จาตุรนต์ ฉายแสง: วิกฤตที่ต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลและแก้รัฐธรรมนูญ | ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ

เวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอถึงภาวะวิกฤตที่ต้องแก้ด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลและแก้รัฐธรรมนูญ เขาย้ำว่าการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกไม่ใช่การเขียนข้อห้ามฉีกรัฐธรรมนูญไว้ในรัฐธรรมนูญ หากจะป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญได้ต้องทำให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

'กลุ่ม CARE' ตั้งวง 13 คน ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของปชช. 'คำ ผกา’ ย้ำต้องฉีก ‘รธน.ฉบับวัฒนธรรม’, 8 ส.ค. 2563

CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน [YouTube]

เวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ ช่วง "ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญ" จาตุรนต์ ฉายแสง นักการเมืองคนสำคัญ เริ่มต้นกล่าวว่าตอนที่ตนได้รับเชิญก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ไม่มีมีการฉีกกันอีก เมื่อตอนที่มีการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หลายคนก็ได้พูดกันไว้และตนก็เคยพูดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช ทำให้กลไกต่างๆ อยู่ในมือของ คสช.และสร้างความได้เปรียบให้ คสช.ในการตั้งรัฐบาล รวมทั้งในการทำลายฝ่ายตรงข้าม และทำให้เกิดปัญหาและวิกฤตตามมาจนทำให้ประชาชนและเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในขณะนี้

“ผมก็ไม่อยากใช้คำว่า 'รัฐธรรมนูญในฝัน' ผมอยากได้รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นจริงควรจะมีเนื้อหาสาระอย่างไร หลักสำคัญๆ ให้สอดคล้องกับสภาพของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ก็คือ รัฐธรรมนูญนี้ต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและเป็นจริงมากกว่าที่เขียนอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่เป็นจริงเลยคือประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพเลย”

“รัฐธรรมนูญที่เราต้องการคือรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้อำนาจเป็นของประชาชนประชาชนต้องเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นรัฐบาลและรัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไรนี่เป็นเรื่องธรรมดามาก” จาตุรนต์กล่าว

จาตุรนต์ได้เสนอว่าควรจะกำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจทั้งสามจริงๆ และทั้งหมดต้องตรวจสอบได้โดยประชาชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นอิสระจากประชาชนและต้องไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจ ระบบยุติธรรมต้องหมายรวมถึงระบบอำนาจตุลาการ ต้องมีจุดยึดโยงเชื่อมโยงกับประชาชน ขั้นต่ำที่สุดจะต้องตรวจสอบได้และวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยประชาชนและควรจะกำหนดให้ชัดเจนว่ารัฐพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และที่ตรวจสอบได้โดยประชาชนมีอำนาจเหนือกองทัพทั้งหลาย ไม่ใช่ให้กองทัพเป็นอิสระจากรัฐบาลและรัฐสภาอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

จาตุรนต์ได้ชี้ปัญหาที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาๆ ถูกฉีกหลังการรัฐประหารยึดอำนาจว่า “ที่ผ่านมาที่เขาฉีกกันไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญไม่ดีถึงฉีก แต่เป็นเพราะเขาต้องการยึดอำนาจมาอยู่ในมือ แต่รัฐธรรมนูญไม่อนุญาต เขาก็ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่างกันใหม่เมื่อผู้ที่ฉีกรัฐธรรมนูญก็จะร่างเพื่อประโยชน์ตัวเองเพื่อรักษาอำนาจของตัวเองสังคมยอมให้คนฉีกรัฐธรรมนูญฉีกได้ จะทำอย่างไรให้สังคมไม่ยอมให้ผู้นำเหล่าทัพมาฉีกรัฐธรรมนูญง่ายๆ อีก นั่นคือสาเหตุข้อที่หนึ่งของการฉีกรัฐธรรมนูญ”

“สาเหตุที่สอง ก็คือระบบยุติธรรมประเทศนี้รับรองการฉีกรัฐธรรมนูญโดยมากก็อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีต ที่บอกว่าใครยึดอำนาจได้แล้วควบคุมสถานการณ์ได้แล้วก็ถือว่าได้รัฏฐาธิปัตย์และที่เลวร้ายกว่านั้นการยึดอำนาจครั้งหลังเก็บศาลรัฐธรรมนูญไว้และศาลรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ได้บอกว่าการยึดอำนาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ยังนั่งเป็นศาลรัฐธรรมนูญกันต่อไปหน้าตาเฉยรับรองการยึดอำนาจ ก็หมายความว่าศาลทั้งหลายและศาลรัฐธรรมนูญรับรองการยึดอำนาจเป็นเสมือนกฎหมายสูงสุดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของประเทศนี้ที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูยทุกฉบับบอกว่าคุณจะไปตั้งรัฐบาลอย่างไรก็ช่างจะตั้งรัฐสภาอย่างไรก็แล้วแต่ถ้ามีผู้นำเหล่าทัพร่วมกันยึดอำนาจได้แล้วเมื่อใดให้ถือว่านั่นคือรัฏฐาธิปัตย์มีอำนาจเหนือองค์กระทุกประเภททุกชนิดในประเทศนี้ ประชาชนต้องไม่ยอมให้เกิดสิ่งนี้อีกต่อไป”

ทั้งนี้จาตุรนต์ก็เห็นว่าการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกไม่ใช่การเขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเนื่องจากเมื่อมีคนที่อยากได้อำนาจมาอยู่ในมือก็จะทำการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้ทำได้ ดังนั้นการจะป้องกันได้ต้องให้ประชาชนเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นจาตุรนต์ได้เสนอการแก้รัฐธรรมนูญสองประเด็นกล่าวคือ ให้แก้รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ และอาจจะแก้กฎหมายพรรคการเมืองกฎหมายเลือกตั้ง ให้พรรคการเมืองต่างๆ ส่งรายชื่อผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วให้มีการยุบสภาเลือกรัฐบาลกันใหม่เพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และส่วนที่สองคือให้แก้มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจากประชาชนและมาแก้รัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการที่มีประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ

“ในวันเลือกตั้งให้ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีการจัดตั้ง สสร.ขึ้นจากนั้นดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญโดย สสร.ที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้รัฐธรรมนูญมาเมื่อไหร่ลงประชามติอีกรอบ ทำไมต้องทำแบบนี้ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่าประชาชนคือเจ้าของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมีคุณค่าและรัฐธรรมนูญนี้จะได้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายจริงๆ” จาตุรนต์กล่าวปิดท้าย

สำหรับการอภิปรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเวที "CARE ชวน คิด เคลื่อน เขียน รัฐธรรมนูญฉบับในฝัน ของประชาชน" ที่ลิโด้ คอนเน็คท์ เมื่อ 8 ส.ค. 63 โดยกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย ร่วมกับสำนักข่าวประชาไท เพื่อร่วมคิดหาหนทางออกจากหุบเหวมหาวิกฤติ ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้เป็น "ฉบับสุดท้าย" ของประเทศไทย และให้มันเกิดขึ้นที่รุ่นเราจริงๆ เสียที โดยใช้แฮชแท็กในงานว่า #รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้าย #ให้มันเกิดที่รุ่นเรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท