'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉ.วัฒนธรรม’

  • 'ยิ่งชีพ ไอลอว์' รัฐธรรมนูญ 60 คือทางตัน เสนอ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข
  • ‘เข็มทอง’ เสนอสร้างวัฒนธรรมความรับผิดรับชอบ
  • 'ธเนศ' มองคติอำนาจโบราณยังคงอยู่ในไทย ฝันถึงรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับผู้มีอำนาจได้
  • 'โกวิท' ขอสั้น ทุกคนอ่านรู้เรื่อง
  • 'สิริพรรณ' เสนอเส้นทางแก้ รธน. เลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ดึงอำนาจเลือกนายกฯ ตั้ง สสร. กลับสู่มือประชาชน
  • 'จาตุรนต์' ย้ำต้องทำให้ ปชช.เห็นคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของถ้าอยากให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายและไม่ถูกฉีกอีก
  • 'จอน อึ๊งภากรณ์' เปิด 5 หลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญในฝันควรจะมี
  • ‘จอห์น วิญญู’ หวังมีฉบับสุดท้าย ไม่โดนฉีก ทุกคนอยู่ใต้กฎกติกาจริงๆ – กระจายอำนาจ – 3 อำนาจยึดโยงประชาชน
  • 'พลัฏฐ์ SMEs' หวังมีรัฐธรรมนูญเอื้อผู้ประกอบการขนาดเล็ก ลดระเบียบที่ยุ่งยาก ป้องกันรายใหญ่รังแก
  • 'ครูลูกกอล์ฟ' อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองประชาชนจริงๆ วัยรุ่นสะท้อนอยากได้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน
  • ประธาน สนท. ชี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็น rules of game ที่นำสังคมไทยสู่หลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน
  • 'แชมป์ ราชบุรี' ย้ำเสรีภาพคือผืนดิน ยิ่งมีมากเสียงของคนบนดินจะได้ยินไปถึงท้องฟ้า เทียบรัฐธรรมนูญเหมือนคนรัก จะอยู่ร่วมกันได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นประชาชนเป็นคนสำคัญที่สุด
  • 'คำ ผกา’ ชวนฉีก ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ผ่านการประกาศเอกราชและอิสรภาพของประชาชน กลุ่ม CARE เดินหน้าสร้างบทสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญที่พึงมีพึงเป็นของสังคมไทยให้กว้างที่สุด

8 ส.ค.2563 ช่วงบ่ายวันนี้ ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ กลุ่ม CARE คิดเคลื่อนไทย ร่วมกับสำนักข่าว ประชาไท จัดเวทีอภิปราย "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" เพื่อร่วมคิดหาหนทางออกจากวิกฤติและสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยให้เป็น "ฉบับสุดท้าย" ของประเทศไทย โดยมีวิทยากรประกอบถึง 14 คนด้วยกัน ประกอบด้วย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์การเมืองไทย  โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ อาจารย์ และหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมือง 

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw และ อดีต ส.ว. จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรและนักจัดรายการชื่อดัง พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานกรรมการ บริษัท ฟิลเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ 1994 จำกัด (มหาชน) คณาธิป สุนทรรักษ์ หรือครูลูกกอล์ฟ ติวเตอร์เจ้าของโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Angkriz จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาและประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ธีรชัย ระวิวัฒน์ หรือ แชมป์ ราชรี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา คอลัมนิสต์ พิธีกร และผู้ประสานงานกลุ่ม CARE โดยมี สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล อดีตผู้ประกาศข่าว พิธีกร และนักร้องชื่อดัง มาเล่นเพลงสู้ไม่ถอย ที่เป็นการแปลงเนื้อให้เข้ากับการเมืองปัจจุบันด้วย

โดยเนื้อหาไล่ตามลำดับการอภิปรายดังนี้ 

0000

'ยิ่งชีพ ไอลอว์' รัฐธรรมนูญ 60 คือทางตัน เสนอ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า เป็นเวลาสี่ปีเต็มพอดีวันนี้ ที่รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. ผ่านการทำประชามติ เป็นเวลาสี่ปีกว่าแล้ว ตั้งแต่เราเห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และได้พยายามศึกษา พยายาม สื่อสารทุกวิถีทางและติดตามการบังคับใช้ เพื่อให้ทุกคนเห็นร่วมกันว่า มันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ออกแบบเพื่อ คสช. ให้ คสช. อยู่ในอำนาจได้ บางคนยังชอบพูดว่ารัฐธรรมนูญชุดนี้ผ่านประชามติ แต่ประชามติ 7 ส.ค. 2559 ก็ถือว่าเป็นประชามติที่อัปยศที่สุด

ตัวร่างนั้น คสช. ตั้งคณะกรรมการขึ้น 21 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญเองทั้งหมด โดยประธานร่าง ก็เป็นหนึ่งในคณะที่ทำรัฐประหาร การกำหนดวันทำประชามติ การตั้งคำถามในการประชามติ การออกกฎหมายเพื่อวางกรอบการทำประชามติ ล้วนอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. ซึ่งใช้อำนาจคณะรัฐประหาร อำนาจมาตรา 44 ออกประกาศคำสั่ง ควบคุมสื่อมวลชน ควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและเผยแพร่ข้อมูลฝ่ายเดียว ออกทีวีทุกวันตอนเย็น พูดถูกบ้างไม่ถูกบ้าง และยังเป็นประชามติที่ไม่ทางเลือก เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ไม่มีคำตอบให้ว่า ถ้าหากการทำประชามติไม่ผ่านแล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อ ซ้ำร้าย มีชัย ฤชุพันธุ์ ยังเคยพูดเองว่า ถ้าหากไม่ผ่านอาจจะได้ฉบับที่เลวร้ายกว่านี้

มีคนจำนวนหนึ่งที่ถูกจับกุมเพียงเพราะพวกเขา “แจกใบปลิว” รณรงค์ให้คนไม่ รับร่างรัฐธรรมนูญ คนที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้มีความชอบธรรมเพราะผ่านประชามติ คงเป็นเพราะพวกเขามีสายตา มีหู และมีหัวใจ ที่คับแคบเกินไปที่จะมองเห็น ได้ยิน และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น วันนี้ประชาชนทุกคนคงเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนำมาซึ่งทางตันทางการเมือง มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญของนิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เห็นตรงกันคือให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาอยากจะแก้เล็กๆ น้อยๆ หรือแก้อะไรก็ได้ แต่เขาอยากให้ประเทศมีทางออกจากระบอบที่ คสช. สร้างไว้ จากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เราจึงขอเสนอร่างผ่าน 3 ขั้นตอน เพื่อที่จะรื้อระบอบอำนาจของ คสช. สร้างหนทางกลับสู่ประชาธิปไตย และเปิดทางให้เกิดการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน ขั้นตอนเหล่านี้ทำไม่ได้ง่ายๆ แต่ก็ต้องทำผ่านกระบวนการแก้ไขของรัฐธรรมนูญ 2560 เราจึงมาพร้อมกับข้อเสนอ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข ดังนี้

ยกเลิก 1 ยกเลิก ช่องทางนายกฯ คนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกัน 500 คน ถ้าช่องทางนี้ไม่ถูกยกเลิก เราอาจเห็นนายกฯ ชื่ออะไรก็ได้ในอนาคต

ยกเลิก 2 ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่ คสช. เขียนขึ้น คิดแทนอนาคต กดทับรัฐบาลทุกชุด ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ยกเลิก 3 ยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศ ความยาวรวมกว่า 3,000 หน้า และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ประยุทธ์นั่งเป็นประธาน

ยกเลิก 4 ท้องถิ่นพิเศษที่เปิดช่องผู้บริหารไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดยวิธีอื่นนอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ

ยกเลิก 5 ยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้ บังคับอยู่ตลอดไป เป็นมาตราที่แปลกมากแต่ก็ยังกล้าเขียน

แก้ไข 1 เปลี่ยนระบบบัญชีว่าที่นายกฯ เขียนให้ชัด นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ ประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

แก้ไข 2 เปลี่ยน ส.ว. ชุดพิเศษ เท่าที่คุยกับหลายคนมา ไม่มีคนเห็นด้วยให้ ส.ว. ชุดนี้ยังคงอยู่ต่อไป ข้อเสนอที่ประนีประนอมที่จะเสนอคือ ให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540

แก้ไข 3 เปลี่ยนที่มาองค์กรที่ไม่ทำงาน สร้างระบบสรรหาองค์กรอิสระแบบใหม่ ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมา เป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุด ปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540

แก้ไข 4 ปลดล็อคกลไกแก้รัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัย ส.ว. และต้องพึ่งประชามติ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ตามโมเดลรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่บังคับต้องทำประชามติ

แก้ไข 5 เปิดทางตั้ง สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับ ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน ที่ประชาชนเลือกมาทั้งหมด โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง หมายถึงไม่ต้องแบ่งจังหวัด เพราะไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนที่เป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ท้องถิ่นที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้คนไทยเลือกผู้สมัครที่เขาอยากเลือกไม่ว่าจะมาจากที่ไหนก็ตาม

เราจัดทำร่างมาแล้ว ชักชวนทุกคนเข้าชื่อ 5 หมื่นคนเพื่อเสนอ กระบวนการนั้นไม่ง่าย เพราะ คสช. บิดเบือนโ๕รงสง้างกฎหมายของประเทศไปไกลมาก ขอให้พวกเราอดทน ถ้าเราจะแก้รัฐธรรมนูญบางส่วน แก้บางมาตราแล้วให้ทุกอย่างดีขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ยังต้องมีขั้นตอนการ “รื้อ” ระบอบที่ คสช. วางไว้ ถ้าหากทำสำเร็จ ยังต้องมีขั้นตอนต่อไป คือ การ “สร้าง” หนทางใหม่ โดยการเลือกตั้ง สสร. เลือกตั้ง ส.ว. และสร้างกลไกสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกกต. ชุดใหม่จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สาม คือ “ร่าง” รัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคนจริงๆ ซึ่งขั้นตอนแรกก็ไม่ได้ง่ายเสียแล้ว เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนกลไกขวางทางไว้ให้การแก้ไขทำได้ยากที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา ต้องอาศัยทั้งเสียง ส.ว. ต้องมีเสียงฝ่ายค้าน มากกว่าร้อยละ 20 และยังต้องทำประชามติ จึงเหมือนมีทางตันใหญ่รออยู่ข้างหน้า จึงยังต้องมีกระแสเรียกร้องสังคมที่ยังต้องการอีกมากให้ คสช. รู้ว่าพวกเขาขาดความชอบธรรม อยู่ไม่ได้ แล้วให้เขาหยิบร่างที่ประชาชนเสนอมา แล้วให้พลพรรคของตัวเองยกมือให้ผ่าน จะเป็น ทางลงที่สวยงามที่สุดตามระบอบกฎหมายที่มีอยู่สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวก คสช. ของเขา

ผู้จัดการไอลอว์ ย้ำว่า นี่อาจจะฟังดูเป็นความฝัน แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย เราก็จะอยู่กันแบบนี้ เจอการแต่งตั้งกันเอง ตรวจสอบไม่ได้ คิดแทนประชาชนว่าอนาคตของประเทศควรจะเป็นอย่างไร เราเริ่มต้นง่ายๆ ได้ด้วยกันวันนี้ด้วยการร่วมกันลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภา

‘เข็มทอง’ เสนอสร้างวัฒนธรรมความรับผิดรับชอบ

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน กล่าวในทางสมมติว่า วันนี้เป็นเหตุการณ์ระหว่างปิยบุตร (แสงกนกกุล) กับปารีณา (ไกรคุปต์) ใครติดคุก วันนี้ ส.ส.เพื่อไทยกับพลังประชารัฐโกงการเลือกตั้งใครต้องถูกยุบพรรค ทุกคนตอบได้ มันมีอาการป่วยบางอย่างที่เราอาจทราบได้

วิกฤติที่เกิดขึ้นมันมีวิกฤตกฎหมายด้วย ปัจจุบันเราอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองที่ไม่มีรัฐบาลไหนถูกกฎหมายมากที่สุดเท่ารัฐบาลนี้ ถามว่า มีใครชีวิตปลอดภัยขึ้นบ้างใครสบายใจได้รับความเป็นธรรมบ้าง ถ้าทุกอย่างเกิดขึ้นดีทำไมต้องมีคนไปนอนที่ สน.ห้วยขวาง เมื่อคืนและศาลวันนี้

เมื่อรัฐธรรมนูญปี 40 เรามีผู้นำขึ้นมาคือทักษิณ จากนั้นชนชั้นนำมองว่าโปรเจคนี้ไม่เวิร์ค จึงต้องล้ม โดยวิธีการล้มคือมวลชน ตุลาการและกองทัพ ใช้ 3 ขา แต่ที่เห็นคือมีการใช้กฎหมายทำลายประชาธิปไตย

เมื่อตัวเองชนะแล้วก็บอกให้ทุกคนทำตามกฎหมาย ที่สำคัญที่สุดคือเผด็จการมองภาพของกฎหมายเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ไม่ใช่อะไรพิเศษ นักกฎหมายก็ถูกหลอกใช้ได้ ทั้งหมดเกิดสภาพ ‘นิตินิยมล้นเกิน’ กฎหมายเหลือเพียงอะไรก็ตามที่ผู้มีอำนาจสั่ง คือเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง หนึ่งปีให้หลังจากรัฐประหาร ตอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษายุบพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่วันนั้นตนเข้าใจว่าการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหาแน่ การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษได้ไหม ตนคิดว่าไม่ได้ เรื่องนี้มันหักความรู้ทั้งหมดที่เรียนมาในคณะนิติศาสตร์

“วันนั้นผมคิดว่ารัฐประหารสำเร็จจริงๆ คือวันที่ระบบตุลาการศิโรราบให้กับอำนาจ” เข็มทอง กล่าว

ไม่ใช่แค่ศาล ด้านอื่นก็บิดเบี้ยวไปหมด ทั้งตำรวจ อัยการ ทุกวันนี้มีการชุมนุมจะเห็นว่าผู้ชุมนุมถูกกฎหมายเล็กๆ น้อยๆ เล่นงานตลอด กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการรังแก เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม กฎกมายที่จัดการทนายอานนท์ทั้ง 8 ข้อหาเป็นกฎหมายที่ใช้กลั่นแกล้ง

รัฐประการที่ผ่านมาใช้กฎหมายมาก ตนเชื่อว่า MOU ที่ให้คนเข้าค่ายทหารเซ็น ศาลจะเชื่อว่าอันนี้สามารถยอมรับได้ เมื่อใช้ กฎหมายสะเปะสะปะ เมื่อคุณรู้ว่าเป็นอภิสิทธิชน หลายประการสะท้อนอาการป่วยของนักกฎหมาย

จะออกจากวิกฤติอย่างไรนั้น เข็มทอง มองว่า รัฐธรรมนูญเป็นทางออก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางประการแม้เปลี่ยน รัฐธรรมนูญพรุ่งนี้ก็ยังเป็นไปไม่ได้ที่กลไกรัฐจะเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ไม่ได้ไม่ให้แก้ร รัฐธรรมนูญ การบัญญัติอะไรที่ผิดทางการเมืองควรลดความผิดทางกฎหมายลง ปัจจุบันกลายเป็นตัดสินทางการเมืองก่อนแล้วไปตัดสินอาญา ผู้ใช้กฎหมายเองต้องยอมรับ มันไปต่อไม่ไหวแล้ว ทุกวันนี้เป็นเดอะแบก มันไปต่อไม่ได้แล้ว เมื่อวานวันรพี เครดิตก็หมดแล้ว ควรกลับมาใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมายได้แล้ว

“ที่เราไม่มีเลยคืออยู่ดีๆ ศาลตัดสินว่า คำสั่งรัฐประการไม่ใช่กฎหมาย รัฐประหารไม่ชอบ ถ้ามีคำพิพากษาแม้แต่ครั้งเดียวผมคิดว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลย” เข็มทอง กล่าว และเสนอว่าต้องสร้างวัฒนธรรมความรับผิดรับชอบ accountability แล้วผมเชื่อว่ามันจะนำไปสู่ผลกระทบที่กว้างและรุนแรงกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

'ธเนศ' คติอำนาจโบราณยังคงอยู่ในไทย ฝันถึงรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับผู้มีอำนาจได้

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ศาสตราจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวว่า กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังเป็นที่พูดถึงทั่วโลก ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือที่ทวีปยุโรปกำลังเจอกระแสตีกลับ ประชาธิปไตยที่ถูกสร้างมาอย่างมั่นคงกำลังตั้งคำถามกับตัวเอง ตั้งแต่สหรัฐฯ ใต้ทรัมป์ และกระแสฝ่ายขวาในยุโรป ไทยไม่ได้ทันสมัยแบบนั้นเพราะปัญหาของเราคือการไม่มีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่อุตส่าห์สถาปนากันก็มีอายุสั้นมาก ถูกแย่งไปทั้งสมัย 6 ตุลาฯ 2519 พฤษภาฯ 2535 มาจนถึงรัฐประหาร 2549 และ 2557

วิกฤตทางการเมืองของไทยนั้น เมื่อมองย้อนหลังไปในหลายปีก่อนก็ตั้งสมมติฐานว่า สิ่งที่สามารถอธิบายการดำรงอยู่ของวิกฤตความไม่มั่นคงในระบอบการเมืองไทยคือแนวคิดเรื่องของ "อำนาจ" รัฐธรรมนูญคือการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ปกครอง ราษฎรและสถาบันต่างๆ ในรัฐ คติของอำนาจนั้น ในเอเชียตะวันออกมีคล้ายกัน คือมองอำนาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ใครอยากได้อำนาจก็ไปแย่งมา ความชอบธรรมได้มาโดยอัตโนมัติหลังจากนั้น จึงพบว่าการแย่งอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองไทยเป็นเรื่องที่ใหญ่ ส่วนการใช้อำนาจนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ช่วงที่ผ่านมาหกปีก็คือการใช้อำนาจบนฐานคติแบบไตรภูมิพระร่วง ใครมีอำนาจคือมีความชอบธรรม ใครอยากได้ก็มาแย่งไป

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 มาถึง 2490 และ 2500 คติเรื่องอำนาจแบบตะวันตกยังอยู่ แต่หลังจากนั้นมันเริ่มเข้าสู่ยุคที่สฤษดิ์พูดว่าประชาธิปไตยแบบไทยที่มองรัฐบาลเป็นพ่อ ประชาชนเป็นลูก ผู้มีอำนาจคือผู้เป็นใหญ่ ผิดไปจากคติอำนาจสมัยใหม่ที่ความชอบธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ปกครอง ผู้บริหารและกฎเกณฑ์อย่างรัฐธรรมนูญ

ธเนศกล่าวว่า 18 กว่าปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบผู้แทน การเลือกตั้ง รัฐสาาภา การแบ่งแยกอำนาจ การมีพรรคการเมืองได้ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดตั้งแต่ 2475 รัฐบาลที่อยู่ครบ 4 ปีที่มาจากการเลือกตั้งมีแค่สองครั้งคือรัฐบาล จอมพล ป. ในปี 2495 และรัฐบาลปี 2544 ของพรรคไทยรักไทย เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ผิดปกติอย่างมหาศาล รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ยึดอำนาจไป 9 ครั้ง ไม่มีประโยชน์เลยที่จะร่างต่อไป แต่ก็ยังตั้งความหวังกับรัฐธรรมนูญในอนาคตเอาไว้ว่าต้องบังคับใช้กับคนที่มีอำนาจได้ กำกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการทั้งหลาย มีความชอบธรรมที่วางอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ มีหลักการที่ประชาชนยอมรับ และรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนความเป็นอภิสิทธิ์ของมัน หากไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนั้น ประชาชนก็จะไม่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ

'โกวิท' ขอสั้น ทุกคนอ่านรู้เรื่อง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ รองศาสตราจารย์และอดีตอาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนแก่ คิดว่าตนชาชินกับปัญหาวิกฤติการเมืองไทยจนชาชิน เข้าสอนที่ ม.เกษตรตั้งแต่ปี 15 สอนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสารภาพไม่ค่อยทราบเรื่องรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ เพราะอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง

โกวิท ยกคำคําปรารภขึ้นต้นของรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า ตนไม่ทราบว่าหมายความว่าอะไร และยาวทุกฉบับ เกิดมาเจอรัฐธรรมนูญฉบับวคราว ปี 2490 จากนั้นมีฉบับปี 2492 เป็นรัฐธรรมนูญที่พิลึกมากมีการยึดอำนาจตัวเอง คนที่ยึดเพิ่งอ่าน รัฐธรรมนูญที่ว่าเพิ่งอ่านด้วยตัวเอง ปี 92 นั้นมี สสร.เริ่มแรก มีการเขียนไว้ว่าในหมวดของกษัตริย์ ว่าทรงเป็นจอมทัพ และเป็นผู้บังคับบัญชาของทหารทั้งปวง จอมพล ป. คงไม่ทราบ พอรัชกาลที่ 9 กำลังทรงเรือที่ประทับมาที่อ่าวไทย จอมพล. ป จึงยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ 92 มันพิลึกและคนส่วนใหญ่อ่านไม่รู้เรื่อง และยาวด้วย เมื่อวันยาวแล้วคนก็ไม่อ่าน และที่สำคัญคืออ่านไม่รู้เรื่องด้วย

ตนได้มีโอกาสไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา รัฐธรรมนูญที่นั่นมันสั้นมาก และใช้มาถึง 231 ปี

การที่เป็นคนแก่และเห็นรัฐธรรมนูญมา 20 กว่าฉบับ ก็คิดว่ามันไม่ค่อยเป็นประโยชน์เพราะคนไม่ค่อยอ่าน เพราะอ่านไม่รู้เรื่อง อย่าว่าแต่คนธรรมดาอ่านไม่รู้เรื่องเลย ครูอาจารย์ก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ดังนั้นมันควรจะสั้นและใช้ภาษาคนธรรมดา และสิ่งที่ไม่ควรมีเลยคือแนวนโยบายแห่งรัฐ และยังมียุทธศาสตร์ชาติซ้ำเข้าไปอีก

โกวิท ย้ำว่าทางออกจากวิกฤติได้ต้องเขียนรัฐธรรมนูญที่คนอ่านรู้เรื่องและสั้นหน่อย จากประสบการณ์ของตนที่เคยไปเรียนที่สหรัฐฯ และมีโอกาสสอนหนังสือระดับไฮสคลูนั้น เด็กอเมริกันเมื่อเรียนจบชั้นประถม จะได้ประกาศนียบัตรต้องสอบรัฐธรรมนูญให้ผ่าน เสร็จแล้วชั้นมัธยมก็สอบรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยก็เรียนวิชาการเมืองการปกครองอเมริกาเป้นวิชาบังคับ ดังนั้นเขาจะเข้าใจสิทธิเสรีภาพของเขาเป็นอย่างไร สามารถพูดได้ จะถูกหลอกไม่ได้ ตนคิดว่ามันดี แต่เมื่อมาเจอรัฐธรรมนูญไทยก็ไปไม่ถูก จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 40 จึงได้ไอเดียบังคับลูกศิษย์คัดมาส่งตน ตั้งแต่นั้นมาสุขภาพก็แย่ลงคงถูกเผาพริกเผาเกลือแช่งเพราะรัฐธรรมนูญมันยาว แต่ก็อย่างน้อยมันก็ดีแม้มันจะยาว

โกวิท กล่าวตอนท้ายด้วยว่า ตนจึงคิดว่าต่อไปทำอย่างรถึงทำให้คนอ่านรัฐธรรมนูญรู้เรื่อง แม้แต่คำปรารภเข้าไปก็อ่านไม่รู้เรื่องแล้วรัฐธรรมนูญอเมริกามีนิดเดียว จริงๆ บททั่วไปของเราก็ครบอยู่แล้ว แต่ไปขยายออกไปก็ยาวเพราะถึงจะขยายต่อไปก็ต้องมี กฎหมายลูกอยู่ดี สรุปรัฐธรรมนูญในฝันคือ คนอ่านรู้เรื่องและสั้นหน่อย และที่มีปัญหาเพราะเราอ่านไม่รู้เรื่อง

'สิริพรรณ' เสนอเส้นทางแก้ รธน. เลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ดึงอำนาจเลือกนายกฯ ตั้ง สสร. กลับสู่มือประชาชน

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ อาจารย์ และหัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องกำหนดขอบเขตผู้มีอำนาจ มีกลไกตรวจสอบประสิทธิภาพ สร้างความเข้มแข็งขององค์กรตัวแทนประชาชน โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล สามารถจัดสรรทางออกให้ปัญหาที่คาดไม่ถึง เช่น วิกฤติโรคระบาดหรือเศรษฐกิจ และสุดท้าย ที่มาต้องมีความชอบธรรม

สิริพรรณกล่าวว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด เศรษฐกิจ หรือปัญหากระบวนการยุติธรรม ล้วนแล้วแต่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรนูญทั้งนั้น เพราะรัฐธรรมนูญเป็นตัวบอกว่าใครจะเข้าสู่อำนาจรัฐ อำนาจรัฐถูกใช้เพื่อใคร เพื่อประชาชนหรือไม่ โครงสร้างภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันคือการเปิดโอกาสให้นายทุน ขุนศึกเข้ามาอาศัยอำนาจเพื่อใช้ส่วนเกินของระบบทุนผูกขาดมากอบโกย อภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ทำอะไรได้ตามอำเภอใจ ทำอะไรก็ไม่ผิด ในทางหลักการมีคำว่า Rule of Law แต่สำหรับปัจจุบันตอนนี้คือ Rule of Man คือ Man เป็นเจ้าของกฎหมาย โจทย์ที่มีตอนนี้คือการตามหารัฐธรรมนูญที่เขา เธอ และฉันจะช่วยกันสร้างได้อย่างไร ในทางวิธีการสามารถทำได้ผ่าน 2 หลักการ หนึ่ง แก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สอง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญโดยร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำก่อนยุบสภา เพราะถ้ายุบสภาและเลือกตั้งใหม่ก่อน สิ่งที่จะได้ก็คือการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ระบบเลือกตั้งเดิม อำนาจ ส.ว. แบบเดิม มีแนวโน้มสูงมากที่จะได้นายกฯ คนเดิม หรืออาจเป็นหน้าใหม่แต่ถูกจัดตั้งมาเช่นเดิม เบื้องต้นจึงเสนอให้มีการแก้ไขก่อนสองประเด็นก่อนเลือกตั้ง เพราะว่าจะทำให้มีโอกาสได้สภาใหม่ ผู้บริหารชุดใหม่ และไม่จำเป็นต้องผ่านการทำประชามติ ดังนี้

หนึ่ง ที่มาของนายกฯ ให้เขียนใหม่ว่านายกฯ ต้องเป็น ส.ส. และมาจากคะแนนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องการให้อำนาจของ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาเลือกนายกฯ

สอง ต้องแก้ไขระบบเลือกตั้ง มิเช่นนั้นจะทำให้มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคแต่ไม่มีประสิทธิภาพ บริหารประเทศไม่ได้ และมีพรรคในสภาจำนวนมาก ระบบเลือกตั้งอาจกลับไปใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก่อน ในส่วนข้อครหาว่าเอื้อพรรคใหญ่ ก็แก้ด้วยการตัดเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 5 ลดลงเหลือ 1-3 หรือไม่มีเลยก็ได้ หรือที่ดีกว่านั้นคือระบบผสมแบบเยอรมัน เอาคะแนนบัญชีรายชื่อและ ส.ส. เขตมาคิดคำนวณรวมกัน แต่เน้นย้ำว่าทุกแนวทางต้องมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

สิริพรรณกล่าวถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่า ส.ส. จำนวน 100 คนขึ้นไปสามารถเสนอในสภาได้ ฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. ที่สามารถเสนอได้ ในส่วนของการเข้าชื่อของประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่มีกฎหมายรับรองการเสนอชื่อเช่นนั้น จึงมีคำถามว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีความจริงใจแค่ไหนในการให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ

อาจารย์จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เสนอสัดส่วน สสร. ว่าไม่จำเป็นต้องประกอบด้วยคนจำนวนมาก เสนอว่าให้มีจำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ประชาชนทั่วไปกับผู้ทรงคุณวุฒิ ในส่วนประชาชนให้มีจำนวน 80 คน ให้มาจากบัญชีรายชื่อผ่านการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ ตามตัวแทนอัตลักษณ์ของตัวเอง อีกกลุ่มคือผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้ามายกร่าง แบ่งเป็นอีก 2 กลุ่ม คือลงสมัครรับเลือกตั้งรายบุคคล 10 คน และจากพรรคการเมืองอีก 10 คน เป็นส่วนผสมระหว่างประชาธิปไตยทางตรงกับทางอ้อม และพรรคการเมืองก็อาจเป็นทั้งตัวสนับสนุนและตัวป่วน จึงต้องเอาพวกเขามาอยู่ในเกม ทุกพรรคที่มีจำนวน ส.ส. เกินสัดส่วนร้อยละ 2 มีได้ 1 โควต้า รวมเป็น 7 ที่นั่ง ส่วนอีก 3 ที่นั่ง ได้มาจากพรรคที่มีสัดส่วน ส.ส. ไม่เกินร้อยละ 2 รวมตัวกันเสนอมา

ในส่วนของเงื่อนเวลา เธอเสนอว่าให้เวลาเลือกตั้ง สสร. 2 เดือน เพราะอาจต้องใช้เวลาเขียนกฎหมายหรือคำสั่งผ่าน กกต. ยกร่างรัฐธรรมนูญเพียง 4 เดือน เพราะคิดว่าในช่วงเวลาก่อนนั้นน่าจะมีข้อเสนอมากมายจากสังคม รณรงค์ประชามติ 2 เดือน ถ้ามีการแก้ ม. 256 ก็ต้องทำประชามติอีกรอบและเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็อาจต้องทำประชามติอีกรอบ ต้องมีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ภายใน 2 เดือนเพื่อเลือกตั้งใหม่ ในกรอบนี้จะใช้เวลา 10 เดือน เท่ากับจะมีการเลือกตั้งใหม่ในระยะเวลา 1 ปี เป็นจังหวะเวลาเดียวกับการมีรัฐธรรมนูญ 2550 คำถามใหญ่คือ ตอนนั้นใครจะเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาสุญญากาศทางการเมืองนี้อย่างไร

อีกคำถามสำคัญคือ จำเป็นต้องมีการทำประชามติไหม สิริพรรณกล่าวว่า ถ้าแก้ ม. 256 ที่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ แต่จำเป็นหรือไม่ก็แล้วแต่ รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนรักก็ไม่ได้มาจากประชามติ แต่ฉบับ 2550 และ 2560 ที่ประชาชนยี้ล้วนผ่านประชามติ ดังนั้น ถ้าเรามองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง เราก็ต้องสถาปนาความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็อาจจะต้องทำประชามติ แต่ที่ต้องทำให้เกิดก็คือการเกิดช่วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญหรือ constitutional moment ต่อจากนี้ไปจนถึงการมีรัฐธรรมนูญต้องมีการสนทนา โต้เถียง บันทึกถ้อยคำและความเห็นต่างๆ ให้คนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ต้องสร้างให้จิตวิญญาณของคนเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ

สิริพรรณพูดถึงทางสองแพร่งในการแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าใช้กลไกรัฐสภา วิกฤตก็จะน้อยเพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ข้อเสียคือเราอาจไม่ได้รัฐธรรมนูญในฝันแบบทันท่วงที แต่ถ้าเกิดปรากฏการณ์ที่สุกงอมมากพอ ความชอบธรรมของรัฐบาลลดลงสิ้นเชิง เราก็อาจมีโอกาสตั้ง สสร. แต่ปัญหาคือความล่าช้า คำถามใหญ่คือในจังหวะกระบวนการภายใต้ สสร. ใครจะเป็นรัฐบาล

สิริพรรณทิ้งท้ายว่า แม้ในหมู่ที่ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ขณะนี้ก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ที่อยากฝากไว้คือ ความแตกต่างเป็นเรื่องธรรมดา จอห์น รอลส์ (John Rawls) บอกว่าเป็นความเหลื่อมซ้อนของความเห็นต่าง แต่ขอให้รักษาหลักการด้วยกันไว้เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญในฝันของเรา

'จาตุรนต์' ย้ำต้องทำให้ ปชช.เห็นคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของถ้าอยากให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายและไม่ถูกฉีกอีก

จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมือง กล่าวว่าตอนที่ตนได้รับเชิญก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ไม่มีมีการฉีกกันอีก เมื่อตอนที่มีการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายคนก็ได้พูดกันไว้และตนก็เคยพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช ทำให้กลไกต่างๆ อยู่ในมือของ คสช.และสร้างความได้เปรียบให้ คสช.ในการตั้งรัฐบาล รวมทั้งในการทำลายฝ่ายตรงข้าม และทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตตามมาจนทำให้ประชาชนและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในขณะนี้

“ผมก็ไม่อยากใช้ว่ารัฐธรรมนูญในฝันผมอยากได้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจริงควรจะมีเนื้อหาสาระอย่างไร หลักสำคัญๆ ให้สอดคล้องกับสภาพของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ก็คือ รัฐธรรมนูญนี้ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและเป็นจริงมากกว่าที่เขียนอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่เป็นจริงเลยคือประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพเลย” 

“รัฐธรรมนูญที่เราต้องการคือรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้อำนาจเป็นของประชาชนประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาลและรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรนี่เป็นเรื่องธรรมดามาก” จาตุรนต์ กล่าว

จาตุรนต์ได้เสนอว่าควรจะกำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามจริงๆ และทั้งหมดต้องตรวจสอบได้โดยประชาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นอิสระจากประชาชนและต้องไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจ ระบบยุติธรรมต้องหมายรวมถึงระบบอำนาจตุลาการ ต้องมีจุดยึดโยงเชื่อมโยงกับประชาชน ขั้นต่ำที่สุดจะต้องตรวจสอบได้และวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยประชาชนและควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่ารัฐพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่ตรวจสอบได้โดยประชาชนมีอำนาจเหนือกองทัพทั้งหลาย ไม่ใช่ให้กองทัพเป็นอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

จาตุรนต์ได้ชี้ปัญหาที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาๆ ถูกฉีกหลังการรัฐประหารยึดอำนาจว่า

“ที่ผ่านมาที่เขาฉีกกันไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ดีถึงฉีก แต่เป็นเพราะเขาต้องการยึดอำนาจมาอยู่ในมือ แต่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาต เขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่างกันใหม่เมื่อผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็จะร่างเพื่อประโยชน์ตัวเองเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองสังคมยอมให้คนฉีกรัฐธรรมนูญฉีกได้ จะทำอย่างไรให้สังคมไม่ยอมให้ผู้นำเหล่าทัพมาฉีกรัฐธรรมนูญง่ายๆ อีก นั่นคือสาเหตุข้อที่หนึ่งของการฉีกรัฐธรรมนูญ”

“สาเหตุที่สอง ก็คือระบบยุติธรรมประเทศนี้รับรองการฉีกรัฐธรรมนูญโดยมากก็อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีต ที่บอกว่าใครยึดอำนาจได้แล้วควบคุมสถานการณ์ได้แล้วก็ถือว่าได้รัฏฐาธิปัตย์และที่เลวร้ายกว่านั้นการยึดอำนาจครั้งหลังเก็บศาลรัฐธรรมนูญไว้และศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ได้บอกว่าการยึดอำนาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังนั่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญกันต่อไปหน้าตาเฉยรับรองการยึดอำนาจ ก็หมายความว่าศาลทั้งหลายและศาลรัฐธรรมนูญรับรองการยึดอำนาจเป็นเสมือนกฎหมายสูงสุดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศนี้ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูยทุกฉบับบอกว่าคุณจะไปตั้งรัฐบาลอย่างไรก็ช่างจะตั้งรัฐสภาอย่างไรก็แล้วแต่ถ้ามีผู้นำเหล่าทัพร่วมกันยึดอำนาจได้แล้วเมื่อใดให้ถือว่านั่นคือรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเหนือองค์กระทุกประเภททุกชนิดในประเทศนี้ ประชาชนต้องไม่ยอมให้เกิดสิ่งนี้อีกต่อไป”

ทั้งนี้จาตุรนต์ก็เห็นว่าการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกไม่ใช่การเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเนื่องจากเมื่อมีคนที่อยากได้อำนาจมาอยู่ในมือก็จะทำการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ดังนั้นการจะป้องกันได้ต้องให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนู

นอกจากนั้นจาตุรนต์ได้เสนอการแก้รัฐธรรมนูญสองประเด็นกล่าวคือ ให้แก้รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และอาจจะแก้กฎหมายพรรคการเมืองกฎหมายเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองต่างๆ ส่งรายชื่อผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วให้มีการยุบสภาเลือกรัฐบาลกันใหม่เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และส่วนที่สองคือให้แก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจากประชาชนและมาแก้รัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการที่มีประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ

“ในวันเลือกตั้งให้ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีการจัดตั้ง สสร.ขึ้นจากนั้นดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร.ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้รัฐธรรมนูญมาเมื่อไหร่ลงประชามติอีกรอบ ทำไมต้องทำแบบนี้ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่าประชาชนคือเจ้าของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมีคุณค่าและรัฐธรรมนูญนี้จะได้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจริงๆ” จาตุรนต์กล่าวปิดท้าย

'จอน อึ๊งภากรณ์' เปิด 5 หลักการสำคัญที่รัฐธรรมนูญในฝันควรจะมี

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)และอดีต ส.ว. กล่าวถึง รัฐธรรมนูญในฝันว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะฝันได้ และที่สำคัญคือ ต้องทำให้ความฝันนั้นเป็นจริง ทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ประกาศใช้เพื่อควบคุมประชาชน ไม่ให้เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี เป็นรัฐธรรมนูญของ คสช. ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และทุนผูกขาด ซึ่งนี่คือ กลุ่มคนที่ปกครองประเทศในปัจจุบัน ฉะนั้นรัฐธรรมนูญในฝัน ต้องเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ทั้งนี้สำหรับตนเองรัฐธรรมนูญในฝันนี้จำเป็นต้องมีหลักการทั้งหมด 5 ข้อ

จอนกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญจะต้องให้หลักประกันกับประชาชนทั้งหมด 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ประชาชนต้องเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงในทุกมิติ 2.ต้องมีหลักประกันสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 3.ต้องมีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพทั้งในความคิดและการแสดงออก 4.ต้องมีหลักประกันด้านความเสมอภาคของคนในประเทศ 5.ต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต

ผู้อำนวยการ iLaw ขยายความต่อว่า หลักประกันด้านความเป็นเจ้าของประเทศนั่นเกิดขึ้นได้ โดยต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งในระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง และเป็นสมาชิกรัฐสภา พรรคการเมืองต้องสามารถจดจัดตั้งได้โดยง่าย และไม่ควรมีใครมาสั่งยุบพรรคการเมืองได้ ขณะเดียวกันระบบข้าราชการส่วนภูมิภาคควรยกเลิกทั้งหมด ผู้ว่าราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ควรหันไปเพิ่มอำนาจส่วนนี้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งแทน ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง หน่วยงานข้าราชการ รวมทั้งตำรวจ ทหาร ควรจะมีคณะกรรมการตรวจสอบที่มีองค์ประกอบมาจากภาคประชาชน โรงเรียน และโรงพยาบาลก็ควรจะเป็นของชุมชน

ต่อมาจอนกล่าวถึงหลักประกันด้านการอยู่ร่วมกันอย่างสันติว่า เรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้โดยการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดอาวุธ ไม่มีการครอบครองอาวุธไว้ในมือ และจำนวนทหารจะต้องลดลงเหลือเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันประเทศ ถ้าเราไม่ลดทหารลง ปัญหาจะมีอยู่ตลอดไป ส่วนตำรวจต้องขึ้นตรงต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกฎหมายต้องรองรับความหลากหลายของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางเพศ ภาษา วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ ความเชื่อ และความหลากหลายด้านอื่นๆ นอกจากนี้จำเป็นต้องมีระบบยุติธรรมที่เข้าใจชีวิตที่ยากลำบากของประชาชน โดยมีระบบลูกขุนช่วยตัดสินคดี และเรือนจำจะต้องเป็นเหมือนมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาจิตใจและฝึกทักษะผู้อาศัย ส่วนหลักสูตรการศึกษาก็ควรที่จะเน้นทักษะทางสังคมที่คนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

สำหรับหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก จอนระบุว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็น และสิ่งที่ทนาย อานนท์ นำภา พูดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่พูดได้ เป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย และสื่อมวลชนสามารถเผยแพร่ได้

ส่วนหลักประกันในความเสมอภาค จอนย้ำว่า ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย สังคมไทยควรเป็ํนสังคมที่หลากหลายแต่เสมอภาคกัน โดยเฉพาะความเสมอภาคทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาคต่างๆ ระหว่างเมืองกับชนบท นอกจากนี้จำเป็นต้องมีความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณะด้านสุขภาพ และการศึกษา ขณะเดียวกันเพื่อที่ทำให้สังคมมีความเสมอภาคกันได้นั้นจำเป็นต้องควบคุมทุนผูกขาดที่เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศขณะนี้ซึ่งมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เพียงไม่มีกี่กลุ่มที่คุมเศรษฐกิจของประเทศไว้

และสุดท้ายหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตของประชาชน จอน เชื่อว่า เรื่องนี้สามารถตอบโจทย์ได้โดยการสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน รวมถึงต้องมีการสร้างระบบรายได้พื้นฐานให้กับประชาชนอย่างถ้วนหน้า

‘จอห์น วิญญู’ หวังมีฉบับสุดท้าย ไม่โดนฉีก ทุกคนอยู่ใต้กฎกติกาจริงๆ – กระจายอำนาจ – 3 อำนาจยึดโยงประชาชน

จอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรและนักจัดรายการชื่อดัง กล่าวว่าอยากย้อนกลับมาในสิ่งที่บิดาตนพูดเนื่องจากรัฐธรรมนูญยาวและเข้าใจยากเหลือเกิน ตอนรัฐธรรมนูญ 40 ออกมาแล้ว นอกจากบิดาจะให้ลูกศิษย์คัดรัฐธรรมนูญส่งพ่อแล้ว ตนก็ถูกให้คัดเช่นกัน จึงเห็นด้วยที่ควรทำให้สั้นลง และความที่ยาวทำให้ประชาชนไม่ได้ทำความรู้จักมัน

ความฝันต่อมา คือ หวังว่า รัฐธรรมนูญฉบับต่อไป จะเป็นฉบับสุดท้ายที่จะไม่โดนฉีกแล้ว ตนรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ ปท.ล้าหลัง มันชะงักการพัฒนา อีกเรื่องที่อยากให้มันเกิดคือสิ่งที่มีการระบุเอาไว้ว่าใครอย่าใต้กฎหมายก็ควรอยู่ใต้กฎหมายจริงๆ การระบุคำเหล่านี้ในรัฐธรรมนูญ ทุกๆ คน ก็อยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกัน อีกเรื่องที่ตนมักพูดกับครอบครัวเสมอ มักหยิบเรื่องนี้มาคุยคือเรื่องการกระจายอำนาจ ตนหวังรัฐธรรมนูญในฝันจะมีเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกผู้ว่าฯ ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ มาเข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น

ประเด็น 3 อำนาจที่เป็นแกนปกครองประเทศนี้ ทั้ง บริหาร ตุลาการและนิติบัญญัติ นั้นต้องมาจากประชาชนอย่างแท้จริง อำนาจตุลาการควรยึดโยงกับประชาชน โดยรัฐธรรมนูญในฝันควรเน้นย้ำจุดนี้ และอยากฝากคนรุ่นใหม่ทุกคนและทุกคนช่วยสานต่อผลักดัน ไม่แน่ว่าก้าวแรกจะเป็นก้าวของการส่งเสียงของการแก้รัฐธรรมนูญก็ได้

'พลัฏฐ์ SMEs' หวังมีรัฐธรรมนูญเอื้อผู้ประกอบการขนาดเล็ก ลดระเบียบที่ยุ่งยาก ป้องกันรายใหญ่รังแก

พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานกรรมการ บริษัท ฟิลเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ 1994 จำกัด (มหาชน) ตนเป็นตัวแทนผู้ประกอบการรายเล็กที่ที่จะมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง

ไทยเป็นประเทศสวยงาม นักลงทุนต่างประเทศ ให้ประเทศเราเป็นอันดับต้นๆ ของการน่าลงทุน แต่การลงทุนรายเล็กๆ นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในการลงทุน ทำธุรกิจง่ายๆ ในเมืองไทยก็เป็นเรื่องยาก เมื่อเปิดกิจกรรมแล้วใบอนุญาตไม่ครบก็ต้องพูดคำว่า “พี่ครับช่วยผมหน่อย” กฎระเบียบบ้านเรามีเยอะ พ่อค้าอย่างเราจะเปิดโรงงานต้องใช้เวลา 2 ปี กว่าจะทำให้เสร็จ คนต่างประเทศจะมาลงทุนก็ส่งสัยคำ “พี่ครับช่วยผมหน่อย” นี้ เขาจะงง เพราะมันเป็นต้นทุนแฝง หรือแม้ท่านเปิดร้านหมูปิ้ง ผู้ประกอบการสะดวกซื้อก็จะมาเปิดแข่งท่าน หรือเปิดขายน้ำก็จะเจอน้ำที่ราคาถูกแข็งคือยี่ห้อ 7/11
ประเทศนี้เจอ 2 อย่าง คือระเบียบที่ยุ่งยาก และรายใหญ่รังแก

ความหวังคือรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาต้องออกแบบมาเพื่อคนรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย

พลัฏฐ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศดีๆ ควรมีคนค้าขายเยอะๆ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อผู้บริโภคมักดูแลผู้บริโภค แต่ไม่ค่อยดูแลผู้ประกอบการ สิ่งที่ตนอยากเรียกร้องคือ รัฐธรรมนูญที่ดูแบผู้ประกอบการ ไม่ให้คนตัวใหญ่รังแกคนตัวเล็ก และรัฐบาลไม่ควรมายุ่งกับผู้ประกอบการ เพราะผู้ประกอบการมีความสร้างสรรค์อยู่แล้ว

'ครูลูกกอล์ฟ' อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองประชาชนจริงๆ วัยรุ่นสะท้อนอยากได้รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชน

คณาธิป สุนทรรักษ์ หรือครูลูกกอล์ฟ ติวเตอร์โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ Angkriz ได้นำนักเรียนของตนมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่ารัฐธรรมนูญในฝันของตัวเองคืออะไร บางคนได้แสดงความเห็นว่ารัฐธรรมนูญที่ตนอยากให้รัฐธรรมนูญสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้เนื่องจากฉบับปัจจุบันมีการใช้ภาษาที่ซับซ้อนทำให้ไม่สามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ทุกคน และประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญได้ทุกคนและเป็นรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนเพราะหากจะให้รัฐธรรมนูญอยู่รอดได้ก็ต้องให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนตัวคณาธิป อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นประเด็นที่คนทั่วไปในสังคมรู้สึกสบายใจที่จะแชร์พูดคุยกันได้ในสังคมสามารถพูดคุยกันได้ คนเห็นความสำคัญกันมากจริงๆ ก็จะไม่เป็นเพียงรัฐธรรมนูญที่อยู่ในฝันอีกต่อไป แล้วก็อยากให้รัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์

“ถ้ามันบอกว่าประชาชนทำอันนี้ได้แล้วเขาไม่ได้ทำอะไรผิดจริงๆ มันควรต้องศักดิ์สิทธิ์มันต้องปกป้องเขาจริงๆ” คณาธิปย้ำ

คณาธิปได้ยกตัวอย่างว่าในรัฐธรรมนูญหมวดที่สามเรื่องสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 ที่บัญญัติว่า บุคคลต้องย่อมเสมอกันในกฎหมายมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกันชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งเขาเห็นว่าแม้จะอ่านอย่างไม่อคติแล้วแต่ถ้าบอกว่าให้เชื่อในสิ่งที่ศักดิ์สิทธิที่สุดแต่อ่านแล้วคนยังเกิดความสงสัยและยังเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญไม่เป็นความจริง เขาก็รู้สึกว่าข้อไหนทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเขียนลงไปอย่างน้อยรับความจริง

ประธาน สนท. ชี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องเป็น rules of game ที่นำสังคมไทยสู่หลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชน

จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) กล่าวทักทายผู้เข้าร่วม พร้อมเเจ้งว่า เวลานี้ตนเองเป็น 1 ใน 31 รายชื่อในกลุ่มผู้ถูกกล่าวคดีเดียวกันกับ อานนท์ นำภา ซึ่งในเวลานี้มีเพียง 2 คนที่ถูกจับกุมและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาฝากขังของศาลแล้ว โดยตอนนี้ประชาชนหลายคนได้ไปปักหลักรอฟังผลการพิจารณาที่ศาลอาญารัชดา และในช่วงเย็นกลุ่มนักศึกษาก็จะจัดเวทีแฟลชม็อบบริเวณสกายวอล์คหอศิลปวัฒนธรรมฯ โดยในจะมีการพูดถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่องรัฐธรรมนูญ

จุฑาทิพย์ กล่าวต่อว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากทำกิจกรรมทางการเมือง ได้เจอการคุกคามหลายรูปแบบทั้งการติดตาม ดักฟัง ถูกถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ และล่าสุดคือการดำเนินคดี สิ่งเหล่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับนักเคลื่อนไหว และประชาชนทั่วไปในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย และในประเทศที่มีผู้ปกครองบ้าอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แม้ตนเองจะมีอายุ 21-22 ปีแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศ และไทยยังคงอยู่ในประเทศที่รัฐสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน ยังคงเป็นประเทศที่ประชาชนต้องเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน

เธอเล่าต่อว่า ตัวเองเป็นคนต่างจังหวัด จึงไม่เห็นอะไรมากนัก แต่ก็มีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม อยากเป็นนักเคลื่อนไหว และถ้ามีโอกาสก็อยากทำให้สังคมดีมากขึ้นกว่านี้ แต่สิ่งที่เป็นอยู่ ทุกครั้งที่ออกมาต่อสู้เรียกร้อง สิ่งที่ได้รับกลับมาจากรัฐคือการต่อต้าน ไม่มีครั้งใดที่รัฐจะมองเห็นว่าพวกเราคือ พลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เรากับเขาเป็นคนเท่ากันหรือเปล่า”

“เราต้องการให้คนเท่ากัน เป็นราษฎรเสมอหน้าเท่ากันหมด แต่เรากลับต้องกลายเป็นผู้ต้องหาในหลายคดี และกลายเป็นว่าที่ผู้ต้องหาในคดีที่กำลังจะเกิดขึ้น เอาตรงๆ เราออกมาเคลื่อนไหวก็เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย เพื่อให้ประเทศนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะเรายังอยู่ในกติกาที่ไม่เป็นธรรม อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนให้มีสิ่งที่อยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญได้” จุฑาทิพย์ กล่าว

จุฑาทิพย์ กล่าวต่อถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎรว่า ต้องพูดถึง ปรีดี พนมยงค์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคนร่างหลัก 6 ประการนี้ขึ้นมา แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดหลัก 6 ประการขึ้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญถูกฉีกไป จนกระทั่งปี 2489 เรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่สุดท้ายก็ถูกฉีกไปเช่นเดิม ต่อมาในปี 2540 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดอีกฉบับหนึ่ง ความน่าสนใจของรัฐธรรมนูญ 2540 คือ การกระจายอำนาจ และการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระมากมาย แต่ก็มีชะตากรรมเช่นเดิม รัฐธรรมนูญฉบับบี้ไม่สามารถอยู่ได้ในสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และถูกฉีกทิ้งไปอีกฉบับ

จุฑาทิพย์ กล่าวถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ต้องมองรัฐธรรมนูญในฐานะ rules of game ซึ่งจะนำไปสู่หลัก 6 ประการของคณะราษฎร เป็นการสร้างสังคมไทยสู่หลักการประชาธิปไตย และหลักแห่งสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นมาตราฐานสากล และสามารถชี้วัดถึงความเป็นประชาธิปไตยของประเทศได้ โดย rules of game จะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง จะดีขึ้น หรือเลวร้าย ประชาชนจะยากแค้น หรืออยู่ดีมีสุข ก็ขึ้นอยู่กับว่า rules of game นี้จะเป็นอย่างไร

จุฑาทิพย์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่นั้นจะดีขนาดไหน แต่ถ้าร่างมาแล้วโดนฉีกทิ้งอีกก็ไม่มีความหมายอะไร สิ่งที่สำคัญคือ จะต้องมองไปถึงกลไกที่จะทำให้รัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญถาวร ฉบับสุดท้าย ที่จะไม่มีใครมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอีก

“ที่พูดมานี้ ไม่ได้ต้องการให้กลับไปใช้รัฐธรรมมนูญ 2489 หรือ รัฐธรรมนูญ 2540 แต่เราจะผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้า และไปได้ไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับที่กล่าวมา รัฐธรรมนูญนี้จะต้องมีความยืดหยุ่น แต่ล้มยาก และตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ประชาชนต้องมีชีวิตที่ดีกว่า และมีความเท่าเทียมเสมอหน้า และจงจำไว้ว่าหากใครถามว่าสิ่งที่เราผลักดันจะแตะประเด็นนั้นไหม ก็บอกได้เลยว่า ไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องไหน ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ย่อมหมายถึง ไม่ว่าคุณจะเป็นนายทุน ขุนศึก หรือศักดินาหน้าไหน จะคนเหนือ คนใต้ คนเดินดิน คนบนฟ้า ถ้าอยู่ประเทศนี้เมืองนี้ ก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกันทุกคน” ประธาน สนท. กล่าว

'แชมป์ ราชบุรี' ย้ำเสรีภาพคือผืนดิน ยิ่งมีมากเสียงของคนบนดินจะได้ยินไปถึงท้องฟ้า เทียบรัฐธรรมนูญเหมือนคนรัก จะอยู่ร่วมกันได้ก็ต่อเมื่อมองเห็นประชาชนเป็นคนสำคัญที่สุด

ธีรชัย ระวิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ ดาวปราศรัยที่รู้จักกันทั่วไปในนาม 'แชมป์ ราชบุรี' กล่าวทักทายผู้ฟัง และขอบคุณทีมผู้จัดงานที่เปิดโอกาสให้เด็กคนหนึ่งขึ้นมาพูดในวันนี้ เขาเล่าว่า ตัวเองเป็นเพียงคนหนุ่มคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีความรู้ความสามารถ หรือเชียวชาญหลักนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เท่ากับอาจารย์หลายท่าน และไม่ได้เป็นนักต่อสู้ทางการเมือง ที่ต่อสู้บนถนนสายการเมืองเพื่อปกป้องเสรีภาพเหมือนนักสู้หลายๆ คน

ธีรชัย กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดคำถามขึ้นว่าว่า รัฐธรรมนูญคืออะไร ซึ่งมีหลายคำตอบ เช่น กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ กรอบกติกาในการออกแบบสังคมการเมือง เครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมทางการเมือง หรือกระทั่ง วรรณกรรมของนักกฎหมาย และหลายคนก็เห็นว่า รัฐธรรมนูญเป็นเพียงสมุดเล่มหนึ่งที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้า

แต่วันนี้ ธีรชัย ต้องการให้มองรัฐธรรมนูญในมุมมองใหม่ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นคนรัก มองในฐานะคู่ชีวิต โดยใช้ความคาดหวังที่เรามีต่อความรักเป็นกรอบการอธิบาย

เขาเปรียบเทียบว่า หากรัฐธรรมนูญคือคนรัก ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญมากแล้ว 20 ฉบับ เราก็คงมีแฟนแล้ว 20 คน รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ก็เหมือนกับคนหลายๆ คนที่เดินเข้ามาและออกไปจากความสัมพันธ์ในชีวิต หลายคนเดินเข้ามาด้วยความหวังดี บางทีหลายคนเดินเข้ามาด้วยความประสงค์ร้าย หลายคนอยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ บางคนอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอึดอัด บางคนเข้ามาทำให้รู้สึกมีความหวัง อยากสร้างอนาคตไปกับเขา แต่บางคนอยู่กับเราไม่นานก็รู้สึกว่า อีกไม่นานเขาจะต้องเดินจากไปในที่สุด และบางคนเข้ามาทำให้เรารู้สึกรักเขามาก แต่ไม่ว่ารักมากขนาดไหนก็จะมีมือที่สามเข้ามาเเย่งและพรากเขาไปจากเรา ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรต่างไปจากรัฐธรรมนูญของไทยที่ผ่านมา

ธีรชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นคนรักที่ดีสำหรับประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องจากไปเพราะมีคนถือปืนเข้ามาฉีกทิ้ง การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย ก็คล้ายกับการเปลี่ยนแฟนบ่อย และโดยปกติแล้วต่อให้มีการเปลี่ยนแฟนบ่อยแค่ไหน เราก็ย่อมคิดถึงใครสักคนที่จะเข้ามาเป็นคนสุดท้าย และจะอยู่กับเราไปชั่วชีวิต เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญที่ไม่ว่าจะมีมาแล้วก็ฉบับ ในใจของทุกคนก็ย่อมคิดถึงรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย แต่ปัญหาคือ เราเจอรัฐธรรมนูญที่เราต้องการหรือยัง

“บางครั้งสเปคที่เราชอบก็คล้ายกับรัฐธรรมนูญที่เราฝัน ผมชอบคนที่อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่น รู้สึกปลอดภัย เป็น safe zone ให้เราได้พักใจ รู้สึกว่าคนนี้จะไม่ทอดทิ้งเรา กับรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ผมอยากได้รัฐธรรมนูญที่ประกาศมาแล้วรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยจากอำนาจรัฐที่จะมาลิดรอน รู้สึกอุ่นใจทุกครั้งที่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายนี้ที่จะไม่ทอดทิ้งเราจากอำนาจรัฐ หรือจากอำนาจใดก็ตามทั้งในและนอกระบบที่ป่าเถื่อน”

ธีรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังชอบคนที่ไม่จู้จี้จุกจิก หวาดระแวงว่า จะไปมีคนอื่น จนต้องมาตามตรวจสอบ หรือสร้างข้อบังคับมากกมาย ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่มีข้อบังคับมากมายจนขยับไม่ได้ และไม่ต้องการรัฐธรรมนูญที่ไม่ไว้ใจประชาชน ไม่เชื่อว่าประชาชนจะคิดเองได้ จนต้องออกแบบให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาควบคุมตรวจสอบ ตีกรอบความคิด ให้ประชาชนเดินไปในทางที่เขาคิดว่าสมควร

นอกจากนี้ เขายังย้ำว่า คนที่จะมาเป็นคนรักกันได้ จำเป็นต้องเป็นคนที่คุยกันรู้เรื่อง แม้ว่าจะพูดคนละเรื่องแต่ก็ต้องสามารถอธิบายแนวคิดระหว่างกันให้เข้าใจได้ เหมือนกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษากฎหมายที่ยากมากมาย จนต้องหาคนมาวินิจฉัยตีความให้ ขณะเดียวกัน คนที่จะเป็นคนรัก ก็ต้องเป็นคนที่ไม่ว่าจะทะเลาะกัน ไม่ลงรอยกัน ก็ยอมที่จะปรับตัวเข้าหากับเพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ แต่ไม่ใช่เป็นการปรับทุกอย่างโดยใครคนหนึ่งต้องเสียตัวตนไป เช่นกันกับรัฐธรรมนูญ ที่ควรจะปรับแก้ได้ง่าย ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

“ที่สำคัญเราอย่าได้คนที่คิดถึงเรา และทำเพื่อเรา เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ เราต้องการรัฐธรรมนูญที่คิดถึงประชาชน ออกแบบมาเพื่อประชาชน และทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่ออกแบบเพื่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มองประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุดจริงๆ ไม่ใช่เพียงเขียนไว้แค่ตัวอักษร”

ธีรชัย กล่าวต่อว่า หากจะพูดให้ง่าย รัฐธรรมนูญจะต้องประกอบไปด้วยหลักการ 3 ข้อคือ 1.ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย หรืออำนาจสูงสุดจริงๆ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันฯ หน่วยงาน องค์กรใดก็ตาม จะต้องไม่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด 2.ความเสมอภาคเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่ต้องการการกดขี่ระหว่างกัน แต่ต้องการเวทีที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยทุกคนมีที่ยืนอันสมคุณค่า และเสมอหน้าได้ 3.สิทธิเสรีภาพ จำเป็นต้องขยายขอบข่ายของสิทธิเสรีภาพออกไปให้มากขึ้น

“พูดถึงเสรีภาพ หลายคนก็บอกว่าที่ออกมาพูดกันว่ายุคสมัยนี้ไม่มีเสรีภาพ ถ้าไม่มีเสรีภาพจริงๆ แล้วนี่ออกมาพูดได้อย่างไร จริงครับท่านพูดถูก แต่ของเปรียบเสรีภาพเป็นดินที่เรายืนอยู่ การที่ผมยังพูดอยู่ได้แปลว่า ข้างใต้ยังมีผื่นดินรองรับอยู่ แต่ดินเสรีภาพในยุคนี้กลับเป็นดินที่เปราะบางอ่อนแอ และไม่ปลอดภัย เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าพูดๆ อยู่ตอนนี้ เมื่อไหร่ดินนี้มันจะทรุดถล่มลงมา หรือมันจะเหลวนิ่มกลายเป็นโคลนแล้วดูดเราลงไป ดังนั้นดินแห่งเสรีภาพที่ดี ที่ควรเป็น ที่อยากได้ ควรเป็นดินแห่งเสรีภาพที่หนักแน่น เข้มแข็ง และปลอดภัย และหากดินนี้มีมากขึ้น ทับถมก็กองดินสูงขึ้น ก็จะทำให้เราอยู่ใกล้กับท้องฟ้ามากขึ้น เมื่อมันสูงขึ้นจะทำให้เรา ประชาชนคนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะยืนอยู่บนดิน เท้ายังติดอยู่กับดิน แต่เสียงที่เราพูดออกมาจะได้ยินถึงท้องฟ้า” ธีรชัย กล่าว

'คำ ผกา’ ชวนฉีก ‘รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม’ ผ่านการประกาศเอกราชและอิสรภาพของประชาชน

ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา คอลัมนิสต์ พิธีกร และผู้ประสานงานกลุ่ม CARE กล่าวถึงรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบโดยยกเรื่องคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา 1776 หรือว่า 2319 ที่ระบุตอนหนึ่งถึง สิทธิที่จะแสวงหาเสรีภาพและการแสวงหาความสุข อีกสิ่งหนึ่งที่ใกล้เคียงกับคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาคือคำประกาศของคณะราษฎรในปี 2475 จากคำประกาศเจตนารมณ์ของคณะราษฎรก็นำไปสู่ธรรมนูญการปกครองชั่วคราวที่ประกาศวันที่ 27 มิ.ย.2475 มาตราที่ 1 เขียนไว้เรียบง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุดว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร”

“เชื่อหรือไม่เชื่อว่า อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องไปหารัฐธรรมนูญในฝันที่ไหนเลย รัฐธรรมนูญในฝันเคยถูกเขียนเอาไว้อย่างเรียบง่ายที่สุดและเป็นภาษามนุษย์อย่างที่สุดว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร”

ลักขณา ยกคำปรารภของรัฐธรรมนูญประเทศญี่ปุ่นเขียนในปี 2488 ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยด้วย เทียบกับคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับ 60 ของไทย หรือย้อนไปเทียบกับธรรมนูญการปกครองฉบับ 27 มิ.ย.2475 จะเห็นเส้นทางเดินของชีวิตรัฐธรรมนูญไทยมีความเป็นมาและเป็นไปอย่างไร

ผู้ประสานงานกลุ่ม CARE กล่าวถึงเหตุผลที่กลุ่มมาเคลื่อนเรื่องรัฐธรรมนูญนั้น ขอชวนกลับไปคำถามที่ว่า ทำไมการทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมันจึงล้มเหลว ทำไมถึงยาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีพื้นฐานจากอะไร การจะทำให้ประเทศประเทศหนึ่งเป็นประชาธิปไตยนั้นต้องเริ่มต้นจากอะไร
“การจะทำให้สังคมหนึ่งกลายมาเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น มันจะต้องเริ่มต้นจากการลุกขึ้นประกาศเอกราช มันจะต้องเริ่มต้นจากการประกาศอิสรภาพของประชาชนจากอำนาจที่กดขี่และปกครองพาวกเขาเอาไว้ พูดอย่างเรียบง่ายก็คือการประกาศอิสรภาพจากอำนาจที่บอกประชาชนว่าพวกเขาไม่มีสิทธิแห่งความเป็นคน พวกเขาไม่มีสิทธิในชีวิต พวกเขาไม่มีเสรีภาพในการแสวงหาความสุขความปลอดภัยในฐานะที่พวกเขาเป็นมนุษย์”

หากสังคมไหนประชาชนในสังคมนั้นยังไม่สามารถลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพของตัวเองได้ ประชาธิปไตยมันจะไม่อาจถือกำเนิดมาได้เลย ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีกฉบับ วันนี้ต้องกลับมาถามว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเคยนึกถึงการลุกขึ้นมาประกาศอิสรภาพออกมาดังๆ แล้วหรือยัง ว่าเราคือมนุษย์

“คำว่าประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย และถ่อยคำที่บอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร มันจึงสอดคล้องกันในฐานะที่เป็นคำประกาศอิสรภาพ เป็นคำประกาศซึ่งการมีเอกราชและจึงถูกกำหนดไว้เป็นมาตราที่ 1 ของธรรมนูญการปกครองชั่วคราวของสยาม 2475

ความล้มเหลวของประชาธิปไตยเกิดจากการรัฐประหารเฉลี่ย 10 ปีครั้ง และการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับรัฐธรรมนูญนั้นไร้ความหมายปราศจากความศักดิ์สิทธิใดๆ แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความสำเร็จของการรัฐประหารนั้นไม่ได้สำเร็จเพียงเพราะเขามีอาวุธ มีรถถัง มีอำนาจ แต่ประสบความสำเร็จเพราะสิ่งที่ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนเอาไว้ว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย”

“ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรจะถูกฉีกทิ้งไปกี่ฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยอันนี้ มันไม่เคยฉีกทิ้งไปจากสังคมไทยเลย รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยมันคืออะไร มันคือสำนึกแห่งความเป็นไพร่เป็นทาส และความงมงายอย่างเหนียวแน่นที่ก่อรูปเป็นวาทกรรมเป็นเรื่องเล่าอย่างเป็นทางการในสังคมไทยและมันฝังอยู่ในรูปการณ์จิตสำนึกของคนไทยว่า ประเทศไทยนี้ไม่ใช่เป็นของราษฎร รวมไปถึงวาทกรรมเรื่องการสำนึกในบุญคุณของแผ่น สำนึกในอุดมการณ์นี้มีพลังที่ทำให้การรัฐประหารในประเทศนี้ประสบความสำเร็จ มีความชอบธรรม และครั้งหนึ่งการทำรัฐประหารมันคือจินตนาการเดียวของคนไทยและสังคมไทยในฐานะที่เป็นเครื่องมือแก้ไขวิกฤติและเป็นทางออกของทางตันทางการเมืองของสังคมไทย”

การรัฐประหารของ รสช. ก็ได้รับเสียงไชโยโห่ร้องสนับสนุนจากคนไทยว่าได้ทำลาย บุฟเฟ่ต์คาบิเนตของ พล.อ.ชาติชาย (ชุณหะวัณ) ลงไปแล้ว การรัฐประหารปี 2549 ก็ได้รับเสียไชโยโห่ร้อง คณะรัฐประหารทุกคณะในไทยได้รับเกียรติยศ คนสนับสนุนก็กลายเป็นวีรบุรุษวีรสตรี อยู่ในสถานะของสังคมที่ถูกมองว่าเป็นคนช่วยชีวิตให้ประเทศรอดพ้นจากนักการเมืองโกงกิน

การรัฐประหาร 2557 ก็ได้รับความนิยมยินดีในฐานะที่เป็นการกระทำทางการเมืองอันตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้รักชาติรักแผ่นดินทั้งสิ้น คนที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารถูกยกย่องเป็นปูชนียบุคคลที่สำคัญของประเทศ คนที่ลงมือทำลายประชาธิปไตยในสังคมไทยไม่เคยมีตราบาป ไม่เคยถูกตราหน้าเป็นคนชั่ว แต่ถูกจดจำในฐานะวีรบุรุษและคนดี สิ่งเหล่านี้คือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญไทยที่แท้จริงอยู่ในวัฒนธรรม และไม่เคยถูกฉีกทิ้งทำลายหรือท้าทายทั้งสิ้น

“รัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับสุดท้ายจะเกิดขึ้นได้ รัฐธรรมนูญฉบับที่จะไม่ถูกฉีกทิ้งอีกต่อไปจะมีได้ก็ต่อเมื่อเราฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้สำเร็จ เราจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมนี้สำเร็จได้อย่างไร สำหรับดิฉันเห็นว่าเมล็ดพันธุ์แรกที่ต้องถูกรื้อฟื้นขึ้นมาทุกครั้งที่เราพูดถึงรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็คือ เราต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญในการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่อาจมีได้โดยปราศจาคคำประกาศเอกราชและคำประกาศอิสรภาพของประชาชนเป็นเบื้องต้น”

ลักขณา กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากไม่สามารถทำให้คนไทยตระหนักว่าขึ้นตอนของการประกาศเอกราชและอิสรภาพของเรายังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยเฉพาะขั้นตอนของการประกาศอิสรภาพของคณะราษฎรนั้นยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และขั้นตอนนี้สำคัญเสียยิ่งกว่าการไปชำแหละรายมาตราของรัฐธรรมนูญที่เราต้องการแก้ไข

ลักขณา กล่าวถึงสิ่งที่ กลุ่ม CARE จะทำต่อไปว่า คือการลงมือฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยนี้ลงไปให้ได้และสำเร็จ เราจะเรียกร้องบทสนทนาว่าด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

“เราจะต้องสร้างและรักษาห่วงเวลาของรัฐธรรมนูญให้มันมีชีวิตอยู่กับเราเรื่อยไปทุกๆ วัน ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภาจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่ห่วงเวลาแห่งรัฐธรรมนูญของประชาชนจะต้องอยู่ในบทสนทนาและต้องอยู่ในทุกลมหายใจของเราตราบเท่าที่เรายังสร้างรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นมาเป็นรูปธรรมไม่ได้” ลักขณา กล่าว

หลังจากนี้สิ่งที่ กลุ่ม CARE จะทำต่อไปคือจะผลิตเนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของประเทศไทยและประวัติศาสตร์ว่าด้วยการทำลายอิสรภาพของคนไทยผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญ เช่น คลิปต่อเนื่องผ่านแพนเพจกลุ่ม CARE เป็นเนื้อหาที่เรียบง่ายเข้าใจง่าย หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญในมิติที่ไกลกว่าการเป็นข้อกฎหมาย ภาษากฎหมาย ที่ยิ่งกีดกันประชาชนออกไปจากชีวิตของรัฐธรรมนูญ หลังจากนั้น กลุ่ม CARE หวังว่าจะสร้างบทสนทนาว่าด้วยรัฐธรรมนูญที่พึงมีพึงเป็นของสังคมไทยให้กว้างที่สุดเท่าที่ทำได้

ภายในสิ้นปีนี้ ลักขณา ยืนยันว่า กลุ่ม CARE หวังว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญในฝันขึ้นมาและหวังว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นวรรณกรรมคู่บ้านคู่เมืองสืบไป ยาวไม่เกิน 30 หน้ากระดาษ เราเรียกร้องชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจกับรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอาจจะเป็นคนละเรื่องกัน ในการเคลื่อนไหวเรื่องรัฐธรรมนูญเราจะต้องละเอียดอ่อนเรื่องนี้ด้วย

“หากเราฉีกรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมลงไม่สำเร็จ แล้วเราให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน เราอาจจะได้รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรที่ซ้ำรอยฉบับวัฒนธรรมที่ยังไม่ถูกทำลายก็เป็นได้” ลักขณา กล่าวย้ำ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท