Skip to main content
sharethis

9 ส.ค. 2563 ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คน พบจากสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ รวมผู้ติดเชื้อสะสม 3,351 คน รักษาหายเพิ่ม 1 คน รวมรักษาหายสะสม 3,151 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 คน สวนดุสิตโพลเผย 13 พฤติกรรมที่ประชาชนปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโควิด 19

9 ส.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย เดินทางกลับจากบังกลาเทศ 1 ราย อินเดีย1 ราย และสหรัฐอเมริกา 1 ราย โดยเข้าพักใน State Quarantine ส่วนในประเทศยังคงไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,351 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และตรวจพบในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จำนวน 414 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,151 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 142 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย

ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ เป็นชายบังกลาเทศ อายุ 31 ปี อาชีพค้าขาย ถึงไทย 30 ก.ค. เข้าพัก Alternativa Hospital Quarantine กรุงเทพมหานคร 6 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

รายที่ 2 เป็นหญิงอินเดีย อายุ 41 ปี แม่บ้าน ถึงไทย 2 ส.ค. เข้าพัก Alternativa State Quarantine กรุงเทพมหานคร 6 ส.ค.ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

ส่วนอีก 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 40 ปี อาชีพ พนักงานโรงแรม ถึงไทย 4 ส.ค. เข้าพัก State Quarantine กรุงเทพมหานคร 7 ส.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ

สวนดุสิตโพลเผย 13 พฤติกรรมที่ประชาชนปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโควิด 19

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “การดูแลสุขภาพของประชาชนหลังมีโควิด-19 ระบาด” กลุ่มตัวอย่าง 1,123 คน สำรวจระหว่างวันที่ 3 – 7 สิงหาคม 2563 พบว่า พฤติกรรมด้านสุขภาพที่ประชาชนปฏิบัติมากขึ้น ได้แก่ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ร้อยละ 80.59 รองลงมาคือ ซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด -19 ร้อยละ 75.78 ส่วนพฤติกรรมที่ปฏิบัติเท่าเดิม คือ  การทำงานอดิเรกต่าง ๆ  ร้อยละ 56.01 และพฤติกรรมที่ปฏิบัติลดลงมากที่สุด  คือ การไปสถานบันเทิง สถานที่แออัด ร้อยละ 76.58

จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าหลังจากมีการระบาดของโควิด-19 คนไทยมีพฤติกรรมดูแลสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทิศทาง “มากขึ้น” ล้วนเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค โดยเฉพาะปัจจัยด้านยารักษาโรคที่พบว่าคนไทยมีการตระเตรียมซื้ออุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้น และนอกจากจะซื้อเพื่อตนเองแล้ว ยังดูแลเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างมากขึ้นอีกด้วย พฤติกรรมป้องกันโควิด-19 ด้วยตนเองอย่างเคร่งครัดของคนไทยเช่นนี้ จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 2 เดือน ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย     

ด้านนางศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมไทยค่อนข้างหวั่นไหวกับโอกาสการระบาดระลอกสองที่นักวิชาการด้านสุขภาพและนักระบาดวิทยาต่างออกมาเตือนคนไทยให้กำกับพฤติกรรมตนตามวิถีใหม่ (New Normal) ให้เหนียวแน่น ผลโพลของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของการระบาดนี้ต่อพฤติกรรมการดูแลสุขภาพอย่างชัดเจน  กล่าวคือพฤติกรรมเชิงป้องกันตนเองเพิ่มสูงขึ้น และพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคลดต่ำลง รวมทั้งการค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ การตรวจสุขภาพ อันเป็นพฤติกรรมที่บุคลากรสุขภาพคาดหวังให้ประชาชนประพฤติปฏิบัตินั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย อาจกล่าวได้ว่าวิกฤติการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ (Health Protection) ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเอาใจใส่คนรอบข้าง เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน เพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับแรก จึงขอเสนอ “การ์ดอย่าตกเพื่อปกป้องตัวคุณ คนที่รักและครอบครัว” เป็นสโลแกนป้องกันการระบาดรอบใหม่ไว้ ณ ที่นี้  

ที่มาเรียบเรียงจาก: สำนักข่าวอินโฟเควสท์ | ไทยโพสต์
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net