ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: มีรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับคนมีอำนาจ

คลิปจากเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ธเนศ อาภรณ์สุวรรณอธิบายคติของอำนาจแบบไทยๆ บนฐานคติไตรภูมิพระร่วง ชี้ในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา คือยุคใครมีอำนาจคือมีความชอบธรรม ใครอยากได้อำนาจก็มาแย่งไป แต่ยังตั้งความหวังกับรัฐธรรมนูญในอนาคตว่าจะต้องบังคับใช้กับคนที่มีอำนาจ กำกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการทั้งหลาย

'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉบับวัฒนธรรม’, 8 ส.ค. 2563

CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน [YouTube]

คลิปจากเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ช่วง "ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ" ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กล่าวว่า กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังเป็นที่พูดถึงทั่วโลก ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือที่ทวีปยุโรปกำลังเจอกระแสตีกลับด้วยกระแสฝ่ายขวาในยุโรป

กรณีไทยไม่ได้ทันสมัยแบบนั้นเพราะปัญหาของเราคือการไม่มีประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่อุตส่าห์สถาปนากันก็มีอายุสั้นมาก ถูกแย่งไปทั้งสมัย 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 มาจนถึงรัฐประหาร 2549 และ 2557

วิกฤตทางการเมืองของไทยนั้น เมื่อมองย้อนหลังไปในหลายปีก่อนก็ตั้งสมมติฐานว่า สิ่งที่สามารถอธิบายการดำรงอยู่ของวิกฤตความไม่มั่นคงในระบอบการเมืองไทยคือแนวคิดเรื่องของ "อำนาจ" รัฐธรรมนูญคือการจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ปกครอง ราษฎรและสถาบันต่างๆ ในรัฐ คติของอำนาจนั้น ในเอเชียตะวันออกมีคล้ายกัน คือมองอำนาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ใครอยากได้อำนาจก็ไปแย่งมา ความชอบธรรมได้มาโดยอัตโนมัติหลังจากนั้น จึงพบว่าการแย่งอำนาจของชนชั้นผู้ปกครองไทยเป็นเรื่องที่ใหญ่ ส่วนการใช้อำนาจนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ช่วงที่ผ่านมาหกปีก็คือการใช้อำนาจบนฐานคติแบบไตรภูมิพระร่วง ใครมีอำนาจคือมีความชอบธรรม ใครอยากได้ก็มาแย่งไป

รัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 มาถึง 2490 และ 2500 คติเรื่องอำนาจแบบตะวันตกยังอยู่ แต่หลังจากนั้นมันเริ่มเข้าสู่ยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พูดว่า "ประชาธิปไตยแบบไทย" ที่มองรัฐบาลเป็นพ่อ ประชาชนเป็นลูก ผู้มีอำนาจคือผู้เป็นใหญ่ ผิดไปจากคติอำนาจสมัยใหม่ที่ความชอบธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนส่วนใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดผู้ปกครอง ผู้บริหารและกฎเกณฑ์อย่างรัฐธรรมนูญ

เขากล่าวด้วยว่า 80 กว่าปีที่ผ่านมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระบบผู้แทน การเลือกตั้ง รัฐสภา การแบ่งแยกอำนาจ การมีพรรคการเมืองได้ล้มลุกคลุกคลานมาตลอดตั้งแต่ 2475 รัฐบาลที่อยู่ครบ 4 ปีที่มาจากการเลือกตั้งมีแค่สองครั้งคือรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในปี 2495 และรัฐบาลปี 2544 ของพรรคไทยรักไทย

ซ้ำยังเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ ผิดปกติอย่างมหาศาล ที่ประเทศมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ยึดอำนาจไป 9 ครั้ง ไม่มีประโยชน์เลยที่จะร่างต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังตั้งความหวังกับรัฐธรรมนูญในอนาคตเอาไว้ว่าต้องบังคับใช้กับคนที่มีอำนาจได้ กำกับการทำงานของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานราชการทั้งหลาย มีความชอบธรรมที่วางอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ มีหลักการที่ประชาชนยอมรับ และรัฐธรรมนูญต้องเปลี่ยนความเป็นอภิสิทธิ์ของมัน หากไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนั้น ประชาชนก็จะไม่ออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ

สำหรับเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อวันที่ 8 ส.ค. จัดโดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกับสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมคิดหาหนทางออกจากหุบเหวมหาวิกฤติ ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้เป็น "ฉบับสุดท้าย" ของประเทศไทย และให้มันเกิดขึ้นที่รุ่นเราจริงๆ เสียที ภายใต้แฮชแท็ก #รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท