2 สว.เสนอสภาใช้กฎหมายจัดการชุมนุมที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์และหยุดเสนอข่าวชุมนุม

หลังการชุมนุมที่ มธ. รังสิต เสนอ 10 ข้อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ คำนูณเสนอสภาใช้กฎหมายจัดการอย่างเคร่งครัดชุมนุมที่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์และเปิดสภารับฟังความเห็นทั้งสองสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 ด้านสมชาย แสวงการเสนอใช้ไม้แข็งกับผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวล้มล้างสถาบันฯ เร่งดำเนินการกับการเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย และสื่อมวลชนหยุดเสนอข่าวการชุมนุม

11 ส.ค.2563 ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร คำนูณ สิทธิสมาน และสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ใช้สิทธิขอหารือก่อนเข้าระเบียบวาระการประชุมเพื่ออภิปรายในประเด็นการชุมนุมทางการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านทั้ง 3 ครั้งที่บนเวทีการชุมนุมมีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในที่ชุมนุมและเสนอให้มีการดำเนินการต่างๆ ทั้งการใช้กฎหมายจัดการกับผู้สนับสนุนการชุมนุมรวมถึงยุติการเผยแพร่ข่าวการชุมนุม

คำนูณกล่าวว่าเนื้อหาที่ถูกพูดในการชุมนุมทั้งเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 9 ส.ค.ที่อำเภอท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อวานนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตรังสิต นั้นรุนแรงและแทบไม่มีคนไทยคนไหนเคยข้อเรียกร้องในที่ชุมนุมสาธารณะมาก่อน เกินกว่าการขับไล่รัฐบาลและการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลยเถิดเกินขอบเขตของการต่อสู้ทางการเมืองโดยปกติ และยังมีการประกาศชุมนุมลักษณะเดียวกันอีกในวันที่ 12 ส.ค. ที่สวนลุมพินี ซึ่งที่ตั้งใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คำนูณกล่าวต่อว่าการชุมนุมเมื่อคืนวานนี้ยังมีการล้อเลียนประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนานด้วยความเคารพศรัทธาสูงสุดของประชาชน และยังเป็นการร่วมกระทำการของผู้ต้องหา 2 คน ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมาซึ่งผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล อีกทั้งยังมีการไลฟ์สดจากต่างประเทศของผู้หลบหนีคดีซึ่งเคยกล่าวไว้ในอดีตทำนองว่าประเทศนี้ต้องลงเอยด้วยความรุนแรงและสงครามกลางเมือง ทำให้มีคำถามจากประชาชนผ่านมาถึงตนว่าจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปใช่หรือไม่

คำนูนเห็นว่ารัฐบาลควรต้องดำเนินมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดไปพร้อมกับมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจาก ส.ส. และ สว. อย่างเป็นกิจลักษณะด้วยการเปิดอภิปรายทั่วไป ในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 165 โดยเร็ว  เนื่องจากทั้งสองสภาคงเห็นตรงกันว่าในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมาเกินขอบเขตทำให้ข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่เสียหายไปด้วย และทั้งหมดสุ่มเสี่ยงต่อการจุดชนวนความรุนแรงอย่างยิ่งขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งและทำให้ประเทศไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ต้องตกลงไปในหุบเหว

คำนูณกล่าวสรุปคือว่าหากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดยังไม่พอจะต้องดำเนินการทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย รัฐสภาควรเป็นเวทีหาทางออกให้กับบ้านเมืองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า 6 ตุลาฯ ภาคสอง ขึ้นมาในเร็ววันนี้และหากถึงวันนั้นรัฐสภาและรัฐธรรมนูญยังคงอยู่การขอเปิดอภิปรายทั่วไปในรัฐสภาตามมาตรา  165 ก็จะเป้นทางเลือกที่เคยเกิดขึ้นเช่นหลังเกิดเหตุรุนแรงในปี 2552 และ 2553 แต่ทำไมจะต้องรอให้ถึงวันนั้น

นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าการชุมนุมข้างต้นถือเป็นการล่วงเกินสถาบันพระมหากษัตริย์เกินกว่าที่คนไทยจะรับได้จากคนไม่กี่ร้อยคนได้ปลุกความคิดผ่านโซเชียลมีเดียและขบวนการล้มสถาบันฯ ทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งเกินเลยไปกว่าการเรียกร้องให้ยุบสภา ไล่ สว. และล้มรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นการทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดก่อความไม่สงบขึ้น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

สมชายกล่าวต่ออีกว่า การแก้ปัญหาต้องใช้ไม้แข็งไม้นวมและอ้อมกอดควบคู่กัน เพราะเป็นการชุมนุมที่ใช้นักเรียน นักศึกษามาเป็นกำแพงของคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งมีความจงใจและตั้งใจล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยยังเทิดทูนแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้วเมื่อ พ.ศ.2475 แต่คนไทยก็ยังเลือกการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิ่งที่เกิดขึ้นคือต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบ 6 ตุลาฯ 19, พฤษภา 35 และยังฝันไกลไปถึงการล้มล้างการปกครองแบบ 2475 ที่ยังทำภารกิจไม่สมบูรณ์ ซึ่งภารกิจที่สมบูรณ์คือระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ เงื่อนไข 10 ข้อคือต้องการให้พระมหากษัตริย์ไปอยู่ใต้กฎหมายภายใต้บังคับของพวกเขา

สมชายเห็นว่าต้องใช้ไม้แข็งกับคนที่เป็นหัวโจกโดยเสนอว่าต้องการมีการดำเนินการต่างๆ 7 ข้อดังนี้

  1. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)และตำรวจ ตรวจสอบเส้นทางสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด
  2. ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) และตำรวจ ปอท.ต้องจัดการกับการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียต่อผู้กระทำผิดเผยแพร่โฆษณา การให้เวลา 15 วันนานเกินไป
  3. ให้ตำรวจถอนประกันทั้งอานนท์ นำภาและภานุพงษ์ จาดนอก ที่ได้รับการประกันตัวไปเนื่องจากผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะมีการพูดจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ชุมนุม
  4. หลังจากนี้อธิการบดีและฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่อนุญาตให้จัดชุมนุมต้องร่วมรับผิดชอบทางกฎหมายด้วยจากสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย การขอโทษเช่นเดียวกับที่ปริญญา เทวานฤมิตรกุล  รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นไม่เพียงพอ
  5. สมชายยังได้เรียกร้องให้สื่อสารมวลชนร่วมกับประชาชนไทยหยุดสื่อข่าวเผยแพร่ข่าวการชุมนุมเหล่านี้ เพราะทำให้การชุมนุมที่มิชอบเกิดความฮึกเหิมและบานปลาย เป็นการกระทำที่ย่ำยีหัวใจคนไทย
  6. กระทรวงการต่างประเทศต้องประท้วงและแจ้งไปยังทางการของประเทศญี่ปุ่นที่ปวิน ชัชวาลพงษ์พันธุ์ และประเทศฝรั่งเศสที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พำนักและใช้เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ว่าคนไทยไม่สนับสนุนให้ใช้ประเทศเหล่านั้นมาให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งโจมตีความมั่นคงของประเทศไทย
  7. รัฐบาลควรเปิดเวทีรับฟังความเห็นนักเรียนนักศึกษา โดยมีรัฐบาล รัฐสภา อธิการบดีทุกแห่งตัวแทนนิสิตนักศึกษาและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหาทางออกทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นความต้องการของเด็กๆ เรื่องการคุกคาม การยุบสภา แต่ต้องไม่มีเรื่องล่วงละเมิดสถาบันและข้อเสนอ 10 ข้อที่พูดบนเวทีที่ธรรมศาสตร์เพราะเป็นไปไม่ได้และตนจะไม่ยินยอม

ด้าน ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ขอให้สำนักงานเร่งส่งข้อหารือของคำนูณและสมชายข้างต้นไปยังรัฐบาลโดยด่วนเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอ และขอให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประชาชนในสังคม

ด้านผู้ชุมนุมยืนยันทั้ง10 ข้อไม่ได้มีเพื่อล้มล้างสถาบันฯ

ทั้งนี้ในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศสาตร์ รังสิตเมื่อคืนวานนี้(10 ส.ค.63) ตัวแทนแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้ยืนยันว่าข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ ไม่ใช่ข้อเสนอเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์แต่เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยความปราถนาดีเพื่อให้สถาบันกษัตริย์อยู่เป็นมิ่งขวัญให้แก่ประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป  ดังนี้

ประมวลชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 'เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ'

1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ แล้วเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน

3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี ให้ยกเลิก

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท