สื่อเสวนา ทำข่าวเรื่องกษัตริย์ในที่ชุมนุมมีความกลัว-เงื่อนไข แต่จำเป็นมากกับสังคม

สื่อมากประสบการณ์นั่งคุยเรื่องการทำข่าวการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุม เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำการบ้านหนักเพื่อหาวิธีรายงาน สื่อกลัวมายาวนานจากการเมือง ข้อกฎหมาย จารีตประเพณี โซเชียลมีเดียคือตัวเลือกใหม่ เซ็นเซอร์ยาก สังคม สภา ควรตั้งคำถามกับบทบาทกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา อย่าเรียกร้องสื่อยืนข้างประชาชน แต่ให้ทำหน้าที่ของสื่อจะดีกว่า

เมื่อ 11 ส.ค. 63 องค์กรรณรงค์ด้านสื่อมวลชน มีเดีย อินไซด์ เอาท์ จัดงานเสวนา “สื่อ กับ สถานการณ์การชุมนุม” สืบเนื่องจากการชุมนุมต่อเนื่องของประชาชน นักศึกษา ที่มีข้อเสนอที่ไต่เพดานการแสดงออกในสังคมไทยเกี่ยวกับการพูดถึงปัญหาสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีฐปนีย์ เอียดศรีชัย ผู้สื่อข่าวรายการข่าวสามมิติ และผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ เดอะ รีพอร์ตเตอร์ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการ (บก.) บริหารหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน และนวลน้อย ธรรมเสถียร อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีเป็นผู้ดำเนินรายการ

กฎหมาย กำไร จารีต ทำให้สื่อไทยกลัว

ฐปนีย์ระบุว่า บางเหตุการณ์สื่อไทยรายงานเท่าสื่อต่างประเทศไม่ได้ เพราะเราอยู่ภายใต้กรอบ ขนบ ธรรมเนียมของไทย ขีดข้อจำกัดไม่ได้อยู่เฉพาะตัวอักษรที่เป็นกฎหมายเท่านั้น

“เฉพาะเหตุการณ์เมื่อวาน (11 ส.ค. 2563) สิ่งที่เกิดขึ้นบนเวที คำพูด ประกาศของนักศึกษา ถ้าถามเรา เราเองก็ตกใจในความหมายว่า ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ทันทีที่ได้ยินคำประกาศ เราถามตัวเองในใจว่า จะเขียนข่าวอย่างไร ทำให้ตนคิดว่าต้องคุยเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะมันท้าทายอย่างมากสำหรับการเป็นนักข่าว” ฐปนีย์กล่าว

ฐปนีย์อธิบายว่าเธอทำงานสองขา คือเป็นนักข่าวในรายงานการข่าวสามมิติทางช่องสาม และมีสำนักข่าวอิสระของตัวเองคือ ‘The Reporters’ ซึ่งในการรายงานข่าวต่างแพลตฟอร์มก็มีวิธีการที่ต่างกัน หากเป็นแพลตฟอร์มทีวีก็อาจจะรายงานได้ไม่ลึกนัก และด้วยการที่เป็นแค่ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเอง ต้องมีการปรึกษากับทางกิตติ สิงหาปัดที่อยู่ทางห้องส่ง ขณะที่การรายงานใน The Reporters จะมีอิสระในการกำหนดเนื้อหามากกว่า และทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการไลฟ์และการเขียนรายงาน 

ฐปนีย์เล่าถึงการรายงานข่าวชุมนุมว่า ย้อนกลับไปตั้งแต่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ค. ก็เริ่มเห็นสถานการณ์และพอมองออกมาจะมีการยกระดับไปอย่างไร กลุ่มที่ปรากฎตัวมีทั้งกลุ่มเก่ากลุ่มใหม่ และเวลาทำข่าวจึงมักจะไปฟัง ไปคุย ทำความรู้จักกับทุกคน ทุกม็อบให้มากที่สุดเพื่อให้รู้ว่าใครคือแกนนำ เป็นใคร มาจากไหน มีข้อเรียกร้องอะไร เวลารายงานข่าวจะได้ประเมินสถานการณ์ถูก ช่วงแรกพูดถึงข้อเสนอ 3 ข้อ (หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา) แต่หลังจากการปราศรัยของอานนท์ นำภาเรื่องสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องก็เริ่มถูกยกระดับขึ้น

การชุมนุมวันที่ 10 ส.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเรียกร้องเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเนื้อหาหลัก ตนในฐานะที่ต้องรายงานข่าว ในรายการข่าวสามมิติก็เห็นว่าหากจะรายงานแค่การเรียกร้อง 3 ข้อ ก็ไม่ใช่ใจความหลักของการชุมนุม แต่ด้วยข้อเรียกร้องที่มีความหมิ่นเหม่ทางกฎหมาย ทำให้ตัดสินใจว่าวิธีรายงานคือการพูดถึงประเด็น แต่คงไม่สามารถรายงานเนื้อหาข้อเรียกร้องทั้งหมดได้ 

“หลายคนบอกว่าแยมกล้า แต่เราไม่ได้กล้า เราแค่ทำหน้าที่ของนักข่าว เราต้องบอกสังคมให้ได้ว่าที่นั้นกำลังพูดเรื่องอะไรกัน เราจำเป็นต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบต่อข้อกฎหมายด้วยและคำนึงต่อการทำหน้าที่ในฐานะสื่อของเราด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นเราก็ต้องพิจารณาข้อกฎหมาย” ฐปนีย์กล่าว

สุภลักษณ์กล่าวว่าสื่อกระแสหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์ที่ปฏิบัติงานโดยนักข่าวมืออาชีพเข้าสู่กระแสตกต่ำแบบไม่มีทางขึ้นมาราว 10 ปีแล้วด้วยปัจจัยสามอย่าง

หนึ่ง ความขัดแย้งทางการเมืองในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาทำให้สื่อตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเลือกเขียนในวาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง รสนิยมทางการเมืองชัดเจนตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา สื่อส่วนใหญ่เลือกเขียนในวาระของชนชั้นนำดั้งเดิม อาจมีวิจารณ์บ้างที่ไม่กระทบชนชั้นนำ เช่นเรื่องลูกกระทิงแดงหรือบ่อนพนันในบางพื้นที่ พวกที่เดิมทีต่อต้านชนชั้นนำก็เหลือน้อยมากและไม่ค่อยเติบโตหรือหายไป

สอง เศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้สื่อล้มหายตายจากโดยสภาพ อยู่ไม่รอด คนที่จะอยู่รอดต้องร่วมมือกับชนชั้นนำที่อยู่ได้ ปัจจุบันสื่อที่อยู่รอดส่วนใหญ่รับทำอีเวนท์ให้รัฐ หน่วยงานราชการ ไปกันได้ดีกับธุรกิจขนาดใหญ่ สื่อสิ่งพิมพ์ปิดตัวลงมากมาย ทีวีดิจิทัลต้องคืนใบอนุญาตเพราะอยู่ไม่รอดในทางธุรกิจ การวิจารณ์ก็ไม่มีในกลุ่มที่เหลืออยู่

สาม การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย การเข้ามาแทรกแซงของเทคโนโลยีทำให้สื่อต้องแข่งกับโซเชียลมีเดียตลอดเวลา จึงเจอปรากฏกรณ์ว่าสื่อกระแสหลักติดตามโซเชียลมีเดียแล้วนำมาปั้นใหม่เป็นข่าว โซเชียลมีเดียมีข้อดีตรงที่ว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นโดยตรงหรืออยู่ในเหตุการณ์เป็นคนรายงานเรื่องนั้นขึ้นมาเอง สื่อกระแสหลักก็ต้องติดตาม ลักษณะการสื่อสารแบบนี้เกิดขึ้นมากจนความจำเป็นที่จะพึ่งพิงสื่อกระแสหลักน้อยลงทุกที

ประเด็นอ่อนไหว สื่อทำการบ้านหนักเพื่อหาวิธีรายงาน

การเปิดคลิปของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการที่ลี้ภัยในต่างประเทศ และผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก 'รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส' ที่ขณะนี้มีสมาชิกเกือบ 9 แสนบัญชี สร้างเสียงฮือฮาให้กับผู้ชุมนุมที่ มธ. เมื่อ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา

อดีต บก. บริหารเดอะ เนชั่นกล่าวว่า สื่อกระแสหลักไม่สามารถรายงานเรื่องสถาบันกษัตริย์ได้อย่างตรงไปตรงมา เขียนได้แค่บทอาเศียรวาท นักข่าวรุ่นก่อนไม่เคยคิดว่าจะต้องรายงานการพูดถึงเรื่องสถาบันในที่ชุมนุม ในอดีตเคยเขียนคำว่า monarchy คำเดียวก็ยังถูก บก. ถามว่าเอาออกได้ไหม ความกลัวไม่ได้มีเพียงแค่ผลกระทบทางกฎหมายจากกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 116 และ พระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) แต่การคลั่งไคล้สถาบันกษัตริย์อย่างล้นเกินในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 ที่ใช้เรื่องนี้มาต่อสู้ทางการเมืองทำให้สื่อกลัวว่าจะโดนเป็นเป้าเรียกแขก หรือกลัวมีการเอาเรื่องไปยัดปากคนอื่นแล้วทำให้คนอื่นมีปัญหา ทำให้ไม่กล้าแม้แต่ที่จะรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น

สื่อกลัวอะไรบ้าง เมื่อประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้นแต่แทบไม่เป็นข่าว

ยกตัวอย่างเช่น กรณีการโอนทรัพย์สินส่วนกษัตริย์เป็นส่วนพระองค์ ตอนนั้นก็คุยกันว่าจะเล่นข่าวกันแบบไหนเพราะมีเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในตลาดหลักทรัพย์ คนในกอง บก. ก็กลัวด้วยเหตุผลว่ามันไม่บังควร มันอ่อนไหวมาก กลัวไว้ก่อน ไม่รู้ใครจะทำอะไรเรา นี่คือการทำงานของอุดมการณ์ที่เริ่มทำงานในกอง บก. เราพากันพูดว่าสื่อมวลชนที่ดีควรปลอดอุดมการณ์ แต่ในที่สุดอุดมการณ์นี้ก็ทำงาน ทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองในประเด็นที่อ่อนไหว

ฐปนีย์ระบุว่า ตนมีการทำการบ้านก่อนทุกครั้งเมื่อต้องไปรายงานข่าวที่มีความอ่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น วันที่มีการอ่านประกาศคณะราษฎรตั้งแต่เวลา 05.00 น. เมื่อ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้ทำการบ้านว่ามันถูกตามกฎหมายไหม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาเพราะประกาศนั้นถูกรับรองทางกฎหมายอยู่แล้ว โดยวันนั้นทางเพจ The Reporter ก็ไลฟ์สดจนจบ แต่ตนก็ต้องระวัง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ระวังข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งทำให้ตอนหลังก็ต้องลบไลฟ์ทิ้ง แล้วเอาเนื้อหามาตัดต่อใหม่

“การไลฟ์คือการรายงานสถานการณ์ แต่พอมีความหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย เราจะใช้หลักการว่าถ้าอันไหนสุ่มเสี่ยง เราก็มีสิทธิจะหยุดตรงนั้นได้ การไลฟ์คือวิธีการรายงานหนึ่ง เราสามารถรายงานได้หลายรูปแบบ แต่ปัจจุบันการไลฟ์มันคือความต้องการของคนในโลกออนไลน์ แต่ถึงเราไม่ได้ไลฟ์ เรามาเขียน มาตัดคลิปก็ได้” ฐปนีย์กล่าว 

ต่อคำถามว่าสื่อจะรายงานอย่างไรภายใต้สถานการณ์เฉพาะหน้าซึ่งอาจทำให้ควบคุมเนื้อหาได้ยาก ฐปนีย์มองว่า ต้องพิจารณาว่าจะรายงานอะไรไม่รายงานอะไร สำหรับตนเวลาเลือกจะรายงานอย่างการชุมนุมที่ มธ. รังสิต หรือ การปราศรัยของทนายอานนท์ในช่วงปราศรัยตนไม่ได้ไลฟ์ แต่ใช้วิธีฟังก่อนแล้วค่อยมารายงาน 

“เราใช้เวลาฟัง ทำความเข้าใจอานนท์หลายรอบมาก ก่อนหน้านั้นเราไม่เคยเขียนลงเพจ แต่พอเราทำความเข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร แล้วเขาถูกจับกุม เราก็พอพูดได้ แต่เราไม่สามารถลงได้ทั้งหมด” ฐปนีย์กล่าว

โซเชียลมีเดียคือพื้นที่เข้าถึงข่าวใหม่ เซ็นเซอร์ยาก สื่อไม่ปรับตัวจะตกขบวนการเปลี่ยนแปลง

สุภลักษณ์มองว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ทนายอานนท์ไปถึงเรื่องที่ธรรมศาสตร์เมื่อคืน ซึ่งฟังดูทั้งหมดแล้วไม่มีอะไรผิดกฎหมายเลยแม้แต่คำเดียว แต่สื่อกระแสหลักโดนกำกับด้วยอุดมการณ์และจารีตประเพณี เนื้อหาอะไรประมาณนั้นก็ต้องไปอ่านที่ฟ้าเดียวกันหรือโซเชียลมีเดีย มันไม่อยู่ในสื่อกระแสหลักมาแต่ไหนแต่ไร ความคาดหวังดั้งเดิมของสังคมที่มองว่าอะไรปรากฏบนสื่อกระแสหลักคือความจริงที่ได้รับการตรวจสอบแล้วนั้น ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน สื่อกระแสหลักไม่ได้ผูกขาดความจริงแล้ว ถ้าสื่อกระแสหลักไม่ถ่ายทอดสดก็จะมีคนอื่นถ่ายทอดสดแทน

การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ในโซเชียลมีเดียตอนนี้ไปไกลแล้ว แต่สื่อกระแสหลักยังอีกไกลกว่าจะไปถึง และก็อาจไปไม่ถึงแล้ว เพราะก็มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้งกำแพง มีข้อเสนอให้ควบคุมสื่อไปแล้ว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็มีจดหมายถึงเฟสบุ๊คให้ควบคุมเนื้อหาเหล่านั้น แต่การคุมโซเชียลมีเดียก็ยาว เพราะถ้าคุมเฟสบุ๊ค คนก็ย้ายไปแพลตฟอร์มอื่น คนวันนี้มีเสรีภาพในการเข้าถึงสื่อได้มากกว่าที่สื่อมีเสรีภาพในการทำงาน

สุภลักษณ์มองจากจุดยืนของการทำข่าวเชิงรณรงค์ (Advocacy journalism) ว่าสื่อก็ต้องดันเพดานตลอดเวลา ถ้ายังทำงานเป็น บก. อยู่ก็จะนำเสนอประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แน่นอน ถ้าพูดกันในทางกฎหมายก็ยังต่อสู้ได้ค่อนข้างชัดเจน แต่สิ่งที่นักข่าวไทยไม่กล้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามก็คือเรื่องจารีตประเพณี สังคมไทยไม่เคยพูดถึงกษัตริย์แบบนี้ เวลาสื่อพูดเรื่องนี้ก็มักถูกเอาไปแขวนว่าเป็นพวกต่อต้านเจ้า ก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อรับมือเรื่องแบบนี้ได้หรือเปล่า ทั้งนี้ นักข่าวรุ่นใหม่อาจคิดอีกแบบโดยพยายามขยายพื้นที่ให้เถียงกันได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น สังคมกำลังเข้าสู่สภาวะแบบนี้ ส่วนตัวก็เคยสัมภาษณ์เอาไว้ว่าถ้าสื่อไหนไม่พูดเรื่องนี้ในปัจจุบันก็ตกเวที

รัชกาลนี้ไม่เหมือนรัชกาลก่อน มีองค์ประกอบหลายอย่างที่อนุญาต แม้แต่พวกชนชั้นนำหรืออนุรักษ์นิยมก็รับไม่ได้ เพราะฉะนั้นนี่เป็นโอกาสอันดี คำถามง่ายๆ สำหรับคนที่เทิดทูนก็คือ คุณกำลังเทิดทูนอะไร  คุณค่าของสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ไหน คุณค่าของสถาบันนี้อยู่ตรงไหน นี่คือสิ่งที่สังคมไทยควรค้นหาพูดเป็นกิจลักษณะเสียที ถ้าเรายังยอมรับว่าสื่อกระแสหลักคือพื้นที่สาธารณะอย่างเป็นทางการ ตอนนี้ก็อาจมีหลายคนอยากจะลอง

อดีต บก. บริหารเดอะ เนชั่น คาดหวังว่ารัฐสภาควรกล้าหาญมากกว่านี้ ส.ส. และ ส.ว. ที่ก้าวหน้าควรเสนอพื้นที่ให้คุยเรื่องข้อเสนอนักศึกษา ควรมีคนตั้งคำถามหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกแก้หลังผ่านประชามติ แล้วความชอบธรรมของมันอยู่ที่ไหน นี่คือสิ่งที่ถามได้และสังคมไทยควรจะถามเสียด้วยซ้ำไป ควรถามด้วยว่านี่คือสิ่งที่เรายอมรับกันเลยหรือ การอ้างประชามติ อ้างการเลือกตั้ง อ้างรัฐธรรมนูญ แต่ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญที่แก้หลังประชามติคืออะไร คำถามแบบนี้ใครก็ถามได้ ถ้าสื่อมวลชนอยากขยายพื้นที่ของสื่อให้กว้างขึ้น ทำให้คนเชื่อถือก็ทำ แต่ถ้าอยากจะหลบอยู่ในพื้นที่ที่สะดวกใจก็เชิญ แต่จะตกขบวน ถ้าไม่กลัวตกขบวนก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครว่า 

สุภลักษณ์กล่าวว่า มองจากคนที่เคยทำสื่อและบริโภคสื่อตอนนี้ ถ้าโซเชียลมีเดียจะสถาปนาตัวเองเป็นพื้นทีสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่เซ็นเซอร์ก็เหลือน้อยลง ตอนนี้รัฐเซ็นเซอร์สื่อกระแสหลักได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ด้วยกฎหมายและจารีต แต่โซเชียลมีเดียเซ็นเซอร์ค่อนข้างยาก

ไต่เส้นบางๆ รายงานข่าวให้ดีที่สุด

ฐปนีย์มองว่า สื่อปัจจุบันทำงานภายใต้ความซับซ้อนหลายอย่าง โครงสร้างสื่อกระแสหลักเปลี่ยนแปลงไปแล้ว จะคาดหวังว่าจะเห็นข่าวทุกอย่างในสื่อกระแสหลักไม่ได้ คนรับสารก็มีทางเลือกที่นอกเหนือไปจากสื่อกระแสหลักมากมาย แต่ขณะเดียวกัน นักข่าวต้องคำนึงว่าจะมีความรับผิดชอบภายใต้หน้าที่อย่างไร นั้นคือเรื่องนี้เป็นข่าวที่ประชาชนควรรู้ ภายใต้กรอบกฎหมาย บริบทสังคม ซึ่งต้องคิดในหลายๆมิติ

“การตัดสินใจรายงานหรือไม่ มีเส้นบางๆ ใครก็ตามที่รายงานก็จะถูกตีตราว่าคุณคิดแบบนี้หรือเปล่า เราเองต้องมีความระมัดระวังเรื่องแบนี้ เราเองถูกตีตรามาหลายครั้ง พอถึงจุดนึงต้องกลับมาที่หลักการ หน้าที่สื่อมวลชนคืออะไร มันคือการรายงานตามข้อเท็จจริง เพียงแต่บางเหตุการณ์เรารายงานไม่ได้ บางเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงในสื่อทันที วันต่อมาก็ถูกหยิบขึ้นมาพูดโดยผู้แทนฯ บางทีการจะพูดหรือไม่พูดบริบทเงื่อนไขเรื่องเวลาก็สำคัญ

“เราต้องตั้งคำถามว่าเรามีเป้าหมายอะไร ต้องตั้งธงว่าจะรายงานอย่างไร เพื่อให้มันเกิดผลดีต่อประเทศชาติ ในสถานการณ์ที่เป็นความขัดแย้งอย่างมาก สื่อต้องทำหน้าที่อย่างไรไม่จุดชนวนให้ความขัดแย้งบานปลาย สื่อต้องกลับมาทบทวนว่าเราจะตั้งต้นในการรายงานเรื่องนี้อย่างไร”

ฐปนีย์ยืนยันว่า ส่วนตัวจะใช้พื้นที่ข่าวของตัวเองทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดหลายๆ อย่างในแต่ละแพลตฟอร์ม 

“เรายืนยันว่าไม่ว่าสถานการณ์ใด สื่อต้องรายงาน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้กฎหมาย หรือขนบประเพณีแบบไหน สื่อก็ต้องรายงาน ขึ้นกับแพลตฟอร์มของสื่อเท่านั้น แต่ถ้าในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าควรทำไง แค่บอกตัวเองว่าต้องทำหน้าที่ของเรา เนื้อหาบางอย่างเราก็ไปถามนักกฎหมายมาก่อนรายงาน ดังนั้นอาจจะไม่เร็วทันเหตุการณ์ เพราะเราต้องระมัดระวังในการนำเสนออย่างมีความรับผิดชอบ นักข่าวกลัวการถูกแขวน

"แต่สำหรับเราคืออยู่ในจุดที่ทลายกำแพงนั้นมาแล้ว เราทำหน้าที่ของเราตามความรับผิดชอบของเรา เวลาทำข่าวเราไม่ได้คิดจะส่งเสริมหรือโฆษณาชวนเชื่อ แต่เรารายงานเพื่อให้สังคมรับรู้ โดยเฉพาะเรื่องที่มันเป็นความขัดแย้ง เราก็ต้องไปถามทุกฝ่ายที่อยู่ในความขัดแย้ง และหน้าที่เราคือให้พื้นที่แก่ทุกฝ่าย เพื่อให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจกัน และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยไม่ไปช่วยโหมกระพือให้เกิดความรู้สึกรุนแรง”

“อย่าเรียกร้องให้สื่อยืนข้างประชาชน เรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเถอะค่ะ” ฐปนีย์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท