นายกฯ เลบานอนประกาศลาออก ประกาศ 'คอร์รัปชั่นระบาดหนัก' ส่งผลถึงวินาศภัย

ฮัสซัน ดิยาบ นายกรัฐมนตรีของเลบานอนประกาศลาออกหลังจากเกิดระเบิดครั้งใหญ่ในกรุงเบรุตจนเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตราว 200 รายและได้รับบาดเจ็บ 6,000 ราย โดยที่ดิยาบประกาศว่าเป็นเพราะระบบของประเทศนี้มัน "คอร์รัปชันในระดับใหญ่โตยิ่งกว่ารัฐ" มีนักวิเคราะห์มองว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นในเลบานอนมีการส่งสารถึงความไม่พอใจต่อกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองในประเทศของพวกเขาอย่างชัดเจน

นายกรัฐมนตรีของเลบานอนฮัสซัน ดิยาบ ประกาศลาออกเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาพร้อมกับรัฐมนตรีคนอื่นๆ ของเลบานอนทั้งจากกระทรวงยุติธรรม กระทรวงสารสนเทศ และกระทรวงสิ่งแวดล้อม พวกเขาประกาศลาออกหลังจากเหตุการณ์ระเบิดครั้งร้ายแรงที่ท่าเรือเบรุตสร้างความเสียหายอย่างหนักทำให้มีคนเสียชีวิตราว 200 รายและได้รับบาดเจ็บ 6,000 ราย

ดิยาบประกาศลาออกโดยระบุว่าสาเหตุของการระเบิดใหญ่ที่มาจากการเก็บวัตถุอันตรายอย่างไม่เหมาะสมนั้นเป็นเพราะ "การทุจริตคอร์รัปชันที่ระบาดหนัก" ในเลบานอน อีกทั้งเขายังเรียกร้องให้มีการสืบสวนดำเนินคดีต่อกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับการระเบิดครั้งนี้

การประกาศลาออกในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางการประท้วงจากประชาชนที่ไม่พอใจรัฐบาลหลังจากเหตุระเบิดครั้งใหญ่ มีผู้ประท้วงออกมาชุมนุมหลายหมื่นคนตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ส.ค.) เรียกร้องให้ความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชนชั้นผู้ปกครองประเทศต้องล่มสลายไป ผู้ประท้วงจำนวนมากขว้างปาก้อนหินและวัตถุอื่นๆ ใส่กองกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา ใช้ปืนลูกซองยิงทั้งกระสุนยาง และกระสุนปืนลูกปรายขนาดเล็ก (birdshot) ใส่ผู้ชุมนุม และในวันที่ 9 ส.ค. ผู้ประท้วงพากันปิดถนนใกล้กับรัฐสภาในกรุงเบรุต

อัลจาซีราระบุว่า จากการพิจารณาจากหลักฐานภาพถ่าย วิดีโอ และคำบอกเล่าจากแพทย์ที่รักษาผู้บาดเจ็บ ทำให้พวกเขาลงความเห็นว่าปฏิบัติการโจมตีผู้ชุมนุมจากกองทัพและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบนั้นเป็นการละเมิดมาตรฐานสากลในการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม โดยอ้างจากหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ควร "มีความอดกลั้น" และ "ลดความเสียหายและการบาดเจ็บให้เกิดน้อยที่สุด" นอกจากนี้ยังห้ามไม่ให้ใช้อาวุธต่อประชาชนยกเว้นแต่เพื่อป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นเมื่อมีภัยที่อาจทำให้บาดเจ็บร้ายแรงหรือถึงแก่ชีวิต

สำหรับปฏิกิริยาจากนานาชาติต่อการระเบิดครั้งใหญ่ในเลบานอนนั้น ผู้นำหลายประเทศร่วมประชุมผ่านอินเทอร์เน็ตนำโดยผู้นำฝรั่งเศสและยูเอ็น ทำข้อตกลงกันว่าจะมีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในวงเงินเกือบ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อ "ช่วยเหลือประชาชนชาวเลบานอนโดยตรง"

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ประกาศว่าสหรัฐอเมริกา จะให้ความช่วยเหลือแก่เลบานอนแต่ไม่ได้ระบุเจาะจงว่าจะช่วยเหลือเท่าไหร่ ขณะที่ไอเอ็มเอฟประกาศว่าจะเพิ่มการช่วยเหลือเลบานอนมากขึ้นสองเท่าหลังจากเหตุระเบิดนี้ แต่ก็บอกว่าสถาบันของประเทศเลบานอนควรจะแสดงเจตจำนงที่จะมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย

นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยอเมริกันแห่งเบรุต รามี จี คูรี กล่าวว่าการประท้วงของประชาชนในเรื่องระเบิดครั้งใหญ่นี้สะท้อนถึงความไม่พอใจระบบโครงสร้างทางการเมืองของเลบานอนทั้งหมดด้วย นอกจากนี้ผู้ประท้วงยังวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มอิทธิพลของประเทศอย่างฮิซบอลเลาะห์ว่าเป็น "พวกมาเฟีย" หรือ "พวกแก๊งอาชญากรรม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยครั้งในประเทศนี้

คูรียังตั้งข้อสังเกตว่าผู้นำฮิซบอลเลาะห์และประธานาธิบดีของเลบานอนต่างก็ปฏิเสธไม่ยอมให้นานาชาติเข้าไปสืบสวนกรณีการระเบิดครั้งใหญ่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความไม่พอใจของประชาชนต่อระบบโครงสร้างอำนาจที่โหดร้ายมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันและต้องการให้เกิดการหารือเพื่อความเปลี่ยนแปลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท