Skip to main content
sharethis

‘การทำแท้ง’ นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคมไทย ไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วจะมีผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งถึง 2 ราย การยกเลิกความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ อาจเป็นบันไดก้าวแรกที่จะคืนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายให้แก่ผู้หญิงและได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย

  • ศาลรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อ่านทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28
  • ยกเลิกโทษอาญามาตรา 301 และทำให้กระบวนการยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงและเรื่องสุขภาพ
  • การยกเลิกกฎหมายทำแท้งจะเป็นเหตุให้ ‘วัยรุ่นใจแตก’ ทำแท้งมากขึ้นเป็นเพียงมายาคติผิดๆ วัยรุ่นไม่ใช่กลุ่มที่ทำแท้งมากที่สุด

จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 เกี่ยวกับกฎหมายเรื่องการทำแท้งว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่า ‘หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อ่านทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ’ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และ 28

ส่วนมาตรา 305 ที่ระบุว่า ‘ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรา 301 และ 302 เป็นการกระทำของแพทย์ และ (1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น (2) หญิงมีครรภ์ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276, 277, 282, 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด’ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27, 28 และมาตรา 77

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังเห็นสมควรมีมาตรการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

ภาพตัวแทนจากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและกลุ่มทำทางได้เข้ายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏร เพื่อขอให้มีการยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305 ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นมาตราที่เอาผิดกับผู้หญิงที่ทำแท้งและผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เป็นที่มาให้เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ตัวแทนจากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและกลุ่มทำทางได้เข้ายื่นหนังสือกับคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ดำเนินการยกเลิกตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

น่าจะพูดได้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมและคนทำงานด้านนี้รอคอยมานาน เพราะการที่สิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายถูกกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิด กดทับและสร้างผลกระทบทั้งต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และเศรษฐกิจของผู้หญิงอย่างมาก

‘ประชาไท’ พูดคุยกับสุไลพร ชลวิไล และ สุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง ที่เฝ้าติดตามและรับรู้ความเจ็บปวดของผู้หญิงที่ต้องแบกรับ เพียงเพราะร่างกายของพวกเธอถูกกฎหมายบงการ

ยกเลิกกฎหมายทำแท้ง คืนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายให้ผู้หญิง

การพยายามแก้ไขกฎหมายการทำแท้งมีอยู่ก่อนแล้ว มันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ทั้งสุไลพรและสุพีชาสิ่งที่ควรจะเป็นคือการยกเลิกมาตรา 301 ไปเลย และทำการปรับปรุงมาตรา 305 ทั้งสองเห็นว่าการแก้ไขจะไม่อยู่บนฐานที่ให้ความสำคัญกับเนื้อตัวร่างกายและสิทธิของผู้หญิง ทั้งที่การตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีลูกตอนไหน เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เป็นสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง

“เราคิดว่าเนื้อหากฎหมายที่จะมีการปรับปรุงคงไม่ยกเลิก แต่ขยาย เวลาขณะที่เราคิดว่าควรจะยกเลิกไปเลย เรามองมันเป็นเรื่องของสิทธิของผู้หญิง และสิ่งสำคัญที่เราพูดมาตลอดก็คือมันเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ควรมีเรื่องสุขภาพใดๆ ที่เป็นความผิด แล้วถามว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามันใช้ได้ไหม ปัจจุบันผู้หญิงทำแท้งมีความผิดคนทำแท้งให้มีความผิดมาตรา 301 และ 302 มีข้อยกเว้นไว้ แต่ถามว่าแล้วมันปฏิบัติได้หรือไม่ มันปฏิบัติไม่ได้ ตรงกันข้ามมันทำให้ผู้หญิงมีอันตรายซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่มีการวิจัยทั่วโลก แล้ววันนี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำไมเราจึงไม่เปลี่ยนแปลงให้มันทันสมัย” สุพีชา กล่าว

สุไลพรอธิบายเพิ่มเติมว่า เราเห็นความทุกข์ยากของผู้หญิงที่เกิดจากกฎหมายนี้ว่ามันทำให้เข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัยเพราะกฎหมายบอกว่ามีความผิด ถึงแม้จะมีบริการที่รัฐสนับสนุนให้ แต่รัฐก็ไม่กล้าโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ทั่วกัน ผู้ให้บริการก็ไม่กล้าที่จะพูดเพราะว่ากฎหมายสนับสนุนการตีตรา เมื่อกฎหมายปิดไว้โดยไม่ได้คำนึงถึงว่ามีคนที่ประสบปัญหาอยู่มากมาย ทำให้ผู้หญิงต้องหาทางทำแท้งด้วยวิธีที่ไม่ปลอดภัย

ทำไมต้องเป็น ‘กระบวนการทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุด’

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้นิยาม ‘การทำแท้ง’ ว่าหมายถึงกระบวนการทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุด ซึ่งคำนี้มีที่มาและนัย สุไลพร ขยายความดังนี้

“ก่อนที่เราจะเลือกคำนี้มาใช้ เราพยายามหานิยามเยอะมาก เราก็พบว่าจริงๆ แล้วคำว่าการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์มีคนอธิบายน้อยมากที่เป็นคำที่เราฟังแล้วเป็นกลางๆ ไม่ลงโทษผู้หญิง หรือไม่เป็นคำที่ผูกติดกับการใช้อำนาจของแพทย์ หรือการกำหนดโดยหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ เพราะเราทำเรื่องนี้มาจากฐานที่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับการรับรองสิทธิในการตัดสินใจต่อเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง แต่นิยามที่เราพบมีน้อยมากที่จะมีนิยามชัดๆ ว่าการทำแท้งคืออะไร

“คำว่า การยุติการตั้งครรภ์ ก็เป็นคำที่มาใหม่ด้วยซ้ำ เราจะเจอว่ามันไปอยู่ในตำราแพทย์บ้าง ในภาษาอังกฤษคำว่า abortion มีคนอธิบายน้อยมากๆ เหมือนกับว่าเป็นคำที่เข้าใจกันอยู่แล้ว แต่นั่นเป็นคำในบริบทของภาษาอังกฤษ ในภาษาไทยเราเห็นว่ามันมีปัญหาหลายอย่าง เช่นถ้าดูในกฎหมายมาตรา 301 บอกว่าหญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก คือคำว่าแท้งจริงๆ มันไม่ต้องต่อด้วยคำอื่นอีก การแท้งธรรมชาติก็ไม่มีนัยในเชิงลบ แต่คำว่าทำแท้งมีนัยยะในเชิงลบ ซึ่งเราพยายามต่อสู้เรื่องนี้ว่ามันไม่ได้มีความหมายในเชิงลบ”

ในแง่วิธีการ ปัจจุบันมียารับประทานสำหรับยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ทำให้ อย่างไรก็ตาม การที่ยังใช้คำว่า กระบวนการ เป็นเพราะแพทย์ที่ทำเรื่องนี้ยังไม่เชื่อการให้ประชาชนเข้าถึงยาและยุติการตั้งครรภ์ได้ด้วยตัวเอง จึงเลือกที่จะใช้คำนี้ไว้ก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ผู้หญิงต้องเดินไปที่คลินิก ผ่านการให้คำปรึกษา มีการให้ยาหรือว่าใช้เครื่องมือโดยแพทย์ สุพีชา เสริมว่า

“ผู้หญิงรู้ตัวว่าท้องก่อนจะมาหาหมอ แล้วเหตุที่เขาจะยุติการตั้งครรภ์เป็นเหตุทางสังคมของเขา เราเชื่อหรือไม่ว่าผู้หญิงคิดมาก่อน ปรึกษาตัวเองมาก่อน และปรึกษาคนรอบข้างมาก่อนแล้ว และเขาตัดสินใจก่อนที่จะมาหาหมอ ดังนั้น ถ้ามีกระบวนการที่เป็นกลาง เป็นทางเลือก ดีไหม ดี แต่ถ้าเป็นกระบวนการที่บังคับว่าคุณจะต้องผ่านหรือมีเจตนาจะโน้มน้าวให้เป็นอื่น ไม่ดี

“กระบวนการให้การปรึกษา ถ้าเป็นการบังคับโดยเฉพาะผู้หญิงจะต้องรอ อย่างเช่นในต่างประเทศเวลามาพบหมอครั้งหนึ่งแล้วจะต้องรอก่อนกี่วันๆ ถึงจะรับบริการได้ เราคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่ มันเป็นการทรมานคน เพราะผู้หญิงตัดสินใจมาจากบ้านแล้วและก็อยากจะยุติให้เร็วที่สุด เมื่อมาถึงหมอแล้วการให้การปรึกษาก็ควรจะดีที่สุด ตรงเป้าที่สุด และไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ผู้หญิงทนรอ”

ภาพกลุ่มทำทางไปร่วมเดินรณรงค์เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค. 2562 กับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เรียกร้องให้กรมอนามัยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทย ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมสามารถเข้าถึงการทำแท้งได้อย่างปลอดภัย และถูกกฎหมาย และเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ยังเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เพราะมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งอยู่ 

เปลี่ยนจากโทษอาญาให้เป็นสิทธิและสุขภาพ

กลุ่มทำทางและเครือข่ายยังเสนอให้แบ่งการทำแท้งออกเป็นแบบปลอดภัยและไม่ปลอดภัย ซึ่งอย่างหลังหมายถึงการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นหรือโดยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมสำหรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

เหตุผลคือที่ผ่านมาเมื่อกฎหมายห้ามการทำแท้งทำให้ควบคุมคุณภาพยาไม่ได้ เกิดการขายยาเถื่อนตามอินเตอร์เน็ตที่ส่งผลให้ผู้หญิงได้รับการบาดเจ็บหรือมีอาการแทรกซ้อน ถ้าทำให้การทำแท้งถูกกฎหมาย ให้มียาที่รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสั่งจ่ายโดยแพทย์ย่อมดีปลอดภัยกว่า

“ตรงนี้แยกเพื่อให้เห็นว่านี่คือภาพที่เราต้องการให้เกิดขึ้น การที่ผู้หญิงจะซื้อยามาใช้เอง เราถือว่าเป็นสิทธิของเขา แต่เราไม่ได้คิดว่าใช้ยังไงก็ได้ มันเชื่อมโยงกับเรื่องการยกเลิกการเอาผิดและมาตรา 305 ที่เราเสนอให้ถึง 24 สัปดาห์ พอมองภาพคนก็จะคิดว่าผู้หญิงไปหาซื้อยามาใช้เอง แล้วก็ไม่ผิด แล้วก็ทำแท้งกันโครมครามจนถึงอายุครรภ์เยอะๆ จริงๆ แล้วนัยของมันคือเราต้องการให้เกิดการเปิดกว้าง ให้เป็นการรักษาพยาบาลที่ผู้หญิงกับหมอจะได้ปรึกษากันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมาย เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็จะทำให้บริการกว้างขึ้น คนเข้าถึงได้เร็วมากขึ้น” สุพีชา กล่าว

สุไลพรเสริมว่า ทั้งหมดนี้อยู่บนจุดยืนที่ต้องการให้ผู้หญิงมีความปลอดภัยและมองเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ เพราะฉะนั้นจึงไม่เสนอให้มีการกำหนดอายุครรภ์ในมาตรา 301 แต่ให้ยกเลิก เพราะต้องการยกออกมาจากการมีโทษทางอาญา แล้วมาทำให้เป็นเรื่องสุขภาพ

“สิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามไปก็คือว่าคุณสามารถป้องกันให้ผู้หญิงมายุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์มากๆ ได้ ถ้าคุณให้ข้อมูลกับเขาก่อนหน้านี้ สอนตั้งแต่เด็กๆ ว่าถ้าตั้งครรภ์ให้รีบมาตั้งแต่ 9 สัปดาห์ถึง 12 สัปดาห์ ซึ่งมีความปลอดภัยสูง ไม่มีใครหรอกที่อยากจะเสี่ยงอันตราย มากกว่านั้นคือการยุติในอายุครรภ์ที่มากมันโหดร้ายต่อจิตใจของผู้หญิงด้วย แต่คนที่กำหนดกฎหมายมองแต่เรื่องกฎหมาย เรื่องการแพทย์อย่างเดียว สิ่งที่มันน่ากลุ้มใจก็คือทำไมเขาไม่พยายามทำให้สังคมนี้มีความเข้าใจ มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ในแง่การช่วยเหลือชีวิตผู้หญิงซึ่งประสบปัญหา”

วัยรุ่นใจแตกหรือแค่จินตนาการ?

พอเรื่องราวเดินทางมาถึงตรงนี้ เป็นไปได้ว่าคนจำนวนหนึ่งอาจจินตนาการถึง ‘วัยรุ่นใจแตก’ เชื่อมโยงกับการทำแท้งและอาจถึงขั้นคิดว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะทำแท้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การเปิดให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายเท่ากับเปิดช่องให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ทว่า นี่อาจเป็นชุดความเข้าใจที่ผิดมากๆ ชุดหนึ่ง สุไลพรตอบประเด็นนี้ว่า

“อยากจะตอบแบบกลางๆ มากที่สุดอันที่หนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงก็คือว่า ในเมื่อมีกฎหมาย แล้วไม่มีการสำรวจตัวเลข เพราะฉะนั้นตัวเลขที่กรมอนามัยทำทุกปีก็เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างแค่หลักพัน หมายความว่าเอาเข้าจริงแล้วเวลาที่เราพูดว่าคนที่ทำแท้งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่รับผิดชอบ มันมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพราะกฎหมายของเราเป็นอย่างนี้จึงไม่สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างชัดเจน เปิดเผย ทำให้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ประการที่ 2 ตัวเลขจากสายด่วน 1163 ใน 1 ปีที่ผ่านมามีคนยุติการตั้งครรภ์ประมาณ 20,000 กว่าคนน่าจะเป็นคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ และจากที่เราเคยพยายามสำรวจเท่าที่มีคนเข้ามาปรึกษากับเรา พบว่าอายุที่มากที่สุดอยู่ที่ประมาณ 23 ปีขึ้นไปจนถึง 30 ถามว่านี่คือวัยรุ่นหรือเปล่า

“เราเห็นปัญหาว่ามีแม่วัยรุ่นเยอะมาก เป็นเพราะอะไร เท่าที่เราลงไปเจอเด็กๆ เขาก็บอกว่าเขาก็มีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่ ม.1 ม.2 เขากลับเป็นคนที่ไม่ยุติการตั้งครรภ์ เพราะเขาถูกกล่อมเกลามาว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ดี อันที่ 2 การที่เขาจะเข้าถึงบริการในขณะที่อายุน้อยแบบนี้ ใครจะพาเขาไป จะเอาเงินที่ไหน ไปบอกพ่อแม่ พ่อแม่ก็ไม่อยากจะให้ยุติ มันเลยกลายเป็นแม่วัยใสเพราะการเข้าถึงบริการมันยาก เวลามองเรื่องนี้เราน่าจะไปสำรวจและเชื่อมโยง 2 เรื่องนี้เข้าด้วยกัน คือแม่วัยใสกับวัยรุ่นไปทำแท้งเยอะว่าจริงหรือเปล่า เราอยากให้มีคนวิจัยเรื่องนี้และพูดจากฐานข้อมูลที่ชัดเจนจริงๆ แต่สัดส่วนวัยรุ่นทำแท้งที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอันดับ 1”

ถึงที่สุดแล้ว การทำแท้งเป็นเพียงสิ่งที่อยู่ปลายโซ่ของเหตุการณ์ มีปัจจัยอีกหลายประการที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างสาวโรงงานที่ตั้งครรภ์ หากลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนและกลับมารับตำแหน่งเดิมได้อย่างที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องขาดรายได้หรือตกงาน มีสวัสดิการที่เข้ามาอุดหนุนช่วยเหลือ การทำแท้งก็อาจไม่ใช่ทางที่เธอจะเลือก เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

การทำแท้งจึงมีมิติทับซ้อนหลายชั้น เกินกว่ากฎหมายที่แข็งทื่อจะรับมือได้ และเกินกว่าที่ศีลธรรมจะด่วนชี้นิ้วตัดสิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net