สามัคคี นักวิชาการชำนาญงานแรงงานพิเศษ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ได้ให้พนักงานทั้งหมดเขียนคำร้องของแต่ละบุคคล หลังจากนั้นจะเชิญนายจ้างมาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว โดยดูข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมาย

ที่มา: มติชน, 6/8/2563

แรงงานไทยในเลบานอนบาดเจ็บ 2 คน กุ๊กร้านอาหารญี่ปุ่น-ช่างจิวเวลรี่

นาวาตรีวิทวัส กู้ประเสริฐ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย กรุงริยาด รายงานว่าแรงงานไทยที่ได้รับบาดเจ็บ 2 คน คือ นายวีรยุทธ์ บุญรักษ์ เป็นกุ๊กร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน ถูกกระจกบาดตามตัวและศีรษะกระแทกกับฝ้าเพดาน ส่วนแรงงานอีก 1 คน ที่บาดเจ็บ คือ นายชนธัช ทันยศศักดิ์ พนักงานช่างจิวเวลรี่ มือเจ็บถูกกระจกบาด และหูอื้อจากเสียงระเบิดที่ดังสนั่น แรงงานที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 คน ได้รับการปฐมพยาบาลทำแผลและกลับเข้าพักรักษาตัวในที่พักแล้ว

ขณะเดียวกัน ปัญหาตอนนี้สภาพอากาศที่กรุงเบรุต มีมลพิษจากสารเคมีแอมโมเนียฯ ฟุ้งกระจาย ได้แจ้งเตือนไปยังแรงงานไทยรวมกว่า 203 คน ในกรุงเบรุต ต้องระวังและสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน เพราะถ้าสูดดมเข้าไปจะแสบจมูกและระคายเคือง คันตามผิวหนัง ซึ่งขณะนี้กำลังหาทางส่งความช่วยเหลือ ส่งไปยังอาสาสมัครแรงงานในเลบานอน และได้ไปจัดซื้อถุงยังชีพและหน้ากาก

ที่มา: news.ch7.com, 6/8/2563

ประวัติศาสตร์ครั้งแรก MOU การจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) จ.นครราชสีมา

ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ โฮเต็ล แอนด์รีสอร์ท จังหวันครราชสีมา นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในการจัดการโรคและภัยสุขภาพ เพื่อประชาชนเขตเมืองมีสุขภาพดี โดยมีนายสุขสันต์ จิตติมณี รองผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กล่าวรายงานว่า อสบ.ในเขตเมืองนครราชสีมา จะดูแลด้านสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรได้อย่างใกล้ชิด และครอบคลุมประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรพื้นที่เขตเมืองเป็นการนำร่อง มีการอบรมจำนวน 3 รุ่นๆ ละ 1 วันและวันละ 150 คน ระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2563 รวมประมาณ 450 คน โดยได้รับพัฒนาศักยภาพอสบ. ในการจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร (uVilleCare) ทั้งโรคเรื้อรัง ภาวะฉุกเฉิน และการรับบริการวัคซีน และให้คำปรึกษา โดยนวัตกรรมที่อสบ. เก็บข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่เข้าบริการ ด้วยเทคโนโลยี ผ่านสมาร์ทโฟน

นายแพทย์สำเริง กล่าวว่า ในวันนี้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานโครงการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างนายแพทย์กิตติ์พงศ์ สัญชาตวิรุฬห์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา นายอดุลย์ ขมิ้นเขียว ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 9 นายแพทย์นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์ชุติเดช ตาบองครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และนายแพทย์จิรศักดิ์ วิจักขณาลัญฉ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา อันเป็นการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร ลดความเหลื่อมล้ำด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในลักษณะประชากรเฉพาะเขตเมืองของผู้พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้พักอาศัย นิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนที่พักอาศัยในหมู่บ้านจัดสรร จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจัดสรร (อสบ.) ในจังหวัดนครราชสีมา

สำหรับการลงนาม MOU ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของชุมชนเขตเมือง โดยอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสาในชุมชน พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในเขตเมือง โดยการดำเนินงานนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นหมู่บ้านจัดสรรในพื้นที่อำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน 200 แห่ง

นายแพทย์สำเริง กล่าวอีกว่า เพื่อให้การดำเนินงานประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ จึงได้มีการกำหนดข้อตกลงว่าจะร่วมมือกันภายใต้หลักการสำคัญของความร่วมมือ ดังนี้ 1.พัฒนารูปแบบการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสาในหมู่บ้านจัดสรรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการป้องกันควบคุมโรค พื้นที่เขตเมือง 2.พัฒนาชุดข้อมูลสุขภาพและกลไกการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำข้อมูลมาใช้วางแผนและแก้ไขปัญหาสุขภาพ 3.เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการดูแลสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในหมู่บ้านจัดสรรเขตเมือง ตามแผนการบริการทางสุขภาพ (Service plan) อย่างเหมาะสม 4.สนับสนุนการมีส่วนร่วมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้านจัดสรร เพื่อดูแลสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาวะและการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมยั่งยืน 5.ประสานความร่วมมือด้านวิชาการ ฐานข้อมูล มาตรฐาน เทคโนโลยี และการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขจิตอาสา เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร 6.สนับสนุนการบริหารจัดการโรคและภัยสุขภาพในหมู่บ้านจัดสรร ตามแผนงานโครงการที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด และ 7.ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบทางราชการอย่างเคร่งครัด

ที่มา: กรมควบคุมโรค, 6/8/2563

ศาลแรงงานตัดสิน 'ครูเกษียณอัสสัมชัญ' ชนะคดี เป็นบรรทัดฐานให้ครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศเมื่อเกษียณมีสิทธิได้รับค่าชดเชย

มีรายงานข่าวว่าเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. 2563 ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ แผนกแรงงาน ได้อ่านคําพิพากษาให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับใบอนุญาต และนายจ้างและโรงเรียนอัสสัมชัญ ชําระเงินคืนค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินบํานาญรายเดือนและเงินขั้นเพิ่มของเงินบํานาญต่อปีตามสัญญาจ้าง แก่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญและ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ภายใน 15 วัน หลังจากครูถูกละเมิดสิทธิทางแรงงานมากว่า 10 ปี

ทั้งนี้ เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีข่าวความเดือดร้อนของครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ เป็นโรงเรียนประถมและมัธยม นักเรียนชายล้วนที่มีอายุกว่า 134 ปี และเป็นที่ทราบดีถึงเศรษฐานะของมูลนิธิฯว่าอยู่ในฐานะค่อนข้างดีจากเงินบริจาคแรกเข้าเพื่อการศึกษา

แต่กลับปรากฏสภาพความเดือดร้อน ความลําบากในการยังชีพของครูเกษียณที่ถูกเปิดเผย โดยกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญว่าหลายคนใช้ชีวิตยามชราภาพอย่างยากลําบาก ซึ่งเมื่อได้ศึกษาถึงต้นเหตุแล้ว พบว่าถูกละเมิดสิทธิทางแรงงาน ได้แก่ถูกบังคับให้เขียนหนังสือลาออกเมื่อเกษียณอายุ ส่งผลให้ไม่ได้รับค่าชดเชยหรือเงิน 10เดือน ตามกฎหมายแรงงาน และไม่ได้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่ผู้บริหารมูลนิธิมีสัญญาว่าจะให้ แต่กลับมายกเลิกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากครูในฐานะลูกจ้าง

ความไม่เป็นธรรมที่ครูเกษียณโรงเรียนได้รับเกินกว่าที่ ศิษย์เก่าจะเพิกเฉยได้ จึงได้หาแนวทางช่วยเหลือครูเกษียณผ่านงานการกุศลต่างๆ ที่สําคัญพยายามเจรจาหาทางออกกว่า10ครั้งตลอดกว่า10 ปีที่ผ่านมากับผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ แต่ถูกปฏิเสธบ่ายเบี่ยง จนไม่สามารถจะแก้ ปัญหาด้วยการเจรจาได้ เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับครูเกษียณ ทางกลุ่มศิษย์เก่าจึงได้เข้าไปช่วยเหลือครูเกษียณ 14 คนแรกที่ใกล้หมดอายุความ ในการมาขอความเมตตาจากศาลแรงงาน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 โดยแบ่งโจทก์เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มแรก กลุ่มครูเกษียณ 10 คนแรกที่ถูกบังคับให้เขียนหนังสือลาออก และไม่ได้รับค่าชดเชย หรือเงิน 10 เดือนตามกฎหมายเมื่อถูกเลิกจ้าง

2.กลุ่มที่สอง กลุ่มครูเกษียณ 4 คนที่เกษียณอายุปีการศึกษา 2560 ที่ไม่ได้รับเงินบํานาญ ตามสัญญาจ้าง เพราะถูกอ้างว่า สัญญาที่จะให้เงินบํานาญเป็นสัญญาของมูลนิธิ ไม่ใช่สัญญาของ โรงเรียน ในเมื่อครูเป็นลูกจ้างของโรงเรียนจึงไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการจากระเบียบของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย

กว่า 20 เดือนในการสู้คดีและสืบพยาน ผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ และโรงเรียนอัสสัมชัญ ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และใช้เทคนิคทาง กฎหมายในการประวิงเวลาของคดี โดยการขอชี้เขตอํานาจศาล เพื่อเลื่อนเวลาในการสืบพยาน/ไต่สวนในชั้นศาลออกไปกว่าหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ศาลแรงงานได้มีคําพิพากษาคืนความเป็นธรรมให้ครูเกษียณอัสสัมชัญทั้ง 14 คน ดังนี้

กลุ่มแรก กลุ่มครูเกษียณ 10 คนนั้นมีเจตนารมณ์ที่จะสิ้นสุดสภาพการจ้างด้วยการเกษียณอายุจริง เพราะตั้งใจทํางานจนถึงวันสุดท้ายของปีการศึกษา และไม่ได้ประสงค์จะลาออก/ไปทํางานอื่นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้าง ครูเกษียณ 10 คนจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม กฎหมายแรงงาน (เงิน 10 เดือน) พร้อมดอกเบี้ย 15%/ปี รวมเป็นเงินประมาณ 6,000,000 บาท

กลุ่มที่สอง กลุ่มครูเกษียณ 4 คนนั้นเป็นลูกจ้างของโรงเรียนอัสสัมชัญซึ่งมีมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯเป็นผู้รับใบอนุญาต และเป็นผู้แทนนิติบุคคลโรงเรียนอัสสัมชัญ ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 และในทางปฏิบัติ ครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ/นโยบายของมูลนิธิ รวมทั้งแนวทางการกําหนดการขึ้นเงินเดือน เงินประจําตําแหน่งต่างๆ ล้วนถูกกําหนดเกณฑ์จากมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ ดังนั้นแล้ว สัญญาจ้างของมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯในฐานะนายจ้างที่ได้ทําสัญญาว่าจ้างครูโรงเรียนอัสสัมชัญนั้น ได้ระบุสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ไว้ว่าเมื่อเกษียณ อายุ มีสิทธิได้รับเงินบํานาญ จึงมีผลผูกพันให้ครูเกษียณทั้ง 4 คนมีสิทธิได้รับเงินบํานาญย้อนหลัง ตามสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่เกษียณถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 30 เดือน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเป็นเงินประมาณ 2,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังศาลแรงงานกลางได้มีคําพิพากษาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2562 ผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯและโรงเรียนอัสสัมชัญ ได้เลือกที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คดี และนําเงินไปวางประกันที่ชั้นศาลแทน ส่งผลให้ครูเกษียณทั้ง 14 คนยังไม่ได้รับเงินคืนตามสิทธิ ต้องอดทนรอผลคําพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษต่อไปร่วม 30 เดือน หลังจากวันที่มายื่นขอความเมตตาจากศาล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษ ได้นัดอ่านคําพิพากษา โดยมีใจความสําคัญยืนตามคําพิพากษาศาลแรงงานกลาง และวินิจฉัยเพิ่มเติมให้มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกันชําระเงินคืนแก่ครูเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญ ดังนี้

1.ค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี ตามกฎหมายแรงงาน (ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทํางานของครูใหญ่ และครูโรงเรียนเอกชน 2542)

2.เงินบํานาญรายเดือน ตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่เกษียณ และให้ไปตลอดชีวิตของครูเกษียณ

3.ขั้นเงินเพิ่มของเงินบํานาญในทุกเดือนพฤษภาคมของทุกปี ตามสัญญาจ้าง พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่เกษียณ และให้ไปตลอดชีวิตของครูเกษียณ

แม้ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษได้มีคําพิพากษาแล้ว และมีคําสั่งให้จําเลยปฏิบัติตามคําพิพากษาภายใน 15 วันแล้ว อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวมีผลผูกพันคืนสิทธิให้แก่ครูเกษียณแค่ 14คนที่เป็นโจทก์เท่านั้น แต่ครูเกษียณและครูที่กําลังเกษียณโรงเรียนอัสสัมชัญอีกหลายร้อยคนยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนี้

1.ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณแล้ว แต่ถูกบังคับไม่ให้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง และถูกบังคับให้ลาออกและไม่ได้รับค่าชดเชย อีกกว่า 20 คน

2.ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่เกษียณแล้ว ได้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง แต่ถูกบังคับให้ลาออก และไม่ได้รับค่าชดเชยอีกกว่า 100 คน

3.ครูโรงเรียนอัสสัมชัญที่ทํางานอยู่ในปัจจุบันอีกกว่า 200 คนได้ถูกนายจ้างเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้าง ยกเลิกสิทธิรับเงินบํานาญเมื่อเกษียณ โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากครู ทั้งที่มีข้อตกลงสัญญากันมาก่อนว่าเมื่อเกษียณมีสิทธิรับเงินบํานาญ

4.ครูปัจจุบันและครูเกษียณในโรงเรียนอื่นๆที่มีมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯ เป็นผู้รับใบอนุญาต เช่น โรงเรียนเซนต์คาเบรียล โรงเรียนมงฟอร์ต โรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เป็นต้น ล้วนแต่ถูกละเมิดสิทธิการได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณ และถูกบังคับไม่ให้รับเงินบํานาญตามสัญญาจ้าง ไม่ต่างกับครูเกษียณและครูปัจจุบันของโรงเรียนอัสสัมชัญ

ทั้งนี้ แม้ครูเกษียณทั้ง 14 คนที่ได้รับคืนสิทธิตามสัญญาจ้างและกฎหมาย แต่ก็ประสงค์ที่จะมอบเงินส่วนหนึ่งไว้แบ่งปันช่วยเหลือเพื่อนครูเกษียณที่ใช้ชีวิตวัยชราอย่างลําบากเพราะถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับเงินบํานาญ ไม่ได้รับค่าชดเชย ซึ่งเกษียณมาร่วม 20 ปี ซึ่งหมดอายุความแล้ว ให้ได้รับความเป็นธรรมในบั้นปลายชีวิตบ้าง แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ของครอบครัวครูโรงเรียนอัสสัมชัญ

จากผลของคําพิพากษาดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้แก่ครูโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ที่ได้รับการคุ้มครองตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทํางาน ครูและครูใหญ่โรงเรียนเอกชน 2542 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน 2550 ว่าเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเลิกจ้าง ครูเกษียณโรงเรียนเอกชนมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งนี้ ค่าชดเชยและเงินบําเหน็จบํานาญ เป็นเงินคนละประเภทกัน ไม่สามารถนํามาทดแทนกันได้ เพราะมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันและวิธีคํานวณที่แตกต่างกัน

จากผลของคําพิพากษาของศาลแรงงานและศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษได้ยืนยันความชอบธรรมและความถูกต้องให้กับครูเกษียณอัสสัมชัญร่วมร้อยคนและครูโรงเรียนอัสสัมชัญ ปัจจุบันกว่า 300 คนว่ามีสิทธิได้รับเงินบํานาญเมื่อเกษียณตามสัญญาจ้าง และมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเมื่อเกษียณตามกฎหมายแรงงาน ทั้ง 2อย่าง ซึ่งหวังว่าจะได้มีการพูดคุยหาทางออกร่วมกับผู้บริหารมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความถูกต้องตามกฎหมาย แก่ครูเกษียณและครูปัจจุบันกว่า 1,000 คนในกว่า 14 โรงเรียนในเครือมูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลฯต่อไป และหวังว่าการปฏิรูประบบแรงงานและสวัสดิการของครูในครั้งนี้จะเป็นการริเริ่มที่นําไปสู่การปฏิรูปการศึกษาและแรงงานของประเทศไทยต่อไปอย่างยั่งยืน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 6/8/2563

แกร็บฟู้ดพัทยารวมตัวประท้วงหยุดให้บริการสาเหตุให้ค่าตอบแทนไม่คุ้มกับงานยื่นข้อเสนอใหม่เปลี่ยนค่ารอบจาก 30 บาท เป็น 35-40 บาท

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2563 ที่บริเวณด้านหลังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี พัทยาใต้ ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี กลุ่มผู้ให้บริการ Grab Food จำนวนกว่า 100 คน ได้มารวมตัวกันชูป้ายประท้วงและหยุดรับงานบริการ เพื่อเป็นการเรียกร้องและยื่นข้อเสนอให้ทางแกร็บฟู้ด ปรับค่าตอบแทน และพิจารณาการปรับค่าอินเพชร รวมถึงเพิ่มค่ารอบให้กับสมาชิกใหม่ หลังจากที่ผ่านมาพบว่ามีการคิดค่าตอบแทนที่ไม่เหมาะสม เนื่อง จากหลังจากการคำนวณระยะทางแล้วปรากฏว่าไม่สัมพันธ์กับรายได้ในการวิ่งงานแต่ละรอบ

นายณรงค์ศักดิ์ สุขสงวน อายุ 30 ปี 1 ในสมาชิก Grab Food พัทยา เปิดเผยว่าการมารวมตัวของผู้ให้บริการ Grab Food ในครั้งนี้ ก็เพื่อเรียกร้องให้ทางบริษัทปรับเปลี่ยนคิดค่ารอบของการให้บริการของสมา ชิกใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสม เพราะถึงแม้ที่ผ่านมาจะเคยมีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนมาแล้ว แต่ก็ยังมองว่าน้อยเกินไป แม้ว่าที่ผ่านมาผู้ให้บริการ Grab Food พัทยา จะพยายามเข้าใจบริษัทว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งทุกคนก็อดทนทำให้ด้วยใจมาตลอด

แต่ปัจจุบันค่าตอบ แทนที่ผู้ให้บริการ Grab Food พัทยาทำอยู่มองว่าน้อยลงไปทุกที แม้ว่าล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. 2562 จะมีการปรับค่าตอบแทนจาก 50 กว่าบาทเหลือ 30 กว่าบาทและมาให้สมาชิกเก็บสะสมคะแนนเพื่อจะได้โบนัสมากขึ้น สมาชิกที่เก็บสะสมเพชรได้ 250 เพชรขึ้นไป จะได้เพชรเม็ดละ 30 สตางค์ คิดเป็นเงิน 75 บาท รวมกับค่ารอบที่ได้อีก 30 บาท แต่กรณีนี้ทำให้สมาชิก Grab Food พัทยาจากเดิมที่วิ่งได้ 1,000 กว่าบาท/วัน กลับ มาเหลือแค่ 300-400 บาท/วันไม่คุ้มในการที่เอารถเรามาวิ่งให้บริการ เพราะจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าสึกหรอของรถ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายประจำวัน ดังนั้นวันนี้สมาชิกที่มารวมตัวกันจะหยุดบริการทั้งวันโดยไม่รับออเดอร์ของลูกค้าใดๆทั้งสิ้น ส่วนที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้คือต้องการให้รายได้จากการทำงานมันพออยู่ได้ คือ เปลี่ยนค่ารอบบริการจาก 30 บาท ไปเป็น 35-40 บาท ส่วนค่า intensive ไม่ต้องการให้ตัดออกไป และอยากให้บริษัทพิจารณาค่ารอบ ค่าอินเพชรใหม่เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากกว่านี้

มีรายงานว่าสำหรับบรรยากาศทั่วไปเป็นการรวมตัวของกลุ่ม Grab Food พัทยากว่า 100 คน โดยเป็นชุมนุมโดยสงบ ไม่มีการกีดขวางการจราจรแต่อย่างใด

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 6/8/2563

'แกร็บ' ปรับลดเบี้ยขยันคนส่งอาหารในต่างจังหวัด ยันไม่ลดค่ารอบ

จากกรณีที่ "แกร็บ ประเทศไทย" ได้ส่งจดหมายถึงพาร์ทเนอร์คนขับที่ให้บริการจัดส่งอาหารในต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงถึงความท้าทายที่บริษัทกำลังเผชิญหน้าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ผ่านมาแกร็บได้ปรับแผนกลยุทธ์ธุรกิจและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์และส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ อาทิ การปรับลดงบประมาณและปรับแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ การลดค่าตอบแทนของผู้บริหาร รวมไปถึงการประกาศเลิกจ้างพนักงานบางส่วนเมื่อเร็ว ๆ นี้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา แกร็บได้ประกาศปรับรูปแบบการจ่ายเบี้ยขยัน (หรือ อินเซนทีฟ) สำหรับพาร์ทเนอร์คนขับที่ให้บริการจัดส่งอาหารในต่างจังหวัด เป็นรูปแบบของ "ภารกิจนักล่าเพชร" คือ ยิ่งเก็บสะสมเพชรมากเท่าไหร่ก็ยิ่งได้รับอินเซนทีฟเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ใช้สำหรับพาร์ทเนอร์คนขับในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ การปรับรูปแบบการให้อินเซนทีฟดังกล่าวส่งผลให้พาร์ทเนอร์คนขับมีรายได้ลดลงจากเดิม โดยระบุว่าเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถรักษาสภาพคล่องในยุคนิวนอร์มอลไว้ได้ อย่างไรก็ดี แกร็บยืนยันว่า ยังคงค่ารอบ (Base Fare) ในทุกเที่ยวของการจัดส่งในอัตราเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน แกร็บได้ประกาศเพิ่ม 3 สิทธิประโยชน์ให้กับพาร์ทเนอร์คนขับในต่างจังหวัด นอกเหนือจากประกันอุบัติเหตุ (ซึ่งให้ความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการรับงาน และความคุ้มครองสูงสุด 150,000 บาทในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว) ประกอบด้วย 1) ประกันรถจักรยานยนต์ 2) สิทธิประโยชน์ด้านการเงิน (เช่น การผ่อนชำระสินค้ารายวัน และโปรแกรมขอสินเชื่อรายย่อย) และ 3) ส่วนลดและสิทธิพิเศษต่างๆ จากพันธมิตรหรือคู่ค้าของแกร็บ โดยรายละเอียดจะแตกต่างกันไปตามผลงานของคนขับและพื้นที่การรับงาน

ในตอนท้ายของจดหมายระบุว่าตลอดระยะเวลา 7 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากโรคโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติที่หนักหนากว่าทุกครั้งและส่งผลกระทบต่อบริษัทและทุกคน แต่ก็เชื่อมั่นจะฝ่าฟันและผ่านพ้นไปได้ พร้อมขอบคุณพาร์ทเนอร์คนขับที่เข้าใจสถานการณ์และพร้อมก้าวข้ามนวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ที่มา: สยามรัฐ, 5/8/2563

แรงงานพม่า 400 คน ประท้วงโรงงานสิ่งทอแม่สอด หยุดสกัดโควิดไม่พอสั่งปิดต่ออีก 2 เดือน

5 ส.ค. 2563 แรงงานชายและหญิงชาวพม่ากว่า 400 คน ได้รวมตัวกันบริเวณหน้าโรงงานสิ่งทอขนาดใหญ่ หมู่ที่ 3 บ้านแม่ตาวใหม่ อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเรียกร้องให้โรงงานเปิดรับกลุ่มแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติ หลังหยุดกิจการชั่วคราวและปิดโรงงานไปนานกว่า 2 เดือน

น.ส.แทะแทะ อายุ 25 ปี แรงงานสาวสัญชาติพม่า และเป็นแกนนำ เปิดเผยว่า ทางโรงงานได้หยุดงานในช่วงโควิดไปแล้ว 2 เดือนเต็ม ทำให้พวกตนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้และต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ เองตั้งแต่ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ รวมทั้งค่าดำรงชีพ จนแทบไม่มีเงินเหลือใช้แล้ว

แต่พอครบกำหนดที่ทางโรงงานจะเปิดตามนัดหมาย ทางผู้บริหารโรงงานกลับบอกว่าให้หยุดงานต่อไปอีก 2 เดือน จึงทำให้พวกตนเหมือนถูกลอยแพและหมดหนทาง จึงต้องออกมารวมตัวร้องความเป็นธรรมหน้าโรงงานเพื่อขอกลับเข้าทำงานและขอความช่วยเหลือ

ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด ทหารหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 4 และฝ่ายปกครองอำเภอแม่สอด ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและรักษาความสงบ พร้อมเข้าเจรจากับกลุ่มแกนนำแรงงานนานนับชั่วโมง เพื่อขอให้หยุดการชุมนุม เพราะผิดกฎหมาย รวมทั้งยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้จัดตัวแทนเข้าเจรจากับทางผู้จัดการโรงงานเพื่อหาทางผ่อนปรนในการกลับเข้าทำงาน ซึ่งก็ทำให้พนักงานแรงงานทั้งหมดต่างพอใจในระดับหนึ่ง และสลายตัวชั่วคราวเพื่อรอผลการเจรจาอีกครั้ง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/8/2563

สำนักงานประกันสังคม เร่งช่วยเหลือพนักงานโรงงานผลิตกระเป๋าส่งออกกว่า 300 คน ถูกลดค่าจ้างที่บุรีรัมย์

รายงานข่าวจากสำนักงานประกันสังคม แจ้งว่า จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 กลุ่มคนงานโรงงานผลิตกระเป๋าส่งออกของ บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด สาขาลำปลายมาศ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ กว่า 300 คน รวมตัวประท้วงเรียกร้องขอความเป็นธรรมหน้าโรงงาน หลังไม่พอใจที่ถูกนายจ้างบีบให้รับค่าแรงน้อย ด้านบริษัทอ้าง ไม่มีออเดอร์งานทำให้ขาดสภาพคล่องนั้น

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สั่งการให้น.ส.สุทธิณี ปิยะสันติกุล หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง รักษาการแทนประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่ประสาน ให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนงานดังกล่าวแล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ ลงพื้นที่บริษัทฯ เพื่อหารือชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับกลุ่มคนงานดังกล่าว

จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าสาเหตุที่ลูกจ้างไม่พอใจเกิดจากการถูกลดค่าแรงและนายจ้างบีบให้ลงลายมือชื่อรับค่าแรงวันละ 198 บาทหรือร้อยละ 62 ของค่าจ้างที่ได้รับตามกฎหมาย วันละ 320 บาท จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นค่าจ้างที่จ่ายให้ในวันที่ลูกจ้างไม่ได้มาทำงาน ส่วนวันที่มาทำงานได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย ฝ่ายลูกจ้างเรียกร้องให้จ่ายค่าจ้างในวันที่ไม่ได้ทำงานให้นายจ้างเป็นร้อยละ75 ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งมีข้อยุติว่านายจ้างขอปิดกิจการ ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค. 2563

สำหรับลูกจ้างที่ได้ผลกระทบ ถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ มีอยู่จำนวน 337 คน นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดบุรีรัมย์ ยังชี้แจงสิทธิประโยชน์เพื่อทำความเข้าใจแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน พร้อมแนะนำใช้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน พึ่งจะได้รับต่ออีก 6 เดือน หลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ได้รับทราบด้วยแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/8/2563

พนักงานไทย-พม่า ร้องศูนย์ดำรงธรรมภูเก็ต นายจ้างไม่จ่ายค่าแรงหลังสถานประกอบการปิดยาว วอนช่วยเหลือเพราะเดือดร้อนหนัก

4 ส.ค. 2563 ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้มีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า และแรงงานชาวไทยบางส่วน ซึ่งเคยเป็นพนักงานของสถานประกอบแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 60 คน รวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเดือดร้อนจากการจ่ายค่าแรงที่ทางบริษัทฯ ยังคงค้างอยู่เกือบ 3 เดือน

โดยมีนายอดิศร สวัสดี ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภูเก็ตรับเรื่องไว้ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนต่อไป

นายมิน ทู คา ตัวแทนกลุ่มแรงงานชาวพม่า เปิดเผยว่า กลุ่มพนักงานที่เดือดร้อนมีทั้งคนไทยและพม่า มีประมาณ 500 คน แต่บางส่วนไม่ได้มา เนื่องจากเดินทางกลับบ้านเกิดไปแล้ว ซึ่งหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมีการประกาศปิดสถานประกอบการทำให้พนักงานทุกคนหยุดงาน ซึ่งในส่วนพนักงานที่มีประกันสังคมนายจ้างได้มีการยื่นเรื่องกับประกันสังคมเพื่อขอรับเงินเยียวยา และขณะก็ได้รับครบแล้ว 3 เดือน แต่มีพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เข้าระบบสังคมก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพนักงานซึ่งเป็นแรงงานพม่าไม่สามารถไปหางานอื่นทำได้ เนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการจ้างต่อหรือไม่อย่างไร เพราะทางนายจ้างไม่ได้มีการมาพูดคุยให้ความกระจ่าง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยยื่นเอกสารเรียกร้องความเป็นธรรมที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และมีการนัดพูดคุยกันในวันนี้ (4 ส.ค.) แต่ทางนายจ้างขอเลื่อนไปเป็นวันที่ 13 สิงหาคมนี้แทน

ซึ่งพวกตนไม่มั่นใจว่า เมื่อถึงเวลาจะมีการขอเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะขณะนี้ทุกคนเดือดร้อนมาก จึงอยากให้บริษัทฯ มีการเยียวยาพนักงานและจ่ายเงินเดือนที่ยังคงค้างค่าแรงของพนักงานให้ด้วย เพราะที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยมีการสอบถาม ดูแลและเยียวยาใดๆ ให้แก่พนักงานเลย รวมถึงความชัดเจนว่าจะมีการจ้างต่อหรือไม่ เพราะกรณีของแรงงานต่างด้าวมีกฎหมายบังคับในเรื่องของการเปลี่ยนนายจ้างจะต้องมีหลักฐานการเลิกจ้างที่ชัดเจน

ด้านนิติกรจาก สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ในกรณีการร้องเรียนจากแรงงานในครั้งนี้ จะต้องมีการปรึกษาหารือกับทางด้านฝ่ายงานนิติกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน ถ้าหากมีการดำเนินคดีได้ก็จะเร่งดำเนินการ ส่วนด้านการช่วยเหลือจากทางประกันสังคมนั้น จะมีกฎหมายและเงื่อนไขของประกันสังคมอยู่ หากมีกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นแรงงานก็สามารถมายื่นเรื่องโดยตรงที่ ซึ่งการนำเรื่องเข้าระบบนั้นจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 4/8/2563 

ครม. เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ขยายถึง 31 มี.ค. 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านกำลังแรงงานในการฟื้นฟูประเทศ และเป็นการลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่มาจากคนต่างด้าวรายใหม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1) กลุ่มคนต่างด้าวที่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (Passport: PP) เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity: CI) และเอกสารเดินทาง (Travel Document: TD) จำนวน 649,046 คน ที่ได้รับอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานไปพลางก่อน ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ถึง วันที่ 31 ตุลาคม 2563 จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2565

โดยนายจ้างต้องพาคนต่างด้าว ไปยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และให้คนต่างด้าวใช้ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานและใบรับคำขอรับใบอนุญาตทำงานเป็นหลักฐานในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ อาทิ การตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และ ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ต่อในราชอาณาจักร ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564 และการ จัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและรับบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลังของบัตร ณ สำนักงานเขตกรุงเทพฯ / ศูนย์ทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือที่กรมการปกครองกำหนดในท้องที่ที่แรงงานต่างด้าวทํางาน โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564

2) กลุ่มคนต่างด้าวที่มีบัตรผ่านแดน (Border Pass) จำนวนประมาณ 92,572 คน จะได้รับอนุญาตให้ทำงานถึง 31 มีนาคม 2565 ต้องไปขอรับใบอนุญาตทำงาน ณ สำนักงานจัดหางาน ในพื้นที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 และดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และซื้อประกันสุขภาพ (ซื้อประกันสุขภาพทุกคน ยกเว้นคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม) ภายในวันที่ 31 มกราคม 2564

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 4/8/2563

เลขาธิการ สปส.สั่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกันตน บจก.บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) สาขานครสวรรค์ ถูกเลิกจ้าง

จากกรณีเมื่อวันที่ 31 ก.ค.63 บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวน 800 คน เนื่องจากประสบปัญหาภาวะขาดทุนอย่างหนัก จนกระทั่งมาเกิดปัญหาการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ประสบปัญหาว่างงาน เลขาธิการ สปส.ห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตน สั่งการประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ เร่งช่วยเหลือ พร้อมแนะนำสิทธิประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานแล้ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยลูกจ้าง ผู้ประกันตน และได้สั่งการให้ นางสาววัฒนา เกิดเพ็ชร์ ประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ เร่งประสานงานให้ความช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ ได้ร่วมกับหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งศูนย์ให้บริการร่วมกระทรวงแรงงาน ณ ศาลาประชาคมศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 15.00 น. มีผู้ประกันตนเข้าร่วมประมาณ 737 คน โดยได้อำนวยความสะดวกให้บริการแก่ผู้ประกันตนในรูปแบบ One stop service

ทั้งนี้ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินการชี้แจงสิทธิประโยชน์ ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับซึ่งสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องที่จะได้รับ 6 เดือนได้แก่ การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต พร้อมแนะนำให้ผู้ประกันตนที่รับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร ให้สมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ภายในกำหนด เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องในช่วงว่างงาน

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ยื่นแบบขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน จำนวน 723 คน สำหรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานฯ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน พร้อมแนะนำให้ขึ้นทะเบียน และรายงานตัวให้ครบตามกำหนด ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่งหากมีสิทธิ์ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิ์ครบถ้วนตามกฎหมายต่อไป

โดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครสวรรค์ ยังได้เปิดรับสมัครผู้ประกันตนที่สนใจ เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ซึ่งมีผู้สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 45 ราย เพื่อใช้สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรต่อเนื่อง และรับเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ มาตรา 39 และมาตรา 40 ทั้งนี้ ภายในงาน นายอรรถพร สิงหวิชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยนางประภาวดี สิงหวิชัย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ นายปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เข้าเยี่ยมการปฏิบัติงาน การให้บริการศูนย์ฯเพื่อให้กำลังใจ แก่เจ้าหน้าที่ และผู้ประกันตน พร้อมมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร น้ำดื่ม และข้าวกล่อง แก่ผู้ประกันตนอีกด้วย

ที่มา: สยามรัฐ, 4/8/2563

ประกันสังคมลงพื้นที่ดูแลทายาทลูกจ้างที่เสียชีวิตจากทำงานบนเรือเฟอรี่ราชา พร้อมจ่ายสิทธิช่วยเหลือ

จากเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ราชา 4 ล่ม เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งเป็นเรือเที่ยวเช่าเหมาบรรทุกรถขนขยะ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม สั่งการให้นางมารศรี ใจรังษี ประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางธาราทิพย์ ธนูทอง ประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าช่วยเหลือกลุ่มลูกจ้างที่อยู่ระหว่างการค้นหา ตามที่เสนอข่าวแล้วนั้น

โดยช่วงบ่ายวานนี้ วันที่ 2 สิงหาคม 2563 พบเพิ่มเติมแล้ว มีผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่ม จำนวน 2 ราย และผู้เสียชีวิตจำนวน 1 ราย ดังนี้ 1.นายพชร ทิพยรัตน์ ลูกจ้างของเรือเฟอรี่ราชา ได้รับบาดเจ็บนอนในโรงพยาบาลเกาะสมุย 2.นายสุวิทย์ นรเศรษวรชัย ลูกจ้างของ บริษัท ลัคกี้ คลีนเอ็นเนอร์รี่ ได้รับบาดเจ็บ นอนในโรงพยาบาลเกาะสมุย

ลูกจ้างที่เข้ารักษาพยาบาลทุกรายได้รับสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนดังนี้ -ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงจนสิ้นสุดการรักษา -ค่าหยุดงาน 70% ของค่าจ้างตามใบรับรองแพทย์ สูงสุด 1 ปี ส่วนผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย ชื่อนายเทวิน สุราษฎร์ เป็นลูกจ้างของเรือเฟอร์รี่ราชา ทายาทได้รับสิทธิ ดังนี้ -ค่าทำศพ 40,000 บาท -ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตจ่าย 70% ของค่าจ้างระยะเวลา 10 ปี จำนวนเงิน 1,680,000 บาท -เงินบำเหน็จชราภาพ 164,174.46 บาท รวมทั้งสิ้น 1,884,174.46 บาท (หนึ่งล้านแปดแสนแปดหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสี่บาท สี่สิบหกสตางค์)

ทั้งนี้นางมารศรีใจรังษี ประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มอบหมายนางธาราทิพย์ ธนูทอง ประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ร่วมสวดพระอภิธรรมศพนายเทวิน สุราษฎร์ ผู้เสียชีวิต จากเหตุเรือล่ม ที่วัดนาราเจริญสุข อ.เกาะสมุย ซึ่งในวันนี้ (3 ส.ค.2563) ญาติจะนำศพไปที่บ้านเกิดจังหวัดสกลนครสำหรับผู้ที่ยังคงสูญหายอยู่ระหว่างการค้นหา จำนวน 4 ราย คือ 1.นายศิระวุธ ทองบุญยัง 2.นายทิวากรณ์ วัชรฤทธิ์ 3.นางณภัทรลดา จันทร์หาญ 4.นายไชยชาญ เหล่ทรัพย์

โดยสำนักงานประกันสังคมหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะพบเพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

ที่มา: สยามรัฐ, 3/8/2563

พนักงานบริษัทเรือเร็วนับ 100 คน ร้องเรียนไม่ได้รับเงินค่าชดเชย หลังถูกเลิกจ้าง

3 ส.ค.63 ได้มีอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจาก บริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด สาขาชุมพร จำนวน 25 คน นำสัญญาข้อตกลงการจ่ายเงินค่าชดเชยกับบริษัทฯ เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ นางศิริพร สินสุภา นักวิชาการแรงงานชำนาญการพิเศษ ผู้ช่วยสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร หลังจากถูกลิกจ้างแล้วบริษัทฯผิดสัญญาตามข้อตกลงการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคนละ 30,000-100,000 บาท ตามอายุงานและฐานเงินเดือนของแต่ละคน ซึ่งเมื่อถึงเวลาบริษัทฯ กลับบ่ายเบี่ยงไม่จ่ายค่าชดเชยตามที่ทำสัญญาตกลงกันไว้

นางสาวอารีรัตน์ สุริวงศ์ ตัวแทนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกล่าวว่า บริษัท เรือเร็วลมพระยา จำกัด ได้เลิกจ้างพนักงานฝ่ายต่างๆทั้งใน จ.ชุมพร กรุงเทพฯและอีกหลายสาขาทางจังหวัดภาคใต้รวมกว่า 100 คน ในส่วนของ จ.ชุมพรถูกเลิกจ้าง ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 63 ที่ผ่านมา ประมาณ 30-40 คน โดยบริษัทอ้างว่าประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาเศรษฐกิจ หลังถูกเลิกจ้างได้มีการทำสัญญาตกลงกันเกี่ยวกับเงินค่าชดเชยกรณีที่ถูกเลิกจ้าง โดยทางบริษัทฯจะทยอยจ่ายให้เป็นรายเดือนจนครบ ส่วนระยะเวลาเป็นไปตามฐานเงินเดือนและอายุงานของแต่ละคน มีตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน ไปจนถึง 10 เดือน ซึ่งพวกตนก็ยอมที่จะไม่รับเงินค่าชดเชยเป็นก้อนพราะเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้หลังเลิกจ้างพวกเราบริษัทฯก็ยังเปิดทำงานอยู่ตามปกติ

นางสาวอารีรัตน์กล่าวว่าตามที่ได้ตกลงทำสัญญากันไว้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจะรับเงินชดเชยงวดแรกในวันที่ 31 กรกฎาคม 63 ที่ผ่านมา แต่เมื่อถึงเวลาบริษัทฯก็ไม่ยอมจ่ายเมื่อสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องก็โยนกันไปมาและไม่มีคำตอบที่ชัดเจน พวกเราที่ถูกเลิกจ้างได้รับความเดือดร้อนมากหลายคนต้องผ่อนจ่ายค่าสินค้าที่ซื้อมาและหลายคนก็หวังว่าจะนำเงินก้อนสุดท้ายจากค่าชดเชยที่ถูกบอกเลิกจ้างไปลงทุนทำกิจการอื่นๆเพื่อเลี้ยงปากท้องก็ยังไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีเงินค่าประกันการเข้าทำงานอีกคนละ 5,000 บาท ที่บริษัทฯจะต้องคืนหลังออกจากงานพวกเราทุกคนก็ยังไม่ได้คืนมาเช่นกัน

นางสาวอารีรัตน์กล่าวว่าหลังเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกี่ยวข้องให้คำปรึกษาแนะนำขั้นตอนการดำเนินงานตามกรอบระยะเวลา 30-60-90 วัน เพื่อเรียกทั้ง 2 ฝ่ายมาใกล่เกลี่ย หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน และหากต้องการให้รวดเร็วผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลได้เลย เพราะถือว่าทางฝ่ายบริษัทฯนั้นได้ผิดสัญญาตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้ ซึ่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทุกคนต่างก็เห็นด้วยที่จะไม่ขอไกล่เกลี่ยในชั้นนี้แล้ว จึงตัดสินใจมอบหมายให้นิติกรจากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ชุมพร ดำเนินการพาผู้ถูกเลิกจ้างทั้งหมดไปฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดชุมพรในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

นางสาวอารีรัตน์กล่าวว่าสำหรับการเรียกร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ นอกจากที่ จ.ชุมพรมีจำนวน 25 คนแล้ว ยังมีผู้ถูกเลิกจ้างที่ จ.สุราษฎร์ธานี อีกกว่า 40 คน ได้เดินทางไปร้องเรียนที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.สุราษฎร์ธานี โดยทุกคนก็เห็นด้วยในการไปยื่นฟ้องบริษัทฯ ต่อศาลเช่นเดียวกัน ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างอีกจำนวนหนึ่งที่เหลือซึ่งยังไม่สะดวกในวันนี้ก็จะทยอยไปยื่นฟ้องในวันต่อไป

ที่มา: บ้านเมือง, 3/8/2563

ผู้ตรวจฯ กังวลการกักตัวแรงงานต่างด้าว วอนรัฐช่วยผู้ประกอบการ

3 ส.ค. 2563 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีแขกวีไวพีของรัฐบาลเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมอาทิ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้หลังการประชุม พล.อ.วิทวัส แถลงว่า หลังปรากฏกระแสข่าวแขกวีไอพีของรัฐบาลทั้งเจ้าหน้าที่ทหารอียิปต์ ครอบครัวนักการทูตซูดาน เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จนทำให้ประชาชนมองว่าศบค.การ์ดตกเสียเอง ซึ่งจากการหารือทางเลขาสมช.ได้ชี้แจงถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในระยะต่อไปให้กับ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจาก 5 ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว การสัมมนาระดับนานาชาติ และผู้ถืออิลิคการ์ด ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยผู้ที่เข้ามาจะต้องทำข้อตกลงพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

แต่ที่ประชุมมีความกังวลเป็นกรณีของแรงงานต่างด้าว ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่ต้องกักตัวแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ เบื้องต้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 20,000 บาท แม้พยายามจะปรับลดแล้วเหลือคนละ 13,200 บาท ก็จะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ทางศบค.แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย สาธารณสุข และกระทรวงแรงงานไปหารือร่วมกันโดยเบื้องต้นมีการกำหนดสถานที่กักตัวหลายแห่งเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ที่ประชุมยังยืนยันว่า ระบบติดตามตัวหรือแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ยังมีความจำเป็นแต่ปัญหาคือการบังคับใช้

ที่มา: เดลินิวส์, 3/8/2563

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท